การให้ผลของกรรม

 
Sam
วันที่  26 มิ.ย. 2554
หมายเลข  18626
อ่าน  2,954

ขอเรียนถามว่า มีเหตุในปัจจุบันที่เป็นปัจจัยในการให้ผลของกรรมหรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

การให้ผลของกรรม มีด้วยปัจจัยหลายประการ ประการหนึ่งก็คือเพราะกรรมที่ทำไว้ ในอดีต เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ได้รับผลของกรรม แต่การจะได้รับผลของกรรม ไม่ใช่เพียงเฉพาะเรื่องกรรมในอดีต เป็นปัจจัยเท่านั้นครับ ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกด้วยที่เป็น ปัจจัยที่จะทำให้ได้รับ อกุศลกรรม หรือ กุศลกรรม ซึ่งมีหลายประการดังนี้ครับ คติ ภพูมิที่เกิด อุปธิ รูปร่าง หน้าตา กาล ช่วงเวลาที่เกิด ปโยคะ ความเพียร

คติ เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการให้ผลของกรรมในปัจจุบัน เช่นกัน คติคือภพภูมิ ที่เกิด เช่น เกิดในภพภูมิที่ดี เช่น เทวดา โอกาสที่ผลของกุศลจะให้ผลก็มีมากกว่า แทนที่กรรมในอดีตที่เป็นอกุศลกรรมที่เคยทำไว้จะให้ผลในชาตินั้น แต่เมื่อเกิดในภพ ภูมิที่ดี เป็นคติสมบัติ มีเทวดา เป็นต้น ผลของอกุศลก็ให้ผลน้อย หรือ ห้ามอกุศลกรรม นั้น ส่วนผลของกุศลก็ให้ผลแทนครับ เพราะมีคติ คือ ภพภูมิที่เกิดเป็นปัจจัยประการ หนึ่งในการให้ได้รับผลของกรรม ที่เป็นกรรมดี มีการเกิดในภพภูมิที่ดีครับ โดยนัยตรง กันข้าม ถ้าเกิดในคติไม่ดี คติวิบัติ เช่น เกิดในนรก โอกาสที่ผลของอกุศลจะให้ผล มากกว่าผลของกุศลกรรมครับ เพราะอยู่ในภพภูมิที่มีแต่การทรมาน แม้จะเคยทำกรรม ดีไว้มากมาย แต่ภพูมินั้นเป็นภพภูมิที่ได้รับอกุศลวิบากเป็นส่วนใหญ่จึงทำให้เกิดใน คติไม่ดี เป็นคติวิบัติก็ย่อมห้าม ผลของบุญที่จะให้ผลครับ

อุปธิ คือ รูปร่าง หน้าตา บุคคลที่เกิดมามีรูปร่่างหน้าตาดี อุปธิสมบัติ ก็มีโอกาส ได้รับสิ่งที่ดีมีโอกาสของผลของกุศลกรรมจะให้ผล เช่น การได้ยินเสียงที่ดี (คำชม) การได้รับโอกาสในชีวิตที่ดี เพราะอาศัย อุปธิเป็นปัจจัยประการหนึ่งในการทำให้ได้ รับวิบากที่ดีง่ายขึ้นเพราะอาศัยรูปร่างหน้าตาที่ดี ส่วน ผู้ที่มีอุปธิไม่ดี อุปธิวิบัติ คือ รูปร่างหน้าตาไม่ดี ก็มีเหตุที่จะได้รับอกุศลวิบากและห้ามกุศลวิบากบางอย่างได้ครับ เช่น ได้รับเสียงที่ไม่ดี (คำติ) เป็นต้น

กาล คือ ช่วงเวลาทีเ่กิด เช่นหากเกิดในกาลสมบัติ คือ ช่วงเวลาที่บ้านเมืองสงบสุข ก็ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ดีๆ จากบ้านเมืองสงบสุขมากกว่า กาลวิบัติคือ บ้านเมือง ไม่สงบสุข ข้าวยากหมากแพง เป็นต้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 26 มิ.ย. 2554

ปโยคะ ความเพียร หมายถึง ความเพียรที่เป็นไปในกุศลกรรมและอกุศลกรรม

ความเพียรที่เป็นปโยคะนี้เองที่เป็นเหตุปัจจุบันที่จะมีผลต่อการได้รับผลของกรรมที่ดี หรือไม่ดี

