ธรรมใด คือ อาหารของบารมี

 
พุทธรักษา
วันที่  6 ส.ค. 2554
หมายเลข  18881
อ่าน  5,486

เพราะเหตุว่า การอบรมเจริญ "บารมี ๑๐" เป็นสิ่งที่ยากมาก.จึงขออนุญาตเรียนถามท่านวิทยากรดังนี้ค่ะ.

๑. อะไร คือ "อาหาร" ของ แต่ละบารมี

๒. พระอริยบุคคลขั้นใดบ้าง คือ ผู้ถึงที่สุดของ แต่ละบารมี

ขออนุโมทนาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

การที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็ต้องมีเหตุ ซึ่งก็คือการเจริญคุณธรรมประการต่างๆ จนครบถ้วนสมบูรณ์ คุณธรรมประการต่างๆ ที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญมาในอดีตชาติ นับได้ 4 อสงไขย แสนกัป คือ บารมี 10 ประการ

บารมี โดยความหมาย คือ ธรรมที่ทำให้ถึงฝั่ง แสดงว่า มีสองฝั่ง ฝั่งนี้ที่เราอยู่ คือ ฝั่งของกิเลส หรือ ฝั่งของสภาพธรรมที่เป็น ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ฝั่งของสังสารวัฏฏ์ที่มีการเวียนว่ายตายเกิด แต่มีอีกฝั่งหนึ่ง คือ ฝั่งที่ไม่มีกิเลส ฝั่งที่ไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่ทำให้ทุกข์ ฝั่งที่ไม่การเวียนว่ายตายเกิด และไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมเลย อันเป็นฝั่งที่เกษม คือ พระนิพพาน เป็นอีกฝั่งหนึ่ง ดังนั้น บารมี คือ ธรรมที่เป็นคุณธรรมที่ทำให้ถึงฝั่ง คือ พระนิพพาน บารมี จึงเปรียบเหมือนเรือที่พาไปถึงฝั่งได้ แต่ฝั่งตรงข้ามนั้น มหาสมุทร ทะเลกว้างใหญ่ และภัยในมหาสมุทรก็มีมากมาย ทั้งน้ำวน สัตว์ร้าย ลมทะเล พายุ นั่นก็คือ หมู่กิเลสต่างๆ ที่เป็นภัยของการข้ามฝั่ง นั่นเองครับ

บารมี มีความหมายดังนี้ครับ

1. บารมี หมายถึง คุณธรรมที่ทำให้ถึงฝั่ง คือ พระนิพพาน บารมีย่อมผูกย่อมประกอบสัตว์ทั้งหลายไว้ในพระนิพพานนั้น. หรือ บารมีย่อมไป ย่อมถึง ย่อมบรรลุถึงพระนิพพาน

2. คุณธรรม 10 ประการ ที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญ ชื่อว่า บารมี นั่นคือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา 10 ประการนี้ ที่พระองค์ทรงกระทำชื่อว่า บารมี

3. บารมี คือ ธรรมที่ขัดเกลาสัตว์อื่นให้หมดจดจากมลทินคือกิเลส

จะเห็นได้ว่า บารมี เป็นคุณธรรมที่ทำให้ถึงการดับกิเลสและพระนิพพาน จึงเป็นเรื่องยากยิ่งในการเจริญบารมี เพราะเป็นเรื่องของการทวนกระแสของกิเลส ที่สะสมมามาก และ เป็นเรื่องการเจริญอบรมคุณธรรมอย่างยาวนาน นั่นเอง

การจะเป็นบารมีได้นั้น จะต้องเป็นเรื่องของปัญญาที่มีความเห็นถูก ที่เห็นโทษของ

กิเลส เห็นโทษของสังสารวัฏฏ์ จึงมีปัญญาความเห็นถูก ที่จะเจริญกุศลประการต่างๆ อันเป็นไปเพื่อละกิเลส และถึงการไม่เกิดอีก กุศลที่เจริญนั้น จึงจะเป็นบารมี ถ้าไม่มีปัญญาความเห็นถูก กุศลที่เจริญ จะเป็นบารมีไม่ได้เลย เพราะไม่เป็นไปเพื่อถึงฝั่งคือการดับกิเลสครับ ดังนั้น ปัญญา จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่แสดงถึงความเป็นบารมี ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 6 ส.ค. 2554

๑. อะไร คือ "อาหาร" ของ แต่ละบารมี.?

