จะเริ่มปฏิบัติธรรมในขั้นสูงต้องเริ่มอย่างไรครับ สาธุ ...

 
คนไทยพบธรรม
วันที่  5 ส.ค. 2554
หมายเลข  18873
อ่าน  6,586

ต้องการเริ่มต้นปฏิบัติธรรมในขั้นสูง เริ่มต้นอย่างไรถึงจะถูกต้องครับ เพราะเกรงว่าจะไม่เข้าใจครับ และการที่เราตั้งใจทำดีเพื่อให้มีบุญกุศลติดตัวเราไปนี่เป็นความโลภ ด้วยหรือครับ และอีกข้อครับ ธรรมของพระพุทธเจ้านั้น คือธรรมในพระไตรปิฎก ใช่หรือไม่ครับ ขอรบกวนช่วยชี้แนะด้วยนะครับ

ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

จากคำถามที่ว่า ต้องการเริ่มต้นปฏิบัติธรรมในขั้นสูง เริ่มต้นอย่างไรถึงจะถูกต้องครับ เพราะเกรงว่าจะไม่เข้าใจครับ

- การจะปฏิบัติธรรมขั้นสูงก็ต้องเริ่มจากความเข้าใจพระธรรมเบื้องต้นก่อนครับโดยเริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อเราพูดถึงปฏิบัติธรรม ดังนั้น ก็ต้องเข้าใจความจริงขั้นการฟังว่าที่ไปหาธรรม ไปปฏิบัติธรรม ก็ต้องเข้าใจคำว่าธรรมคืออะไร เป็นเบื้องต้นก่อนครับ เพราะหากไม่เข้าใจคำว่าธรรม ก็จะทำให้ไปแสวงหา ไปปฏิบัติผิดได้ครับ

ธรรม คือสิ่งที่มีจริง เพราะมีลักษณะ ดังนั้น ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่เป็นสัจจะ จึงไม่ได้หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติ แม่น้ำ ภูเขา ทุกอย่างเป็นธรรม อันนี้ไม่ใช่ธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ แต่สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ ธรรมคือสภาพธรรมที่มีจริงที่มีลักษณะ คือนามธรรมและรูปธรรม นั่นก็คือ จิต เจตสิก และรูป เช่น การเห็นมีจริงครับ มีลักษณะ แต่เป็นจิตที่เห็น การได้ยินเป็นจิตที่ได้ยิน เป็นจิต เป็นธรรม การคิดนึกเป็นจิตที่คิด ดังนั้น จิตที่คิดมีจริงเป็นธรรม เรื่องที่คิดไม่มีจริงเพราะไม่มีลักษณะให้รู้ จึงไม่ใช่ธรรม เสียง สี กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส มีจริง มีลักษณะให้รู้เป็นธรรม

ดังนั้น ธรรมก็คือสิ่งที่มีจริง ที่มีลักษณะ เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป ครับ ซึ่งจะเห็นว่า จากตัวอย่างที่ยกมาว่าธรรมมีอะไรบ้างนั้น มีในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เช่น สี (สิ่งที่เห็น) เสียง ได้ยิน คิดนึก โกรธ โลภ มีอยู่ในชีวิตประจำวัน เมื่อเราเข้าใจถูกว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ที่เป็น จิต เจตสิก รูป แล้ว ก็ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่อื่นอีก ไม่ต้องแสวงหาที่เงียบ ที่สงบ ปลีกวิเวกเพื่อหาธรรม (ปฏิบัติธรรม) ไม่ต้องแสวงหาห้องปฏิบัติเพื่อรู้ธรรม ไม่ต้องนั่งสมาธิเพื่อที่จะรู้ธรร เพราะขณะนี้ เป็นปกติ ยืนก็มีธรรม นอนก็มีธรรม เดินก็มีธรรม ขาดแต่เพียงปัญญาที่จะไปรู้ตัวธรรมที่มีในชีวิตประจำวันครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 5 ส.ค. 2554

