ขอความคิดเห็นเกี่ยวกับคำว่า จิตใต้สำนึก หน่อยครับ

 
dets25226
วันที่  15 ก.ค. 2554
หมายเลข  18749
อ่าน  3,018

พอดีผมเปิดไปเจอรายการ เจาะใจ ซึ่งช่วงหนึ่งได้มีวิทยากร (อ.อ้อย) ได้พูดและก็จัด อบรมเกี่ยวกับจิตใต้สำนึกครับ เรื่องดังกล่าว มีพูดถึงในพระพุทธศาสนาหรือไม่ครับ ผมเห็นว่า เป็นรายการที่น่าสนใจ และก็คิดว่าน่าจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จากปัญหา ชีวิตได้มากพอสมควร ขอความคิดเห็นจากกัลยาณมิตรทั้งหลายด้วยครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

โดยทั่วไป ความเข้าใจของทางโลก อธิบายในเรื่องจิตสำนึก และจิตใต้สำนึกดังนี้ จิตสำนึกก็คือ จิตที่แสดงออกมาให้เห็นที่เป็นพฤติกรรม ก็คือ การแสดงออกมาทาง กายและวาจาให้บุคคลอื่นได้รับรู้ เป็นต้น นี่คือ ความเข้าใจในเรื่อง จิตสำนึก ส่วนจิต ใต้สำนึก ก็คือ สิ่งที่ถูกสะสม ไว้มากมายในอดีต ที่ไม่ได้แสดงออกมาทางกายและวาจา ให้บุคคลรู้ ซึ่งจิตใต้สำนึกเกิดได้จาก อาศัยจิตสำนึก คือ การรับรู้ทางโลก จนทำให้ สะสมประสบการณ์ สิ่งต่างๆ ไว้ เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่าง จิตใต้สำนึกก็พร้อมที่จะเกิด ขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการตัดสินใจ หรือ การสะสมสิ่งที่ไม่ดีมา ทำให้แสดงออกมาซึ่งอาการ ป่วย อันเกิดจากจิตใต้สำนึก เป็นต้น นี่คือความเข้าใจทางโลกในเรื่อง จิตสำนึกและ จิตใต้สำนึกครับ

สำหรับในพระพุทธศาสนา จิตใต้สำนึกไม่มีในพระพุทธศาสนาครับ แต่พระองค์แสดง เรื่องของจิต ตามความเป็นจริงว่า จิตคือสภาพธรรมที่รู้ และจิตเป็นสภาพธรรมที่สะสมสิ่งที่ดีหรือไม่ดีด้วย การแสดงออกมาทางกายและวาจาในขณะนี้ ให้ทุกคนได้รู้ก็ เพราะอาศัยจิต หากไม่มีจิตแล้วก็ไม่มีการแสดงออกมาทางกายและวาจาปรากฎให้ บุคคลอื่นรู้ได้เลยครับ ดังนั้น การที่ชาวโลก กล่าวในเรื่องของจิตสำนึก ที่ปรากฏ พฤติกรรมภายนอกให้บุคคลอื่นรู้ ในทางพระพุทธศาสนาก็คือ จิตที่ทำหน้าที่เป็นกุศล จิตบ้าง อกุศลจิตบ้างจนมีกำลังที่แสดงออกมาทางกายและวาจานั่นเอง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 15 ก.ค. 2554

ตามทีกล่าวแล้ว จิตไม่ใช่เพียงสภาพธรรมที่รู้เท่านั้น จิตทำหน้าที่สะสม สิ่งที่ไม่ดี และดีด้วย คือ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด เช่น การให้ทาน จิตนั้นก็สะสมสืบต่อให้เป็นอุปนิสัย ที่จะเป็นผู้ทีให้ทานได้มากขึ้น การสะสมฝ่ายดีจึงไม่หายไปไหนแมื่อกุศลจิตเกิด เช่น เดียวกับ การเกิดอกุศล เมื่อ อกุศลจิตเกิดขึ้น เช่น โกรธเกิดขึ้น ขณะนั้นสะสมอกุศล แล้ว สะสมอกุศลคือ ปฏิฆานุสัย คือ ความโกรธ สะสมกิเลสที่นอนเนื่องไป และสะสม อุปนิสัย ทำให้เป็นผู้มักโกรธ ดังนั้น จิตใต้สำนึก ที่ชาวโลกอธิบายว่าเป็น ประสบการณ์ ที่สะสมเอาไว้อยู่ในส่วนลึกของใจ ไม่ต้องอาศัยเหตุผล การคิดวิเคราะห์ก็เกิดขึ้นมา

