ความปรารถนาลามก
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 83
................................
อีกอย่างหนึ่ง
ในความปรารถนานี้พึงทราบประเภทดังนี้ คือความปรารถนาลาภคนอื่น
เพื่อตน ความปรารถนาลามก ความปรารถนาใหญ่ ความปรารถนาน้อย.
ในประเภทความปรารถนาเหล่านั้นพึงทราบดังนี้ ความปรารถนาลาภ
ของผู้อื่นเพราะไม่อิ่มในลาภของตน ชื่อว่าปรารถนาลาภคนอื่นเพื่อตน.
ผู้ประกอบด้วยความปรารถนาลาภคนอื่นเพื่อตนนั้น แม้ขนมสุกในภาชนะ
หนึ่งที่เขาใส่บาตรของตน ก็ปรากฏเหมือนยังไม่สุกดีและเหมือนเล็กน้อย.
วันรุ่งขึ้นเขาใส่บาตรของผู้อื่น ก็ปรากฏเหมือนสุกดีแล้วและเหมือนมาก.
ความสรรเสริญในคุณอันไม่มี และความไม่รู้จักประมาณในการรับ
ชื่อว่ามีความปรารถนาลามก.
ความปรารถนาลามกนั้นมาแล้วโดยนัยมีอาทิว่า
คนบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่มีศรัทธา
ปรารถนาว่า ขอให้ชนรู้จักเราว่า เป็นผู้มีศรัทธา.
บุคคลผู้ประกอบด้วยความปรารถนาลาภนั้น
ย่อมตั้งอยู่ในความหลอกลวง.
ความสรรเสริญคุณอันมีอยู่ และความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณใน
การรับ ชื่อว่ามีความปรารถนาใหญ่. แม้ความปรารถนาใหญ่นั้น ก็มา
แล้วโดยนัยนี้ว่า คนบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมปรารถนาว่า ชน
จงรู้จักเราว่าเป็นผู้มีศรัทธา ย่อมปรารถนาว่า ชนจงรู้จักเราว่าเป็นผู้มีศีล
ดังนี้ บุคคลผู้ประกอบด้วยความปรารถนาใหญ่นั้นเป็นผู้ไม่อิ่มด้วยท่อนผ้า,
แม้มารดาผู้ให้กำเนิดก็ไม่สามารถเหนี่ยวรั้งความคิดของเขาได้. สมดังที่
ท่านกล่าวไว้ว่า
กองไฟ มหาสมุทร และบุคคลผู้มีความปรารถนาใหญ่
ชนทั้งหลายให้ปัจจัยจนเต็มเกวียน
แม้ทั้งสามประเภทนั้นก็หาอิ่มไม่.
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ผู้ปรารถนาลามกคือผู้ที่พยายามในสิ่งที่ตัวเองไม่มีคุณธรรมนั้น เข่นเป็นผู้ไม่สำรวม
ก็แสดงอาการว่าเป็นผู้สำรวม เพื่อให้คนอื่นยกย่องหรือสรรเสริญเพื่อลาภ สักการะ
ไม่มีคุณธรรมคือศรัทธาก็ทำเป็นผู้มีศรัทธา ไม่มีคุณธรรมก็แสดงอาการภายนอก
ว่าเป็นผู้มีคุณธรรม เป็นต้น หลอกลวงเพื่อได้มาซึ่งสักการะ ลาภและปัจจัยต่างๆ
จึงชื่อว่าเป็นผู้มีความปรารถนาลามก
ผู้ปรารถนายิ่งๆ ขึ้น คือผู้ที่ไม่รู้จักพอ ไม่อิ่ม ให้เท่าไหร่ไม่พอ เหมือนไฟไม่อิ่มด้วย
เชื้อ มีไม้และวัตถุที่ไหม้ไฟ มหาสมุทรก็ไม่อิ่มด้วยน้ำ แม้คนที่มีความปรารถนายิ่งๆ
ขึ้นก็ไม่พอในสิ่งต่างๆ ที่ได้มาและก็ย่อมเดือดร้อนกับความไม่พอครับ
ผู้มักมาก คือผู้ที่ตัวเองมีคุณธรรมแต่อยากให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองมีคุณธรรม เพื่อให้ได้
มาซึ่งลาภ สักการะ ปัจจัย เช่น ตัวเองมีศีลก็มีความปรารถนาแสดงอาการให้ผู้อื่นรู้
ว่าตัวเองมีศีล เป็นต้น หรือการไม่รู้จักพอดีในการับ นั่นก็ชือ่ว่าเป็นผุ้มักมาก ซึ่งต่าง
กับผู้มีความปรารถนาลามกคือตัวเองไม่มีคุณธรรมนั้นแต่แสดง หลอกลวงว่ามี
คุณธรรมนั้น แต่ถ้าเป็นผู้มักมากคือตัวเองมีคุณธรรมนั้นและก็อยากให้คนอื่นรู้ว่า
ตัวเองมีคุณธรรมนั้นครับ
ผู้ปรารถนาน้อยหรือมักน้อย คือผู้ไม่มีความปรารถนา ไม่โลภะที่ต้องการให้คนอื่นรู้
ว่าตนเองมีคุณธรรมอะไร โดยไม่ใช่การหลอกลวงซ้อนว่าแสดงเหมือนเป็นผู้มัก
