การออมเงิน

 
Chameza007
วันที่  16 มิ.ย. 2554
หมายเลข  18564
อ่าน  22,109

สุภาษิตที่เกี่ยวกับการออมเงินมีว่ายังไงครับ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 87

ข้อความบางตอนจาก สิงคาลกสูตร

บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมรุ่งเรืองส่อง สว่างเพียงดังไฟ เมื่อบุคคลสะสมโภคสมบัติ อยู่เหมือนแมลงผึ้งสร้างรัง โภคสมบัติย่อมถึง ความเพิ่มพูน ดุจจอมปลวกอันตัวปลวกก่อขึ้น ฉะนั้น

คฤหัสถ์ในตระกูลผู้สามารถ ครั้นสะสม โภคสมบัติได้อย่างนี้ พึงแบ่งโภคสมบัติ ออกเป็น ๔ ส่วเขาย่อมผูกมิตรไว้ได้ พึงใช้ สอยโภคทรัพย์ด้วยส่วนหนึ่ง พึงประกอบการ งานด้วยสองส่วน พึงเก็บส่วนที่สี่ไว้ด้วย หมายจักมีไว้ในยามมีอันตราย ดังนี้.


เมื่อได้ทรัพย์มา ก็แบ่ง เป็น 4 ส่วน ก็รู้จักใช้ ส่วนที่หนึ่งก็ใช้สอยกับตัวเองและให้ผู้ อื่นด้วย อีกสองส่วน สำหรับเป็นต้นทุนในการทำงานต่อไป และส่วนที่ 4 ก็เก็บออม ไว้ สำหรับเมื่อคราวมีอันตรายจากสิ่งต่างๆ หรือจำเป็นต้องใช้ด่วนก็นำเงินส่วนที่ออม มาใช้ได้ครับ ซึ่ง ข้อความที่ยกมาข้างต้นพุทธภาษิต เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า


มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน กลอนสุนทรภู่ บางตอนจาก "สุภาษิตสอนหญิง"

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 16 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 17 มิ.ย. 2554

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 152

ข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้ พึงยังทรัพย์ ๒ กหาปณะ ๓ กหาปณะ ๔ กหาปณะ ๕ กหาปณะ ๖ กหาปณะ ๗ กหาปณะ ๘ กหาปณะ ๙ กหาปณะ ๑๐ กหาปณะ ๒๐ กหาปณะ ๓๐ กหาปณะ ๔๐ กหาปณะ ๑๐๐ กหาปณะ ให้เกิดขึ้นทุกๆ วัน ด้วยการงานอันชอบ โดยไม่แตะ ต้องอกุศลเลย สมควรจะกล่าวได้หรือไม่ว่า เป็นบุรุษผู้ฉลาดสมบูรณ์ ด้วยความหมั่น.


คฤหัสหากไม่มีทรัพย์เป็นความเศร้าโศกการสะสมทรัพย์โดยชอบธรรมเป็นผู้ฉลาดสมบูรณ์ด้วยความหมั่นและร่ำรวยในอนาคต

เชิญคลิกอ่าน ... การสะสมทรัพย์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 17 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามความเป็นจริงแล้ว จะต้องเป็นผู้ขยันหาทรัพย์ในทางที่สุจริตไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น เมื่อหาทรัพย์ได้แล้ว ก็จะต้องรู้จักเก็บรักษา พร้อมกันนั้นก็จะต้องคบเพื่อนที่ดีที่จะไม่ชักนำพาเราไปสู่หนทางแห่งความเสื่อม และจะต้องรู้จักเลี้ยงชีพอย่างพอเหมาะไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ให้ฟุ้มเฟือยนัก ด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าชีวิตของคฤหัสถ์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีโภคทรัพย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเป็นเครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวัน เพื่อประคับประคองให้ชีวิตดำเนินไปอย่างไม่เดือดร้อน (ซึ่งแตกต่างไปจากเพศบรรพชิต เพราะเพศบรรพชิต ไม่มีเงินทอง เนื่องจากท่านเว้นจากการรับเงินรับทอง) โภคทรัพย์นั้นนอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับตนเองแล้ว ยังสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นๆ ด้วย

ข้อที่ควรพิจารณา คือ ทรัพย์ เมื่อกล่าวโดยประเภทใหญ่ๆ แล้ว มีอยู่ ๒ ประเภทคือ ทรัพย์ภายนอก กับ ทรัพย์ภายใน ทรัพย์ภายนอก เช่นทรัพย์สิน เงิน ทอง เป็นต้น ไม่มีความมั่นคง ไม่มีความปลอดภัยอาจจะถูกแย่งชิง หรืออาจจะเสื่อมสูญวันใดวันหนึ่งก็ได้ ไม่ได้เป็นที่พึ่งสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์ (ภายนอก) อย่างแท้จริง บางครั้งบางคราวยังอาจจะเป็นเหตุนำอันตรายมาให้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของเสียอีก แต่ทรัพย์ภายใน ซึ่งได้แก่ กุศลทุกประเภท เป็นทรัพย์ที่มีความมั่นคง มีความปลอดภัย ใครๆ ก็ลักไปไม่ได้ เป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริงเป็นสิ่งที่จะติดไปตนไปในภพหน้า พร้อมทั้งยังเป็นเหตุอำนวยผลที่น่าปรารถนาได้ทุกอย่าง เพราะเหตุว่า สิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง สำเร็จด้วยกุศลทั้งนั้น,

ทรัพย์ภายใน จึงประเสริฐกว่าทรัพย์ภายนอก เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ถึงแม้ว่าจะแสวงหาทรัพย์ภายนอกบ้าง ก็ไม่ควรละทิ้งทรัพย์ภายใน ด้วยการสะสมความดีประการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาความเข้าใจถูก เห็นถูกต่อไป ครับ.

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pamali
วันที่ 22 มิ.ย. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ถ้าใครมีอริยทรัพย์ 7 ประการ ผู้นั้นชื่อว่าไม่จน ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา และ หิริ โอตตัปปะ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
daeng
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