การกรวดน้ำ อุทิศผลบุญ ความเป็นมาอย่างไร

 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่  2 ส.ค. 2554
หมายเลข  18847
อ่าน  22,313

กราบสวัสดีอาจารย์ที่เคารพอย่างสูงทุกท่านครับ

เรื่องมีอยู่ว่า คงเพราะฟังและศึกษาพระธรรม ก็เลยเกิดคิดอะไรเป็นเหตุ เป็นผล และ ละเอียดขึ้นกับการที่จะทำอะไร ต่ออะไร ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาน่ะครับ

กราบรบกวนสอบถามครับ

๑. การกรวดน้ำ หรือ การอุทิศผลบุญ นั้น ทำไมต้องใช้น้ำ ไม่ใช้น้ำได้ไหมครับ เพราะสำคัญที่เจตนาบอกให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ได้รู้ว่าเราทำสิ่งดีดีอะไร แล้วให้เค้าอนุโมทนา กับสิ่งดีดีที่เราได้ทำไม่ใช่หรือครับ (พระไตรปิฎกมีระบุหรือไม่ครับ)

๒. ในคำสอนมีการให้ทาน ศีล และ ภาวนา ภาวนาก็มีสมถภาวนา (การเจริญความสงบ สงบจากอกุศล) แต่การเจริญวิปัสสนา คือสติปัฎฐาน ซึ่งเป็นการสร้างเหตุให้สติเกิด สติ คือ การระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏในปัจจุบัน แล้วสงสัยตรงคำว่า ปัญญา ขณะเจริญสติแล้ว ปัญญาเกิดได้อย่างไร ช่วยอนุเคราะห์ด้วยครับ ว่า การดำเนินไปของจิต ช่วงที่มีสติ จนถึงปัญญาเกิด และ ปัญญาทำกิจการงาน (ขออภัยด้วยครับ ที่ยังไม่เข้าใจ เพราะยอมรับว่าคำแต่ละคำมีความหมายลึกซึ้ง นี่ยังไม่ได้ถึงขั้นความเข้าใจสภาพธรรมนะครับ ยังแย่อยู่เลยครับ ตอนนี้กำลังทบทวนสิ่งที่รู้ให้ชัดเจน เพราะก่อนๆ ที่จำๆ มา แค่คำจำกัดความก็สับสนไม่ชัดเจนเลย ขอสะสมความเข้าใจถูกใหม่ครับ)

กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

๑. การกรวดน้ำ หรือ การอุทิศผลบุญ นั้น ทำไมต้องใช้น้ำ ไม่ใช้น้ำได้ไหมครับ เพราะสำคัญที่เจตนาบอกให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ได้รู้ว่าเราทำสิ่งดีดีอะไร แล้วให้เค้าอนุโมทนา กับสิ่งดีดีที่เราได้ทำไม่ใช่หรือครับ (พระไตรปิฎกมีระบุหรือไม่ครับ)


การอุทิศส่วนกุศลเป็นบุญประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้น โดยเมื่อมีการทำบุญประเภทต่างๆ แล้วก็มีจิตคิดให้ผู้อื่นรับรู้บุญที่ได้ทำมาเพื่อให้สัตว์นั้นได้อนุโมทนา ดังนั้นการอุทิศส่วนกุศลจึงเป็นเรื่องของจิต ที่มีเจตนาให้ผู้อื่นรู้ในบุญที่ตนได้กระทำครับ

การกรวดน้ำในสมัยปัจจุบันก็คือการกระทำที่เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่นที่สามารถล่วงรู้หรือล่วงลับไปแล้วครับ คำถามจึงมีอยู่ว่า ทำไมถึงใช้น้ำ ซึ่งกระผมขออธิบายตามความเข้าใจ ในเรื่องความเป็นมาในการใช้น้ำอุทิศส่วนกุศลครับ ดังนี้

