ทำไมพระสงฆ์จึงต้องฉันเพียง 2 มื้อค่ะ

 
Guest
วันที่  15 ส.ค. 2549
หมายเลข  1855
อ่าน  36,018

ทราบมาว่า ร่างกายของคนเราต้องการอาหารวันละ 3 มื้อ เพื่อเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน อยากทราบว่าการที่พระสงฆ์ฉันอาหารเพียงวันละ 2 มื้อ จะป็นการทรมานตัวเองรึเปล่าค่ะ และรบกวนถามคำถามอีก 1 ข้อนะค่ะ การที่เราเจอบุคคลที่น่าสงสาร ทุกข์ยาก ต้องลำบากยากเข็ญ เมื่อเห็น เขาแล้วก็เกิดความรู้สึกสงสาร ไม่สบายใจ ความรู้สึกเช่นนี้เป็นอกุศลใช่ไหม และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 16 ส.ค. 2549

๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยสำหรับผู้ที่เห็นโทษของกิเลส เห็น

โทษของความวุ่นวายในเพศคฤหัสถ์ ออกบวชเป็นบรรพชิต การกระทำและความเป็น

อยู่ของท่านจึงต่างจากคฤหัสถ์ การบริโภคอาหารที่เหมาะสมสำหรับบรรพชิตต้องเป็น

เวลาที่สมควรคือ ตั้งแต่อรุณขึ้นจนถึงเที่ยงวัน เลยเวลาเที่ยงไปเรียกว่าเวลาวิกาล เป็น

เวลาที่ไม่สมควรในการบริโภค อาหารสำหรับนักบวชทั้งหลาย และอาหารที่บริโภคใน

เวลาที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ บางท่านฉันเพียงมื้อเดียวก็

อยู่ได้เพราะเพศบรรชิตไม่ต้องทำกิจการงานหนักเหมือนคฤหัสถ์ เพียงศึกษาพระธรรม

วินัยและปฏิบัติขัดเกลากิเลสเท่านั้น

๒. จิตของเราปุถุชนในชีวิตประจำวันโดยมากเป็นไปกับอกุศล ถ้าเห็นสิ่งที่ดีก็

ชอบเป็นโลภะ ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดีก็เกิดโทสะ เมื่อพบกับคนที่น่าสงสาร เราก็สงสาร

ขณะนั้นจิตเศร้าหมองขุ่นใจ เป็นประเภทโทสะ เป็นอกุศล ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้

หลายนัย ว่าเมื่อพบกับคนยากจนเข็ญใจมีความทุกข์ ควรพิจารณาอย่างไร เช่น

พิจารณาว่าสังสารวัฏฏ์อันยาวไกลนี้ แม้เราก็เคยเป็นอย่างนี้มาแล้ว หรือเกิดความ

กรุณาเขา ช่วยเหลือเขาหรือพิจารณาว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chorswas.n
วันที่ 16 ส.ค. 2549

..."ความเป็นผู้รู้ประมาณ ความไม่หลงติดในโภชนะเป็นความดี ด้วยว่า บุคคลผู้ไม่รู้จักประมาณ ย่อมจมลงในอบายทั้ง ๔

บุคคลผู้รู้จักประมาณเท่านั้น ย่อมไม่จมลงในอบายทั้ง ๔..."

(ภิกษุ) บริโภคของสดหรือของแห้ง ไม่ควรให้อิ่มเกินไป เป็นผู้มีท้องพร่อง รู้จักประมาณในอาหาร มีสติพึงงดเว้นเสีย ยังอยู่ ๔-๕ คำก็จะอิ่ม อย่าบริโภค พึงดื่มน้ำแทนเป็นการเพียงพอเพื่อจะอยู่อย่างผาสุก
สำหรับ (ภิกษุ) ผู้มีจิตตั้งมั่น เวทนาของ (ภิกษุนั้น) ผู้เป็นมนุษย์ มีสติอยู่ทุกเวลาผู้ได้โภชนะแล้วรู้จักประมาณ ย่อมเป็นเวทนาที่เบา อาหารที่บริโภคย่อมค่อยๆ ย่อยไปเลี้ยงอายุ บุคคลไม่ติดรส ย่อมกลืนกินอาหารเพื่อต้องการยังอัตภาพให้เป็นไป เหมือนบริโภคเนื้อบุตรในหนทางกันดาร เหมือนใช้น้ำมันหยอดเพลารถฉะนั้น บุคคลผู้ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ กระทำกรรมอันลามกด้วยอำนาจความอยากในรส ย่อมจมลงในอบายทั้ง ๔ ส่วนชนเหล่าใดย่อมรู้จักประมาณในโภชนะ ชนเหล่านั้นย่อมไม่จมลงทั้งในทิฏฐธรรม (ความเป็นไปในปัจจุบัน ภพนี้) ทั้งในสัมปรายภพ
สุกชาดกที่ ๕

ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔

หน้า ๔๐ - ๔๕
การที่มีผู้กล่าวว่า ร่างกายคนเราต้องการอาหาร ๓ มื้อนั้น ขอให้พิจารณาด้วยนะคะว่าเป็นความจริงแท้แน่นอนหรือเปล่าค่ะ ไม่ใช่ว่ามีนักวิชาการคนใดคิดขึ้นก็ใช่ว่าจะเหมาะควรเหมือนกันทุกคนไป ดิฉันเชื่อว่าการรับประทานอาหารนั้นก็เพื่อประโยชน์ในการยังชีวิตให้เป็นไป ควรรับประทานเมื่อหิวเท่านั้น บางท่านอาจแค่วันละมื้อก็พอ บางท่านอาจเพียง ๒ มื้อ ตามความเหมาะสมแตกต่างกันไป ปัจจุบันนี้เราไปเน้นกันมากในเรื่องรับประทานให้เยอะให้มาก เดี๋ยวไม่แข็งแรง แล้วก็ติดกันมากว่าต้องให้อร่อย ยิ่งอร่อยก็ยิ่งรับมาก กระเพาะอาหารและอวัยวะที่ทำหน้าที่ย่อยอาหารก็ทำงานหนักตามไปอาหารเลี้ยงชีวิตที่มากเกินไปก็ไม่ใช่ก่อให้เกิดผลดี ทำให้อึดอัดไม่สบาย เป็นทุกข์กายได้ แล้วก็สะสมพอกพูน ทั้งอาหารส่วนเกิน ทั้งนิสัยชอบรับประทานมาก ทำให้ไม่รู้จักอิ่ม การรู้จักประมาณในการบริโภค เป็นการขัดเกลากิเลสที่ติดข้องมากมายในแต่ละวันค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pcha
วันที่ 17 ส.ค. 2549
สาธุ การกิน เป็นเรื่องที่ต้องฝึกนะครับ โภชเนมัตตัญุตา ต้องฝึกครับ จะเอกาหรือไม่ก็ตามความเหมาะสม อานิสงค์ของการกินแต่พอดี พยาธิ (เหตุตแห่งความเจ็บป่วย) ก็น้อยมีสติ ไม่ลำบากกาย ฝึกจิตได้สะดวก เริ่มเลยนะครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สุญญตา
วันที่ 17 ส.ค. 2549
อนุโมทนาทุกท่านค่ะ โดยเฉพาะ คุณ chorswas.n ที่ให้ความเห็นได้กระจ่างดีจังค่ะและนอกจากนี้ พระ หรือ ฆราวาสที่ตั้งใจบริโภค 2 มื้อ ก็สามารถ บรรเทาเวทนา ได้ด้วย น้ำปานะ ค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
สุญญตา
วันที่ 17 ส.ค. 2549
พูดถึงน้ำปานะ ท่านอาจารย์คะ ขณะนี้ มีการอนุญาต แตกต่างไปตามแต่ละสำนัก อยากทราบว่า แท้จริงแล้ว ท่านอนุญาต น้ำชนิดใดเป็นน้ำปานะบ้างคะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
study
วันที่ 18 ส.ค. 2549

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 152

พระพุทธานุญาตน้ำอัฏฐบาน ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตน้ำปานะ ๘ ชนิดคือ น้ำปานะทำด้วยผลมะม่วง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลหว้า ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะซาง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลจันทน์หรือองุ่น ๑ น้ำปานะทำด้วยเง่าบัว ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด.

