คำอาราธนาธรรมที่ถูกต้อง

 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่  8 ก.ค. 2554
หมายเลข  18708
อ่าน  70,607

ขอเรียนถามข้อมูลคำอาราธนาธรรม ที่เป็นภาษาบาลี หรือภาษาไทย ที่ถูกต้องจากพระไตรปิฏก ตอนที่สหัมบดีพรหมลงมาอาราธนาให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมด้วยครับ เนื่องจากเคยได้ยินว่าคำอาราธนาธรรมส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีบางคำผิดเพี้ยนไป เช่น กัตอัญชะลี ที่ถูกควรเป็น กะตัญอัญชะลี และอาจจะมีบางคำที่ไม่ตรงกับบาลี จึงขอข้อมูลด้วยครับ / อนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 9 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขออนุญาตแสดงความคิดเห็น ดังนี้ ครับ ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ มีพระบาลี ว่า

"พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติ

กตญฺชลี อนธิวรํ อยาจถ สนฺตีธ สตฺตา อปฺปรชกฺขชาติกา เทเสหิ ธมฺมํ อนุกมฺปิมํ ปชนฺติ" ซึ่งเป็นข้อความที่แสดงถึงท้าวสหัมบดีพรหมกราบทูลต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์โลก

คำแปล (แปลใหม่ตามภาษาลี) เป็นดังนี้ คือ ท้าวสหัมบดีพรหม ผู้เป็นใหญ่แห่งโลก ประคองอัญชลี กราบทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐโดยไม่มีใครยิ่งกว่า ว่า หมู่สัตว์ในโลกนี้ที่มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อย ยังมีอยู่ ขอทรงเอ็นดู แสดงธรรมโปรดหมู่สัตว์นี้ด้วยเถิด. ขอเชิญคลิกโหลดเพื่ออ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ หน้า ๑ เป็นต้นไป

------------------------------------------

เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ในสัปดาห์ที่ ๘ หลังจากที่พระองค์ทรงเสวยวิุมุตติสุขเป็นเวลา ๗ สัปดาห์ ทรงพิจารณาเห็นว่า พระธรรม (สัจจะ ๔) ที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้น เป็นธรรมที่ละเอียด ลึกซึ้ง เป็นการยากที่สัตว์ทั้งหลายผู้ยังติดข้องในกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) จะรู้ตามความเป็นจริงได้ เมื่อแสดงธรรม แต่ไม่มีผู้รู้ทั่วถึงธรรม ก็จะเป็นการเหนื่อยเปล่าสำหรับพระองค์ พระองค์จึงไม่ทรงน้อมพระทัยที่จะทรงแสดงธรรม ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบถึงพระปริวิตกของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เกิดความคิดขึ้นว่า สัตว์โลกจะเสื่อม ถ้าหากพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ทรงแสดงธรรม จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลอาราธนาให้พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์โลก เนื่องจากว่าผู้ที่มีกิเลสน้อย จะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงได้ แต่สัตว์เหล่านี้จะเสื่อมจากธรรม ถ้าหากว่าไม่ได้ฟังธรรมที่พระองค์ทรงแสดง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรับทราบถึงการอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม

จึงทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ ทรงเห็นสัตว์โลกประเภทต่างๆ มีบุคคลผู้มีกิเลสน้อย เป็นต้น ซึ่งบุคคลผู้สามารถรู้ทั่วถึงธรรม จักมี จึงตรัสตอบกับท้าวสหัมบดีพรหมว่า พระองค์จะทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์โลกแล้ว ผู้ประสงค์จะฟังธรรม จงหลั่งศรัทธามาเพื่อฟังธรรมเถิด ท้าวสหัมบดีพรหม เมื่อทราบถึงการทรงรับการอาราธนาของตนแล้ว จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า กลับไปยังพรหมโลกตามเดิม นี้คือ ข้อความโดยสรุป จากพระธรรมเทศนาที่ว่าด้วยกราบทูลอาราธนาให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมโปรดสัตว์โลก โดยท้าวสหัมบดีพรหม ซึ่งปรากฏอยู่ในหลายที่ ทั้งในส่วนของพระวินัย พระสูตรเช่น อายาจนสูตร รวมถึงในพุทธวงศ์ด้วย -----------------------------------------

