ประวัติพระพุทธโฆษาจารย์

 
sutta
วันที่  15 มิ.ย. 2554
หมายเลข  18558
อ่าน  11,712

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 308

เรื่อง ประวัติพระพุทธโฆสะ (สมเด็จพระวันรัต เขมจารี เรียบเรียงตามนัยคัมภีร์โบราณ)

เมื่อปี (พุทธศาสนายุกาล) นับแต่กาลปรินิพพานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าล่วงแล้ว ๙๕๖ พรรษา พระราชาทรงพระนามว่ามหานามได้ครองราชย์ในลังกาทวีป ได้ยินมาว่าในสมัยนั้น มีพราหมณมาณพผู้หนึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ในที่ใกล้โพธิมณฑ์ (ที่ตรัสรู้) ในมัธยมประเทศชมพูทวีป มาณพนั้นเชี่ยวชาญในศิลปะทั้งปวงจบไตรเพท ท่องเที่ยวไปตลอดคามนิคมชนบทราชธานีทั้งหลายในชมพูทวีป สมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตอยู่ในที่ใดๆ ก็ไปทำสากัจฉาในที่นั้นๆ บัณฑิตอื่นๆ ไม่อาจกล่าวแก้ปัญหาที่มาณพนั้นถามได้ แต่มาณพนั้นแก้ปัญหาที่บัณฑิตอื่นๆ ถามได้ มาณพนั้นครองทั้งสกลชมพูทวีปด้วยอาการอย่างนี้ จนมาถึงวิหารแห่งหนึ่ง (อาศัยพักอยู่ในบริเวณวิหารนั้น)

ก็ในวิหารนั้นมีภิกษุอยู่หลายร้อยรูป ท่านพระเรสตะ สังฆเถระของภิกษุเหล่านั้น เป็นพระมหาขีณาสพได้ปฏิสัมภิทา (สามารถ) ย่ำยี ปรวาท (คือข่มคำโต้ฝ่ายอื่น) ได้ ครั้งนั้นตอนกลางคืน พราหมณมาณพบริวรรตปาตัญชลีมนต์ให้มีบทอันสมบูรณ์ และเป็นปริมณฑล

พระเถระฟังเสียงพราหมณ์สาธยายมนต์ ก็ทราบว่าพราหมณ์ผู้นี้มีปัญญามาก คิดว่าทรมาน (คือข่มและชักจูงให้มานับถือพระศาสนา) ได้จะเป็นการดี จึงเรียกพราหมณ์นั้นมา ถามเปรยขึ้นว่า "พราหมณ์ ใครหนอ ร้องเป็นเสียงลา" พราหมณ์ถามว่า "บรรพชิตผู้เจริญ ท่านรู้เสียงร้องของพวกลาหรือ" พระเถระรับรู้ว่า พราหมณ์นั้นจึงถามพระเถระในคัณฐิฐาน (คือข้อที่เป็นปมยุ่งเข้าใจยาก) ทั้งหลายในคัมภีร์ไตรเพท ทั้งคัมภีร์อิติหาสเป็นคัมภีร์ที่ ๕ ซึ่งตนเองมองไม่เห็นนัยเลย ทั้งอาจารย์ของตนก็ไม่เห็นมาแล้วด้วย อันพระเถระนั้น โดยปกติก็เป็นผู้จบไตรเพทอยู่แล้ว ซ้ำบัดนี้มาได้ปฏิสัมภิทาเข้าอีกเล่า เหตุนั้น ความหนักในการแก้ปัญหาเหล่านั้นจึงหามีแก่ท่านไม่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ในทันที แล้วกล่าวกะพราหมณ์ว่า "พราหมณ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าถูกท่านถามามากแล้ว ทีนี้จะถามปัญหาท่านสักข้อหนึ่ง ท่านจักแก้ปัญหาของข้าพเจ้าหรือไม่" พราหมณ์รับจะแก้ นิมนต์ให้ถาม พระเถระจึงถามปัญหาในคัมภีร์ (ยมก ตอย) จิตตยมกนี้ว่า "ยสฺส จิตฺต อุปฺปชฺชติ น นิรุชฺฌติ ตสฺส จิตฺต นิรุชฺฌิสฺสติ น อุปฺปชฺชิสฺสติ ยสฺส วา ปน จิตฺต นิรุชฺฌิสฺสติ น อุปฺปชฺชิสฺสติ ตสฺส จิตฺต อุปฺปชฺชติ น นิรุชฺฌติ จิตของบุคคลใดเกิดอยู่ยังไม่ดับ จิตของบุคคลนั้นจักดับจักไม่เกิดหรือ ก็หรือว่า จิตของบุคคลใดจักดับจักไม่เกิด จิตของบุคคลนั้น เกิดอยู่ยังไม่ดับหรือ" เป็นต้น