คำอธิบายจากอรรถกถา


โจจปานะ นั้น ได้แก่ น้าปานะที่ทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด. โมจปานะ นั้น ได้แก่ น้าปานะที่ทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด. มธุกปานะ นั้น ได้แก่ น้ำปานะที่ทำด้วยรสชาติแห่งผลมะซาง. นั้นได้แก่ น้ำปานะที่ทำด้วยรสชาติแห่งผลมะซาง. และ มธุกปานะ นั้น เจือน้ำจึงควร ล้วนๆ ไม่สมควร มุททิกปาระ นั้น ได้แก่ น้ำปานะที่เขาคั้นผลจันทน์ในน้ำ ทำเหมือนนั้น ได้แก่ น้ำปานะที่เขาคั้นผลจันทน์ในน้ำทำเหมือนอัมพปานะ. สาลุกปานะ นั้น ได้แก่ น้ำปานะที่เขาคั้นเง่าอุบลแดงและอุบล นั้นได้แก่ น้ำปานะที่เขาคั้นเง่าอุบลแดงและอุบลเขียวเป็นต้น ผารุสกปานะ นั้น ได้แก่ น้ำปานะที่ทำด้วยผลมะปราง อย่างนั้น ได้แก่ น้ำปานะที่ทำด้วยผลมะปราง อย่างอัมพปานะ. อัฏฐบานเหล่านี้ เย็นก็ดี สุกด้วยแสงอาทิตย์ก็ดี ย่อมควร. สุกด้ายไฟไม่ควร.

ฯ ล ฯ

น้ำนมจากโคหรือจากถั่วเหลืองเป็นอาหารไม่ใช่น้ำปานะ เวลาวิกาล นักบวชดื่มไม่ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สุญญตา
วันที่ 20 ส.ค. 2549
ท่านอาจารย์คะ นมได้จัดอยู่ในเภสัช ๕ อย่าง ด้วยหรือปล่าวคะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
study
วันที่ 21 ส.ค. 2549

เภสัช ๕ อย่าง คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ไม่มีนม

นมเป็นอาหาร (โภชนะ) บริโภคได้ตั้งแต่เวลาอรุณขึ้นถึงเที่ยงวันเท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
สุญญตา
วันที่ 24 ก.ย. 2549
ท่านอาจารย์คะ ที่ท่านว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ด ข้าวเปลือก. ที่เคยได้ยินตามธรรมเนียมปฏิบัติว่า ผลไม้นั้น ต้องใหญ่ไม่เกินกำปั้น ...อย่างนี้ เราสามารถ ทำน้ำแตงโมถวายพระ เป็นน้ำปานะ ได้หรือไม่คะ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
devout
วันที่ 25 ก.ย. 2549

ตามพระวินัยบัญญัติ น้ำปานะคือน้ำที่ทำจากผลไม้จำพวกลูกเล็กๆ ตั้งแต่ผลมะตูมลงมา เช่น ส้ม มะม่วง มะปราง องุ่น ฝรั่ง มะขาม ฯลฯ คั้นแล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ อย่าให้กากผลไม้ติดลงไปด้วย จะต้องกรองจนกว่ากากไม่ปรากฎ หากไม่ได้กรองหรือกรองไม่ละเอียด ยังมีกากผลไม้ปรากฎอยู่ พระฉันต้องอาบัติปาจิตตีย์ ฐานบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ส่วนผลไม้ที่ใหญ่กว่าผลมะตูม เช่น มะพร้าว แตงโม สับปะรด จะนำมาทำเป็นน้ำปานะไม่ได้ เพราะผิดพระวินัยบัญญัติและจะเป็นอาบัติแก่พระ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
study
วันที่ 25 ก.ย. 2549
อนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
wirat.k
วันที่ 27 ก.ย. 2549

ขอสนทนากับคุณ pcha ความเห็นที่ 3 ที่ว่า...สาธุ การกิน เป็นเรื่องที่ต้องฝึกนะครับ โภชเนมัตตัญุตา ต้องฝึกครับ จะเอกาหรือไม่ก็ตามความเหมาะสม อานิสงค์ของการกินแต่พอดี พยาธิ (เหตุตแห่งความเจ็บป่วย) ก็น้อยมีสติ ไม่ลำบากกาย ฝึกจิตได้สะดวก เริ่มเลยนะครับ...

เริ่มฝึกอย่างไรหรือครับ เพราะเท่าที่ศึกษามา จิต เป็นนามธาตุ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใคร (ไม่งั้นผมก็มีแต่กุศลจิตทั้งวัน) เกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ช่วยชี้แจงให้หายสงสัยด้วยครับ

ขอบพระคุณ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