เมื่อใช้คำว่า อาหาร ก็คือ หมายถึง เหตุ ธรรมอะไร คือเหตุของบารมี แต่ละบารมี

บารมี 10 ประการ ดังนี้ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา

ทานบารมี คือ เจตนาสละวัตถุ ด้วยการบริจาคที่เห็นโทษของกิเลส คือ ความตระหนี่ และ ให้เพื่อปรารภถึงการดับกิเลส คือ พระนิพพาน จึงจะเป็นทานบารมี เหตุใกล้ให้เกิดทานบารมี ในจริยาปิฎก แสดงไว้ว่า มีวัตถุอันควรแก่การบริจาคคือ มีวัตถุที่พิจารณาด้วยปัญญา ว่าจะต้องสละเพื่อขัดเกลากิเลส เช่น ความตระหนี่ เป็นต้น ดังนั้นเหตุใกล้ของทานบารมี คือ วัตถุที่ควรสละ ของที่ควรจะให้ เหตุที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ทุกบารมี ดังในจริยาปิฎกแสดงไว้ คือ ความเป็นผู้ฉลาดในอุบาย นั่นคือ ความเป็นผู้มีปัญญา

เพราะปัญญา จึงทำให้มีความเห็นถูก คิดที่จะสละ เพื่อขัดเกลากิเลส ดังนั้น ปัญญาจึงเป็นเหตุสำคัญเสมอ ในการที่จะสละวัตถุ อันเป็นไปเพื่อสละกิเลส ครับ

ศีลบารมีมีการละเว้น เป็นลักษณะ ส่วนเหตุให้เกิดศีลบารมี คือ หิริ ความละอายต่อบาป และโอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาป ดังนั้น เพราะมีคุณธรรม 2 ประการนี้ เมื่อเกิดขึ้นในใจ ย่อมไม่ก้าวล่วงในการที่จะล่วงศีล การงดเว้นจากบาป เป็น ศีลบารมี อันเกิดจากปัญญาที่เห็นโทษของการล่วงศีล ครับซึ่งตามที่กล่าวแล้ว ความเป็นผู้ฉลาดในอุบาย คือ ปัญญา เป็นเหตุสำคัญของทุกบารมีเพราะมีปัญญา จึงเห็นโทษของการล่วงศีล จึงงดเว้นจากบาป จึงจะเป็นศีลบารมี ครับ

เนกขัมมบารมี คือ การออกจากกาม หรือ การออกจากอกุศลธรรม เห็นโทษภัยในกิเลส ในขณะนั้นเป็นเนกขัมมบารมี เหตุให้เกิดเนกขัมมบารมี คือ ความสังเวขด้วยปัญญาเป็นเหตุใกล้ ความสังเวชในที่นี้ ไม่ใช่ความรู้สึกสลดใจ เศร้าใจ แต่เป็นความสังเวชที่เป็นปัญญาเห็นโทษของการหมกมุ่นในอกุศลธรรมที่มีโทษ จึงออกจากอกุศลธรรมนั้นด้วยปัญญา การออกจากกาม ออกจากอกุศลธรรมนั้น ด้วยความสังเวชที่เป็นปัญญา จึงจะเป็นเนกขัมมบารมี ครับ

ปัญญาบารมี มีการรู้แจ้งแทงตลอดตามสภาวธรรม ตามความเป็นจริง เป็นลักษณะ เหตุให้เกิดปัญญาบารมี คือ อริยสัจจ์ 4 เป็นเหตุใกล้ นี่แสดงถึงนัยสูงสุด แต่ก่อนถึงอริยสัจจ์ 4 ก็ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธร ดังนั้น เหตุให้เกิดปัญญาบารมี คือ การฟังพระธรรมที่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง จนความห็นถูกเกิดขึ้นอย่างมั่นคง นั่นจึงจะเป็น ปัญญาบารมี ครับ ดังนั้นเหตุที่สำคัญ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ

วิริยบารมี มีการปรารภความเพียร อุตสาหะในทางกุศลเป็นลักษณะ มีวัตถุปรารภความเพียร เป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้ให้เกิด) วัตถุ ที่ตั้งให้เกิดความเพียร คือ ความเกิดความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นต้น หรือ เห็นโทษ ความน่ากลัวในนรก เป็นต้น อันเป็นวัตถุที่ตั้ง ที่จะปรารภความเพียร เพื่อพ้นสิ่งเหล่านี้ ก็โดยการปรารภความเพียร เจริญกุศล และ อบรมปัญญา นั่นจึงจะเป็นวิริยบารมี ครับ

ตามที่กล่าวแล้ว การจะเห็นโทษของ วัตถุ ที่ตั้งให้เกิดความเพียร มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องมีปัญญา ดังนั้นความเป็นผู้ฉลาดในอุบาย คือ ปัญญานี้เอง จึงเป็นเหตุที่สำคัญเสมอ ที่จะทำเกิดวิริยบารมี เพราะเราก็เห็น คนเกิด แก่ เจ็บ ตายเหมือนกันแต่ปรารภความเพียร ที่จะออกจากสิ่งเหล่านี้ไหม เมื่อกำลังเห็น ก็ต้องเป็นปัญญาเท่านั้น ที่จะเห็น ดังนั้น ปัญญาจึงเป็นเหตุที่สำคัญประการหนึ่งด้วย ในการเกิดวิริยบารมี

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 6 ส.ค. 2554

ขันติบารมี มีความอดทน อดกลั้นต่อสิ่งต่างๆ เป็นลักษณะ มี การเห็นตามความเป็นจริง เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ดังนั้น เห็นตามความเป็นจริง ก็ต้องด้วยปัญญา เห็นอย่างไร ที่เห็นตามความเป็นจริง การมีปัญญา เข้าใจว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่ธรรม แทนที่จะโกรธ ก็เป็นขันติแทน เพราะปกติเราโกรธคนนั้น คนนี้ ที่ทำไม่ดีกับเรา แต่เมื่อเห็นตามความเป็นจริง มีแต่ธรรม ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ มีแต่ธรรม ก็จึงไม่โกรธ และเกิดขันติแทน อันเกิดจากเหตุ คือ เห็นตามความเป็นจริงนั่นเอง จึงเกิดขันติบารมี ครับ

สัจจบารมี มีการไม่พูดผิด เป็นลักษณะ เหตุให้เกิดสัจจบารมี ที่สำคัญก็ไม่พ้นความเป็นผู้ฉลาดในอุบาย คือ ปัญญา เพราะมีความเห็นถูก จึงเห็นประโยชน์ของสัจจะ ทั้งวจีสัจจะ คำพูดที่จริง ทั้งปรมัตถสัจจะ-ความจริงในขณะนี้ เพราะมีปัญญา จึงดำเนินตามสัจจะความจริงทุกประการ นี้จึงจะเป็น สัจจะบารมี ครับ

อธิษฐานบารมี มีความตั้งใจที่จะดับกิเลส เป็นลักษณะ มีเหตุใกล้ให้เกิด คือ การเห็นโทษของกิเลส ด้วยปัญญา เพราะเมื่อเห็นโทษของกิเลส จึงตั้งใจมั่นด้วยการเจริญกุศล เพื่อดับกิเลส และ อบรมเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลส ครับ

เมตตาบารมี มีความเป็นไปแห่งอาการนำประโยชน์เข้าไป เป็นลักษณะ เหตุใกล้ให้เกิดปัญญาบารมี คือ ความเห็นสัตว์เป็นที่น่าพอใจ คือ ไม่ใช่โลภะนะครับ แต่เห็นสัตว์ด้วยความเป็นมิตร เป็นเพื่อน นี้เป็นเหตุให้เกิดเมตตาบารมี เพราะเมื่อเห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นมิตร เป็นเพื่อน จึงนำประโยชน์เข้าไปให้นั่นเองครับ แต่ขาดปัญญาไม่ได้ เพราะมีปัญญา จึงมุ่งที่จะช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลายด้วยครับ

