อินทรีย์สังวร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 319
...................................
อินทรีย์สังวร
(๑๒๒) มหาบพิตร อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.
มหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ
เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว
จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่า รักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต..........ดมกลิ่นด้วยฆานะ.........ลิ้มรสด้วยชิวหา
..........ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย.........รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ
แล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก
คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่า รักษามนินทรีย์ ชื่อว่า ถึงความสำรวมใน
มนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวย
สุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครอง
ทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล.
(๑๒๓) มหาบพิตร อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ
มหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว
ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก
ในการทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในการฉัน ในการดื่ม ในการเคี้ยว
ในการล้ม ในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน
การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง
มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ
ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล.
อินทรียสังวรเป็นการรักษาศีลด้วยและมีสมาธิและปัญญาในขณะนั้นด้วยครับ ดังนั้นเมื่อ
เป็นอินทรียสังวร คือ การสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่เราที่สำรวม แต่เป็นสติและ
ปัญญาเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ใน 6 ทวาร ใน
ขณะนั้น เป็นการเจริญ สิกขา 3 คือ ศีล สมาธิและปัญญา และเป็นหนทางในการดับกิเลส
ด้วยครับ ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านครับ