ในทางพระพุทธศาสนา ก็คือ การสะสมสิ่งที่ดีหรือไม่ดีมาของจิตนั่นเอง ทำให้เป็นผู้ มีอุปนิสัย การแสดงออกมาต่างๆ กัน ตามการสะสมนั่นเองครับ รวมทั้ง การสะสมอนุสัย กิเลสที่นอนเนื่อง อันไม่สามารถปรากฎให้รู้ได้ ครับ

ดังนั้น เรื่องของจิตใต้สำนึก ก็ไม่ พ้นจาก จิตที่เกิดดับทำหน้าที่สืบต่อ ที่เป็นการสะสมสิ่งที่ดีบ้างและไม่ดีบ้าง ทำให้มี การสะสม อนุสัยกิเลส และอุปนิสัยที่ดีหรือไม่ดี เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อม กิเลส หรือ อุปนิสัยที่ดี ก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นมีกำลังออกมาทางกายและวาจาให้บุคคลอื่นได้รู้ จน บางครั้ง ให้เห็นถึงความไม่ดี ที่บุคคลอื่นทำออกมาโดยไม่ได้คิด ชาวโลกก็กล่าวว่า เพราะเป็นจิตใต้สำนึกของเขาที่แสดงออกมาในพฤติกรรมไม่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องของการสะสมสิ่งที่ไม่ดี หรือ กิเลสที่เป็นอนุสัยนอนเนื่องมา เมื่อมีเหตุปัจจัย พร้อม กิเลสก็พร้อมเกิดขึ้น แสดงออกมาทางกายและวาจา ให้ชาวโลกรู้ได้นั่นเองครับ

ดังนั้น จิตใต้สำนึก จึงเป็นเรื่องของการสะสมมาของกุศล หรือ อกุศล และทำให้เป็น กิเลสที่นอนเนื่องที่เป็นอนุสัย และทำให้เป็นการสะสมอุปนิสัยต่างๆ กัน เพราะการเกิด ขึ้นของ กุศล และอกุศล ทำให้จิตที่เป็นสภาพธรรมที่สะสม สะสมสิ่งที่ไม่ดี และดีไว้ นั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 15 ก.ค. 2554

อีกนัยหนึ่ง สำหรับจิตใต้สำนึก จิตสำนึกของชาวโลก คือ สิ่งที่แสดงพฤติกรรมออก มาให้รู้ หรือ การรับรู้ สิ่งที่ปรากฎในโลกนี้ ดังนั้นในพระพุทธศาสนา การรู้โลกที่ กำลังปรากฏ ก็คือ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส ซึ่งก็เป็นการทำ หน้าที่ของจิต จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นต้น อันอาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ดังนั้น ที่โลก ปรากฎให้มีการรับรู้ในขณะนี้ ก็เพราะมีจิต และจิตนั้นทำหน้าทีเห็น ได้ยิน อันอาศัย ทวารทั้ง 6 นั่นเอง โลกจึงปรากฎได้ ซึ่งชาวโลกก็เข้าใจว่า เป็นจิตสำนึก ซึ่งพระ พุทธเจ้าสามารถอธิบายสิ่งเหล่านี้ได้ ตามเหตุปัจจัยถูกต้อง แท้จริง

