พระธรรมของพระพุทธเจ้า และธรรมชาติ เป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่

 
homenumber5
วันที่  17 ก.ค. 2554
หมายเลข  18757
อ่าน  3,064

ตามที่ฟังรายการธรรมหลายสำนักมักกล่าวว่า ธรรม คือธรรมชาตินั้น ดิฉันใคร่ขอเรียน

ถามท่านวิทยากร ช่วยชี้แจงด้วย ดิฉันเอง เข้าใจว่า ทั้งสองไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เข้าใจว่า

การบำเพ็ญเพียรเผาผลาญกิเลสนั้นเป็น การฝืนธรรมชาติของ ปุถุชน ที่ชอบกิเลส

มากกว่าค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

พระธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดง ละเอียดลึกซึ้งครับ แม้แต่คำว่าธรรม คำว่า ธรรมชาติ พระธรรมที่พระองคทรงแสดง ไม่ได้มีกล่าวไว้ว่า ธรรม คือ ธรรมชาติ พระองค์แสดง คำว่า ธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด และ คำว่าธรรมยังมีความ หมายกว้าง แม้สิ่งที่ไม่มีจริง ที่เป็นบัญญัติ เช่น ต้นไม้ ภูเขา ก็เป็นธรรมที่เป็นบัญญัติ ธรรม ดังนั้น คำว่า ธรรมจึงมีหลายความหมายและกว้าง รวมที่สภาพธรรมที่มีจริง ที่ เป็น จิต เจตสิก รูปและสิ่งที่ไม่มีจริงด้วยครับ แต่โดยความมุ่งหมาย เมื่อเรากล่าวถึง คำว่า ธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดง ก็มุ่งหมายถึงสิ่งที่มีจริงนั่นเองครับ ส่วนคำว่า ธรรมชาติ ตามที่ชาวโลกเข้าใจกันก็คือ ต้นไม้ ภูเขา ทุกๆ สิ่งๆ แต่ชาวโลกไม่ได้รู้ สัจจะความจริงว่า มีสิ่งที่มีจริงที่เป็น นามธรรมและรูปธรรมด้วย จึงสำคัญว่าทุกสิ่ง เป็นธรรมชาติก็คือบัญญัติต่างๆ ที่เป็นเรื่อราว เช่น บ้าน คน สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา ดังนั้น เมื่อได้ยินใครกล่าวว่า ธรรม คือ ธรรมชาติ นั่นก็ไม่ตรง ไม่ถูกต้อง เพราะ ธรรม หมายถึงสิ่งที่มีจริงที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ที่เป็นจิต เจตสิก รูปและนิพพานด้วย ไม่ใช่ ธรรมคือธรรมชาติที่เป็นต้นไม้ ภูเขา สัตว์ สิ่งของที่เป็นบัญญัติเท่านั้นครับ ดัง นั้น การศึกษาธรรมจะต้องเป็นผู้ละเอียด เพราะไม่ใช่ธรรมคิดเอง แต่พระพุทธองค์ ทรงประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริง จึงเข้าใจ คำว่า ธรรม ได้ละเอียด กว้างขวางกว่าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 17 ก.ค. 2554

ปุถุชนผู้ไม่ได้รู้ความจริงเพราะปุถุชน ย่อมสำคัญ เข้าใจว่า ธรรม ก็คือ ธรรมชาติ อัน เป็นสิ่งที่เห็น ที่ปรากฎในโลกนี้ เป็นเพียงสิ่งที่เห็น แล้วคิดนึก ได้ยินแล้วคิด จึงปรากฏ เป็นรูปร่างสัณฐาน เป็นสิ่งต่างๆ จึงสำคัญผิดว่าสิ่งเหล่านี้แหละที่รู้ได้ทางตา หลังจาก คิดนึกแล้ว เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรม เป็นธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ น้ำตก คน สัตว์ นั่นก็เท่า กับว่า เข้าใจผิด คิดว่าสิ่งที่ไม่มีจริง ไม่มีลักษณะเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมนั่นเอง เพราะ ฉะนั้น ธรรมชาติไม่ใช่ธรรมทั้งหมด เพราะธรรม ครอบคลุมสภาพธรรมทุกอย่างทั้งที่มี จริงและไม่มีจริงด้วยครับ ดังนั้นคำว่า ธรรมและธรรมชาติ จะต้องเข้าใจให้ตรงกัน และ ให้เข้าใจให้ถูกต้อง ให้ตรงกัน แม้แต่คำว่า ธรรมและธรรมชาติ ครับ เพราะถ้าเข้าใจผิด ก็ผิดทั้งคู่ ในการใช้ทั้ง 2 คำ แต่ถ้าเข้าใจถูกก็สามารถอธบายคำทั้งสองคำและอธิบาย ได้ถูกต้องครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 17 ก.ค. 2554