ในสังคมไทยส่วนใหญ่แล้ว เวลาจะนิมนต์ให้พระภิกษุแสดงธรรม ก็จะกล่าวคำอาราธนาให้แสดงธรรม (อาราธนาธรรม) ซึ่งคำภาษาบาลีที่เป็นคำอาราธนาให้แสดงธรรมนั้น เนื้อหาหลักๆ ก็อ้างอิงจากพระไตรปิฎก แต่ก็มีการผิดเพี้ยนไปบ้างในบางคำ

ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขคำที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ให้ถูกต้องตามภาษาบาลีจริงๆ โดยอ้างอิงจากพระไตรปิฎก ด้วย ควรจะเป็น ดังนี้

บาลี พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติ

กตญฺชลี อนธิวรํ อยาจถ สนฺตีธ สตฺตาปฺปรชกฺขชาติกา เทเสตุ ธมฺมํ อนุกมฺปิมํ ปชํ เขียนเป็นไทยได้ว่า "พรัหมา จะ โลกาธิปตี สหัมปติ กตัญชลี อนธิวรํ อยาจะถะ สันตีธะ สัตตาปปรักขชาติกา เทเสตุ ธัมมัง อนุกัมปิมัง ปชัง" * คำแปลเหมือนข้างต้น

หมายเหตุ คำว่า กตัญชลี มาจาก กตะ (กระทำแล้ว) + อัญชลี สำเร็จรูปเป็นกตัญชลี แปลว่า มีอัญชลีอันตนกระทำแล้ว ซึ่งก็คือ ประคองอัญชลี นั่นเอง) อนธิวรัง (อ่านออกเสียงเป็น อะ นะ ธิ วะ รัง ไม่ใช่อ่านว่า อันธิวรัง แปลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐโดยไม่มีใครยิ่งกว่า เทียบเคียงกับพระบาลีในกาลิงคชาดก จะพบคำว่า อนธิวรา พุทฺธา = พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ประเสริฐโดยไม่มีใครยิ่งกว่า) คำว่า สัตตาปปรักขชาติกา สำเร็จรูปการสนธิกันจากคำว่า สัตตา + อัปปรชักขชาติกา,ส่วนคำว่า เทเสตุ ก็ใช้ได้ เพราะในอายาจนสูตร เป็นต้น ก็มีคำนี้อยู่แปลว่า ขอโปรดแสดง ซึ่งก็คือแสดงธรรม -------------------------------------------- พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศพระศาสนาด้วยการทรงแสดงพระธรรมตลอด๔๕ พรรษา หลังจากที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว เพื่อประโยชน์คือความเข้าใจถูกเห็นถูกของสัตว์โลก เป็นสำคัญ ซึ่งมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งมนุษย์ เทวดา พรหม พระองค์ทรงเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เพื่อเกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง

-------------------------------------------- ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา พอถึงเวลาสนทนาธรรม ตามที่ได้กำหนดไว้ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร ก็ได้สนทนาธรรมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือแม้กระทั่งหน่วยงานราชการต่างๆ รวมไปถึงบุคคลต่างๆ เห็นความสำคัญของการสนทนาธรรม ที่จะเป็นโอกาสให้ตนเองและผู้อื่นได้ฟังพระธรรม ก็เชิญท่านอาจารย์ และคณะวิทยากรไปสนทนาธรรม โดยไม่ได้กล่าวคำบาลีซึ่งเป็นคำอาราธนาเลย ไม่มีพิธีกรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพียงกล่าวว่า ถึงเวลาสนทนาธรรมแล้ว ก็จะกล่าวคำนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย แล้วก็เริ่มการสนทนา เพราะประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐ เป็นคำสอนที่มาจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งแต่ละคำๆ นั้น มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง ครับ. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 9 ก.ค. 2554

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร ก็ได้สนทนาธรรม

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือแม้กระทั่งหน่วยงานราชการต่างๆ รวมไปถึงบุคคลต่างๆ เห็นความสำคัญของการสนทนาธรรม ที่จะเป็นโอกาสให้ตนเองและผู้อื่นได้ฟังพระธรรม ก็เชิญท่านอาจารย์ และคณะวิทยากรไปสนทนาธรรม

โดยไม่ได้กล่าวคำบาลีซึ่งเป็นคำอาราธนาเลย ไม่มีพิธีกรรมใดๆ ทั้งสิ้น

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 10 ก.ค. 2554

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในคำชี้แจงที่ชัดเจนค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
foei2517
วันที่ 10 ก.ค. 2554

ข้อสงสัยในการอาราธนาธรรม..