ก็เพราะอาศัยความเพียรครับ ปโยคสมบัติ คือ ความเพียรที่เป็นไปในกุศล กรรม เช่น การทำความดีประการต่างๆ เนืองนิตย์ในชีวิตประจำวัน ในปัจจุบันชาติ ผู้ที่ ทำความดีเนืองๆ แม้มีอกุศลกรรมในอดีตที่ทำมาแต่อกุศลกรรมในอดีตนั้นก็ไม่สามารถ ให้ผลได้เพราะถูกปโยคสมบัติห้ามไว้ เนื่องด้วยความเป็นผู้ทำความดีเป็นประจำใน ชีวิตประจำวันนั่นเอง แต่ไม่ไ่ด้หมายความว่าจะไม่มีกรรมในอดีตที่จะไม่ให้ผลที่เป็น อกุศลกรรมเลย

แต่เพราะอาศัยกรรมดีที่ประกอบเนืองๆ ในปัจจุบัน ย่อมห้ามกรรม บางอย่างที่เป็นอกุศลกรรมได้ เพราะอาศัยเหตุปัจจุบัน คือการทำความดีครับ

ดังนั้น ความเพียรที่เป็นไปในกุศลกรรมในปัจจุบันย่อมห้ามกรรมไม่ดีบางอย่างได้ และย่อมส่ง เสริมให้ได้รับผลของกุศลกรรมในอดีตให้ผลได้ เพราะอาศัยปโยคสมบัติ คือ การทำ ความดีในปัจจุบันครับ

โดยนัยตรงกันข้าม ผู้ที่มักทำกรรมชั่วในปัจจุบัน เนืองๆ บ่อยๆ เป็นปโยควิบัติ ความเพียรที่ไม่ดี ก็ย่อมทำให้มีโอกาสได้รับผลของอกุศลกรรมใน อดีตได้มากขึ้นเพราะปัจจุบันทำกรรมไม่ดี บ่อยๆ เนื่องๆ นั่นเอง และเป็นการห้ามวิบาก ของกรรมดีที่เคยทำไว้ในอดีตแทนที่จะให้ผลก็ไม่ให้ผล เพราะชาติปัจจุบันเป็นผู้ทำ กรรมชั่วเป็นประจำ จึงเป็นปโยควิบัติ ห้ามกรรมดีในอดีตไม่ให้ผลครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

ปโยคสมบัติและปโยควิบัติ [วิภังค์]

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าเรื่องของกรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง อาศัยเหตุปัจจัยหลาย ประการในการที่จะได้รับผลของกรรมครับ ไม่ใช่กรรมในอดีตประการเดียวเท่านั้น แต่ ทุกอย่าง มีกรรมเป็นหลัก ในการให้ผลของกรรมครับ แต่กรรมจะให้ผลหรือไม่ในชาติ ปัจจุบันก็มีเหตุปัจจัยประการอื่นๆ ด้วยครับ ตามที่กล่าวมา

ประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม จึงให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมว่าเป็นไปตาม เหตุปัจจัยและเป็นไปตามเหตุผลอย่างแท้จริง และเมื่อรู้แล้วก็ควรเป็นผู้ประกอบกรรมดี ในชีวิตประจำวันเท่าที่ทำได้ อันเป็นไปเืพื่อขัดเกลากิเลสและไม่ประมาทในการ ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูกและดับกิเลส ดับการเกิด ดับการทำ กรรม อันเป็นเหตุของทุกข์ครับ

ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 27 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปนั้น เป็นจิตแต่ละขณะ จิตเกิดดับสืบต่อกัน เป็นปัจจัยแก่กันและกัน ในชาติปัจจุบันนี้จิตขณะแรกเกิดขึ้นดับไปเป็นปัจจัยแก่จิตขณะต่อมาสืบต่อมาเรื่อยๆ และจิตในขณะนี้ดับไปก็เป็นปัจจัยแก่จิตขณะต่อไปสืบต่อไปจนถึงจุติจิต (จิตสุดท้ายในชาตินี้) จุติจิตในชาตนี้ก็เป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตในชาติต่อไปสืบต่อเนื่องไปอย่างนี้ เรียกว่าสังสารวัฏฏ์