ส่วนจากที่คุณ homenumber5 กล่าวไว้ว่า

ดิฉันเอง เข้าใจว่า ทั้งสองไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เข้าใจว่าการบำเพ็ญเพียรเผาผลาญกิเลส นั้นเป็น การฝืนธรรมชาติของ ปุถุชน ที่ชอบกิเลส มากกว่าค่ะ


หากเรามีความเข้าใจถูกแล้ว แม้แต่คำว่า ธรรมชาติก็มุ่งหมายถึง การเกิดขึ้นของ สภาพธรรม เพราะชาติ หมายถึงการเกิด ธรรม คือสิ่งที่มีจริง ธรรมชาติคือ การเกิดขึ้น ของสิ่งที่มีจริง นั่นคือ จิต เจตสิก รูป ดังนั้น กิเลสก็เป็นธรรมและเป็นธรรมชาติด้วย การอบรมปัญญา จึงเป็นการละธรรมชาติที่ไม่ดี เผาผลาญ ธรรมชาติที่ไม่ดี คือ กิเลส ที่เป็นธรรมชาติที่ไม่ดี นั่นเองครับ อันเป็นเจตสิกที่ไม่ดี ที่มีจริง เป็นธรรมชาติครับ จะเห็นนะครับว่า ถ้าหากเรามีความเข้าใจถูกเป็นเบื้องต้น ก็สามารถใช้คำสองคำนี้ คือ ธรรมและธรรมชาติให้เข้าใจถูกต้องและตรงกันได้ และสามารถอธิบายได้ตามความ เป็นจริงครับ พระธรรมจึงต้องศึกษาด้วยความละอียดรอบคอบครับ

ขออนุโมทนา

เขิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

ธรรมะและธรรมชาติ

ธรรมะกับธรรมชาติต่างกันอย่างไร

ความหมายของธรรมะ อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 17 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้ง เพราะแสดงถึงความจริงทั้งหมด ความจริงทั้งหมดนั้น ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรม กล่าวคือ จิตทั้งหมดทุกประเภท, เจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต, รูปทั้งหมด และพระนิพพาน เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้นไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมได้ แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ไม่ได้ทรงเปลี่ยนธรรม แต่ทรงตรัสรู้ธรรมและทรงแสดงธรรมไปตามความเป็นจริง เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกให้ได้เข้าใจตามความเป็นจริง ชื่อว่า ธรรม แล้ว ย่อมหมายความถึงสิ่งที่มีจริง ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด๔๕ พรรษา เพื่อให้พุทธบริษัทมีความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ว่า เป็นสภาพธรรม ที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนถึงแม้ว่าจะมีการใช้คำว่า ธรรมชาติ (ความเกิดขึ้นเป็นไปของสิ่งที่มีจริง)

