อภิฐานะ ๖ และอัญญสัตถุเทส
เรียนท่านวิทยากร
ดิฉันได้ ฟังรายการธรรมเล่าถึง คำสองคำนี้ ใคร่ขอให้ท่านวิทยากรโปรดชี้แนะว่า จะหาอ่านที่ใดจึงจะ เข้าใจง่าย
ขออนุโมทนาในกุสล
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
อภิฐานะ ๖ และอัญญสัตถุเทส
อภิฐานะ 6 หมายถึง กรรมที่เด่นยิ่งกว่ากรรมอื่นๆ มี 6 ประการดังนี้ครับ
1.มาตุฆาต ฆ่ามารดา
2.ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
3.อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
4.โลหิตุปบาท ทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ
5.สังฆเภททำสงฆ์ให้แตกกัน
6.อัญญสัตถารุทเทส นับถือศาสดาอื่นคือเข้ารีต
อภิฐานะ 6 นั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ มีความเห็นถูกแล้ว คือ พระโสดาบัน ย่อมไม่ทำกรรมอันยิ่งนี้อีก คือ อภิฐานะ 6 ประการนี้เลยครับ แต่สำหรับปุถุชนแล้ว ผู้หนาด้วยกิเลส ย่อมมีโอกาส ล่วงกรรมอันเด่น ยิ่งนี้ 6 ประการได้ครับ เพราะความที่เป็นปุถุชนนั่นเองครับ
ส่วน อัญญสัตถารุทเทส ก็คือ การนับถือศาสนาอื่น ศาสดาอื่น จากที่เคยนับถือศาสนาที่ถูก เปลี่ยนเป็นสิ่งที่ผิดได้ครับ ผู้ทีเป็นพระอริยเจ้าเท่านั้นมีพระโสดาบัน เป็นต้น ท่านจะไม่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น ศาสดาอื่นอีกครับ เพราะว่าท่านประจักษ์ความจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้และถึงความเป็นพระอริยบุคล ประจักษ์ความจริงนั่นเอง เมื่อรู้ด้วยตนเอง ด้วยปัญญาแล้ว การจะไปนับถือ ศาสนา หรือ ศาสดาอื่นๆ จึงไม่ใช่ฐานะครับ ท่านจึงไม่ทำกรรม คือ อัญญสัตถารุทเทส การนับถือศาสนา หรือศาสดาอื่นๆ เลยครับ ส่วนปุถุชน มีความไม่แน่นอนเป็นธรรมดา ปัญญายังไม่มั่นคง จึงสามารถเปลี่ยนแปลงไปนับถือ ศาสนาอื่น ศาสดาอื่นได้ครับ เพราะความเป็นผู้หนาด้วยกิเลสและปัญญาน้อย ดังเช่น เพื่อนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เมื่อเจอพระพุทธเจ้าก็นับถือพระพุทธเจ้า พอพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่อื่นก็ไปนับถือลัทธิที่ผิด วนไปวนมาอย่างนี้ แต่ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุพระโสดาบันเมื่อฟังธรรมครับ เพราะสะสมปัญญามานั่นเองและ แม้ไม่นับถือศาสนาอื่น แต่ก็สามารถเปลี่ยนจากหนทางที่ถูก ไปสู่หนทางที่ผิดในการอบรมปัญญาได้ครับ นี่เป็นธรรมดาของปุถุชน จึงมีควรประมาทกิเลสเลย และควรเห็นโทษของการเสพคุ้นกับความเห็นผิดครับ และไม่ประมาทในการอบรมปัญญา โดยการฟังพระธรรมและศึกษาพระธรรมครับ
ขออนุโมทนา
สำหรับการหาอ่านในเรื่อง อภิฐานะ 6 ประการ และอัญญสัตถารุทเทส หาอ่านได้ในอรรถกถา รัตนสูตรในเล่ม 39 และ เล่ม 47 ฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัยครับ หรือ อ่านจากที่ผมยกมาเลยก็ได้ครับ
[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑๑ - หน้าที่ 260
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงการละวิปากวัฏฏ์ของพระโสดาบันนั้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ กรรมวัฏฏ์ใด เป็นมูลรากของวิปากวัฎนี้ เมื่อทรงแสดงการละกรรมวัฏฏ์แม้นั้น จึงตรัสว่า ฉ จาภิานานิ อภพฺโพ กาตุ และไม่ควรทำอภิฐานะ ๖. ในคำนั้น
