พระธรรมกับการดำเนินชีวิต [แนวทางเจริญวิปัสสนา และ การภาวนา]
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น .
ข้อความบางตอน จากการสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ณ อาคารมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา วันอาทิตย์ที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ถอดเทปบันทึกเสียง โดย คุณสงวน สุจริตกุล .
คำว่า "ภาวนา" หมายถึง "การอบรม-เจริญ-ปัญญา" ถ้าฟังพระธรรม-ยังไม่เข้าใจ ก็ยังอบรม-เจริญ-ปัญญาไม่ได้ แต่ถ้าไม่ฟังพระธรรมจะมี "แนวทาง-ในการอบรม-เจริญ-ปัญญา" ได้ไหม เช่น ขณะที่กำลังฟัง "เรื่องของการเห็น" และเริ่มเข้าใจขณะนั้น ยังไม่ใช่ การระลึก-ตรง-ลักษณะของ "การเห็น" ด้วยความเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้น ในขณะที่ "เริ่มฟังพระธรรม" เป็น "แนวทาง-ที่นำไปสู่-ความเข้าใจขึ้น" เป็น "แนวทาง-เจริญ-วิปัสสนา"
"ขั้นฟัง" จะกล่าวว่า เป็น "การอบรม-เจริญ-ปัญญา" ยังไม่ได้ แต่เป็น แนวทาง-ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ ว่า "อบรม-เจริญ-ปัญญา" คืออย่างไร ฟัง-เข้าใจ ว่า สิ่งที่กำลังมีจริงในขณะนี้ เป็นสิ่งที่สามารถรู้ได้ ฟัง-จนเริ่มรู้-ตรง "ลักษณะ" ของสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะที่กำลังรู้-ตรง-ลักษณะ ของสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้น ไม่มีเรา คำว่า "ภาวนา" ในพระไตรปิฎก มีหลายขั้น
ขณะที่ สติ-สัมปชัญญะ ระลึก-รู้-ตรง-เฉพาะ-ลักษณะที่เป็น "ธรรม" จริงๆ เป็น "นาม-รูป-ปริจเฉทญาณ" ขณะนั้น เป็น "การภาวนา" ที่เป็น "สติปัฏฐาน" ขณะนั้น "ลักษณะ" ของนามธรรมและรูปธรรม แยกขาดกันชัดเจน โดยมี "ภวังคจิต" ซึ่งเป็นสภาพธรรม-ที่ไม่มีอารมณ์-ปรากฏ เกิดคั่น. เพราะถ้าหากไม่มี "ภวังคจิต" เกิดคั่นก็จะไม่เห็น "ความแตกต่าง" อย่างชัดเจนของนามธรรมและรูปธรรม "สติปัฏฐาน" เกิดสั้นมาก แล้วก็ดับไป
"สติปัฏฐาน" จึงเป็น "การภาวนา" จริงๆ เพราะเป็นการรู้-ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ เมื่อยังไม่ถึง "การประจักษ์แจ้ง-อริยสัจจธรรม-ขั้นแรก" ซึ่งเป็นการถึงความเป็น "พระโสดาบัน" ก็ยังเป็น "ปุถุชน"
"การภาวนา" ก็เพื่อที่จะพ้นจากความเป็น "ปุถุชน" ไปสู่ความเป็น "พระอริยบุคคล-ตามลำดับขั้น" แต่ยิ่งกว่านั้น ถ้าเป็น "ภาวนา" ขั้นสูงๆ ขึ้นไป คือการภาวนา-ของพระโสดาบันเป็นต้นไป พระอริยบุคคลก็ยังขาดการภาวนาไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ "การภาวนา" จึงต้องดำเนินไป จนกว่าจะถึงซึ่ง "การดับกิเลส-เป็นสมุจเฉท" เมื่อ "ลักษณะของ-ธรรม" ยังไม่ปรากฏกับ "สติปัฏฐาน" ก็ยังไม่เป็น "การภาวนา" จริงๆ
เมื่อปัญญาระดับนั้น ยังไม่เกิดก็ควรที่จะเป็น "การอบรม-เพื่อความเข้าใจถูก" ว่า อะไร เป็น "หนทาง-ที่จะนำไปสู่-ความรู้" และอะไร เป็น "หนทาง-ที่จะทำให้-ไม่รู้" พระธรรมที่แท้จริงเป็นเรื่องตรง จริง และไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด.
การศึกษาพระธรรมทั้งหมด เป็นเรื่องของ "ปัญญา" พระธรรมทั้งหมดแสดงให้เห็นถึง "ความเป็นอนัตตา" มั่นคงและไม่หวั่นไหวใน "ความเป็นอนัตตา" เมื่อเข้าใจถูกต้องว่าสภาพธรรมเป็น "ธรรม"
ขออนุโมทนา
มั่นคง และ ไม่หวั่นไหว ใน "ความเป็นอนัตตา" เมื่อเข้าใจถูกต้อง ว่า สภาพธรรม เป็น "ธรรม"
ขออนุโมทนาค่ะ