ดังนั้น หนทางที่จะทำให้เกิดปัญญา จึงไม่ใช่ไปหาที่สงบเงียบ เดินจงกรม นั่งสมาธิ แต่เป็นการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ขณะที่ฟังพระธรรมในเรื่องสภาพธรรม แม้แต่เรื่องที่ได้อธิบายอยู่ว่าธรรมคืออะไร ความเข้าใจก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนในที่สุดไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพราะอาศัยปัญญาที่เกิดจากการฟังพระธรรมบ่อยๆ ก็ทำให้เกิดสติและปัญญารู้ความจริงของธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ปกติยึดถือว่าเราเห็น แต่เมื่อสติและปัญญาเกิดรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมที่เห็น ไม่ใช่เรา ขณะที่รู้อย่างนั้นเรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมขั้นสูง คือการเจริญวิปัสสนาที่เป็นสติปัฏฐานนั่นเองครับ จะเห็นนะครับว่า การจะปฏิบัติธรรมขั้นสูงที่เป็นการเจริญวิปัสสนาได้ ต้องเริ่มจากความเข้าใจขั้นการฟังให้ถูกต้อง โดยค่อยเป็นค่อยไปครับ ช้าแต่ถูก ดีกว่าเร็วแต่ผิด เพราะการดับกิเลสและการเจริญปัญญา เร็วไม่ได้ เพราะสะสมความไม่รู้มามากนั่นเองครับ ดังนั้น ก็อาศัยการฟังพระธรรมต่อไป โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ธรรมคืออะไร ให้เข้าใจขึ้น ก็จะทำให้เราเดินในหนทางที่ถูก ไม่หลุดไปตามความต้องการที่เป็นโลภะ ที่อยากปฏิบัติ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 5 ส.ค. 2554

จากคำถามที่ว่า

การที่เราตั้งใจทำดีเพื่อให้มีบุญกุศลติดตัวเราไปนี่เป็นความโลภ ด้วยหรือครับ

- การตั้งใจทำความดีเป็นกุศลที่เป็นฉันทะ ความพอใจที่เกิดจากปัญญา ความเห็นประโยชน์ของกุศลที่ควรเจริญก็ได้ หรือเกิดจากโลภะ ต้องการบุญ จึงทำกุศลก็ได้ครับ เมื่อรู้ว่ากุศลเป็นความดี ขณะใดที่ไม่เป็นกุศล โดยมากก็จะเป็นอกุศล ก็เจริญกุศลทุกๆ ประการ อันเป็นธรรมเครื่องชำระล้างสันดานและกิเลส และการเดินทางไกล คือการเดินทางในสังสารวัฏฏ์ก็ต้องมีเสบียงคือบุญ การทำบุญอันเป็นไปเพื่อที่จะได้เกิดในภพภูมิที่ดี ได้กลับมาเป็นมนุษย์เพื่ออบรมปัญญา จึงจะเป็นการเจริญกุศล ด้วยการเห็นประโยชน์ด้วยปัญญาเช่นนี้ ก็เป็นเจตนาความตั้งใจและเป็นฉันทะ ความพอใจใคร่ที่จะทำอันเกิดจากปัญญา จึงเป็นกุศลครับ

แต่เมื่อรู้ว่ากุศลดี ก็อยากจะได้ผลของกุศลเยอะๆ มากๆ ดังนั้น โลภะ ความต้องการ ติดข้องทุกอย่างยกเว้นพระนิพพานและธรรมที่เหนือโลกที่เป็นโลกุตตรธรรม นอกนั้น โลภะจึงติดได้ทั้งหมดแม้กุศลและผลของกุศล จึงทำดีเพราะอยากเกิดที่ดีๆ อยากมีความสุข ดังนั้น การทำบุญเพราะอาศัยโลภะความต้องการก็มีได้ครับ ดังนั้น ขอให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ ที่โลภะมักจะแทรกไปทุกอย่าง ติดข้องไปเสียทุกอย่างครับ


