ไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างไรดี

 
daeng
วันที่  28 มิ.ย. 2554
หมายเลข  18637
อ่าน  1,613

ผมอยากเรียนถามท่านผู้รู้ครับว่า คือสมัยที่ผมมีอายุครบยี่สิบปี ก็ได้บวชเป็นพระภิกษุเพื่อทดแทนคุณของมารดาและบิดา (ตามความเข้าใจที่ผู้ใหญ่บางท่านสอนกันมา) และผมก็เข้าใจไปตามนั้นด้วย เมื่อบวชแล้ว (อยู่ต่างจังหวัด) ก็ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนอะไร วันๆ ก็ไม่มีอะไรทำ นอกจากการท่องหนังสือสวดมนต์เพื่อที่จะได้ไปสวดตามงานต่างๆ หรือไม่ก็จำวัด หรือคุยกันสนุกสนานกับพระรูปอื่นๆ เหมือนกับตอนที่เป็นฆารวาส ไม่มีความรู้เรื่องพระวินัยเลย จึงได้เกิดการกระทำผิดพระวินัยตามๆ กัน เช่น ฉันมาม่า หลังเวลาห้าม และอีกหลายๆ อย่าง แต่ยังไม่ถึงขั้นปราชิกครับ ผมบวชอยู่ได้หนึ่งพรรษาครับ ด้วยความคิดที่ว่าอยากไห้คุณแม่ได้ใส่บาตรและไห้ตนเองได้บุญเยอะๆ (หารู้ไม่ว่าเป็นการสะสมอกูศลอย่างมหาศาลเลยทีเดียว โอหนอ กรรมหนักเกิดขึ้นแก่เราแล้ว)
หลังจากสึกออกมาแล้ว ชีวิตก็ดำเนินไปตามกรรมที่ได้สะสมมาแล้วในอดีต การใช้ชีวิตเต็มไปด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลง เรียกว่าแทบจะไม่มีกุศลเลย เพราะชีวิตวนเวียนอยู่กับการทำงานหาเลี้ยงชีพ ดื่มสุรา เที่ยวเตร่ไปตามประสาผู้ทีมีอวิชามากมายเหลือเกิน นานๆ ก็จะมีให้ทาน และทำบุญบ้าง ไม่มีความเข้าใจในพระธรรมคำสอนเลย จนกระทั่งอายุล่วงเลยมาสามสิบต้นๆ พี่สาวก็ได้ชวนให้ไปวัดมหาธาตุ บอกว่ามีพระที่เก่งมากสอนให้เจริญวิปัสนา ให้กำหนดว่า พองหนอ ยุบหนอ (ผมเริ่มสนใจอ่านหนังสือธรรมมะ ตามนิตยสารต่างๆ มาบ้างแล้ว พึ่งมารู้ตอนหลังว่ามีแต่สอนผิดๆ เกือบทั้งนั้น) ผมก็ไปเรียนวิปัสนากับพี่สาวที่วัดมหาธาตุ มีเดินจงกรม และนั่งสมาธิ ถ้าเดินจงกรมครึ่งชั่วโมง ก็ต้องนั่งสมาธิครึ่งชั่วโมง เพื่อให้อินทรีย์เสมอกัน จากการที่ได้อ่านหนังสือธรรมมะต่างๆ (นิตยสารพ้นโลก โลกทิพย์) ทำให้ผมสนใจเรื่องของธรรมมะ อยากพบกับอาจารย์เก่งๆ อยากรู้เรื่องธรรมมะมากขึ้น อยากค้นหาตัวเองว่าจริตของตนเองนั้นตรงกับบทภาวนาว่าอะไรจะได้ไม่เสียเวลาในการไปทำอย่างอื่น มุ่งตรงไปทางนี้เลย นั่นคือความเข้าใจในขณะนั้น เมื่อพี่สาวชวนจึงเข้าทางผมทันที ผมไปปฏิบัติอยู่ประมาณปีหนึ่งได้ (ไม่ค่อยแน่ใจ) แต่ไม่ได้ไปทุกวันนะครับ ปฏิบัติไปสักพักแล้วความสงสัยก็เกิดขึ้น เพราะพระที่ท่านสอนบอกว่า ทางนี้เป็นทางสายเอก เป็นทางลัด เมื่อปฏิบัตให้เต็มกำลัง ภายในเวลา ๗ วัน ๗ เดือน หรือ ๗ ปีต้องสำเร็จแน่
บังเอิญผมเกิดความสงสัยจึงถามว่า แล้วกับอีกทางหนึ่งที่ผมได้ปฏิบัติมาคือการภาวนา ว่าพุทโธๆ เมื่อหายใจเข้าและออก ไม่เหมือนกันหรือครับ นั้นก็ได้เหมือนกันแต่เป็นทางอ้อมเป็นสมถภาวนา ไม่ใช่วิปัสนาภาวนา ตรงนี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนให้ผมได้คิดว่า เอ!ความต่างกันระหว่าง สมถภาวนา กับ วิปัสนาภาวนา มันต้องมีข้อแตกต่างกันอย่างชัดเจนแต่นี่ก็เป็นคำภาวนาเหมือนกัน ต่างกันตรงแค่คำและจุดที่กำหนดเท่านั้นเอง (คือถ้าพุทโธให้กำหนดที่ลมหายใจเข้าและออก แต่ยุบหนอพองหนอให้กำหนดที่ท้องในขณะที่พองหรือยุบ) ได้แต่สงสัย แต่ก็ไม่ได้ถามใคร