พราหมณมาณพไม่อาจจำ (ข้อปัญหา) ได้ ไม่ว่าบนหรือล่าง จึงเรียนถามว่า "บรรพชิตผู้เจริญ นี่ชื่ออะไร" พระเถระบอกว่า "นี่ชื่อพุทธมนต์ พราหมณ์" พราหมณ์ถามว่า "ท่านผู้เจริญ ให้มนต์นี้แก่ข้าพเจ้าบ้างได้หรือไม่" พระเถระบอกว่า "พราหมณ์ เราให้แก่ผู้ที่ถือเพศบรรพชาอย่างที่เราถือ จึงจะได้" พราหมณมาณพจึงขอบรรพชาเพื่อต้องการมนต์ พระเถระให้พราหมณมาณพบรรพชาอุปสมบทแล้ว ให้เรียนพระไตรปิฎกพุทธวจนะ ภิกษุรูปนั้น (ต่อมา) ก็ได้เป็นผู้ปรากฏในโลกโดยนามว่า "พระพุทธโฆสะ"

พระพุทธโฆสะนั้นเมื่ออยู่ในวิหารนั้น ได้แต่งปกรณ์ชื่อญาโณทัยไว้ในวิหารแล้ว เริ่มจะแต่งอรรถกถาพระอภิธรรมสังคณี และอรรถกถาฉบับน้อยชื่ออัฏฐาสาลินี พระเถระเห็นเช่นนั้นจึงกล่าวแนะนำว่า "ดูกรอาวุโสพุทธโฆสะ ในชมพูทวีปนี้มีแต่พระโตรปิฎกบาลีเท่านั้น อรรถกถาของพระไตรปิฎกนั้น และเถรวาท (คือคำที่พระเถระยุคสังคีติกล่าวไว้เป็นแบบ?) หามีไม่ แต่อรรถกถาในภาษาสีหลอันขึ้นสู่สังคีติทั้ง ๓ หน ที่พระเถระทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้นทำไว้ พระมหินทร์ตรวจดูกถามรรค (ลาดเลาแห่งคำที่กล่าวไว้) แล้ว (รวบรวมมา) แต่งไว้ด้วยภาษาสีหล ยังเป็นไป (คือยังใช้กัน) อยู่ในสีหลทวีป แม้นเธอไปที่สีหลทวีปนั้น ตรวจดูให้ทั่วแล้วปริวรรตมาในภาษามคธเสียได้ (คือแปลเปลี่ยนเป็นภาษามคธเสีย) อรรถกถานั้นก็จักนำประโยชน์เกื้อกูลมาให้แก่โลกทั้งปวง" เมื่อพระเถระแนะนำอย่างนั้น ท่านพุทธโฆสะก็เกิดปีติโสมนัส กราบลาพระอุปัชฌายะและภิกษุสงฆ์ เดินทางไปถึงท่าเรือโดยลำดับ ขึ้นเรือไปพบพระพุทธทัตตเถระสวนทางมาที่กลางมหาสมุทร ได้พูดจาปราศัยกันแล้ว เดินทางต่อไปจนถึงท่ากรุงลังกา ในกาลนั้น พระเจ้ามหานามครองราชย์ในลังกาทวีป

ท่านพระพุทธโฆสะไปพบภิกษุสงฆ์ในมหาวิหารกรุงอนุราธบุรีแล้ว จึงไปสู่สำนักพระสังฆปาลเถระ ที่มหาปธานฆระ ได้ฟัง (ทราบความ) อรรถกถาภาษาสีหลและเถรวาททั้งปวงแล้ว ก็ตัดสิน (ปลงใจเชื่อ) ว่าเป็นพระพุทธาธิบายขององค์พระธรรมสามิศร์ จึงไปสู่ที่ประชุมสงฆ์ในวิหารนั้น ขอหนังสือคัมภีร์เพื่อทำอรรถพระไตรปิฎก

เพื่อทดสอบสมรรถภาพของท่าน ภิกษุสงฆ์จึงให้คาถา ๒ บท แล้วกล่าวว่า "ท่านจงแสดงความสามารถในคาถา ๒ บทนี้ เราทั้งหลายได้เห็นความสามารถของท่านแล้ว จะมอบหนังสือคัมภีร์ให้ทั้งหมด" ท่านพุทธโฆสะดูบาลีพระไตรปิฎกและอรรถกถาของพระไตรปิฎกนั้นแล้ว ได้รวบรวมแต่งปกรณ์ชื่อวิสุทธิมรรคขึ้น