จากคำถามที่ว่า

อีกข้อครับ ธรรมของพระพุทธเจ้านั้น คือธรรมในพระไตรปิฎก ใช่หรือไม่ครับ

- พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในสมัยที่พระองค์ตรัสรู้จนถึงพระองค์ปรินิพพานเป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อันเกิดจากพระปัญญาที่ตรัสรู้ความจริง และเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วก็มีการทำสังคายนารวบรวมพระธรรมคำสอนที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้สมัยเมื่อมีพระชนม์อยู่ โดยท่านพระอานนท์ ท่านพระอุบาลีและพระมหากัสสปะ และมีการสังคายนาครั้งต่อๆ มาโดยพระภิกษุผู้มีปัญญามากและก็มีการจารึกลงในใบลานและสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เป็นพระไตรปิฎกที่ได้มีการตรวจสอบเทียบเคียงมากมายจากผู้รู้ ดังนั้น พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้จึงถูกรวบรวมไว้เป็นพระไตรปิฎก ซึ่งผู้อ่านก็ต้องพิจารณาด้วยปัญญาตามความเป็นจริง โดยอาศัยการฟัง ศึกษาจากพระไตรปิฎก ซึ่งก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตรผู้มีปัญญาสามารถอธิบายให้เข้าใจเนื้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งขอให้ท่านลองฟังไฟล์ธรรมในเว็บนี้ ที่บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่อธิบายให้เข้าใจในพระธรรมที่แสดงในพระไตรปิฎกครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 5 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- ควรที่จะได้เข้าใจก่อนว่า ปฏิบัติธรรม คืออะไร? โดยมากจะเข้าใจว่าเป็นการไปทำ แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่การไปทำ เพราะเหตุว่าปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำปฏิบัติ ไม่ใช่การไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมา แต่ธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม นั่นก็คือสติ และสัมปชัญญะ (ปัญญา) เกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมไปตามลำดับ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติถูกต้อง ย่อมมีไม่ได้อย่างแน่นอน

จึงสรุปได้ว่า ปฏิบัติธรรมคือการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะใดที่สภาพธรรมปรากฎให้รู้ สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมขณะนั้น ก็ถึงเฉพาะที่ลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา จึงเป็นความหมายที่ถูกต้องของการปฏิบัติธรรม คือการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เพราะสติและปัญญาที่เกิดรู้ตามความเป็นจริง ปัญญาทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้องเท่านั้น

- ในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน เราเกิดมาแล้วอย่างนับชาติไม่ถ้วน ในแต่ละภพในแต่ละชาตินั้น เราไม่ได้ทำเฉพาะกรรมดีเพียงอย่างเดียว ยังได้ทำอกุศลกรรมด้วย แต่เมื่อว่าโดยความต่างกันแล้ว สิ่งที่ควรสะสมที่สุด คือกุศลไม่ใช่อกุศล, กุศลที่ได้สะสมไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือปัญญาที่เกิดจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในแต่ละครั้งในชีวิตประจำวันนั้น ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ และจะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงสำหรับชีวิต ซึ่งสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากนี้เป็นที่พึ่งไม่ได้เลย จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้เห็นประโยชน์ของกุศลธรรม เห็นโทษของอกุศลธรรม แล้วมีความจริงใจที่จะเจริญกุศลประการต่างๆ ต่อไป เพราะถ้ากุศลไม่เกิดแล้ว ย่อมเป็นโอกาสที่จะทำให้อกุศลเกิดพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ

- พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้สะสมบุญมาแล้วตั้งแต่ในอดีต ที่มีศรัทธามีความตั้งใจที่จะฟังที่จะศึกษาจริงๆ ส่วนบุคคลนอกนี้ ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ซึ่งมีเป็นส่วนน้อยมากอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สิ่งสำคัญที่สุด ที่ควรทำสำหรับตนเอง คือศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับต่อไป พระธรรมที่ได้ฟัง ที่ได้ศึกษาทั้งหมด เป็นไปเพื่อการเจริญขึ้นของปัญญาและเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองทั้งสิ้น ครับ.

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 6 ส.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 6 ส.ค. 2554

ขอขอบพระคุณที่แนะนำครับ ขออนุโมทนาบุญ ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 6 ส.ค. 2554

ครั้งแรก เพิ่งฟังท่านอ.สุจินต์ ใน MP 3 เกี่ยวกับ ปกิณณกธรรม (ไม่ทราบเขียนผิดหรือไม่) ที่มีเป็นตอนๆ ถึงตอนที่ 12 เข้าใจคำว่าสติ คือสิ่งที่เกี่ยวกับ ทาน และศีล และอะไรอีกหลายๆ อย่างที่มีประโยชน์และไม่เคยได้ทราบเรื่องราวเหล่านี้มาก่อนเลยในชีวิต หมายความถึงว่า เวลาเราได้พบเห็น หรือได้ยินเสียง หรือสัมผัสกับสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา นั้นคือธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดแล้ว ก็จะดับลง เป็นเรื่องผ่านไปแล้ว โดยที่เราไม่ต้องไปเก็บหรือจดจำมาคิดต่ออีกในใจว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ เราจะพอใจหรือไม่พอใจ โมโหไม่โมโห จะสุขจะทุกข์อย่างไรก็ตามก็เป็นเรื่องที่จบไปแล้ว ในชีวิตประจำวันของเรา เมื่อพบอีก เราก็ทำแบบนี้ไปทุกครั้ง ทุกเรื่องราวทุกสถานการณ์ ทุกบุคคลที่เกี่ยวพัน เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ และก็ฟังธรรมไปเรื่อยๆ และเมื่อเรานั่งวิปัสสนา เราก็ทำแบบนี้ไปอีกเหมือนกัน จะใช่ในความเข้าใจของธรรม มั้ยครับ

ขอขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 6 ส.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 7 ครับ

คำว่า ธรรม คือสภาพธรรมที่มีจริง ตามที่ท่านกล่าวถูกแล้วครับ คือ เห็น ได้ยิน สี เสียง สิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม นั่นคือเป็นธรรมและมีลักษณะให้รู้ แต่สำหรับประเด็นเรื่องไปนั่งเจริญวิปัสสนา ในเมื่อเราเข้าใจความจริงว่าธรรมมีในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ดังนั้น การรู้ความจริง ที่เป็นการเจริญวิปัสสนา ก็รู้ในชีวิตประจำวันไม่ใช่ไปพยายามรู้ตอนนั่งครับ นั่นไม่ใช่การเจริญวิปัสสนา เพราะการเจริญวิปัสสนาหรือสติปัฏฐาน คือสติและปัญญาเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ซึ่งปัญญาจะเกิดขึ้นไม่ใช่เพราะการนั่งครับ แต่เพราะอาศัยการฟังพระธรรมในเรื่องของสภาพธรรม ปัญญาขั้นการฟังจะค่อยๆ เจริญขึ้น จนถึงที่สุด สติและปัญญาเกิดรู้ความจริงในสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะนั้นเรียกว่า การเจริญวิปัสสนารู้ความจริงแล้วครับ ดังนั้น เราจะต้องเข้าใจกันใหม่ว่า ปัญญาเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่การไปนั่งเจริญวิปัสสนา แต่เกิดจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และเมื่อปัญญาถึงพร้อม ปฏิบัติจะเกิดขึ้นเอง คือรู้ความจริงในขณะนี้ เป็นปกติ โดยไม่ต้องไปทำ ไปนั่งเลยครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
หลานตาจอน
วันที่ 7 ส.ค. 2554
ขอบพระคุณท่านอาจารย์ทุกท่าน และขออนุโมทนาบุญครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 7 ส.ค. 2554

ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมเบื้องต้น เช่น ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมที่มีจริงๆ ฯลฯ จะไปปฏิบัติธรรมขั้นสูง เป็นไปไม่ได้ และสังสารวัฏฏ์ที่ยาวแสนยาว เราก็ต้องสะสมเสบียง คือกุศลทุกอย่าง สะสมความเห็นถูก สะสมปัญญาต่อๆ ไปอีก จนกว่าจะสิ้นอาสวะกิเลส และพระไตรปิฎกก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ ละชั่ว ทำดี อบรมจิตให้ผ่องใส (ปัญญา) นี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
pat_jesty
วันที่ 7 ส.ค. 2554

ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล จึงไม่มีใครสามารถบังคับหรือบันดาลให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นได้ เมื่อมีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่ง พร้อมให้เกิดก็เกิด ...

เหตุดี ที่สะสมมามั่นคง ก็ปรุงแต่งพร้อมให้ประจักษ์แจ้งธรรมได้เอง คือ ธรรม ปฏิบัติกิจของธรรม ซึ่งเหตุดีในที่นี้ก็คือความเข้าใจถูก เห็นถูกในพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งควรเริ่มจากการศึกษาให้เข้าใจก่อนค่ะ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 8 ส.ค. 2554

ขอขอบคุณครับ และ ขออนุโมทนาบุญ ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 8 ส.ค. 2554

แล้วการที่ต้องการไปปฏิบัตินั่งวิปัสสนา เพื่ออะไร มีประโยขน์อย่างไร เพราะพบว่าประชาชนส่วนมากก็นิยมไป ปฏิบัติ กันครับ

ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 8 ส.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 13 ครับ