เหตุผลที่ 1 ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายวัดเวฬุวันกับพระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข การที่ท่านจะถวายสิ่งของใหญ่ ไม่สามารถยกวัดขึ้นได้ แต่พระเจ้าพิมพิสาร ก็ใช้วิธีการหลั่งน้ำ อันแสดงถึงการสละ ถวายวัดเวฬุวันแล้ว ดังนั้น การเทน้ำ หลั่งน้ำ จึงเป็นกิริยาอาการของการสละ การให้ประการหนึ่ง ดังนั้น เพราะเหตุผลประการนี้ ประเพณีในปัจจุบันการอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติ คือ การสละ ให้บุญที่เป็นนามธรรม จึงมีการใช้น้ำ เทน้ำ เหมือนเป็นการสละ ให้ส่วนบุญกับเปรตหรือญาติทั้งหลายได้อนุโมทนาบุญครับ นี่คือเหตุผลประการหนึ่ง คือ การเทน้ำ คือการให้ ให้ส่วนบุญนั่นเอง

เหตุผลที่ 2 ในจริยาปิฎก พระพุทธเจ้าแสดงเรื่อง บารมี ๑๐ เมตตาบารมี พระองค์แสดงว่า เธอจงมีเมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข เหมือนกับน้ำ น้ำย่อมไม่รังเกียจบุคคลใด เมื่อผู้ใดลงไปอาบ ก็ได้ความสุข ได้ความเย็นสบาย น้ำจึงไม่เลือกบุคคลใด ปรารถนาให้ผู้อื่นได้ความสุขทุกคน ดังนั้น การอุทิศส่วนกุศลด้วยน้ำ ก็เปรียบเหมือนเป็นการให้ญาติทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายทั้งหมด ที่สามารถล่วงรู้ได้ ได้อนุโมทนาบุญในกุศลที่ได้ทำ โดยการอุทิศไปในสัตว์ทั้งหลาย โดยไม่เลือกกับบุคคลใดเลยนั่นเองครับ

เหตุผลที่ 3 เพื่อความตั้งใจ มีสมาธิในการใช้น้ำกรวด ขณะที่เทน้ำ ก็ต้องมีสมาธิและตั้งใจที่จะให้สัตว์ทั้งหลายได้ส่วนบุญ การใช้นำจึงเป็นอุบายอย่างหนึ่งที่จะให้มีความตั้งใจที่จะให้มีการอุทิศให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 2 ส.ค. 2554

ซึ่งในความเป็นจริง พระไตรปิฎกไม่ได้แสดงในเรื่องของการใช้น้ำ เทน้ำอันเป็นการแสดงถึงการอุทิศส่วนกุศลครับ ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่มีเพียงการเทน้ำ หลั่งน้ำ แสดงถึงการสละ บริจาคให้ มีพระเจ้าพิมพิสารถวายวัดเวฬุวันโดการหลั่งน้ำ แต่เมื่อพระเจ้าพิมพิสาร อุทิศส่วนบุญที่ท่านทำ ท่านก็ไม่ได้ใช้น้ำ ท่านก็เปล่งวาจากล่าวอุทิศส่วนกุศลให้ญาติครับ ดังนั้นการใช้น้ำในการอุทิศส่วนกุศล ก็เป็นความเข้าใจในเหตุผล 3 ประการที่กล่าวมา ซึ่งก็ค่อยๆ คลาดเคลื่อนจากความเข้าใจในสมัยพุทธกาล กลายเป็นประเพณีนิยมไปครับ

ในความเป็นจริงแล้ว การอุทิศส่วนบุญให้ สำคัญที่เจตนาของผู้ที่อุทิศ ไม่ได้อยู่ที่การเทน้ำ หากไม่มีเจตนา ตั้งใจจะอุทิศให้ญาติเลย แต่ก็มีการเทน้ำ บุญก็ไม่เกิดขึ้น ที่เป็นการอุทิศส่วนกุศล เพราะการอุทิศส่วนกุศลอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่อาการเทน้ำ บุญจึงอยู่ที่ใจเป็นสำคัญครับ และก็ไม่จำเป็นจะต้องกล่าวคำบาลีต่างๆ ที่ว่า .. ยถา วาริวหา ปูราปริ ปูเรนฺติ ... เพราะการอุทิศส่วนกุศลสำคัญที่เจตนา หากมีเจตนาอุทิศให้ กล่าวภาษาอะไร แต่มีเจตนาอุทิศแล้ว บุญเกิดขึ้น คือ การอุทิศส่วนกุศล เมื่อผู้เป็นญาติล่วงรู้และอนุโมทนา ญาติก็ได้รับบุญคือ บุญเกิดกับญาติเองที่เกิดกุศลจิตที่อนุโมทนาครับ และก็ไม่จำเป็นต้องเอาน้ำไปเทที่ต้นไม้ด้วยความไม่รู้ แต่หากมีเจตนารดน้ำต้นไม้ก็ดีครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 2 ส.ค. 2554