อกุศลกรรม และกุศลกรรมที่เรากระทำในชาติก่อนๆ รวมถึงชาตินี้ด้วย ย่อมสะสมสืบต่อไปในจิต เมือถึงคราวให้ผล ผลก็ย่อมเกิดขึ้นตามสมควรแก่เหตุที่ได้กระทำแล้ว ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นแห่งปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แม้ในเรื่องกรรมและผลของกรรมก็เช่นเดียวกัน ไม่พ้นไปจากธรรมเลย ไม่พ้นจากชีวิตประจำวันด้วย ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ย่อมจะเป็นผู้มีความเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลแต่ละคน หรือแม้กระทั่งเกิดกับตัวเองไม่ว่าดีหรือร้าย น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนาก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเพราะกรรมที่เคยได้กระทำมาแล้วทั้งสิ้น ไม่มีใครทำให้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ผลที่จะเกิดย่อมมีไม่ได้ แต่เพราะมีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อได้โอกาสที่กรรมจะให้ผล ผลจึงเกิดขึ้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับทุกแง่มุมของชีวิต จึงควรอย่างยิ่งที่ทุกคนจะได้พิจารณาว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่ความตายเป็นสิ่งแน่นอนสำหรับทุกคน ควรที่จะเห็นโทษของอกุศลที่เป็นเหตุให้กระทำอกุศล-กรรมแล้วจะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ไม่ดีข้างหน้า โดยไม่เพียงแค่กลัวผลของอกุศล-กรรมเท่านั้น ต้องกลัวที่เหตุคืออกุศลกรรม ด้วย ดังนั้นเมื่อจะสะสมกรรมที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า ก็พึงกระทำเฉพาะกรรมอันงาม คือ กุศลกรรม เท่านั้น ส่วน สิ่งที่ไม่ดีคืออกุศลทั้งหลายซึ่งไม่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่บุคคลอื่น ไม่ควรที่จะสะสมให้มีมากขึ้น เพราะเหตุว่า อกุศลกรรม เป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้านั้น ก็คือ กุศล ความดีทั้งหลาย เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ครับ.

ขอเชิญคลิกอ่านคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ

คติสมบัติ - คติวิบัติ

อุปธิสมบัติ - อุปธิวิบัติ

กาลสมบัติ - กาลวิบัติ

ปโยคสมบัติ - ปโยควิบัติ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณผเดิม และทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
bsomsuda
วันที่ 27 มิ.ย. 2554

จากความคิดเห็นของ คุณผเดิม

"..ความเพียรที่เป็นไปในกุศลกรรมในปัจจุบัน ย่อมห้าม กรรมไม่ดีบางอย่างได้ และ ย่อมส่งเสริม ให้ได้รับผลของกุศลกรรมในอดีต.. เพราะอาศัยปโยคสมบัติ คือ การทำความดีในปัจจุบันครับ.."

หมั่นฟังธรรม เพื่อความเข้าใจถูก และเจริญกุศลทุกประการด้วยความเข้าใจถูก

..ชีวิตประเสริฐ เกิดจากเหตุปัจจัยที่ประเสริฐ..

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณผเดิม อ.คำปั่น และทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pamali
วันที่ 27 มิ.ย. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 27 มิ.ย. 2554

ขณะที่กุศลจิตเกิดเป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ชวนจิตขณะนั้นเกิด 7 ขณะ ขณะที่ 1 ให้ผลในชาตินี้ ขณะที 2 - 6 ให้ผลนับชาติไม่ถ้วน และ ขณะที่ 7 ให้ผลชาติหน้า และทีสำคัญเราไม่สามารถรู้ได้ว่ากุศลหรืออกุศลไหนจะให้ผลก่อนค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Noparat
วันที่ 27 มิ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Sam
วันที่ 28 มิ.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พุทธรักษา
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

"พระธรรม" ที่พระผู้มีพระภาคฯ "ทรงตรัสรู้" เป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง ... เกินกว่าจะรู้ตามได้ทั้งหมด. โดยส่วนตัว ... เข้าใจว่าชีวิตประจำวัน ... เป็นบทพิสูจน์ "ความเป็นธรรม"ชีวิตประจำวัน ... เป็นบททดสอบ "ความเข้าใจธรรม"

ขออนุโมทนาทุกคำถาม-คำตอบ ... ที่เกื้อกูลความเข้าใจพระธรรมค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