เพราะขาดการศึกษาพระธรรม ความเข้าใจเบื้องต้นที่ถูกต้องก่อนครับว่า ธรรมคืออะไร ธรรมรู้ได้อย่างไร และปฏิบัติคืออะไร เพราะความจริงธรรมคือสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน เช่น เห็น ได้ยิน คิดนึก สี เสียง โลภ โกรธ เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสิ่งที่ปัญญาควรรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราครับ ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจว่าธรรมคืออะไรอย่างถูกต้อง ก็ไม่ต้องไปหาธรรมที่สถานที่อื่น ที่เงียบหรือโดยการทำอะไรซักอย่าง เพราะธรรมมีอยู่แล้วในขณะนี้ ในชีวิตประจำวัน การรู้ ก็รู้ในชีวิตประจำวันครับ และขณะที่ปฏิบัติ คำว่าปฏิบัติ เราเอาคำภาษาบาลีมาเข้าใจในภาษาไทย ว่า ปฏิบัติต้องมีการทำอะไรซักอย่าง นี่คือภาษาไทย แต่ถ้าศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องแล้ว ขณะที่ปฏิบัติ คือขณะที่สติและปัญญาเกิด รู้ความจริงของธรรม ธรรมมีอยู่ในขณะนี้นี่เอง รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะที่สติและปัญญาเกิดอย่างนี้ จึงเป็นการปฏิบัติ อีกประการหนึ่ง เหตุให้เกิดสติและปัญญาที่รู้ความจริงในขณะนี้ ก็เข้าใจกันว่าจะต้องนั่งสมาธิ คิดกันว่า สมาธิคือปฏิบัติ แต่ในความจริง เหตุให้เกิดปัญญาคือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมจากพระพุทธเจ้า อาจจะคิดว่า ถ้าฟังอย่างเดียวก็ไม่ได้ปฏิบัติซักที ตามที่กล่าวแล้วครับว่า ปฏิบัติ คือขณะที่สติและปัญญาเกิดรู้ความจริงในสภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน ดังนั้น เมื่อฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ ทีละน้อยจนถึงที่สุด ปัญญาคมกล้า สติและปัญญาก็เกิดรู้ความจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะนั้นปฏิบัติแล้ว โดยอาศัยการฟังพระธรรม คือจากปริยัติไปสู่ปฏิบัตินั่นเองครับ ดังนั้น เราจะต้องเข้าใจใหม่ว่า ปฏิบัติไม่ได้หมายถึงการกระทำอะไรซักอย่าง แต่ในความจริง ปฏิบัติ คือ ธรรมที่เป็นสติและปัญญาเกิดขึ้น ซึ่งเกิดในชีวิตประจำวัน ครับ

ในสมัยพุทธกาล ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา เป็นต้น ท่านไม่ต้องไปปฏิบัติ ไปห้อง ไปนั่งสมาธิ แต่ท่านฟังพระธรรมและก็บรรลุในขณะนั้น ขณะที่ท่านฟังธรรม ท่านปฏิบัติในขณะนั้นได้ไหม. ได้ครับ เพราะสติและปัญญาสามารถเกิดได้ในขณะนั้นเพราะมีธรรมอยู่แล้วในขณะนั้นครับ ดังนั้น ความถูกต้อง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำกัน แต่ความถูกต้อง ไม่เปลี่ยนแปลง หากได้ศึกษาพระธรรมละเอียด ก็จะทำให้ดำเนินไปตามหนทางที่ถูก โดยมีพระธรรมเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง ไม่มีผู้อื่นเป็นที่พึ่งนั่นเองครับ ดังนั้น จึงเป็นธรรมดา เมื่อพระพุทธศาสนาผ่านมาสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว ดังนั้น เราจึงเป็นผู้ไม่ประมาทในการศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูกครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 8 ส.ค. 2554

การเริ่มทำบุญ ทำทาน เริ่มจากการที่ไม่มีโมหะและโทสะเข้ามาข้องเกี่ยวในจิตแรกที่นึกเริ่มกระทำ เมื่อทุกอย่างจบสิ้นลงไปแล้ว คำถามก็คือ อยากจะทราบว่า แล้วเมื่อไหร่ผู้ที่ทำจะทำการขอหรืออธิษฐานในสิ่งที่เหมาะที่ควรได้ ครับ

ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 8 ส.ค. 2554

ในความหมายของคำว่า ธรรม คือสภาพที่เกิดขึ้นจริง เป็นต้น ภาพทุกภาพ เสียงทุกเสียง เมื่อเราได้พบได้ยินนั้น เราต้องไม่มี โลภะ โทสะ โมหะ ในจิตเริ่มต้นกับสิ่งเหล่านั้น ใช่มั้ยครับ หลังจากนั้นเราก็มาวิเคราะห์ว่า สิ่งที่เราได้พบนั้นเป็นกุศล หรืออกุศล ถ้าเป็นกุศล เราก็อนุโมทนาบุญร่วมด้วย ถ้าไม่ใช่กุศลคืออกุศล เราก็ข้ามผ่านไปใช่หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
paderm
วันที่ 8 ส.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 15 และ 16 ครับ

การเริ่มทำบุญ ทำทาน เริ่มจากการที่ไม่มีโมหะและโทสะเข้ามาข้องเกี่ยวในจิตแรกที่นึกเริ่มกระทำ เมื่อทุกอย่างจบสิ้นลงไปแล้ว คำถามก็คือ อยากจะทราบว่า แล้วเมื่อไหร่ผู้ที่ทำจะทำการขอหรืออธิษฐานในสิ่งที่เหมาะที่ควรได้ครับ

ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

- ขณะที่ทำกุศล ขณะนั้นก็เป็นความตั้งใจมั่นในสิ่งที่ดีแล้วครับ เพราะ อธิษฐาน ไม่ได้หมายถึงการขอตามภาษาไทยที่เราเข้าใจ แต่หมายถึงความตั้งใจมั่นในสิ่งที่ดีที่เป็นกุศล ขณะที่กระทำกุศล ก็เป็นการตั้งใจมั่นในสิ่งที่ดี เป็นอธิษฐานแล้ว โดยไม่ต้องไปขออะไรอีกครับ เพราะบุญที่ทำสำเร็จแล้ว ก็ย่อมมีเหตุให้ผลของบุญนั้นให้ผลแน่นอน เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อมครับ


ในความหมายของคำว่า ธรรม คือสภาพที่เกิดขึ้นจริง เป็นต้น ภาพทุกภาพ เสียงทุกเสียงฯ เมื่อเราได้พบ ได้ยิน นั้น เราต้องไม่มี โลภะ โทสะ โมหะ ในจิตเริ่มต้นกับสิ่งเหล่านั้น ใช่มั้ยครับ หลังจากนั้นเราก็มาวิเคราะห์ว่า สิ่งที่เราได้พบนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นกุศลเราก็อนุโมทนาบุญร่วมด้วย ถ้าไม่ใช่กุศลคืออกุศล เราก็ข้ามผ่านไปใช่หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ

- คำว่า "ธรรม" ไม่ได้หมายถึงเพียงสิ่งที่เห็น เสียงที่ได้ยินเท่านั้นครับ คำว่า ธรรม หมายถึงสิ่งที่มีจริง รวมถึงสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดีและไม่ดีด้วย ดังนั้น อกุศลก็เป็นธรรม ทำไมถึงเป็นธรรม. เพราะมีจริง มีลักษณะและปรากฏเกิดขึ้นให้รู้ได้ครับ นี่คือสิ่งที่มีจริงที่เป็นธรรมครับ ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่าพยายามทำจิตให้เห็นแล้วเป็นกุศล หรือจะอนุโมทนาหรือปล่อยให้ผ่านไปถ้าเป็นอกุศล แต่เข้าใจความจริงในสิ่งที่เกิดแล้ว ปัญญาขั้นแรกคือเข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เพราะมักยึดถือสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าเป็นเรา เช่น เป็นเราที่เป็นอกุศล เป็นเราที่เป็นกุศล แต่การอบรมปัญญา คือเข้าใจในสิ่งที่เกิดแล้ว ว่า อกุศลที่เกิดขึ้นก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา เพื่อถ่ายถอนความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ครับ

จึงไม่ต้องไปบังคับจิตไม่ให้เป็นอกุศล เพราะเป็นไปไม่ได้ แต่รู้ในสิ่งที่เกิดแล้ว แม้อกุศลที่เกิดขึ้น รู้ว่าอกุศลเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 8 ส.ค. 2554

ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 8 ส.ค. 2554

เมื่อเราทราบว่าธรรมคือไม่ใช่เราแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบตัวเราในสังคมเป็นกุศล หรืออกุศล เมื่อเราทราบแล้ว เราจะต้องทำอย่างไรต่อไปครับ

ขอขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
paderm
วันที่ 8 ส.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 20 ครับ

การจะทราบว่า ธรรม คือไม่ใช่เราแล้ว ในความเป็นจริงเป็นเรื่องยาก เพราะต้องเป็นปัญญาที่รู้ตัวลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้จริงๆ ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เช่น ขณะที่เห็น เป็นเพียง สี เท่านั้น ไม่ใช่เห็นเป็นสัตว์ บุคคล เป็นคนนั้น เป็นคนนี้ เพราะขณะที่เห็นเป็นบุคคลต่างๆ สิ่งต่างๆ แล้ว ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่เห็น แต่เป็นขณะที่คิดนึก ดังนั้น ในความเป็นจริง เห็นเพียงสีเท่านั้น แล้วจึงคิดนึกต่อเป็นสัตว์ บุคคล สิ่งต่างๆ ดังนั้น ในความเป็นจริงขณะนี้ เรายังเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ยังไม่เห็นว่าเป็นเพียงธรรม คือสี เท่านั้นจริงๆ ครับ จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องยาก กว่าจะเห็นว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราจริงๆ ครับ

ส่วนเมื่อรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราแล้ว ก็ต้องรู้ทั่วทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เพราะสภาพธรรมเกิดขึ้น ทาง ๖ ทวารนี้ ปัญญาต้องเกิดรู้ความจริงทั่วทั้งหมด เพื่อเป็นปัญญาที่มั่นคง จนถึงปัญญาที่แทงตลอดถึงตัวสภาพธรรม ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นครับ

ซึ่งเป็นเรื่องยากมากๆ ต้องอาศัยเวลาและค่อยๆ อบรมไปครับ ดังนั้น ตอนนี้ไม่ต้องทำอะไรนอกจากฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ ครับ ขอให้ลองฟังไฟล์ธรรม ๓ ไฟล์นี้นะครับ จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น

เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ

เริ่มฟังพระธรรมให้เข้าใจเสียก่อน

และคลิกอ่านที่นี่

มองมุมมุ่งธรรม ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 8 ส.ค. 2554

ขอออนุโมทนาบุญด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 8 ส.ค. 2554

เข้าใจว่าที่ธรรมมีไม่ใช่เรา เพราะเป็นเพียงธาตุซึ่งมีทั้งรูปธาตุ และนามธาตุเท่านั้น ที่เราเห็นอะไรนั้นไม่ได้หมายถึงตัวเราที่เห็น เป็นเพียงตา คือสิ่งที่เห็น แล้วจิตนั้นบ่งบอกถึงความเป็นของสิ่งนั้น ไม่ใช่ตัวเราบอก คือแบบนี้ใช่หรือไม่ครับ การได้ยินเสียงหรือกลิ่น สัมผัส ก็เหมือนกัน คิดแบบนี้ในเรื่องของธรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยไม่มีการปรุงแต่งขึ้น นั่นคือของที่เกิดขึ้นมาจริงๆ ไม่ทราบว่าเข้าใจแบบนี้ได้หรือไม่ครับ

ขอขอบพระคุณครับ เพิ่งฟัง MP 3 ของ อ.สุจินต์ ตอนที่ 25 ที่ไปพูดที่ รพ. ปากเกร็ดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ จับใจความได้ในลักษณะเช่นนี้ครับ และกำลังไปที่วิธีคิดเป็นจุดต่อไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 8 ส.ค. 2554

การที่เราไม่สามารถจำคำในภาษาบาลีได้ แต่อาจจะเข้าถึงในเนื้อหาบ้างพอสมควร ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรใช่มั้ยครับ อาจจะไม่เป็นสากลในภาษา แต่เนื้อหาอาจจะใกล้เคียงได้ ก็ได้เหมือนกันใช่มั้ยครับ

ขอขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
paderm
วันที่ 8 ส.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 23 ครับ