๒. ในคำสอนมีการให้ทาน ศีล และ ภาวนา ภาวนาก็มีสมถภาวนา (การเจริญความสงบ สงบจากอกุศล) แต่การเจริญวิปัสนา คือสติปัฎฐาน ซึ่งเป็นการสร้างเหตุให้สติเกิด สติ คือ การระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏในปัจจุบัน แล้วสงสัยตรงคำว่า ปัญญา ขณะเจริญสติแล้ว ปัญญาเกิดได้อย่างไรครับ ช่วยอนุเคราะห์ด้วยครับว่า การดำเนินไปของจิต ช่วงที่มีสติ จนถึงปัญญาเกิด และ ปัญญาทำกิจการงาน


การเจริญสติปัฏฐาน คือ การที่สติและปัญญาเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เข้าใจถูกว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งพื้นฐานความเข้าใจเบื้องต้นคือ เมื่อจิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องมีหลายประเภท หลายเจตสิก ดังนั้นขณะที่สติปัฏฐานเกิด จิตขณะนั้นเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก และเกิดพร้อมเจตสิกอื่นๆ ที่เป็นเจตสิก ฝ่ายดี คือ ศรัทธาเจตสิก หิริเจตสิก รวมทั้ง สติเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นครับ ดังนั้นขณะที่สติปัฏฐานเกิด เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา จึงมีทั้ง สติเจตสิกและปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้นครับ ซึ่งเจตสิกแต่ละประเภทก็ทำหน้าที่แตกต่างกันไป แต่ก็เกิดร่วมกันได้ครับ เช่น สัญญาเจตสิกทำหน้าที่จำ เวทนาเจตสิก ทำหน้าที่รู้สึก เป็นต้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ก็มีสติและปัญญาเกิดด้วยในขณะนั้น แต่สติก็ทำหน้าที่อย่างหนึ่ง ปัญญาก็ทำหน้าที่อย่างหนึ่ง

สติ ทำหน้าที่ระลึก ปัญญาทำหน้าที่รู้ตามความเป็นจริง ขณะที่สติปัฏฐานเกิด คือ ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 2 ส.ค. 2554

ดังนั้น ต้องมีตัวธรรมให้รู้ เช่น รู้แข็ง แข็งเป็นสิ่งที่สติเกิดระลึกรู้ ซึ่ง สติจึงทำหน้าที่ระลึกที่ตัวธรรมคือ แข็ง ถ้าไม่มีสติ ก็ไม่มีการระลึกที่ตัวธรรมได้ แต่สติไม่ได้ทำหน้าที่รู้ตามความเป็นจริงว่าแข็งเป็นธรรมไม่ใช่เรา ทำหน้าที่ระลึกถึงตัวธรรมได้เท่านั้น แต่ขณะนั้นเองที่ปัญญาเกิดพร้อมสติ ปัญญาก็ทำหน้าที่รู้ตัวแข็งว่ามีลักษณะ ไม่ใช่เรา เป็นธรรม รู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรานั่นเอง ดังนั้น สติและปัญญาเกิดพร้อมกัน แต่ทำหน้าที่คนละอย่าง สติทำหน้าที่ระลึก ปัญญาทำหน้าที่รู้ความจริงในตัวธรรมที่สติระลึกได้ครับ ดังนั้นสภาพธรรมธรรมแต่ละอย่างก็ทำหน้าที่แต่ละอย่างกันไป แต่ก็พึ่งพาอาศัยกัน สติปัฏฐานจะขาดสติหรือจะขาดปัญญาไม่ได้เลยครับ

ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ปัญญาจึงเกิดได้พร้อมสติ รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราในสภาพธรรมที่สติกำลังระลึกครับ ซึ่งสติปัฏฐานจะเกิดได้ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมในเรื่องสภาพธรรมไปเรื่อยๆ โดยไม่หวังแต่ค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปทีละน้อย นั่นเองครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 2 ส.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 2 ส.ค. 2554

กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ สำหรับการสละเวลาตอบอย่างละเอียด ให้เข้าใจได้มากขึ้นมากเลยครับ

อนุโมทนากับสิ่งที่อาจารย์เมตตานะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 2 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"การอุทิศส่วนกุศล" การอุทิศส่วนกุศล (ปัตติทาน) เป็นกุศลประการหนึ่ง เพื่อประโยชน์คือให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้ ดังข้อความตอนหนึ่ง จากพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ว่า [เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า ๔๒๙

"เมื่อบุคคลให้ทาน กระทำการบูชาด้วยของหอมเป็นต้น แล้วให้ส่วนบุญว่า ขอส่วนบุญ จงมีแก่บุคคลชื่อโน้น หรือว่า ขอส่วนบุญจงมีแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ พึงทราบว่า เป็นบุญกิริยาวัตถุอันเกิดแต่การให้ส่วนบุญ"

การอุทิศส่วนกุศลให้ใคร จุดประสงค์ก็เพื่อให้ผู้นั้นได้รู้ เพื่อผู้นั้นจะได้เกิดกุศลจิตอนุโมทนา สำคัญอยู่ที่สภาพจิตจริงๆ กุศลจิตที่อนุโมทนาย่อมเป็นกุศลของผู้อนุโมทนาเอง ซึ่งกุศลที่เกิดขึ้นด้วยการอนุโมทนานี้จะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดี คือ กุศลวิบากจิตเกิดขึ้น ไม่ใช่เราหยิบยื่นกุศลของเราให้คนอื่น แต่การที่เราทำกุศล แล้วเป็นเหตุให้คนอื่นที่รู้อนุโมทนายินดีด้วย ขณะใดที่เขาอนุโมทนายินดีด้วย ขณะนั้นก็เป็นกุศลของเขา ซึ่งจะต้องเป็นกุศลจิตของผู้ที่อนุโมทนาเท่านั้นจริงๆ คำอุทิศส่วนกุศลที่มูลนิธิศึกษาศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้กล่าวหลังจากสิ้นสุดการสนทนาธรรม ดังนี้

"ข้าพเจ้า ขออุทิศส่วนกุศล ที่ได้บำเพ็ญแล้วในวันนี้ แก่มารดาบิดา และผู้มีพระคุณ ทั้งในปัจจุบันชาติ และในอดีตอนันตชาติ แก่ญาติและมิตรสหายผู้ล่วงลับไปแล้วตลอดจนเทพยดาและอมนุษย์ทั้งหลาย ขอจงมีจิตโสมนัสยินดี อนุโมทนาในส่วนกุศล โดยทั่วกันเทอญ" โดยไม่ได้ใช้น้ำเลย ทั้งหมดนั้น เพื่อประโยชน์คือการอนุโมทนาของผู้อื่น ครับ


"สติปัฏฐาน จะปราศจากสติกับปัญญา ไม่ได้" การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องมีฐานคือที่ตั้งให้สติระลึกตรงลักษณะ และปัญญารู้ตามความเป็นจริงอันได้แก่สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นรูปธรรม หรือ นามธรรม ซึ่งมีจริงๆ ในขณะนั้น

ในขณะที่สติปัฏฐาน เกิด เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่พ้นจากสติไปได้ สติย่อมมีอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระลึก โดยไม่มีตัวตนที่ระลึก หรือไปเจาะจงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด และ มีปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงด้วย พร้อมทั้งมีโสภณธรรมอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เพราะในขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นนั้น ไม่ได้มีเฉพาะจิต และไม่ได้มีเฉพาะเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดเพียงอย่างเดียวเกิดกับกุศลจิตเท่านั้น แต่มีเจตสิกประการต่างๆ เกิดร่วมกับกุศลจิต มากน้อย ตามสมควรแก่กุศลจิตประเภทนั้นๆ จิตและเจตสิก เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกัน ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด จะปราศจากสติกับปัญญาไม่ได้เลย เกิดร่วมกันแต่ทำกิจต่างกัน

ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ต้องอาศัยการฟัง การศึกษา ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ ฟังธรรมให้เข้าใจในสภาพธรรม ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน อย่างมั่นคงว่า ทุกอย่างเป็นเพียงสภาพธรรม แต่ละอย่างๆ ที่ปรากฏ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เป็นความเข้าใจในความจริงอย่างมั่นคง จึงจะเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิด ได้ โดยที่ลืมไม่ได้เลยว่า ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ แม้แต่สติกับปัญญา ก็เป็นอนัตตา ด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 2 ส.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
หลานตาจอน
วันที่ 3 ส.ค. 2554
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาบุญครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
วิริยะ
วันที่ 3 ส.ค. 2554

เรียนถามค่ะ

จากความเห็นที่ 2 ดิฉันอยากทราบว่า คาถาที่ใช้ในการกรวดน้ำที่ขึ้นต้นด้วย ... ยถา วาริวหาปูรา ปริปูเรนติ ... นั้น มาจากไหน เวลามีการกรวดน้ำ มักเห็นภาพคนที่กำลังอุทิศส่วนกุศลอยู่ เอามือแตะตัวคนที่นั่งข้างหน้าต่อๆ กัน และผู้ที่นั่งหน้าสุดมีหน้าที่รินน้ำลงในภาชนะ และพระท่านก็สวด อยากทราบว่า เราไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นใช่หรือไม่

และ ... จากความเห็นที่ 7 คำอุทิศส่วนกุศลที่มูลนิธิใช้หลังจากสิ้นสุดการสนทนาธรรมนั้น อยากทราบว่า เป็นการอุทิศให้เฉพาะผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วเท่านั้น ใช่หรือไม่ บิดามารดาของดิฉันยังมีชีวิตอยู่ จึงไม่แน่ใจว่า สมควรจะกล่าวคำอุทิศนั้นได้หรือไม่ค่ะ

ขอบพระคุณอย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 3 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 10 ครับ จากคำถามที่ว่า

ดิฉันอยากทราบว่า คาถาที่ใช้ในการกรวดน้ำที่ขึ้นต้นด้วย ...ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนติ .... นั้น มาจากไหน เวลามีการกรวดน้ำ มักเห็นภาพคนที่กำลังอุทิศส่วนกุศลอยู่ เอามือแตะตัวคนที่นั่งข้างหน้าต่อๆ กัน และผู้ที่นั่งหน้าสุดมีหน้าที่รินน้ำลงในภาชนะ และพระท่านก็สวด อยากทราบว่า เราไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นใช่หรือไม่


คาถาที่ใช้กรวดน้ำในสมัยนี้ คือ

ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมฺหํ ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา จนฺโท ปณฺณรโส ยถา มณิ โชติรโส ยถา

แปลเป็นไทยได้ว่า “ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด ทานที่ท่านอุทิศให้แล้วแต่โลกนี้ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว ฉันนั้น ขออิทธิผลที่ท่านปรารถนาแล้ว ตั้งใจแล้ว จงสำเร็จโดยฉับพลัน ขอความดำริทั้งปวงจงบริบูรณ์ เหมือนดังพระจันทร์วันเพ็ญ (และ) เหมือนแก้วมณีอันสว่างไสว

ความเป็นจริงแล้ว ในพระคาถานี้ เป็นคาถาที่แต่่งขึ้นเพิ่มเติมจากคาถาเป็นอนุโมทนากถา คือ เมื่อมีการถวายอาหาร หรือ ทำบุญเสร็จแล้ว ก็มีการกล่าวคาถา พระธรรมที่อนุโมทนาในบุญที่บุคคลนั้นทำนั่นเองครับ ไม่ใช่คาถาเอามากรวดน้ำในสมัยปัจจุบัน เป็นคาถาอนุโมทนาบุญที่บุคคลนั้นได้ทำครับ ซึ่งในพระไตรปิฎก พระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านจะกล่าวคาถานี้เมื่อมีผู้อื่นทำบุญ มีการถวายบิณฑบาต เป็นต้น เมื่อถวายเสร็จ พระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านก็กล่าว พระธรรมที่เป็นการอนุโมทนาบุญของบุคคลที่ได้ทำ คือ

อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุยฺหํ ขิปฺปเมว (๑) สมิชฺฌตุ สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา จนฺโท ปณฺณรโส (๒) ยถา ฯ อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุยฺหํ ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา มณิ โชติรโส ยถาติ

"สิ่งที่ต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว จงพลัน สำเร็จแก่ท่าน ขอความดำริทั้งปวง จงเต็ม ดัง พระจันทร์ ซึ่งมีในดิถีที่ ๑๕. สิ่งที่ต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว จงพลันสำเร็จแก่ท่าน ขอความดำริ ทั้งปวง จงเต็ม ดังแก้วมณี ชื่อว่าโชติรส."

ดังนั้น ปัจจุบันจึงเป็นความเข้าใจผิดที่เอามาสวดในการกรวดน้ำ แต่งเพิ่มเติม เพราะความจริงเป็นพระธรรมที่กล่าวเมื่ออนุโมทนาบุญกับผู้ที่ทำบุญเสร็จแล้วครับ และที่สำคัญไม่ต้องเอามือ มาต่อๆ กัน จับต่อๆ กัน ตอนกรวดน้ำ เพราะเราก็ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้แล้ว จิตมีความตั้งใจแล้ว โดยไม่ต้องเอามือมาต่อๆ กัน และที่สำคัญการจะได้บุญไม่ใช่เป็นการส่งต่อกันผ่านทางร่างกาย แต่กุศลจิตเกิดกับบุคคลใด ก็เป็นบุญของบุคคลนั้นครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
paderm
วันที่ 3 ส.ค. 2554

และจากคำถามที่ว่า

คำอุทิศส่วนกุศลที่มูลนิธิใช้หลังจากสิ้นสุดการสนทนาธรรมนั้น อยากทราบว่า เป็นการอุทิศให้เฉพาะผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วเท่านั้น ใช่หรือไม่ บิดา มารดาของดิฉันยังมีชีวิตอยู่ จึงไม่แน่ใจว่า สมควรจะกล่าวคำอุทิศนั้นได้หรือไม่ค่ะ


คำอุทิศส่วนกุศลของมูลนิธิที่ว่า

"ข้าพเจ้า ขออุทิศส่วนกุศล ที่ได้บำเพ็ญแล้วในวันนี้ แก่มารดาบิดา และผู้มีพระคุณ ทั้งในปัจจุบันชาติ และในอดีตอนันตชาติ แก่ญาติและมิตรสหายผู้ล่วงลับไปแล้วตลอดจนเทพยดาและอมนุษย์ทั้งหลาย ขอจงมีจิตโสมนัสยินดี อนุโมทนาในส่วนกุศล โดยทั่วกันเทอญ"

คำอุทิศของมูลนิธิหมายถึง อุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วครับ ซึ่งเขาอยู่ในฐานะที่จะล่วงรู้และสามารถอนุโมทนาได้ ไม่ว่าจะเป็นเปรต ที่ต้องการการอุทิศส่วนกุศล และเทวดาด้วยที่สามารถอนุโมทนาบุญในสิ่งที่ได้ทำ ไม่ว่าจะเป็นการฟังพระธรรม เทวดาก็สามารถอนุโมทนาในบุญที่ได้ทำคือการฟังพระธรรม รวมทั้งกุศลประการอื่นๆ มีการให้อาหาร และกุศลทุกๆ ประการ เทวดาก็สามารถอนุโมทนาบุญได้ รวมทั้งญาติที่ล่วงลับไปแล้วก็สามารถอนุโมทนาบุญได้ ครับ

