จิตตั้งมั่น

 
dets25226
วันที่  19 ก.ค. 2554
หมายเลข  18766
อ่าน  6,978

"สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ เมื่อมีจิตตั้งมั่น ย่อมรู้ธรรมชาติทั้งปวงตามที่เป็นจริง"

ตามพระพุทธพจน์ข้างต้น เมื่อจิตตั้งมั่นแต่อย่างเดียว ไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่พิจารณาธรรม จะรู้จะเข้าใจตามเป็นจริงได้หรือ หรือว่า คำว่า "สมาหิโต" นั้น มีนัยลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น ขอท่านอาจารย์ชี้แนะด้วยครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สมาธิหรือความตั้งมั่นแห่งจิตนั้น มีทั้งสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ เพราะฉะนั้น มิจฉาสมาธิที่เป็นความตั้งมั่นที่เป็นเอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดกับอกุศลจิตจะไม่เป็นสัมมาสมาธิและไม่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญาได้เลย เพราะปัญญาที่กล่าวถึงคือปัญญาที่รู้แจ้งตามความเป็นจริงในสภาพธรรมในขณะนี้ (รู้ทุกขอริยสัจ) โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น สมาธิใดที่เกิดพร้อมปัญญาที่รู้ความจริงในขณะนี้ (เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท) สมาธินั้นเป็นสัมมาสมาธิ ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น เมื่อสมาธิตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ปัญญาก็รู้ความจริงในสภาพธรรมนั้นที่กำลังปรากฎตามความเป็นจริง

และอีกประการหนึ่ง สมาธิใดที่เมื่อเกิดแล้ว ทำให้เกิดการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จนถึงระดับวิปัสสนาญาณและบรรลุธรรม สมาธินั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาด้วยเช่นกัน เป็นสัมมาสมาธิ แต่จะเห็นได้ว่าที่กล่าวมาจะต้องมีปัญญา มีความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว หากไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจ ๔ เป็นสัมมาสมาธิในการตรัสรู้ได้เลย ดังเช่น ดาบสทั้งหลายที่ได้ฌานแต่ก็ไม่สามารถรู้ความจริงในขณะนี้ เพราะไม่มีความเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 19 ก.ค. 2554

"สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ เมื่อมีจิตตั้งมั่น ย่อมรู้ธรรมชาติทั้งปวงตามที่เป็นจริง"

ตามพระพุทธพจน์ข้างต้น เมื่อจิตตั้งมั่นแต่อย่างเดียว ไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่พิจารณาธรรม จะรู้จะเข้าใจตามเป็นจริงได้หรือ

ตามที่กล่าวไปแล้ว จิตตั้งมั่นเป็นไปได้ทั้งมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่า เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ที่เป็นสมาธิจะต้องรู้เห็นตามความเป็นจริงครับ แต่สมาธิใดที่เป็นสมาธิที่เกิดในการเจริญสติปัฏฐาน อันมีสัมมาทิฏฐิ เป็นสำคัญ คือมีปัญญาด้วย ซึ่งก็มีความตั้งมั่นแห่งจิตในขณะนั้น คือมีสมาธิในขณะนั้นด้วย สมาธิในขณะนั้นที่เป็นความตั้งมั่นแห่งจิต เป็นสัมมาสมาธิ อันเป็นความตั้งมั่นแห่งจิตที่ชอบ อันเป็นเหตุให้รู้ตามความเป็นจริงได้ เพราะมีปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิเกิดร่วมด้วยในขณะนั้นครับ

เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นเรื่องปัญญาเป็นสำคัญ สมาธิที่เกิดร่วมกับปัญญานั้นจึงจะเป็นความตั้งมั่นแห่งจิตที่ทำให้เห็นแจ้งรู้ตามความเป็นจริงครับ จึงไม่ใช่ตัดสินเพียงถ้ามีความตั้งมั่นแห่งจิตแล้วจะมีปัญญารู้ตามความเป็นจริงครับ ต้องเริ่มจากปัญญาก่อนเป็นสำคัญ

ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
dets25226
วันที่ 19 ก.ค. 2554

สาธุครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 19 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียด ลึกซึ้ง เป็นไปเพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การที่พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงจะเป็นไปเพื่อความไม่รู้นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับผู้ฟัง ผู้ศึกษา ว่าจะมีความละเอียดในการฟัง ในการศึกษามากน้อยแค่ไหน อย่างแรกสุด ได้ยินหรือพบคำหรือข้อความใด ต้องรู้ว่า คืออะไร อย่างเช่น จากประเด็นเรื่องของสมาธิ แล้วสมาธิคืออะไร

ตามความเป็นจริงแล้ว สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตรู้ (เอกัคคตาเจตสิก) เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท ไม่มีเว้น ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดร่วมกับจิตประเภทใด เกิดร่วมกับอกุศลจิต ก็เป็นมิจฉาสมาธิ เกิดร่วมกับกุศลจิต ก็เป็นสัมมาสมาธิ (กล่าวอย่างรวมๆ ) เพราะในพระไตรปิฎก แสดงสัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นความสงบแนบแน่นของจิต เป็นฌานขั้นต่างๆ ซึ่งผลของสัมมาสมาธิ ที่เป็นฌานขั้นต่างๆ นั้น คือ ทำให้เกิดเป็นพรหมบุคคลตามระดับขั้นของฌาน เมื่อสิ้นสุดความเป็นพรหมบุคคลแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก คือ ยังไม่พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ยังไม่พ้นจากทุกข์ในวัฏฏะ ไม่สามารถที่จะดับกิเลสใดๆ ได้เลย

สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือการอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) เป็นการอบรมเจริญปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ให้มีมากขึ้น เจริญขึ้น ซึ่งในขณะนั้น สมาธิที่เกิดขึ้นก็เป็นสัมมาสมาธิด้วย เมื่อมีปัญญาเจริญขึ้น คมกล้าขึ้น เป็นโลกุตตรปัญญา ย่อมละกิเลสได้ตามลำดับ สูงสุดคือถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีเหลือ ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ธรรมตามความเป็นจริง เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว คนสัตว์ไม่มี มีแต่ธรรม ซึ่งเป็นสัมมาสมาธิของผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ซึ่งในขณะนั้นเกิดร่วมกันกับองค์มรรคอื่นๆ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ และ สัมมาสติ ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของความเจริญขึ้นของปัญญาที่เกิดจากการฟังการศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริง กล่าวคือ นามธรรมและรูปธรรม นั่นเอง

ถ้าขาดการฟัง การศึกษา ขาดความเข้าใจพระธรรมแล้ว ทำก็ทำผิด พูดก็ผิด ทุกอย่างผิดไปหมด เป็นการพอกพูนกิเลสอกุศลให้มีมากขึ้น ทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวต่อไปอีก

ดังนั้น ประโยชน์สูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ คือ มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 19 ก.ค. 2554

พระอรหันต์ที่ได้ฌานหรือไม่ได้ฌาน ท่านก็ต้องมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิที่ถูกต้องค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ก.ไก่
วันที่ 9 มิ.ย. 2564

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 1 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาในกุศลของทุกท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