อรรถกถาปฐมตถาคตสูตร
[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๔๒๔
อรรถกถาธรรมจักกัปปวัตตนวรรคที่ ๒
อรรถกถาปฐมตถาคตสูตร
คำว่า กรุงพาราณสี ได้แก่ พระนครที่มีชื่ออย่างนี้ คำว่า อิสิปตนมิคทายวัน ได้แก่ ในป่าที่ได้ชื่ออย่างนี้ ด้วยอำนาจการเหาะลงแห่งฤๅษีทั้งหลาย. ในอารามกล่าวคือป่าที่ชื่อว่ามิคทายะ เพราะให้อภัยแก่เนื้อทั้งหลายด้วยอำนาจการให้อภัย. อธิบายว่า ก็ฤๅษีทั้งหลายที่เป็นสัพพัญญูเกิดขึ้นแล้วๆ ย่อมเหาะลง คือ นั่งในป่านั้น เพื่อให้ธรรมจักรเป็นไป. แม้ฤๅษีผู้เป็นพระปัจเจก-พุทธเจ้าทั้งหลาย ล่วงไป ๗ วันออกจากสมาบัติ ทำกิจมีการล้างหน้าเป็นต้นที่สระอโนดาต มาทางอากาศจากเงื้อมเขาชื่อว่านันทมูลกะ แล้วเหาะลงด้วยอำนาจการหยั่งลงทีป่านั้น ย่อมประชุมกันทำอุโบสถ และอนุอุโบสถ มุ่งไปภูเขาคันธมาทน์บ้าง และเหาะมาจากเขาคันธมาทน์นั้นบ้าง ด้วยคำตามที่กล่าวมาแล้วนี้แล ป่านั้นท่านจึงเรียกว่า อิสิปตนะ ด้วยการเหาะลงและการเหาะขึ้นแห่งฤาษีทั้งหลาย.
คำว่า อามนฺเตสิ ความว่า บำเพ็ญบารมี ตั้งแต่ทำอภินิหารที่ใกล้พระบาทของพระทีปังกรพุทธเจ้า และเสด็จออกผนวชในพระชาติสุดท้ายโดยลำดับ ประทับนั่งบนอปราชิตบัลลังก์ที่ป่านั้น ทรงทำลายมารและกำลังมาร ปฐมยามทรงระลึกถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณได้ มัชฌิมยาม ทรงชำระทิพยจักษุ ให้บริสุทธิ์ มัชฉิมยามสุดท้าย ทรงยังหมุนโลกธาตุให้กึกก้องหวั่นไหวอยู่ ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ แล้วทรงให้ล่วงไปเจ็ดสัปดาห์ที่ควงไม้โพธิ์ มีการแสดงธรรมที่ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงตรวจดูโลกด้วยทิพยจักษุแล้วเสด็จไปเมืองพาราณสี ด้วยการสงเคราะห์สัตวโลก ทรงให้พระปัญจวัคคีย์ยินยอมแล้ว ทรงประสงค์จะประกาศธรรมจักร จึงตรัสเรียกมาแล้ว
คำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุดทั้งสองอย่างนี้ ความว่า ภิกษุทั้งหลาย ส่วนลามกสองเหล่านั้น ก็พร้อมกับการตรัสถึงบทนี้ เสียง กึกก้องแห่งการตรัส เบื้องล่างต่อเวจี เบื้องบนจดถึงภวัคคพรหม แผ่ไปทั่ว หมื่นโลกธาตุตั้งอยู่. สมัยนั้นเอง พรหมนับได้ ๑๘ โกฏิ มาประชุมกันแล้ว. ดวงอาทิตย์ตกลงทางทิศตะวันตก ดวงจันทร์เต็มดวงประกอบด้วยหมู่ดาว นักษัตรแห่งเดือนอาสาฬหะลอยขึ้นไปอยู่ทางทิศตะวันออก. สมัยนั้น พระผู้มี พระภาคเจ้า เมื่อทรงเริ่มธรรมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุดทั้งสองอย่างนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อันบรรพชิต ความว่า ผู้ตัดสังโยชน์แห่งคฤหัสถ์แล้วเข้าถึงการบวช
คำว่า ไม่ควรเสพ คือ ไม่พึงใช้สอย คำว่า การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย ความว่า การตามประกอบกามสุขในวัตถุกามกิเลสกาม.
คำว่า เป็นของเลว ได้แก่ ลามก
คำว่า เป็นของชาวบ้าน คือ เป็นของมีอยู่แห่งชาวบ้านทั้งหลาย
คำว่า เป็นของปุถุชน ได้แก่ ที่คนอันธพาลประพฤติเนืองๆ แล้ว
คำว่า ไม่ประเสริฐ ได้แก่ ไม่บริสุทธิ์ คือไม่ใช่ของสูงสุด อีกอย่างหนึ่ง มิใช่ของพระอริยะทั้งหลาย
คำว่า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ คือประกอบด้วยประโยชน์หามิได้ อธิบายว่า ไม่อาศัย เหตุที่นำประโยชน์เกื้อกูลแสะความสุขมาให้.