ครานั้น เทวดาจะประกาศความมีฝีมือของท่านให้ปรากฏไปในมหาชน จึงแสร้งบันดาลหนังสือคัมภีร์ฉบับ (ที่ท่านเขียนเสร็จแล้ว) นั้นให้อันตรธานไปเสีย ท่านจึงเขียนขึ้นใหม่อีกจบหนึ่ง เทวดาก็บันดาลให้อันตรธานไปอีกเล่า ท่านก็เขียนขึ้นอีกครั้นที่ ๓ (พอเสร็จแล้ว) เทวดาก็นำหนังสือ ๒ จบนั้นมาถวายคืนให้ในขณะนั้น จึงเกิดเป็นหนังสือ (วิสุทธิมรรค) ๓ จบขึ้นในครั้งนั้น ท่านพุทธโฆสะหอบหนังสือทั้ง ๓ จบไปมอบแด่ภิกษุสงฆ์ ภิกษุสงฆ์ให้อ่านหนังสือทั้ง ๓ จบด้วยกัน ความผิดเพี้ยงในหนังสือ ๓ จบนั้น โดยคัณฐะ (คือข้อขอด) ก็ดี โดยอักขระก็ดี โดยบทก็ดี โดยพยัญชนะก็ดี โดยอรรถก็ดี โดยเกณฑ์ก่อนหลังก็ดี โดยวาทะทั้งหลายมีเถรวาทเป็นต้นก็ดี โดยพระบาลีทั้งหลายก็ดี มิได้มีเลย ได้ยินว่า เมื่อคัมภีร์วิสุทธิมรรคทั้ง ๓ อันท่านพระพุทธโฆสะทำเสร็จอย่างนั้น เทวดาทั้งหลายได้พากันทำสาธุการ สมัยนั้นภิกษุหลายพันชุมนุมกันอยู่ในมหาวิหาร เห็นการมหัศจรรย์นั้นแล้ว ต่างก็ชื่นชมให้สาธุการ บอกป่าวกันเซ็งแซ่ไปว่า "นี่พระโพธิสัตว์เมตไตรยมา (เกิด) ไม่ต้องสงสัย"

ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดิน ได้ทรงสดับข่าวนั้น ก็พร้อมด้วยราชบริพารเสด็จออกจากพระนครไปยังมหาวิหาร ทรงมนัสการพระสงฆ์แล้ว ทรงนมัสการท่านพุทธโฆสะ นิมนต์รับภิกษา ณ เรือนหลวงเป็นประจำจนกว่าการแต่งคัมภีร์พระธรรมจะเสด็จ ท่านรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

ภิกษุสงฆ์เห็นความสามารถของท่านแล้ว จึงมอบหนังสือพระไตรปิฎกบาลี กับทั้งหนังสืออรรถกถาสีหลให้ท่าน ท่านรับเอาหนังสือคัมภีร์ทั้งหมดไปพักอยู่ที่ปราสาท (คือเรือน ๒ ชั้น?) หลังหนึ่งมีชื่อว่า ปธานฆระ ทางเบื้องทักษิณแห่งมหาวิหาร ปริวรรคอรรถกถาสีหลทั้งหมด ทำเป็นอรรถกถาพระไตรปิฎกในภาษามคธอันเป็นมูลภาษา (คือภาษาเดิม)

ก็อรรถกถาสีหลนั้นมี ๓ ภาค คือ มหาอรรถกถา ๑ ปัจจริยอรรถกถา ๑ กุรุนทีอรรถกถา ๑

อรรถกถาที่ได้ขึ้นสู่มหาสังคีติ พระมหินทร์นำมาแต่งไว้ในภาษาสีหล ชื่อว่า มหาอรรถกถา

เรือนแพมีอยู่หลังหนึ่งมีชื่อในภาษาสีหลว่าปัจจริยะ อรรถกถาที่การภิกษุนั่งประชุมกันทำที่เรือนแพนั้น ชื่อ ปัจจริยอรรถกถา

มีวิหารแห่งหนึ่งชื่อ กุรุนทีเวฬุวิหาร อรรถกถาที่การภิกษุนั่งประชุมกันทำในวิหารนั้น ชื่อกุรุนทีอรรถกถา