จนกระทั่ง ผมได้อ่านหนังสือที่พี่คนหนึ่งที่ทำงานด้วยกันให้มาอ่าน เป็นหนังสือถามตอบปัญหาธรรมมะระหว่าง ท่านอาจารย์ กับอีกท่านหนึ่ง ผมจำไม่ได้ว่าท่านชื่ออะไร ใช้อักษรย่อว่า ว. (ถ้าจำไม่ผิด) นี้เป็นจุดเปลี่ยนของความคิดเกี่ยวกับเรื่องพระธรรม เพราะอ่านแล้วมีเหตุมีผล บางตอนก็เข้าใจง่าย แต่บางตอนก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่สิ่งที่ทำให้ดีใจก็คือไม่มีข้อขัดแย้งในใจ เหมือนกับที่ผ่านมา ก็อ่านและศึกษาไปเรื่อยๆ
จนพี่เขาเอาเทปท่านอาจารย์มาให้ฟัง ฟังใหม่ๆ ก็ยังไม่เข้าใจมากนักเพราะเป็นเรื่องจิตบ้าง เจตสิกบ้าง รูปบ้าง แต่ที่ฟังเพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยฟังมาก่อนเลย เรื่องจิตเจตสิก รูป ก็เลยอยากรู้ว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร และที่อยากฟังข้อที่สอง เพราะผู้บรรยายธรรมบรรยายได้ไพรเราะจริงๆ เสียงสำเนียงอักขระไพรเราะจับใจจริงๆ จนทำให้อยากเห็นท่านอาจารย์อย่างมาก คิดว่า เอ!ทำใมผู้หญิงคนนี้บรรยายธรรมได้ไพรเราะและลึกซึ้งอย่างนี้ และก็ทำให้ผมได้มาฟังธรรมที่มูลนิธิครับ ตอนหลังก็ไม่ได้มาฟังธรรมเพราะอยากเห็นอาจารย์นะครับ มาฟังเพราะธรรมที่ท่านอาจารย์ และวิทยากรท่านอื่นๆ ได้บรรยายเป็นธรรมที่หาฟังได้ยากโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้ และที่สำคัญคือไม่ต้องกลัวว่าจะฟังพระธรรมคำสอนที่ผิดอีกต่อไป กราบขอขมาท่านอาจารย์ที่เรียกท่านอาจารย์ว่าผู้หญิงคนนี้ด้วยนะครับ และกราบขออภัยท่านวิทยากรและท่านอื่นๆ ด้วยนะครับที่เรื่องราวของผมยาวไปหน่อย เนื่องจากผมอยากให้ผู้ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องธรรมมะ หมายถึงผู้ที่เข้ามาใหม่จริงๆ เหมือนกับผมที่ไปปฏิบัติผิดๆ มาตลอด (แม้เดี๋ยวนี้ผมเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะได้ศึกษาพระธรรมคำสอนที่ถูกต้องครับ) หลังจากที่พอเข้าใจบ้าง จึงได้รู้ว่าสิ่งที่ผ่านมา เรามีแต่อกุศลมากมายเหลือเกิน แม้จะพอเข้าใจได้บ้างก็ยังมีอกุศลเต็มเปี่ยมเหมือนเดิม หนทางนี้ช่างยากเสียเหลือเกิน แต่ก็ต้องค่อยๆ ก้าวเดินต่อไป เพื่ออีกในชาติหนึ่งจะได้กลับมาฟังพระธรรมที่ถูกต้องต่อไป
ครับมาถึงคำถามที่ผมอยากถามครับ ที่กล่าวไว้ตอนต้น ตอนบวชได้กระทำผิดพระวินัยอย่างมาก ไม่ได้ปลงอาบัติ ผมควรทำอย่างไรดี ถ้าผมไปบวชใหม่เพื่อไปอยู่ปริวาสกรรม (ทุกคำที่เขียนผิดขออภัยด้วยครับ) จะทำได้หรือเปล่าครับ เพราะสิ่งเหล่านี้รบกวนจิตใจเสมอๆ พอเข้าใจพระธรรมบ้างก็ทำให้คิดเยอะ คิดมาก เมื่อก่อนก็ไม่เห็นว่าจะคิดมากมายขนาดนี้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นอกุศล แต่กุศลก็ยังไม่มากพอที่จะเป็นปัจจัยให้คิดถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริง คิดแต่ว่า อยากไปแก้ไข ถ้าแก้ได้ กรุณาแนะนำให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงด้วยครับ จะได้ไม่ต้องคิดถึงสิ่งเหล่านี้อีก เข้าใจว่าห้ามความคิดไม่ได้ แต่ถ้าเกิดความเข้าใจในเรื่องนี้แล้วอาจทำให้ดีขึ้นครับ

กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ชีวิตของสัตว์โลกก็ดำเนินไปตามเหตุปัจจัย ตามสภาพธรรมทีเกิดขึ้น เมื่อยังเป็นผู้ที่หนาด้วยกิเลสก็เป็นธรรมดา ที่ยังมีความไม่รู้มากมาย และความไม่รู้ก็ย่อมทำให้ดำเนินชีวิตไปตามความไม่รู้ ตามเหตุปัจจัยของกิเลส ครับ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด และเห็นถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม และการสะสมมาแตกต่างกันไปของแต่ละบุคคล เมื่อยังมีกิเลส ชีวิตก็ดำเนินไปตามกิเลส แต่เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม สิ่งที่เคยสะสมมาในอดีต คือ ความสนใจพระธรรม และความเข้าใจพระธรรมในหนทางที่ถูกต้องก็ถึงพร้อมที่จะได้เหตุปัจจัยที่จะมาสนใจ และเมื่อสนใจในพระธรรมแล้ว บางบุคคลก็สะสมความเห็นผิดมาในพระธรรม บางบุคคลก็สะสมความเห็นถูกมาในพระธรรม เพราะฉะนั้นเมือ่ได้ยินเรื่องเดียวกัน เช่น คำสอนที่ผิด ผู้ที่สะสมความเห็นผิดมาก็ย่อมยินดี และเห็นด้วยกับความเห็นผิดนั้น แต่สำหรับผู้ที่มีความเห็นถูกที่สะสมมาในพระธรรมแล้ว ย่อมเกิดความคิดพิจารณาว่านั่นไม่ใช่หนทาง จนได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม อ่านพระธรรมในหนทางที่ถูกครับ
ทุกอย่างจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญครับ แต่มีเหตุปัจจัยพร้อมที่จะได้พบกับพระธรรมในหนทางที่ถูกเพราะบุญเก่าที่เคยทำไว้ในปางก่อน นั่นคือปัญญาที่เคยสะสมมา เมื่อได้พบพระธรรมในหนทางถูก ก็ย่อมพิจาณาโดยแยบคายและเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ในสิ่งทีได้อ่าน ได้ฟังครับ อันเกิดจากการที่เคยสะสมความเห็นถูกมาแล้วครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