ส่วนจิตใต้สำนึก ที่ชาวโลก เข้าใจว่า คือ การที่ไม่รับรู้อะไรที่ปรากฎในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ซ่อนไว้ ซึ่งในพระ พุทธศาสนา ก็มีจิตที่ไม่รู้อารมณ์ในโลกนี้เลย จิตนั้น ขณะนั้น ไม่อาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กายเลย จิตที่ไม่รู้อารมณ์ในโลกนี้ ไม่อาศัยทวารทั้ง ๖ คือ ภวังคจิต ขณะที่เป็น ภวังคจิต ไม่รู้อารมณ์ในโลกนี้ เช่น ขณะที่หลับสนิท ก็ไม่รู้อะไรเลย คือ ไม่รู้อารมณ์ใน โลกนี้เลย ไม่มีอะไรปรากฎ ไม่ว่าทรัพย์สิน สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 15 ก.ค. 2554

ชาวโลกที่เป็นปุถุชน ย่อมไม่รู้ธรรมตามควาเมป็นจริงและก็อาศัยความคิด ด้วยความ ไม่รู้ เดา คิดว่า ที่มีการแสดงออกอย่างนี้ เพราะเป็นแบบนี้ มีจิตสำนึก มีจิตใต้สำนึกแต่ ไม่รู้ความจริงทีเป็นธรรม ไม่รู้ธรรมชาติของจิตอย่างแท้จริงว่า จิตทำหน้าที่อะไร คือ รู้ และสะสม เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องของชาวโลกที่เป็นความไม่รู้ เหมือนจะมีประโยชน์ เพราะช่วยให้คิดให้เบี่ยงเบนประเด็นที่จะไม่คิดในอีกแบบหนึ่ง แต่ก็เท่ากับว่า ปลูกฝัง และก็ที่สำคัญที่สุด ในเมื่อจิตเป็นสภาพธรรมที่สะสมด้วย การสอนสิ่งที่ผิด ก็ทำให้ บุคคลที่ได้รับฟัง เชื่อ ก็สะสมสิ่งที่ผิด สะสมความไม่รู้มากขึ้น แม้ปัญหาชีวิตจะเบาบาง ได้ แต่นั่นไม่ใช่วิธีที่แก้ที่ตัวปัญหาเลย กับจะเพิ่มปัญหาโดยไม่รู้ตัว เพราะนำตัวปัญหา คือ ความไม่รู้ ความเห็นผิดเข้าไปอีกนั่นเอง ประโยชน์จริงๆ ก็คือ ความเข้าใจถูก แต่ชาวโลกอยากจะหายทุกข์ทันที โดยไม่รู้จักทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริง จึงแก้ ปัญหาโดยความเข้าใจที่ผิด ก็สะสมความไม่รู้ต่อไปและไม่สามารถจะพ้นจากปัญหาได้ เลยครับ เพราะเพิ่มกิเลสและต้องเกิดร่ำไป ครับ การศึกษาพระธรรม อบรมปัญญาที่ถูก ต้อง เป็นการแก้ปัญหาชีวิตที่ถูกต้อง ไม่ใช่จะไม่ให้ทุกข์เลยในชิวิต แต่ค่อยๆ เข้าใจถูก ปัญญาเจริญขึ้นก็ละเหตุแห่งทุกข์คือกิเลสทีละน้อย นี่คือ การแก้ปัญหาชีวิตที่ถูกต้อง

การจะแก้จิตใต้สำนึกที่ชาวโลกเข้าใจ ซึ่งในทางพระพุทธศานาก็คือ การสะสมสิ่งที่ดี และไม่ดี อันทำให้เป็นอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องไม่ปรากฎให้รู้ได้ การแก้ก็ด้วยการฟัง พระธรรม อบรมปัญญา เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะแก้ ละ อนุสัยกิเลสได้ ไม่ใช่การอธิบาย แนวความคิดอันเกิดจากความคิดและความไม่รู้ครับ

ออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

จิตใต้สำนึก จริงๆ คืออะไรคะ??

จิตใต้สำนึก มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกหรือไม่?

