อยากทราบเกี่ยวกับ เดรัจฉานกถา คือพูดไร้สาระเพ้อเจ้อค่ะ

 
soi10
วันที่  20 มิ.ย. 2554
หมายเลข  18589
อ่าน  8,934

เดรัจฉานกถา มี ๓๒ ประการ คือ การพูดไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระ คือการพูดเพ้อเจ้อ แล้วบอกว่าพูดทุกเรื่องเป็นเดรัจฉานกถาหมด ยกเว้นพูดเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ ถ้าเช่นนั้น ส่วนใหญ่ปุถุชนก็พูดเพ้อเจ้อร้อยละ ๙๙.๙๙ เปอร์เซ็น สิคะ เพราะไม่ใช่คนใบ้ หรือไปอยู่ในป่า ยังไงใครถามก็ต้องพูด ไม่ว่าจะพูดเรื่องข้าว ปลาอาหาร และทำอย่างไรคะเราถึงจะไม่พูดเพ้อเจ้อ อาจจะบอกว่าให้พูดน้อยๆ แต่ถึงมันจะพูดน้อย แต่ก็ต้องพูดอยู่ดีแหละค่ะ เพราะอยู่ในสังคม เดี๋ยวไม่พูด ทำเป็นใบ้เขาจะหาว่าหยิ่ง ถ้าเป็นเช่น นั้นจริง อย่างในเดรัจฉานกถา ว่าไม่ให้พูดทุกเรื่องยกเว้นพูดธรรมะ
ทำไมคำสมาทานศีลจึงไม่บอกให้ตรงๆ เลยว่า ห้ามพูดทุกเรื่องยกเว้นเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ จะเข้าใจมากกว่า แต่คำสมาทานกลับมีแต่บอกว่า มุสาวาทาเวรมณี กลับสมาทานเกี่ยวกับพูดโกหกอย่างเดียว พระโสดาบันคงเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อไม่ได้ใช่หรือเปล่าคะ และพระสกทาคามี พระอนาคามี ล่ะคะเว้นการพูดเพ้อเจ้อได้หรือเปล่า ตอนนี้ดิฉันก็รักษาศีล ๕ อยู่ แต่ติดใจตรงพูดเพ้อเจ้อค่ะ ใครทราบกรุณาตอบด้วยนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ติรัจฉานกถาหรือเดรัจฉานกถาคือคำพูดอันเป็นเครื่องปิดกั้นทางไปสวรรค์และทางแห่งความหลุดพ้น ปิดกั้นการบรรลุนิพพาน

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 217

อรรถกถาปฐมวัตถุกถาสูตรที่ ๙

บทว่า ติรจฺฉานกถ ได้แก่ เรื่องที่ขัดขวางทางสวรรค์และนิพานเพราะเป็นเรื่องที่ไม่นำสัตว์ออกทุกข์.

เพราะเหตุว่าขณะที่พูดเรื่องราวด้วยจิตเป็นอกุศล จิตที่เป็นอกุศลนั้นไม่ใช่ทางที่จะให้ผลไปสวรรค์และให้ผลด้วยการบรรลุธรรมได้เลยครับเพราะจิตเป็นอกุศลครับ

เดรัจฉานกถา เมื่อไหร่เป็นเดรัจฉานกถา

เดรัจฉานกถา คือคำพูดที่เป็นไปในเรื่องราวต่างๆ มีเรื่องราวของชาวบ้าน เรื่องราวของสิ่งต่างๆ ด้วยเจตนาที่เป็นอกุศลเจตนา อันมีความประสงค์จะพูดเรื่องราวที่ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น เมื่อไหร่ที่มีเจตนา ต้องย้ำว่ามีเจตนานะครับ มีเจตนาที่เป็นอกุศลด้วยโลภะ เป็นต้น พูดเรื่องราวที่เป็นบุคคลต่างๆ สิ่งต่างๆ ด้วยจิตอกุศลไม่ใช่กุศล ขณะนั้น เป็นเดรัจฉานกถา คำพูดที่กั้นสวรรค์ มรรค ผล นิพพาน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 20 มิ.ย. 2554