ใช่ครับ เริ่มเข้าใจขั้นการฟังก่อน ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แม้จะยังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นตัวธรรมจริงๆ ก็ตาม แต่อาศัยการฟังไปเรื่อยๆ และไม่ต้องที่จะคิดปรุงแต่งไม่ปรุงแต่งครับ เพราะในความเป็นจริง สภาพธรรมเขาปรุงแต่งอยู่แล้ว เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ก็ปรุงแต่งแล้วหลังจากเห็น แต่ขอให้เราเริ่มเข้าใจขั้นการฟังว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ฟังไปเรื่อยๆ นะครับ ขออนุโมทนาที่สนใจและฟังธรรมอยู่ ความเข้าใจจะเกิดขึ้นทีละน้อยๆ สบายๆ ด้วยการฟังเท่านั้นเองครับ ปัญญาจะเจริญขึ้นเอง

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
paderm
วันที่ 8 ส.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 24 ครับ

ส่วนเรื่องภาษาบาลี ไม่ต้องกังวลครับ เราเข้าใจภาษาอะไรก็เข้าใจภาษานั้น ความเข้าใจไม่ได้เลือกที่ภาษา แต่อาศัยภาษาที่สามารถสื่อให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรม ไม่ว่าภาษาอะไรก็เข้าใจได้ พระพุทธองค์แสดงว่าอย่าดูหมิ่นภาษาชาวบ้านภาษาอื่น เพราะบางภาษาเขาเรียกหม้อว่าอย่างนี้ก็เข้าใจแบบภาษานั้นครับ ซึ่งหากฟังไปบ่อยๆ เรื่อยๆ ก็จะเข้าใจความหมายภาษาบาลีเพิ่มขึ้นด้วย เพราะท่านอาจารย์สุจินต์ก็อธิบายความหมายของภาษาบาลี พร้อมๆ กับที่พูดด้วยครับ

อนุโมทนาที่ฟังพระธรรมครับ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 8 ส.ค. 2554

ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 9 ส.ค. 2554

การที่ไม่ต้องมีการอธิษฐานสิ่งต่างๆ จะเปรียบไปเหมือนการเดินทางของเรือที่ไม่มีหางเสือหรือเปล่าครับ เพราะในอดีตกาล ท่านพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังมีการอธิษฐาน บ้างครับ

ขอขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 9 ส.ค. 2554

การที่เราจะไม่มีโลภะ จะทำแบบนี้เลยได้มั้ยครับ เราก็ไปซื้อหาเลยโดยไม่ต้องมีความอยากได้เป็นจุดเริ่มต้น เช่น ไปดูโทรศัพท์มือถือ ไม่ต้องนึกถึงความอยาก ซื้อเลยครับ

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
paderm
วันที่ 9 ส.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 28 และ 29 ครับ

การอธิษฐานของพระโพธิสัตว์ คือความตั้งใจมั่นที่ประกอบด้วยปัญญา จึงทำกุศลและตั้งใจมั่นด้วยการเจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อดับกิเลสครับ ไม่ต้องอยาก แต่ทำกุศลเลยก็ได้ครับ แสดงถึงความตั้งมั่นที่เป็นอธิษฐานแล้วครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 31  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 10 ส.ค. 2554

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 32  
 
pamali
วันที่ 3 ต.ค. 2554
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
 
  ความคิดเห็นที่ 33  
 
jaturong
วันที่ 15 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 34  
 
เซจาน้อย
วันที่ 2 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 36  
 
kunyapha
วันที่ 15 ธ.ค. 2560

ใช่ครับ เริ่มเข้าใจขั้นการฟังก่อนว่า ขณะนี้เป็นธรรม แม้จะยังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นตัวธรรมจริงๆ ก็ตาม แต่อาศัยการฟังไปเรื่อยๆ และไม่ต้องที่จะคิดปรุงแต่งไม่ปรุงแต่งครับ เพราะในความเป็นจริงสภาพธรรมเขาปรุงแต่งอยู่แล้ว เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ก็ปรุงแต่งแล้วหลังจากเห็น แต่ขอให้เราเริ่มเข้าใจขั้นการฟังว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ฟังไปเรื่อยๆ นะครับ ขออนุโมทนาที่สนใจและฟังธรรมอยู่ ความเข้าใจจะเกิดขึ้นทีละน้อยๆ สบายๆ ด้วยการฟังเท่านั้นเองครับ ปัญญาจะเจริญขึ้นเอง

ขออนุโมทนาสาธุครับ

ขออนุโมทนาสาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 37  
 
เบิร์ท
วันที่ 10 พ.ย. 2561

อนุโมทนา สาธุ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 38  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