ผมปฏิบัติอย่างนี้ ถูกต้องไหมครับ..

กล่าว นะโม....3 จบ กล่าว...ภาบาลี (พรัหมา จะโลกา..) เสร็จ กล่าวคำประพันธ์

ที่กล่าวถึงท้าวสหัมบดีพรหม อ้อนวอนพระพุทธเจ้า..เป็นทำนองสรภัญญะ

ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ...สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 11 ก.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.ค. 2554
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 18708 ความคิดเห็นที่ 4 โดย foei2517

ข้อสงสัยในการอาราธนาธรรม..

ผมปฏิบัติอย่างนี้ ถูกต้องไหมครับ..

กล่าว นะโม....3 จบ กล่าว...ภาบาลี (พรัหมา จะโลกา..) เสร็จ กล่าวคำประพันธ์

ที่กล่าวถึงท้าวสหัมบดีพรหม อ้อนวอนพระพุทธเจ้า..เป็นทำนองสรภัญญะ

ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ...สาธุ

ไม่มีกฏที่ตายตัวครับ เพราะการกล่าวก็สามารถกล่าวได้ ทั้งแบบธรรมดา คือ พูดเป็นคำพูดธรรมดา กับ กล่าวโดยเป็นทำนองสรภัญญะ ก็ได้ทั้งนั้น ประโยชน์อยู่ที่ธรรมที่จะได้ฟัง ได้ศึกษาเป็นสำคัญ ครับ ...ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
foei2517
วันที่ 11 ก.ค. 2554

สาธุ....ขออนุโมทนาบุญในครั้งนี้ด้วยครับ

เพราะ เพราะเวลามีการปฏิบัติหรืออบรมธรรมะ ผมก็อาราธนาทั้งที่แคลงใจ..

บัดนี้ทำให้ผมเกิดความมั่นใจ..ในเจตนาของการอาราธนา...ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่ 12 ก.ค. 2554
ขอขอบคุณและอนุโมทนาอาจารย์คำปั่นที่ให้ข้อมูลเพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไปครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
foei2517
วันที่ 12 ก.ค. 2554

อาจารย์ครับ...ผมเพิ่งจะรับรู้..การวิปัสนาครับ...จากพระอาจารย์ที่วัดป่า เมื่อสัปดาห์ที่

แล้ว....อาจารย์ให้ แยกรูป นาม...แต่ผมยังไม่แม่น แยกไม่ถูก....ถ้าเราฟังบ่อยๆ ...จะ

สามารถแยกได้ไหมครับ..หรือมีวิธีปฏิบัติใดบ้าง..ที่จะแนะผู้ไม่รู้หรือไม่ครับ..

ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 12 ก.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 9 ครับ

การแยกรูป แยกนาม เป็นปัญญาขั้นสูงมากครับ เป็นปัญญาระดับวิปัสสนาญาณ

ดังนั้น การจะถึงจุดนั้นได้ จึงไม่ใช่ถึงด้วยการที่ยังไม่ปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพ

ธรรมที่มีในขณะนี้เลย ยังไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมไม่ใช่เรา ก็ไม่มีทางถึงการแยกรูป

แยกนามได้เลยครับ เพราะฉะนั้น การอบรมปัญญาจึงไม่ใช่เรื่องการบอกให้ทำ แล้วจะ

ทำได้ เพราะทุกอย่างเป็นหน้าที่ของธรรม และปัญญาก็ต้องเป็นไปตามลำดับครับ

ต้องเริ่มจากการฟังให้เข้าใจ และจนปัญญคาคมกล้าก็ถึงรู้สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้

ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา แต่ก็ยังไม่ถึงการแยกรูป แยกนามได้เลยครับ ดังนั้นขอให้กลับ

มาเริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ต้องไปทำอะไร เพราะทำไมได้ ในเมื่อปัญญา

ยังไม่ถึงครับ หนทางที่ถูกคือการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมและปัญญาจะค่อยๆ เจริญ

ขึ้นเองครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
foei2517
วันที่ 12 ก.ค. 2554

สาธุ..ผมจะปฏิบัติตาม คำแนะนำครับ...

ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
pamali
วันที่ 14 ก.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
nopwong
วันที่ 10 ก.ย. 2557

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
nopwong
วันที่ 8 ก.พ. 2558

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