คำว่า การประกอบความลำบากแก่ตน คือ การตามประกอบความลำบากให้ตน อธิบายว่า ทำทุกข์แก่ตน
คำว่า เป็นทุกข์ ได้แก่ นำทุกข์มาให้ด้วยการฆ่าตน มีการนอนหงายบนหนามเป็นต้น พระองค์ทรง ทำจักษุคือ ปัญญาเพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กระทำจักษุ บทที่ ๒ เป็นไวพจน์บทนั้นนั่นเอง คำว่าเพื่อความสงบ คือเพื่อประโยชน์แก่การสงบกิเลส
คำว่า เพื่อความรู้ยิ่ง คือ เพื่อประโยชน์แก่การรู้ยิ่งซึ่งสัจจะทั้ง ๔
คำว่า เพื่อความตรัสรู้ ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้สัจจะ ๔ เหล่านั้นนั่นเอง
คำว่า เพื่อนิพพาน ได้แก่เพื่อประโยชน์แก่การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน. ในบทนี้ คำใดที่เหลือเป็นของพึงกล่าวไว้ คำนั้น ท่านกล่าวไว้ในบทนั้นๆ ในหนหลัง แม้สัจจกถาท่านก็ให้พิสดารแล้วในปกรณ์วิเศษวิสุทธิมรรค โดยประการทั้งปวงนั้นแล.
คำว่า มีวนรอบ ๓ คือ วน ๓ รอบ ด้วยอำนาจวนรอบ ๓ กล่าว คือสัจญาณ กิจญาณ และกตญาณ. ก็ในวนรอบ ๓ นี้ ญาณตามความเป็นจริงในสัจจะ ๔ อย่างนี้ คือ นี้ทุกขอริยสัจจะ นี้ทุกขสมุทัย ชื่อว่า สัจญาณญาณ ที่เป็นเครื่องรู้กิจที่ควรทำอย่างนี้ว่า ควรกำหนดรู้ ควรละ ในสัจจะเหล่านั้นเที่ยว ชื่อว่า กิจญาณ ญาณเป็นเครื่องรู้ภาวะแห่งกิจนั้น ที่ทำแล้วอย่างนี้ว่า กำหนดรู้แล้ว ละได้แล้ว ดังนี้ ชื่อว่า กตญาณ. คำว่า มีอาการ ๑๒ ความว่ามีอาการ ๑๒ ด้วยอำนาจอาการสัจจะละ ๓ นั้น
คำว่า ญาณทัสสนะ คือ การเห็น กล่าวคือญาณที่เกิดขึ้นแล้วด้วยอำนาจวนรอบ ๓ อย่าง อาการ ๑๒อย่างเหล่านี้. คำว่า ดวงตาเห็นธรรม ได้แก่ มรรค ๓ และผล ๓ ในที่อื่น ชื่อว่า เป็นธรรมจักษุ. ในบทนี้ ได้แก่ ปฐมมรรคทีเดียว
คำว่า ธรรมจักร ได้แก่ ญาณ เป็นเครื่องแทงตลอด และญาณเป็นเครื่องแสดง. ก็เมื่อพระผู้มีพระ-ภาคเจ้าประทับนั่งบนโพธิบัลลังก์ ปฏิเวธญาณ มีอาการ ๑๒ เกิดขึ้นแล้วในสัจจะ ๔ ก็ดี ประทับนั่งแม้ในป่าอิสิปตนะ เทศนาญาณ ที่เป็นไปแล้ว เพื่อแสดงสัจจะมีอาการ ๑๒ ก็ดี ชื่อว่าธรรมจักร. ก็ญาณแม้ทั้งสองนั้น ชื่อว่า ญาณที่ที่เป็นไปแล้วในพระอุระของพระทศพลนั่นเที่ยว ธรรมจักรนั้น พระผู้มีพระ-ภาคเจ้า เมื่อทรงประกาศด้วยเทศนา ชื่อว่า ทรงให้เป็นไปแล้ว. ก็ธรรมจักรนี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เป็นไป จนกระทั่งถึงพระอัญญาโกณฑัญญเถระดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล กับพรหม ๑๘ โกฏิ และเมื่อให้ธรรมจักรเป็นไปแล้ว จึงชื่อว่าให้เป็นไปแล้ว ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงให้ธรรมจักรเป็นไปแล้ว ท่านหมายเอาคำนั้น จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ภุมมเทวดาทั้งหลายประกาศให้ได้ยินเสียง
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภุมฺมา ได้แก่ เทวดาผู้ดำรงอยู่บนพื้นดิน
คำว่า ประกาศให้ได้ยินเสียง ความว่า เทวดาทั้งหลายให้สาธุการพร้อมกันทีเดียว กล่าวคำเป็นต้นว่า นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันพระผู้มีพระภาคเจ้า . . . ดังนี้ ประกาศให้ได้ยินแล้ว
คำว่า แสงสว่าง ได้แก่ แสงสว่างคือ พระสัพพัญญุตญาณ. จริงอยู่ แสงสว่าง คือพระสัพพัญญุตญาณนั้น ไพโรจน์ล่วงเทวานุภาพของพวกเทพ.
คำว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ความว่า เสียงกึกก้องอย่างโอฬารแห่งพระอุทานนี้ แผ่ไปตลอดหมื่นโลกธาตุแล้วตั้งอยู่
จบอรรถกถาปฐมตถาคตสูตรที่ ๑