ส่วนที่ผู้ถามบอกว่า บิดา มารดายังมีชีวิตอยู่ สังเกตคำอุทิศให้ดีนะครับ ทั้งในปัจจุบันชาติ และในอดีตอนันตชาติ ...แสดงว่า ในอดีตในชาติก่อนๆ ทั้งหมดด้วย เพราะในสังสารวัฏฏ์ สัตว์ที่ไม่เคยเป็นบิดา มารดากันมาก่อน หาได้ยาก นั่นคือเป็นบิดา มารดากันมาหมดแล้ว ดังนั้นเราก็มีบิดา มารดาในอดีตชาติมากมายที่ล่วงลับไปแล้วนับไม่ถ้วนเลยครับ ที่เคยเป็นบิดา มารดาเรา ดังนั้น จึงมีบิดา มารดาในอดีตชาติที่อาจเกิดเป็นเปรต เป็นเทวดา ก็สามารถอุทิศส่วนกุศลให้ท่านได้ครับ หากท่านรู้ก็สามารถอนุโมทนาบุญที่ได้ทำได้ครับ รวมทั้งผู้มีพระคุณในอดีตชาติก็นับไม่ถ้วน ซึ่งอาจเกิดเป็นเปรต เป็นเทวดา ก็สามารถอุทิศ่วนกุศลได้ครับ เพราะฉะนั้นสัตว์โลกทั้งหมด เกิดเป็นญาติ เป็นบิดา มารดามาหมดแล้วเพราะสังสารวัฏฏ์ยาวนาน ดังนั้น การอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ที่เคยเป็นญาติ เป็นบิดา มารดาในอดีตชาติก็สามารถล่วงรู้ได้ จึงควรอุทิศกุศลครับ ส่วนบิดา มารดาในปัจจุบัน หากยังไม่สิ้นชีวิตก็ไม่ต้องอุทิศให้ แต่บอกท่านได้ว่า วันนี้ทำกุศลอะไรมาให้ท่านอนุโมทนาบุญครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
wannee.s
วันที่ 4 ส.ค. 2554

การทดแทนพระคุณมารดา บิดา ญาติ สหาย ผู้ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการทำกุศลแล้วอุทิศไปให้ เป็นบุญอย่างหนึ่งในบุญ ๑๐ อย่าง จะใช้น้ำหรือไม่ใช้น้ำก็ได้ การใช้กรวดน้ำ เพื่อให้ใจจดจ่ออยู่กับคำอุทิศกุศล และเวลาที่กุศลจิตเกิด เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา สติเกิดร่วมกับกุศล แต่ปัญญาไม่เกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่ถ้าปัญญาเกิด ต้องมีสติเกิดร่วมด้วยทุกครั้งทุกค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
aurasa
วันที่ 5 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
oj.simon
วันที่ 6 ส.ค. 2554

ผมขอสนทนาด้วยคนครับ ก็เมื่อในสมัยที่พระโพธิสัตว์ก่อนจะทรงตรัสรู้ ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ได้มีพญามารมากล่าวตู่ทวงสิทธิขอคืนวัชรอาสน์ พระโพธิสัตว์ทรงอ้างแม่พระธรณีเป็นพยานว่าพระองค์มีสิทธิในวัชรอาสน์เหนือกว่าพญามาร ด้วยการอ้างทานมีการหลั่งน้ำอุทิศส่วนกุศลของพระองค์ฝากไว้กับพระแม่ธรณีมากมายนับไม่ถ้วน โดยผลแห่งทานนี้ท่านจึงมีสิทธิในวัชรอาสน์ดีกว่าพญามารอย่างที่เปรียบกันไม่ได้เลย เมื่อพระองค์กล่าวจบแม่พระธรณีได้มายืนยันข้ออ้างของพระโพธิ์สัตว์ โดยการนำน้ำที่พระองค์ฝากไว้ออกมาแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์จนท่วมพญามารและบริวารให้พ่ายแพ้สิ้นไป ข้อความด้านบนนี้ไม่ทราบว่าตรงกับกระทู้นี้หรือไม่ รับฟังได้หรือไม่ เพียงใด อย่างไรครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
paderm
วันที่ 6 ส.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 15 ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่...

พระแม่ธรณีบีบมวยผมมีจริงหรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
pamali
วันที่ 24 ม.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 16 ม.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
thachsup
วันที่ 22 ส.ค. 2561

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 24 มี.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