น้อยเพื่อให้ผู้อื่นสำคัญว่าเป็นผู้มักน้อย แต่จิตขณะนั้นเป็นผู้ไม่มีความต้องการ
จริงๆ ในขณะนั้น และรู้จักประมาณในการับด้วยใจจริง นี่ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปรารถนา
น้อย มักน้อยครับ ซึ่งความักน้อย มี 4 ประการคือ
1.มักน้อยในปัจจัย
2.มักน้อยในธุดงค์
3.มักน้อยในปริยัติ
4.มักน้อยในอธิคม
มักน้อยในปัจจัย คือ เป็นผู้รู้จักพอในการรับ ไม่มีความปรารถนาเพิ่มในสิ่งที่ตนเอง
ก็มีอยู่แล้ว คือต้องดูทั้งคนให้ และตัวเองและศรัทธาของผู้ให้ครับ ถ้าผู้ให้มีของมาก
แต่มีศรัทธาน้อยก็รับน้อย ถ้าผู้ให้มีของน้อยแต่มีศรัทธาในการให้มากก็รับน้อย แต่
ถ้าผู้ให้มีของมากและมีศรัทธามากก็ต้องรับพอดีครับ นี่คือความมักน้อย ความไม่
โลภในปัจจัยนั่นเองครับ
มักน้อยในธุดงค์ คือ ตัวเองเป็นผู้สมาทานรักษาธุดงค์ก็ไม่มีความปรารถนา ต้อง
การให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองรักษาธุดงค์ครับ
มักน้อยในปริยัติ คือตัวเองเป็นผู้ฟังมากและเข้าใจมากแต่ก็ไม่ปรารถนาให้ใครรู้ว่า
ตัวเองเป็นพหูสูต ฟังมาก เข้าใจมากครับ
มักน้อยในอธิคม หมายถึง ตัวเองบรรลุธรรม แล้วก็ไม่ปรารถนาให้คนอื่นรู้ว่าบรรลุ
ธรรมครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอด้วยครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณเผดิม คุณคำปั่นและทุกท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จากการที่เป็นผู้มากไปด้วยโลภะ มากไปด้วยความติดข้องต้องการ ซึ่งก็มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าสะสมจนกระทั่งมีกำลังมากขึ้นก็อาจจะกระทำทุจริตกรรมเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน กระทำในสิ่งที่ไม่สมควรได้ เพราะโลภะมีกำลัง แต่เพราะได้อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ซึ่งอุปการะเกื้อกูลต่อการเจริญขึ้นของกุศลธรรม ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถละโลภะได้อย่างเด็ดขาด แต่ก็สามารถค่อยๆ ขัดเกลาให้เบาบางลงได้ในชีวิตประจำวัน ด้วยความเป็นผู้เห็นโทษของอกุศลเห็นคุณประโยชน์ของกุศล ธรรม เป็นเรื่องละตั้งแต่ต้น แม้แต่ในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะสรรเสริญ ไม่ใช่เพื่อให้คนอื่นรู้ว่าตนเองมากไปด้วยความรู้ เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง ย่อมไม่มีความประสงค์ที่จะให้คนอื่นรู้ว่า ตนเองมีคุณอย่างไร มีความรู้อย่างไร แต่จะมีความประสงค์ที่จะให้ผู้อื่นได้เข้าใจพระธรรมอย่างที่ตนเองเข้าใจ
สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรทำ แต่ควรกระทำในสิ่งที่ดีงาม ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ, ความเข้าใจถูก เห็นถูก ตรงตามพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ทำให้รู้ว่าอะไร ควรทำ อะไร ไม่ควรทำ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย เป็นไปเพื่อความเป็นผู้หมดโลภะ ไม่ใช่เพื่อความเป็นผู้มักมาก ไม่ใช่เพื่อความเป็นผู้โลภมากในสิ่งต่างๆ ถ้าเริ่มขัดเกลากิเลสตั้งแต่ในขณะนี้ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะสามารถดำเนินไปถึงซึ่งการดับกิเลสได้ ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ ทุกๆ ท่านครับ...