สำหรับผู้ที่ เข้าใจแล้ว ย่อมไม่เข้าใจผิด โดยปกติของปุถุชนแล้ว หมายถึงบุคคลผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส มักจะพลัดตกไปจากกุศล มีกุศลเกิดน้อยมากจริงๆ เมื่อเทียบกับอกุศล ปุถุชน คือ ปุถุชน ไม่ใช่พระอริยบุคคล สำหรับปุถุชน ยังสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ ผู้ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ปุถุชนประเภทนี้ ก็พอกพูนกิเลสให้หนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ เพิ่มสังสารวัฏฏ์ให้ยืดยาวต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น กิเลสในชาตินี้มีมาก ก็จะสะสมเพิ่มมากยิ่งขึ้นอีก ส่วนปุถุชนอีกประเภทหนึ่ง คือ ปุถุชนผู้ได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรม ถึงแม้ว่ากิเลสจะมาก แต่ก็เริ่มเห็นโทษ เพราะได้รับแนะนำในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเริ่มขัดเกลา พร้อมทั้งเป็นผู้ไม่ประมาทในการฟังในการศึกษาพระธรรมต่อไป ซึ่งจะเป็นที่พึ่งสะสมไปในภพต่อๆ ไป จะเห็นได้ว่า พระอริยสาวกทั้งหลายในอดีต ท่านสามารถดับกิเลสได้ด้วยปัญญา อันเป็นผลมาจากการอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ (เริ่มต้นด้วยความเห็นถูก) พระอริยสาวกเหล่านั้นที่ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็เพราะได้สะสมการฟังพระธรรม สะสมปัญญามาแล้วทั้งนั้น เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนกันเลย ผู้ที่มีศรัทธาสนใจที่จะฟังที่จะศึกษาพระธรรม ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์จากพระธรรมตามกำลังปัญญาของตนเอง มีชีวิตอยู่ ก็เพื่อสะสมความดี และฟังพระธรรมให้เข้าใจ ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pat_jesty
วันที่ 17 ก.ค. 2554

ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมได้

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 17 ก.ค. 2554
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
homenumber5
วันที่ 18 ก.ค. 2554

ขออนุโมทนาทุกท่านทั้งปัจจุบันและอดีตที่ได้ยกมาทุกความเห็น ทำให้กระจ่างขึ้น ต่อไป พุทธศาสนิก จะได้มีหลัก ในการอธิบายศัพท์พระธรรม ด้วยพระไตรปิฎก ยังมี องค์ธแน่ใจว่า ท่านผู้อธิบายนั้น ท่านคิดเองแล้ว จะกลายเป็นว่า สอนผิดเพี้ยนจาก พระไตรปิฎก หากว่าคิดเอง เข้าใจเองแต่เพี้ยนจากพระไตรปิฎกแล้ว ไปสอนสั่งนั้น ท่านวิทยากร คิดว่า เป็นการเข้าข่าย สังฆเภท หรือไม่คะ ดิฉันคิดว่า ใช่ เพราะสอน เพี้ยน เห็นตามพระไตรปิฎกจากพระไตรปิฎก ย่อมทำให้ผู้ฟัง มีความเห็นแตกแยก จากผู้ที่เห็นตามพระไตรปิฎก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 18 ก.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

การสอนในสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่ตรงตามพระธรรมวินัย และทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดตาม ไปด้วยมีโทษมาก เป็นบาปมากครับ พระพุทธองค์แสดงว่า เป็นอสัตบุรุษที่ยิ่งกว่า อสัตบุรุษ เพราะตนเองมีความเห็นผิดแล้ว ยังชักชวนให้ผู้อื่นมีความเห็นผิดด้วย แม้ คนที่สอนจะมีเจตนาดี แต่ขณะที่ให้สิ่งที่ผิดก็ต้องผิดครับ ดังนั้น ความหวังดีก็ขณะจิต หนึ่ง การให้สิ่งที่ผิด สอนสิ่งที่ผิดก็ขณะหนึ่ง เปรียบเหมือน บุคคลหวังดี เอายาพิษมา ให้ดื่ม กับคนที่กระหายน้ำ คนที่เอายาพิษมาให้สำคัญกว่าเป็นน้ำ มีความหวังดี แต่ เมื่อขณะที่ให้ดื่มด้วยสิ่งที่ไม่ดี ด้วยยาพิษ ก็นำสิ่งที่ผิดมาให้ ผู้ดื่มก็ถึงความตายด้วย ครับ