อุเบกขาบารมี มีความเป็นไปโดยอาการที่เป็นกลาง เป็นลักษณะ คือไม่เป็นอกุศล ไม่หวั่นไหวเลย ไม่ว่าสัตว์นั้นจะเป็นอย่างไร ส่วนเหตุใกล้ให้เกิดอุเบกขาบารมี คือ การเห็นสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน ครับ ก็ต้องด้วยปัญญาอีกเช่นกันครับ

รายละเอียดของเหตุใกล้ (ปทัฏฐาน) ที่ทำให้เกิดบารมีแต่ละบารมี สามารถอ่านรายละเอียดในพระไตรปิฎกที่ลิ้งนี้ครับ

[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 578

จากที่กล่าวบารมี 10 ประการมาทั้งหมด ถึงเหตุให้เกิดบารมี 10 นั้น พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในจริยาปิฎก ว่า สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย ทุกบารมี คือ ความเป็นผู้ฉลาดในอุบาย นั่นคือ เป็นผู้มีปัญญา เมื่อมีปัญญาแล้ว ก็สามารถอบรม และทำให้บารมีต่างๆ เกิดขึ้น เจริญขึ้น

ดังนั้น ปัญญาบารมี จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในบารมีต่างๆ ครับ และ การที่จะมีปัญญาได้นั้นก็ไม่ใช่ทางอื่น เหตุที่สำคัญ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมนั่นเองครับ


๒. พระอริยบุคคลขั้นใดบ้าง คือ ผู้ถึงที่สุดของ แต่ละบารมี.?

เมื่อใช้คำว่า "ถึงที่สุดของบารมีแต่ละบารมี" หมายถึง บริบูรณ์แล้ว ซึ่งก็ต้องถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงสุด อันแสดงถึงบารมีแต่ละบารมี ได้บำเพ็ญมาบริบูรณ์แล้ว โดยจบที่การได้เป็นพระอรหันต์ ครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 7 ส.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 7 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บารมี เป็นธรรมที่จะทำให้ถึงซึ่งฝั่งคือการดับกิเลส เมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว หมายถึง ความดีทุกประการ ซึ่งได้แก่ สภาพจิตที่ดีงามที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิกประการต่างๆ นั้นเอง ไม่ว่าจะเป็น ทาน (การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น) ศีล (การสำรวมกาย วาจา ให้เป็นปกติ ไม่กระทำทุจริตกรรม) เนกขัมมะ (การออกจากกาม ออกจากอกุศล) ปัญญา (ความเข้าใจถูก เห็นถูก) วิริยะ (ความเพียรในทางที่เป็นกุศล) ขันติ (ความอดทนต่อสภาพธรรมที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา) สัจจะ (ความจริงใจในการเจริญกุศล) อธิษฐานะ (ความตั้งใจมั่น ความมั่นคงในการเจริญกุศล) เมตตา (ความเป็นมิตร เป็นเพื่อน หวังดีต่อผู้อื่น) อุเบกขา (ความเป็นกลาง ไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศล) ล้วนเป็นความดีที่ควรอบรมเจริญเป็นอย่างยิ่งและประการที่สำคัญ บารมีทุกบารมีจะขาดปัญญาไม่ได้เลย ผู้ที่เห็นประโยชน์ของการเจริญกุศล เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองนั้น ย่อมไม่ละเลยโอกาสของการเจริญขึ้นของความดีเหล่านี้เลย

-อบรมเจริญทานบารมี เพราะเห็นโทษของความตระหนี่ หวงแหน

-อบรมเจริญศีลบารมี เพราะเห็นโทษของการล่วงศีล กระทำทุจริตประการต่างๆ

-อบรมเจริญเนกขัมมบารมี เพราะเห็นโทษของความติดข้อง ยินดีพอใจในกาม เห็นโทษของการอยู่ครองเรือน

-อบรมเจริญปัญญาบารมี เพราะเห็นโทษของความไม่รู้ ที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์

-อบรมเจริญวิริยบารมี เพราะเห็นโทษของความย่อหย่อน เกียจคร้านในการเจริญกุศลประการต่างๆ

-อบรมเจริญขันติบารมี เพราะเห็นโทษของความไม่อดทน เพราะความไม่อดทน จึงทำให้กระทำในสิ่งที่ผิด ในสิ่งที่เป็นโทษมากมาย และประการที่สำคัญ การที่จะไปถึงการดับกิเลสได้ ต้องอดทนเป็นอย่างยิ่งในการสะสมความดีและอบรมเจริญปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก

-อบรมเจริญสัจจบารมี เพราะเห็นโทษของความไม่จริงใจ ทั้งการกระทำ และคำพูด

-อบรมเจริญอธิษฐานบารมี เพราะเห็นโทษของความไม่ตั้งใจมั่น ไม่มั่นคงในการเจริญกุศล

-อบรมเจริญเมตตาบารมี เพราะเห็นโทษของโทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความพยาบาทปองร้ายผู้อื่น

-อบรมเจริญอุเบกขาบารมี เพราะเห็นโทษของโลกธรรม ซึ่งเป็นธรรมประจำโลก กล่าวคือ มีลาภ เสือมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข และ ทุกข์ อันเป็นที่ตั้ง ที่จะทำให้หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศล คือ ทั้งโลภะ และ โทสะ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และ พระอริยสาวกทั้งหลาย ล้วนเป็นผู้ที่ได้สะสมอบรมเจริญบารมีมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น จึงสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ในที่สุด เมื่อรู้ว่า บารมี คือ ความดีทุกประการ ก็ควรที่จะได้สะสมบารมีในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มจากความเข้าใจถูก เห็นถูก จากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pat_jesty
วันที่ 7 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 10 ส.ค. 2554

ขออนุญาตเรียนสอบถามว่า

กว่าจะเป็นบารมีจริงๆ นั้น ต้องรู้จัก "กิเลส อกุศล" อย่างแท้จริงเสียก่อน เมื่อเห็นโทษของ "กิเลส อกุศล" นั้นๆ แล้วจึงเกิดการละเว้น "กิเลส อกุศล" ต้องเป็นขั้น เป็นตอนอย่างนี้ หรือเปล่าครับ

อย่างนี้ก็ตรงกันข้ามกับที่เข้าใจกันทั่วๆ ไป ว่า ไปสร้างบุญบารมี ในกิจกรรม สถานที่ต่างๆ ที่ปรากฎเป็นข่าวกันทั่วๆ นะครับ เพราะทำกันไปเพราะอย่างได้บารมีโดยไม่เห็นโทษอะไรเลย

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 10 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

กว่าจะเป็นบารมี คือ มีปัญญาเข้าใจหนทางดับกิเลสตามความเป็นจริง เมื่อปัญญาเจริญอย่างนี้แล้วก็เห็นโทษของกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จึงเจริญกุศลทุกๆ ประการ อันน้อมไปเพื่อดับกิเลส กุศลประการต่างๆ นั้นจึงเป็นบารมี อันเกิดจากปัญญาความเห็นโทษที่เห็นโทษของการเกิด โทษของกิเลสที่รู้ว่าเป็นต้นเหตุของการเกิดและความทุกข์ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 10 ส.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เมตตา
วันที่ 10 ส.ค. 2554

เมื่อรู้ว่า บารมี คือ ความดีทุกประการ ก็ควรที่จะได้สะสมบารมีในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มจากความเข้าใจถูก เห็นถูก จากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

กว่าจะเป็นบารมี คือ มีปัญญาเข้าใจหนทางดับกิเลสตามความเป็นจริง เมื่อปัญญาเจริญอย่างนี้แล้วก็เห็นโทษของกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จึงเจริญกุศลทุกๆ ประการ อันน้อมไปเพื่อดับกิเลส กุศลประการต่างๆ นั้นจึงเป็นบารมี อันเกิดจากปัญญาความเห็นโทษที่เห็นโทษของการเกิด โทษของกิเลสที่รู้ว่าเป็นต้นเหตุของการเกิดและความทุกข์ครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนา อ. คำปั่น อ. paderm และ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
รากไม้
วันที่ 4 ต.ค. 2554

ขอขอบพระคุณ คุณเผดิมและอาจารย์คำปั่น

และขออนุโมทนากุศลจิตทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
dawhan
วันที่ 26 ต.ค. 2556

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
aurasa
วันที่ 26 ก.พ. 2557

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
สิริพรรณ
วันที่ 31 ส.ค. 2560

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณในกุศลจิตทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