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 15 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตคือ ความเป็นไปของจิตแต่ละขณะ มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสายซึ่งไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น แต่เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ บุคคลผู้ที่จะแสดงเรื่องจิต ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง โดยละเอียดนั้น คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่นักจิตวิทยา ในแต่ละชาตินั้น แต่ละคนก็สะสมมาทั้งส่วนที่ดี และ ไม่ดี ซึ่งสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ ไม่สูญหายไปไหน เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ก็เกิดขึ้นทันที จะเห็นได้ว่าเมื่อจิตเศร้าหมองด้วยอำนาจของกุศล สะสมจนกระทั่งมีกำลังมากขึ้นๆ ย่อมเป็นเหตุให้กระทำในสิ่งที่ไม่ดี เป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ สิ่งร้ายๆ ที่เกิดขึ้นจะมาจากไหน ถ้าไม่ใช่เพราะอกุศล บุคคลที่ทำแต่สิ่งไม่ดี ไม่ได้ทำความดีอะไรไว้เลย เป็นผู้ประมาทมัวเมา ย่อมเสื่อมจากประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เมื่อตายไปย่อมมีโอกาสไปเกิดในอบายภูมิ สูงมาก ประตูอบายเปิดรอคอยอยู่แล้ว ในทางตรงกันข้าม เมื่อจิตไม่เศร้าหมองไม่ร้าย ไม่ถูกกุศลครอบงำ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ดียิ่งขึ้น ขณะที่มีชีวิตอยู่ก็ไม่เดือดร้อน (ไม่เดือดร้อนเพราะอกุศล) เมื่อละจากโลกนี้แล้วย่อมไปสู่สุคติ ตามความเป็นจริงแล้ว กุศลจิตเป็นจิตใจที่ดีงาม จิตใจที่ดีงามเกิดขึ้นในขณะใด

ขณะนั้นเป็นกุศล กุศลจิตเป็นจิตใจที่ไม่ดี จิตใจที่ไม่ดีเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นกุศล เมื่อเข้าใจและรู้แน่ชัดแล้วว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดี อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็ควรที่จะอบรมเจริญความดีซึ่งเป็นธรรมฝ่ายกุศลให้มากขึ้น ให้มีกำลังพอที่จะขัดเกลากุศลของตนเองให้เบาบางลงได้ เพราะอกุศลมีมากมายเหลือเกิน ถ้าไม่เริ่มขัดเกลา ก็ย่อมจะมีแต่พอกพูนหนาแน่นขึ้นเรือยๆ โดยปกติในชีวิตประจำวัน อกุศลเกิดขึ้นมาก จากที่เป็นอกุศลบ่อยๆ เนืองๆ แล้วเริ่มเป็นกุศลที่เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน มีการคิดดี พูดดี ทำดีมากยิ่งขึ้น ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาให้มากขึ้น ฟังพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะช่วยบรรเทาอกุศลจิตซึ่งเป็นจิตที่ไม่ดีให้ลดน้อยลง จนกว่าจะดับได้เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ สูงสุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ บุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากพระธรรม ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นอย่างนี้ เพราะธรรมไม่ได้สาธารณะกับทุกคน ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ

ในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 15 ก.ค. 2554

ความหมายของจิตวิทยา (อังกฤษ : psychology) ตามสารานุกรม วิกิพิีเดีย ให้ความหมายว่า จิตวิทยา คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ (กระบวนการของจิต) กระบวนความคิด และพฤติกรรม ของมนุษย์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เนื้อหาที่นักจิตวิทยาศึกษา เช่น การรับรู้ (กระบวนการรับข้อมูลของมนุษย์) อารมณ์ บุคลิกภาพ พฤติกรรม และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จิตวิทยายังมีความหมายรวมไปถึงการประยุกต์ใช้ความรู้กับกิจกรรมในด้านต่างๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน (เช่นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในครอบครัว, ระบบการ ศึกษา, การจ้างงานเป็นต้น) และยังรวมถึงการใช้ความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับการรักษา ปัญหาสุขภาพจิต

นักจิตวิทยามีความพยายามที่จะศึกษาทำความเข้าใจถึงหน้าที่หรือจุดประสงค์ต่างๆ ของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ขณะเดียวกันก็ ทำการศึกษาขั้นตอนของระบบประสาท ซึ่งมีผลต่อการควบคุมและแสดงออกของ พฤติกรรม