วาทะที่พระเถระปางก่อนมีพระเถริกาจารย์ (อาจารย์ชั้นผู้ใหญ่?) เป็นต้น ถือเอานัยพระบาลีแต่งไว้ ชื่อเถรวาท

ชั้นแรก ท่านพุทธโฆสะปริวรรตกุรุนทีอรรถกถาจากภาษาสีหล ทำอรรถกถาพระวินัยปิฎก ชื่อสมันตปาสาทิกา ในภาษามคธแล้ว ต่อนั้น ในพระสุตตันตปิฎก ปริวรรตมหาอรรถกถาจากภาษาสีหลตั้งเป็นอรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อสุมังคลวิลาสีนี เป็นอรรถกถามัชฌิมนิกายชื่อปปัญจสูทนี เป็นอรรถกถาสังยุตนิกาย ชื่อสารัตถปกาสินี และเป็นอรรถกถาอังคุตตรนิกาย ชื่อมโนรถปูรณี ต่อนั้น ในพระอภิธรรมปิฎกปริวรรตปัจจริยอรรถกถาจากภาษาสีหล ตั้งเป็นอรรถกถาปกรณ์ธัมมสังคณี ชื่ออรรถสาลีนี ในภาษามคธ เป็นอรรถกถาปกรณ์วิภังค์ ชื่อสัมโมหวิโนทนี และเป็นอรรถกถา ๕ ปกรณ์ ชื่อปรมัตถทีปนี

ท่านพุทธโฆสะ ได้ทำอรรถกถาสีหลทั้งหมดให้เป็นอรรถกถาพระไตรปิฎก ในภาษามคธอันเป็นมูลภาษาดังกล่าวมาฉะนี้ อรรถกถา นั้นแล ได้นำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวประเทศอื่นทั้งปวง (สืบมา)

เมื่อการปริวรรตอรรถกถาพระไตรปิฎกสำเร็จลง ก็ได้เกิดแผ่นดินไหว (เป็นอัศจรรย์) อรรถกถาพระไตรปิฎกที่ท่านทำดังกล่าวมานี้ ปีหนึ่งทีเดียวจึงเสร็จ

ครั้นเสร็จแล้ว ท่านพุทธโฆสะปรารถนาจะได้ไหว้พระมหาโพธิ จึงกราบลาภิกษุสงฆ์กลับไปชมพูทวีปนั้นแล


  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 15 มิ.ย. 2554
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 16 มิ.ย. 2554

เรียนถามความเห็นที่ 5

"อรรถกถา ๕ ปกรณ์" อยากทราบว่า คำว่า ปกรณ์ แปลว่าอะไรคะ และ ภาษา สีหล คือภาษาสิงหล ใช่หรือไม่

ขอบพระคุณอย่างสูง

ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 17 มิ.ย. 2554

เรียน ความคิดเห็นที่ ๗ ครับ

คำว่า ปกรณ์ หมายถึง คัมภีร์ซึ่งเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง ขอเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่ง อรรถกถา ๕ ปกรณ์ ในที่นี้ คือ อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ๕ คัมภีร์หลัง คือ ธาตุกถา บุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมกปกรณ์ และปัฏฐาน ชื่อของอรรถกถาเหมือนกัน คือ ปรมัตถทีปนี ส่วนอรรถถาพระอภิธรรมปิฎก ๒ คัมภีร์แรก คือ ธัมมสังคณีปกรณ์ มีชื่อว่า อัฏฐสาลินี ส่วนพระวิภังคปกรณ์ อรรถกถา มีชื่อว่า สัมโมหวิโนทนี

ภาษาสีหล (เขียนเป็นสิงหล ก็ได้) ซึ่งก็คือ ภาษาของชาวศรีลังกา นั่นเอง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวิริยะ และ ทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
วิริยะ
วันที่ 17 มิ.ย. 2554

ขอบคุณและขออนุโมทนาด้วยค่ะ ดิฉันคงต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ เพราะชื่อต่างๆ นั้น ค่อนข้างคุ้นหู แต่ไม่ทราบว่าคืออะไร และมาจากไหน

ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
nong
วันที่ 18 มิ.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 16 ก.ค. 2554
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เจียมจิต
วันที่ 15 พ.ค. 2560

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
สิริพรรณ
วันที่ 9 พ.ย. 2564

กราบขอบพระคุณยินดีในกุศลทุกท่านทุกประการค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Sea
วันที่ 28 มี.ค. 2565

กราบขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 28 มี.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
Selaruck
วันที่ 28 พ.ค. 2565

กราบขอบคุณและอนุโมทนายิ่งค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