ส่วนการแสดงธรรมให้ผู้อื่นมีความเข้าใจผิด ไม่เป็นสังฆเภทครับ สังฆเภท หมายถึง การทำให้สงฆ์แตกกัน ซึ่งการทำให้สงฆ์แตกกัน ต้องเป็นเพศบรรพชิตและ ต้องเป็นภิกษุเท่านั้นถึงจะเป็นการทำสังฆเภทได้ครับ ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงสังฆเภท การจะเป็นกรรมที่เป็นสังฆเภทให้สงฆ์แตกกันต้องเป็นพระภิกษุครับ ดังเช่น พระเทว- ทัต ส่วนบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พระภิกษุ แต่ทำให้สงฆ์ทะเลาะกัน แตกแยกกัน กรรมนั้นก็ เป็นกรรมหนัก แต่ไม่ถึงและเป็นสังฆเภทครับ

อย่างไรก็ดี การสอนในสิ่งที่ผิดและชักชวนในสิ่งที่ผิดมีโทษและบาปมากครับและ ย่อมทำให้พระศาสนาอันตรธานเร็วขึ้น ดังนั้นเราควรเป็นผู้ไม่ประมาทในการศึกษา พระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ อันแสดงถึงความเคารพในพระธรรม เพราะพระ ธรรมเป็นสิ่งลึกซึ้ง ตรัสรู้ด้วยพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้าครับ ขออนุโมทนา

พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 192

[๑๙๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าว ไว้ชั่ว ๑ ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ๑ คนทั้งหมด นั้น ย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ ธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว.

[๑๙๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าว ไว้ดี ๑ ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ๑ คนทั้งหมด นั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่าน กล่าวไว้ดีแล้ว.

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
โชติธัมโม
วันที่ 19 ก.ค. 2554
ขอน้อมจิตอนุโมทนาบุญด้วยเศียรเกล้าครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
โชติธัมโม
วันที่ 19 ก.ค. 2554

สมัยนี้มีการสอน ที่ผิดไปจากหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยอะ ส่วนมาก อ้างว่าทำเพราะดึงเข้ามาทำความดี ใช้อกุศลดึงเข้ามาทำกุศล ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
homenumber5
วันที่ 19 ก.ค. 2554

เรียน ท่านความเห็นที่ 10

ตามที่ท่านแสดงความเห็น อดห่วงว่าต่อๆ ไป พระรรมของพระพทธเจ้าจะถูกแปลง ไปจนเลอะเลือน มาก บางรายการ นั้นถึงกับมีการให้ตัดกรรม สะเดาะห์เคราะห์เรื่องนี้ กระทรวง หน่วยงานทางพระพุทธศาสนาน่าจะมากำกับดูแล แล้วชาวพุทธที่ดี ควร ศึกษาและ แนะนำคนที่ไปเชื่อ พิธีกรรมต่างๆ ที่มิใช่พระพุทธศาสนาอย่างไร มีวัยรุ่นหลายคนพากันไปกราบไหว้บูชา รูปปั้นของศาสนาอื่นๆ ทั้งที่ที่บ้าน มีหิ้งพระ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
paderm
วันที่ 19 ก.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 11 ครับ

เป็นธรรมดาที่พระศาสนาจะค่อยๆ เสื่อมอันตรธานไปตามกาลเวลา ความเห็นผิด ย่อมเจริญขึ้น อธรรมเป็นใหญ่ ดังนั้นเมื่อพุทธบริษัท ซึ่งก็รวมทั้งบุคคลอื่นที่ไม่ได้ เข้าใจธรรมที่ถูกต้อง ก็ทำให้เห็นด้วยกับสิ่งที่ผิดไปตามๆ กันไป ก็ทำให้พระศาสนา เสื่อมไป เพราะขาดการศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องนั่นเอง ดังนั้นคงต้องเริ่มจากเราที่มี ความเห็นถูกเพิ่มขึ้นก็จะช่วยรักษาพระศาสนา เพราะพระศาสนาอยู่ที่ใจของแต่ละคน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
homenumber5
วันที่ 19 ก.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
lovedhamma
วันที่ 23 ก.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