จะเป็นเดรัจฉานกถาเพราะเรื่องราวที่พูดหรือไม่

จะเป็นกุศลหรืออกุศลจิตนั้นสำคัญที่จิตและสำคัญที่เจตนาครับ ดังนั้น คำพูดใดเป็นเดรัจฉานกถาก็สำคัญที่เจตนา ไม่ใช่เรื่องที่จะพูด สำคัญที่จิตครับ เช่น แม้จะพูดเรื่องราวของบุคคลอื่น เช่น เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องโจร แต่พูดด้วยจิตที่เห็นถึงความไม่เที่ยงว่า แม้โจรคนนี้จะเก่งเพียงใดก็ต้องตาย มีความไม่เที่ยงเป็นที่สุด แม้ข้าว น้ำ ที่มีมากเพียงใด ข้าวและน้ำนั้นก็ต้องถึงความสิ้น เสื่อมไปเป็นธรรมดา คำพูดนี้ไม่ใช่เดรัจฉานกถา แม้จะกล่าวเรื่องของโจร เรื่องของข้าว เรื่องของน้ำ เพราะเจตนากล่าวด้วยจิตที่เป็นกุศล ด้วยจิตที่เห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงโดยปรารภเรื่องราวในชีวิตประจำวัน แต่จิตขณะนั้นเป็นความเห็นถูก หากจิตเป็นกุศลแล้ว เรื่องราวที่พูดจะเป็นเดรัจฉานกถาไม่ได้เลยครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ... คำพูดที่ไม่เป็นเดรัจฉานกถา [ปฐมวัตถุกถาสูตร]

อีกอย่าง แม้การถามสารทุกข์ เมื่อพบปะกันก็ด้วยจิตที่เป็นกุศลได้ อกุศลก็ได้ เรื่องราวเดียวกัน แต่จิตต่างกัน ทักทายกันเพราะโลภะก็ได้ แม้จะคำพูดเดียวกัน แต่อีกบุคคลพูดด้วยจิตที่ดีงามเป็นกุศลหรือกิริยาจิตก็ได้ครับ ดังเช่นพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ย่อมมีธรรมเนียมที่ปฏิบัติกัน คือย่อมถามถึงสารทุกข์ ถามถึงความเป็นไปของภิกษุผู้อาคันตุกะที่มาถึง ว่าเธอพออดทนได้หรือ ถามถึงความเป็นไปต่างๆ ด้วยจิตที่ดี ดังนั้น เรื่องราวที่พูดจึงไม่ใช่การตัดสินว่าเป็นเดรัจฉานกถาครับ สำคัญที่จิตและเจตนาเป็นสำคัญครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 20 มิ.ย. 2554

ดังนั้น การพูดเพ้อเจ้อมีเรื่องเดรัจฉานกถา ๓๒ ประการ สำคัญที่จิตเป็นสำคัญ ตามที่กล่าวมา แม้พูดเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่พูดด้วยความหวังดี ถามสุขทุกข์ด้วยความเป็นมิตรด้วยจิตกุศล แม้จะเป็นเรื่องราวที่ไม่ใช่ธรรม แต่ก็เป็นจิตที่เป็นกุศล เมื่อเป็นกุศลแล้วจะกล่าวว่าเป็นการพูดเพ้อเจ้อไม่ไ่ด้เลยครับ โดยนัยตรงกันข้าม แม้จะพูดเรื่องราวธรรม แต่พูดด้วยความไม่เข้าใจ ไม่ถูกต้อง และไม่ใช่เจตนาที่เป็นกุศล ข้อความในพระไตรปิฎกก็แสดงว่า แม้พูดธรรมแต่ก็เป็นการพูดบ่นเพ้อไป เพราะพูดในเรื่องที่ไม่เข้าใจ ไม่ถูกต้อง หรือด้วยเจตนาที่เป็นอกุศลครับ เป็นผู้พูดบ่นเพ้อธรรม จึงแสดงให้เห็นว่าจิตเป็นสำคัญด้วยครับ ในการจะพูดเพ้อเจ้อหรือพูดไม่เพ้อเจ้อครับ