แต่เพราะยังสะสมปัญญามาไม่มาก แต่ก็ต้องค่อยๆ อบรมไปครับ ซึ่งจากที่เจ้าของกระทู้ได้กล่าวมา จึงแสดงให้เห็นว่า มีความเข้าใจถูกว่าพระธรรมเป็นสิ่งที่ยาก และเข้าใจถูกว่า ได้เคยปฏิบัติผิดมาก่อน ดังนั้นก็แสดงให้เห็นว่าปัญญา ความเข้าใจถูกเกิดขึ้น จึงรู้ว่าเข้าใจผิดมานั่นเองและเห็นกิเลสที่ผ่านมา และเป็นผู้ตรงว่าเป็นผู้เริ่มที่จะเข้าใจพระธรรมในหนทางที่ถูกครับ ดังนั้นการอบรมปัญญา ต้องอาศัยเวลายาวนาน เป็นจิรกาลภาวนา นับชาติไม่ถ้วนเพราะกิเลสที่มีมาก แต่ปัญญาน้อยจึงต้องอาศัยเวลายาวนานครับ โดยเริ่มจากความเห็นถูกขั้นการฟัง เริ่มจากความเข้าใจถูกในเรื่องของสภาพธรรม แม้แต่คำว่าธรรม เป็นเบื้องต้นครับ ก็จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นเรื่อยๆ นั่นเองครับ อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่ท้อและไม่หวัง ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปเหมือนกับที่เจ้าของกระทู้กล่าวว่า หนทางนี้ช่างยากเสียเหลือเกิน แต่ก็ต้องค่อยๆ ก้าวเดินต่อไป เพื่ออีกในชาติหนึ่งจะได้กลับมาฟังพระธรรมที่ถูกต้องต่อไป…...นั่นคือ ความเห็นถูกที่เข้าใจพระธรรมว่ายากครับ แต่ก็ค่อยๆ ไปทีละก้าวด้วยความเข้าใจถูก เมื่อสะสมไปก็จะพบกับพระธรรม และค่อยๆ อบรมปัญญาจนวันหนึ่งดับกิเลสได้ครับ
ขออนุโมทนาคุณ daeng ที่มีความเห็นถูกและสนใจพระธรรมในหนทางนี้และเป็นผู้ตรงที่จะค่อยๆ เริ่มศึกษาไปครับ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