เมื่อพิจารณาความหมายของจิตวิทยาข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่แตกต่าง ไปจากพระธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อาจารย์ผเดิมได้ให้ความเข้าใจไว้เป็น อย่างมาก โดยเฉพาะจิตวิทยาศึกษาเฉพาะบนพื้นฐานพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ใน แต่ละชีวิตๆ หนึ่งเท่านั้น

จิตใต้สำนึกก็เป็นการคิดค้นมาจากการวิเคราะห์ข้างต้น เป็นศัพท์ที่ให้ความหมาย เฉพาะเพื่อความเข้าใจทางจิตวิทยา ซึ่งก็อธิบายได้เพียงเท่าที่จะเข้าใจได้ ตัวอย่าง เช่น จิตใต้สำนึกเกิดมาจากประสบการณ์ในอดีตของบุคคลที่สะสมเก็บไว้ในใจมาตั้ง แต่เด็กๆ เป็นต้น ดังนั้น การใช้หลักจิตวิทยามาช่วยในการดำรงชีวิตให้เป็นปกติและ อยู่ในสังคมได้โดยไม่เดือดร้อน จึงเป็นเรื่องทางโลกล้วนๆ เปรียบเสมือน การรักษาโรค ป่วยไข้ทั่วๆ ไป หรือเปรียบเสมือนยาบำรุงในร่ายกายแข็งแรง เท่านั้น ไม่ได้เกี่่ยวข้อง กับการละคลายกิเลสอกุศล ด้วยการเข้าใจความเป็นจริง ตามคำสอนของพระพุทธองค์ เลยแม้แต่น้อย (ดังเช่นที่มีหลายคนนำมาอธิบายปะปนกันมากมาย)

ดังนั้น จึงต้องพิจารณาให้ละเอียดนะครับ หากมีปัญหาทางจิต มีความทุกข์ทางจิต ก็รักษากันไปตามความรู้ทางโลกๆ เพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไป ไม่ก่อความเดือดร้อนให้ตน เองและผู้อื่น แต่กิเลสอกุศลก็ยังเต็มและสะสมกันต่อไป แต่เมื่อต้องการที่จะรู้ความจริง อันเป็นสัจจธรรม ก็ต้องศึกษาพระธรรม

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมและทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
dets25226
วันที่ 15 ก.ค. 2554

สาธุครับ

ธรรมแท้เห็นยาก อธรรมเห็นง่ายกระมัง นัยว่า สังคมเดี๋ยวนี้นิยมแต่อธรรมวาที สงสารแต่ธรรมของสมเด็จพระโลกนาถเจ้า นับวันจะหาคนรู้และเข้าใจจริงๆ ยาก เต็มทีอย่างไรก็ตาม ผมจะพยายามฟังธรรมจากท่านอาจารย์ทั้งหลายและก็พิจารณา ธรรมตามที่ได้ชี้แนะครับ

ผมเริ่มมีความคิดเห็นว่า ธรรมรู้ได้ ด้วยสติ ด้วยปัญญาจริงๆ

ด้วยความเคารพอย่างสูงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 15 ก.ค. 2554

ผมเริ่มมีความคิดเห็นว่า ธรรมรู้ได้ ด้วยสติ ด้วยปัญญาจริงๆ

ขออนุโมทนาที่มีความเห็นถูกครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พรรณี
วันที่ 16 ก.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

อย่างที่คุณความเห็นที่ 6 อธิบายให้เห็นความแตกต่าง ว่าถ้าป่วยทางจิตก็ต้องได้รับการ รักษาเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ไม่ทำความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น แต่เมื่อถ้าต้อง การที่จะรู้ความจริงอันเป็นสัจจธรรมก็ต้องศึกษาพระธรรม ขอขอบคุณ คุณเผดิม และ อาจารย์คำปั่นที่ได้นำคำสอนในพระพุทธศาสนามาอธิบายให้อีกหลายๆ คน มีความ เข้าใจมากยิ่งขื้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
orawan.c
วันที่ 16 ก.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
nong
วันที่ 16 ก.ค. 2554

ชัดเจนค่ะ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
pat_jesty
วันที่ 17 ก.ค. 2554
กราบอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
natre
วันที่ 26 ก.ค. 2554
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 12 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