ที่สำคัญ ควรเข้าใจความจริง ว่า ปุถุชนเป็นผู้หนาด้วยกิถเลส จึงเป็นธรรมดาที่อกุศลย่อมเกิดได้ง่าย ดังนั้น ในชีวิตประจำวันก็มีการพูด แต่การพูดนั้นก็ย่อมเป็นไปในอกุศลมากกว่าจิตที่เป็นกุศล มีการพูดเพ้อเจ้อ เรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ ด้วยจิตที่เป็นอกุศลครับ จึงเป็นผู้ตรงว่าเป็นธรรมดาที่จะต้องมีการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มากก็น้อย ซึ่งผู้ที่จะไม่พูดเพ้อเจ้ออีกเลยคือพระอรหันต์ครับ ส่วนในองค์ของศีล ๕ นั้น ไม่มีเรื่องการพูดเพ้อเจ้อ มีแต่เพียงการพูดเท็จ ดังนั้นศีล ๕ ไม่ขาดเพราะเหตุแห่งการพูดเพ้อเจ้อครับ แต่ที่สำคัญ เมื่อปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น ก็ย่อมค่อยๆ ขัดเกลากิเลสทีละน้อย ค่อยๆ เห็นโทษแม้การพูดในเรื่องที่จะไม่เป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นครับ แม้จะยังละไม่ได้ เพราะไม่ใช่ฐานะ แต่เริ่มที่จะเห็นโทษแม้ด้วยใจบ้างหรือยังเท่านั้นครับ ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ZetaJones
วันที่ 20 มิ.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 20 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเตือนพุทธบริษัทในเรื่องการพูดไว้มากมาย ว่าสิ่งใดควรพูด สิ่งใดไม่ควรพูด กล่าวคือ หากเป็นเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์เป็นเรื่องที่เพิ่มอกุศลให้มีมากขึ้น มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ทั้งคนพูดและคนฟัง ไม่ได้ทำให้กุศลเจริญขึ้นเลย คำพูดในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นดิรัจฉานกถา เป็นคำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นคำพูดที่ไม่ควรพูด พร้อมกันนั้นพระองค์ทรงแสดงเรื่องที่ควรพูด ควรสนทนากัน ไว้ด้วย คือ กถาวัตถุ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นเรื่องการอบรมปัญญาเพื่อรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เป็นต้น ซึ่งเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง

เป็นความจริงที่ว่า ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ วาจาก็ย่อมไปกับกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นธรรมดา แต่สำหรับบุคคลผู้เห็นโทษของอกุศลธรรม เห็นประโยชน์ของการเจริญกุศลทุกประการ ย่อมหลีกเลี่ยงวาจาหรือคำพูดใดๆ ที่เป็นไปในทางเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น เพราะการพูดคำพูดดังกล่าว ทำให้อกุศลธรรมเพิ่มมากขึ้น ทำให้กุศลธรรมเสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัด และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยนั้น คือ เป็นผู้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไป ครับ.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

ดิรัจฉานกถา [ติรัจฉานกถาสูตร]

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 20 มิ.ย. 2554

พระอรหันต์เท่านั้นที่จะละการพูดเพ้อเจ้อได้ ปุถุชนก็สามารถขัดเกลา เรื่องของคำพูดเดรัจฉานกถาได้ ถ้ามีสติในการพูด เช่น เราได้อาหารดี เพราะเคยทำบุญไว้ในอดีต หรือคนนั้นสวย รูปงาม รวยทรัพย์ เพราะเขาเคยให้ทาน รักษาศีล มีสติในการพูด เพราะขณะที่หลงลืมสติก็จะเต็มไปด้วยอกุศล ถ้าสติเกิดก็เป็นเครื่องกั้นอกุศลทั้งหลายค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Sensory
วันที่ 20 มิ.ย. 2554

"พระอรหันต์เท่านั้นที่จะละการพูดเพ้อเจ้อได้"

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
วิริยะ
วันที่ 21 มิ.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 21 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 21 มิ.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Jans
วันที่ 1 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 12 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
kullawat
วันที่ 22 ก.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
talaykwang
วันที่ 6 พ.ย. 2565

ขอบพระคุณและยินดีในความดียิ่งค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