บทว่า อภิานานิ ได้แก่ ฐานะอันหยาบ. พระโสดาบันนั้น ไม่ควรทำอภิฐานะนั้น. ก็อภิฐานะเหล่านั้น พึงทราบว่ากรรมคือ มาตุฆาต ฆ่ามารดา ปิตุฆาต ฆ่าบิดา อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ โลหิตุปบาท ทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ สังฆเภททำสงฆ์ให้แตกกัน อัญญสัตถารุทเทส นับถือศาสดาอื่นคือเข้ารีต ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในเอกนิบาต อังคุตตรนิกาย โดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ [สัมมาทิฏฐิ] จะพึงปลงชีวิตมารดาเสีย ไม่เป็นฐานะ ไม่เป็นโอกาส [คือเป็นไปไม่ได้]. จริงอยู่ อริยสาวก ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่พึงปลงชีวิตแม้แต่มดดำมดแดงก็จริง ถึงอย่างนั้น อภิฐานะ ๖ นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ก็เพื่อตำหนิภาวะแห่งปุถุชน. แท้จริง ปุถุชนย่อมทำแม้อภิฐาน ซึ่งมีโทษมากอย่างนี้ได้ ก็เพราะไม่ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ส่วนพระโสดาบัน ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่ควรจะทำอภิฐานะเหล่านั้น.
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์โลกผู้ยังเต็มไปด้วยกิเลสนานาประการ ไม่ว่าจะทรงธรรมหมวดใด ในส่วนใด ก็ล้วนเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ทั้งนั้น รวมถึงอภิฐาน ๖ ดังกล่าวนี้ ด้วย ซึ่งเป็นฐานะที่ยิ่ง ฐานะที่เด่นในทางที่ไม่ดีเป็นอย่างยิ่ง มีฆ่ามารดา ฆ่าบิดา เป็นต้น จนกระทั่งถึง การถือศาสดาอื่น ทำให้เห็นถึงความน่ากลัวของกิเลส ว่าตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสถึงความเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบัน ขึ้นไป ย่อมจะสามารถกระทำอกุศลกรรม กระทำกรรมที่หนักๆ ได้ ตามกำลังของกิเลสที่ได้สะสมมา รวมไปถึงถ้ายังไม่มีความเข้าใจพระธรรมอย่างมั่นคง ละเลยโอกาสที่สำคัญในชีวิตคือการได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว ย่อมจะทำให้เป็นผู้ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ไม่เห็นถึงพระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมา เพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่สัตว์โลก ก็ทำให้เป็นผู้ไปยึดถึอสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ซึ่งไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง
อภิฐาน ทั้ง ๖ ประการ เป็นฐานะที่พระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบันไม่กระทำ คือ เป็นไปไม่ได้ที่พระโสดาบันจะกระทำอย่างนี้ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ยังไม่ต้องกล่าวถึงฆ่ามารดา ฆ่าบิดา เป็นต้นก็ได้ แม้เพียงฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย ท่านก็ไม่กระทำ แต่ที่ทรงแสดงไว้อย่างนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงโทษของความเป็นปุถุชน ซึ่งเป็นผู้ไม่ใช่พระอริยบุคคล ว่า สามารถกระทำอกุศลกรรมอย่างหนักได้ ซึ่งจะประมาทกำลังของกิเลสไมได้เลยทีเดียว เมื่อเริ่มศึกษา เริ่มเห็นคุณของพระธรรม ก็จะค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ ทำให้เป็นผู้ถอยกลับจากอกุศลมากขึ้นๆ ไม่กระทำอกุศลกรรมโดยประการทั้งปวง ไม่ว่าจะหนักหรือไม่หนักก็ตาม เพราะขึ้นชื่อว่า อกุศลกรรม แล้วนำมาซึ่งโทษโดยส่วนเดียวเท่านั้น ไม่นำประโยชน์สุขใดๆ มาให้เลยแม้แต่น้อย,การอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับเท่านั้น ที่จะทำให้เป็นผู้รอดพ้นจากอกุศลได้ในที่สุด ควรอย่างยิ่งที่จะมีชีวิตอยู่ เพื่อสะสมความดี และฟังพระธรรมให้เข้าใจต่อไป ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...