ย้อนไปอ่านคำถาม มีเหตุในปัจจุบันที่เป็นปัจจัยในการให้ผลของกรรมหรือไม่ คำ ตอบก็คือ มี เหตุอันนั้นก็คือ ปโยคะ ความเพียร ปัจจัยอื่นๆ ที่ท่านผู้รู้ยกมาแสดงด้วยก็ คือ คติ ภพภูมิที่เกิด อุปธิ รูปร่างหน้าตา และ กาล ช่วงเวลาที่เกิด

ขออนุญาตสงสัยแทรกลงไว้ตรงนี้ว่า ทั้งคติ อุปธิ และกาล ตามรายละเอียดที่ อธิบายไว้ ดูเหมือนว่าจะเป็น ผล ที่เกิดจากกรรมในอดีต เช่น เพราะทำกรรมดีจึงไปเกิด ในคติที่ดี เพราะทำกรรมดีจึงทำให้มีรูปร่างหน้าตาดี เพราะทำกรรมดีจึงเกิดในช่วงเวลา ที่เหมาะที่ดี แต่เฉพาะปโยคะนั้น สงสัยว่าจะเป็นผล (วิบาก) ด้วยหรือเปล่า หมายความ ว่า เพราะทำกรรมดีจึงเป็นผลให้มีความเพียรเข้มแข้ง เพราะทำกรรมไม่ดีจึงเป็นผลให้มี ความเพียรย่อหย่อน และถ้าปัจจัยเหล่านี้เป็นผล เราก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงให้เป็น อย่างอื่นได้ใช่ไหมครับ เช่น คนที่มีความเพียรย่อหย่อนเป็นผลมาจากทำกรรมไม่ดีไว้ใน อดีต ก็ไม่สามารถจะฝึกฝนพัฒนาให้เป็นคนมีความเพียรเข้มแข็งได้ เป็นต้น เป็นเช่นนี้ หรืออย่างไรครับ

ขอฟังคำอธิบายเพิ่มเติมอีกหน่อยครับ - ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 10 ครับ

ผลของกรรม มีทั้งที่เป็นรูปและนามครับ ที่เป็นรูป เช่น ตา หู จมูก เป็นต้น ส่วนที่ เป็นนาม คือ จิต เจตสิก ซึ่งต้องเป็นชาติวิบาก คือ วิบากจิตและเจตสิกที่เป็นผล เช่น ขณะที่เห็นเป็นผลของกรรม เป็นจิตเห็น เป็นต้นแต่เมื่อกล่าวถึงปโยคะ หมายถึง วิริยะ ความเพียรที่เป็นกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม ดังนั้น กุศลกรรมและอกุศลกรรม จึงเป็นเหตุให้เกิดผลของกรรม แต่ไม่ใช่ผลของกรรมครับ ดังนั้น ปโยคะ จึงไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่ผลของกรรมครับ แต่เป็นการทำกุศลกรรมและอกุศลกรรม ซึ่ง ขณะนั้นที่ทำกรรม ที่ป็นเหตุ ก็ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยครับ

ส่วนบางคนทำไมถึงเพียรที่จะทำกุศลกรรม บางคนเพียรที่ทำอกุศลกรรม เพราะเป็น การสะสมมาในอดีต สะสมเหตุ เช่น บางคนโกรธง่าย เพราะในอดีตเคยโกรธ มีการ สะสมมาในอดีต แต่การสะสมมาในอดีตที่เป็นกุศล หรือ อกุศล ทำให้เกิดผลของกรรม คือ ทำกุศลหรือ อกุศลกรรมครับ เป็นการสะสมสืบต่อมาของจิตแต่ละขณะ ทำให้เป็น ผู้มีอุปนิสัยในทางกุศล หรือ อกุศล ส่วนการกระทำกุศลและอกุศลในอดีต ผลของกรรม นั้นคือทำให้เกิด วิบาก คือ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้รูปที่ดี เป็นต้นครับ ดังนั้นเราจะต้อง แยกระหว่างตัวเหตุ คือ กุศลกรรม อกุศลกรรม ทีเป็นปโยคะ และผลของกรรมที่เป็น วิบาก คือ รูปที่เกิดจากกรรมที่ทำไว้และวิบากจิต เช่น ขณะที่เห็นอันเป็นผลของกรรม ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 29 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Witt
วันที่ 16 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