ส่วนสำหรับคำถามที่ถามเรื่องเคยบวชแล้วมีอาบัติจะทำอย่างไร เป็นต้น เรียนดังนี้ครับ สำหรับเมื่อตอนที่บวชเป็นพระ มีอาบัติ แต่เมื่อสึกมาแล้วเป็นคฤหัสถ์ ก็ไม่มีอาบัติติดตัวแล้ว คนละส่วนกันครับ เพราะเป็นคนละเพศ ซึ่งก็สามารถอบรมปัญญา ศึกษาพระธรรมในเพศคฤหัสถ์ได้ครับ ส่วนเมื่อกลับไปบวชใหม่ อาบัติที่เคยทำไว้ ไมได้ปลง ก็กลับมา แต่ก็สามารถปลงอาบัติได้ ส่วนอาบัติหนักสังฆาทิเสส ก็ต้องอยู่ปริวาสกรรม และทำตามพระวินัย ถึงจะเป็นผู้บริสุทธิ์และหลุดจากอาบัติได้ครับ ทุกอย่างแก้ได้ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจครับ
ที่สำคัญ ก็ต้องพิจาณาว่า การบวชคือผู้ที่เห็นโทษในการครองเรือน สละอาคารบ้านเรือนด้วยเห็นโทษในกามคุณด้วยปัญญาจริง และเป็นผู้ที่จะประพฤติตามพระธรรมวินัยด้วยความเคารพ แต่หากไม่ได้มีอัธยาศัยเช่นนั้น เมื่อบวชไปก็ไม่ได้รักษาพระธรรมวินัย และไม่ประพฤติตามพระวินัยเท่าที่ควร ก็ย่อมเป็นโทษกับผู้บวชเองครับ เพราะฉะนั้น จะต้องรู้จักตัวเองด้วยปัญญาจริงๆ เพราะการบวชและการยินดี อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ตามพระธรรมวินัยก็เป็นเรื่องยากเพราะเป็นเรื่องของปัญญาและเห็นโทษของกิเลสจริงๆ
การอบรมปัญญาจึงไมได้จำกัดเพศว่า เมื่อบวช ปัญญาถึงจะเจริญได้ แต่ปัญญาเกิดจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเพศใดก็สามารถอบรมปัญญาและบรรลุ มรรคผลได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นการเป็นคฤหัสถ์ที่ดี ประพฤติตามพระธรรมและอบรมปัญญาในหนทางที่ถูกต้องประเสริฐกว่าผู้ที่บวชแล้วไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย บัญญัติครับ ดังนั้นจะทำอย่างไรดี ในเมื่อขณะมีสิ่งที่สามารถจะให้ศึกษาในปัจจุบัน ไม่ต้องคิดถึงอดีตที่ผ่านมา ไม่ต้องคิดถึงอนาคตที่มาไม่ถึงด้วยความกังวล เพราะทุกอย่างเมื่อถึงเวลาก็ต้องเป็นไปอย่างนั้นครับ อกุศลเป็นธรรมดาที่ต้องเกิดไม่ว่าจะอดีตและอนาคต การอบรมปัญญาคือการรู้ในสิ่งที่เกิดแล้ว รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา นี่คือหนทางทีู่่ถูกต้องครับซึ่งขณะนี้มีพระธรรมให้เราสามารถศึกษาให้เข้าใจ โดยไม่ต้องรอให้กลับไปบวชเลย การค่อยๆ ศึกษาพระธรรม ไปทีละน้อย ทีละก้าว ตามที่คุณ daeng กล่าวไว้นั่นเอง ย่อมเป็นหนทางบริสุทธิ์จากกิเลสได้ครับ เพราะเริ่มจากปัญญาความเห็นถูกนั่นเองครับ ขออนุโมทนาที่สนใจและตั้งใจที่จะรู้ความจริงครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pamali
วันที่ 29 มิ.ย. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 29 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 29 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นโอกาสที่มีค่ามากที่สุดในชีวิตที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมคำสอน ที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และจะต้องเป็นผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมาแล้วในอดีตจึงมีศรัทธาเห็นประโยชน์ของการเข้าใจธรรม ถึงแม้ว่าในช่วงแรกๆ อาจจะเดินทางผิดไป เพราะเป็นธรรมดาของผู้ที่ยังไม่ได้ดับพืชเชื้อของความเห็นผิด ยังมีทิฏฐานุสัยอยู่ ความเข้าใจผิด การเดินทางผิด การปฏิบัติผิด จึงเกิดขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อได้เดินทางที่ถูกต้องแล้ว ก็จะต้องเพิ่มพูนความเข้าใจยิ่งขึ้น ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท โดยไม่ขาดการฟัง การศึกษาการไตร่ตรองพิจารณาธรรมต่อไป ซึ่งจะเป็นหนทางเดียวที่จะละความไม่รู้ ละความเห็นผิดได้ในที่สุด
ชีวิตในเพศบรรพชิตที่ผ่านมา ที่มีการล่วงละเมิดสิกขาบท ต้องอาบัติข้อต่างๆ เช่น ฉันอาหารในเวลาวิกาล เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เป็นต้น จะมีโทษก็ต่อเมื่อไม่ได้ปลงในขณะที่ดำรงเพศบรรพชิต อาบัติที่ไม่ได้ปลง ย่อมเป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพาน และกั้นการไปสู่สุคติด้วย แต่เมื่อลาสิกขา (สึก) ออกมาแล้ว ปฏิญาณตนว่าจะเป็นคฤหัสถ์ อาบัติก็ไม่มีแล้ว ไม่มีอาบัติติดตัวอีกต่อไป (ตรงนี้ขอให้สบายใจได้) ที่สำคัญ ไม่ควรกลับเข้าไปบวชอีก ควรอย่างยิ่งที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศคฤหัสถ์ พร้อมทั้งเป็นคนดี ทำกิจที่ควรทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลของคุณแดง,คุณผเดิม และ ทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
daeng
วันที่ 29 มิ.ย. 2554

กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับที่ได้ให้ความรู้และความเข้าใจเพิ่มขึ้นมาอีกจากอาจารย์ทั้งสองท่าน เพราะไม่เช่นนั้นผมก็หยุดคิดในเรื่องนี้ไม่ได้สักที แต่ที่คิดอีกข้อหนึ่งก็คือว่าในอนาคต (ซึ่งอาจารย์ก็ไม่ให้คิดในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แต่เพราะความเป็นอนัตตานั่นเองที่บังคับบัญชาอะไรไม่ได้เลยจึงทำให้คิดอีกและก็คิดอีก) คือในชาติต่อๆ ไป ถ้าผมได้บวชอีก ก็กลัวว่าจะเป็นหนทางที่กั้น มรรค ผล แม้กระทั่งทางที่ไปสู่สุคติ เพราะคงจำไม่ได้แน่นอนว่าตนเองเมื่อตอนบวชในชาติที่แล้วๆ มาทำผิดอะไรไว้บ้างจริงๆ แล้วก็ไม่ได้คิดหวังว่าจะต้องไปสู่ทางที่ดีหรือไม่ดีอะไรนะครับ เพราะทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับกรรมที่ได้กระทำไว้ทั้งนั้น แต่ที่กังวลเพราะว่าถ้าหากแก้ได้ในชาตินี้ ก็อยากที่จะทำเพราะยังมีความจำได้อยู่ แต่ก็คิดอยู่เหมือนกันว่า ถ้าบวชแล้วจะไปอยู่ที่ไหน เพราะในปัจจุบันนี้ การอยู่เป็นเพศบรรชิตลำบากมาก (ในที่นี้หมายถึงถ้าจะปฏิบัติให้ตรงตามพระวินัยก็ยังมองหาวัดที่ประพฤติปฏิบัติตรงตามพระวินัยนี้ยาก และประชาชนในยุคนี้สมัยนี้ก็มีความเข้าใจผิดในเรื่องการทำบุญอยู่มาก) แต่เมื่อได้ฟังท่านอาจารย์ทั้งสองแล้วก็เข้าใจได้ว่าไม่ต้องกังวลในเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วและที่ยังไม่เกิด ก็คงต้องพยายามฟังพระธรรมต่อไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่มากขึ้น เมื่อมีความเข้าใจมากขึ้นความเข้าใจนี้คงเป็นปัจจัยให้เกิดความเห็นถูกคิดถูกมากขึ้น การทำอกุศลจะได้ลดน้อยลง น้อยลง จนปัญญาสามารถที่จะเห็นแจ้งในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นจริงๆ ส่วนสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาก็ขอน้อมรับพร้อมที่จะยอมรับกับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยที่ไม่ต้องโทษใครอีก เพราะแท้จริงแล้ว ต้องเป็นเรา เราเท่านั้นที่เป็นผู้กระทำกรรมไว้แล้ว ผลจึงต้องเกิดแก่เราเป็นที่สุด

กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 29 มิ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 7 เพิ่มเติมครับ

สำหรับในอนาคต ในชาติต่อๆ ไป แม้จะได้บวช แต่อาบัติเก่าในชาติก่อนๆ จะไม่กลับมาครับ เพราะอาบัติที่ติดตัว จบเพียงชาตินั้นครับ จะไม่ตามไปชาติอื่นๆ ครับ เมื่อบวชในชาติใหม่ ก็เริ่มต้นใหม่ครับ ที่สำคัญ หากเราได้ศึกษาชีวิตของพระโพธิสัตว์ เมื่อยังเป็นปุถุชนอยู่ ท่านก็เวียนว่ายตายเกิดและก็เกิดในภพภูมิต่างๆ มากมาย และก็บางชาติก็เป็นนักบวช และก็ยังมีความไมเข้าใจผิดบางประการทำให้กล่าวตู่พระปัจเจกพุทธเจ้าบ้าง ในชาติที่เป็นนักบวช ยังทำอกุศลมากมายเพราะความไม่รู้ที่สะสมมาและความเป็นปุถุชนนั่นเองครับ บางชาติแม้จะใกล้ได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วในกัปสุดท้าย ก็ยังกล่าวตู่พระพุทธเจ้าและไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้ากัสสปะ เป็นต้น อันแสดงให้เห็นถึงความที่มีกิเลสมากก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เป็นอกุศลได้เป็นธรรมดา ดังนั้นชีวิตก็ต้องดำเนินไปตามเหตุปัจจัย หน้าที่ขณะนี้คือสะสมปัญญา สะสมเหตุที่ดี คือ กุศลกรรมและการฟังพระธรรมและศึกษาพระธรรมครับ และอะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องเป็นไปตามนั้นครับ ทำขณะนี้ให้ดีที่สุดครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
daeng
วันที่ 29 มิ.ย. 2554

กราบขอบพระคุณอาจารย์เผดิมที่ให้ความกระจ่างชัดเป็นอย่างยิ่งครับ ต่อไปผมก็คงไม่ ต้องกังวลเรื่องนี้อีก กราบขอบพระคุณอีกครั้งครับ และขออนุโมทนากับทุกท่านในเว็ปนี้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 29 มิ.ย. 2554

ตั้งต้นใหม่ทุกขณะ สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้ว ไม่มีทางกลับมาอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ แต่ขณะนี้สำคัญคือฟังธรรมเพื่อเข้าใจความจริงก่อน เช่น กำลังเห็น ไม่ใช่กำลังได้ยิน ไม่ใช่คิดนึก ฯลฯ เพราะว่าความเข้าใจธรรมะคือปัญญา สำคัญกว่าสิ่งที่ผ่านไปแล้ว มีชีวิตอยู่กับขณะปัจจุบันและอบรมเจริญสติปัฏฐานดีที่สุดค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
พุทธรักษา
วันที่ 30 มิ.ย. 2554

ไม่มีใครไม่เคยผิดพลาด. การกระทำที่ผ่านไปแล้ว...เป็นบทเรียนสำหรับปัจจุบัน และ อนาคตหากมี "ความจริงใจ"......มั่นคงในเรื่องของกรรม และ ผลของกรรมย่อมเพียร...ที่จะเป็นไป ในทางกุศล. สิ่งที่ถูก ต้องถูก.....สิ่งที่ผิด ต้องผิดระลึกถึง-ความผิดพลาดในอดีตเพื่อความสำรวม-ระวังต่อไป...เท่าที่จะกระทำได้. ทำผิด แล้วรีบแก้ไขอย่างน้อย...ก็ผ่อนหนัก ให้เป็นเบา..

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
พรรณี
วันที่ 1 ก.ค. 2554

ขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
icenakub
วันที่ 1 ก.ค. 2554

อนุโมทนาครับ ธรรมะเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