การสังคายนาพระไตรปิฏก ครั้งที่ 2

 
hyper
วันที่  12 ส.ค. 2554
หมายเลข  18926
อ่าน  46,665

การสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๒ มีประวัติความเป็นมาอย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ประวัติการทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ฝ่ายเถรวาท

การสังคายนาครั้งที่ ๒ ของเถรวาท เมื่อพุทธศักราช ๑๐๐ คือ

หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี ณ วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี การสังคายนาครั้งที่ ๒ ปรารภพวกภิกษุวัชชีบุตร แสดงวัตถุ ๑๐ ประการ นอกธรรม นอกวินัย พระยสกากัณฑกบุตรเป็นผู้ชักชวน ได้พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้วิสัชนา ได้พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้วิสัชนาประชุมทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี เมื่อพุทธศักราช ๑๐๐ โดยพระกาฬาโศกราชเป็นศาสนูปภัมภก์ สิ้นเวลา ๘ เดือนจึงเสร็จ หลังจากพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานผ่านไปได้ ๑๐๐ ปี พระภิกษุที่จำพรรษาในเมืองเวสาลี ได้ประพฤติผิดวินัย ๑๐ ประการเรียกว่าวัตถุ ๑๐ ประการ คือ

๑. ภิกษุจะเก็บเกลือไว้ในเขนง (ภาชนะที่ทำด้วยเขาสัตว์) แล้วนำไปฉันปนกับอาหาร ได้

๒. ภิกษุจะฉันอาหาร หลังจากตะวันบ่ายผ่านไปเพียง ๒ องคุลี ได้

๓. ภิกษุฉันภัตตาหารในวัดเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้ว จะไปในละแวกบ้าน ฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนและไม่ได้ทำวินัยกรรมตามพระวินัย ได้

๔. ในอาวาสเดียวมีสีมาใหญ่ ภิกษุจะแยกกันทำอุโบสถ ได้

๕. ในเวลาทำอุโบสถ แม้ว่าพระจะเข้าประชุมยังไม่พร้อมกัน จะทำอุโบสถไปก่อนได้ โดยให้ผู้มาทีหลังขออนุมัติเอาเอง ได้

๖. การประพฤติปฏิบัติตามพระอุปัชฌาย์และอาจารย์ ไม่ว่าจะผิดหรือถูกพระวินัยก็ตาม ย่อมเป็นการกระทำที่สมควรเสมอ

๗. นมส้มที่แปรมาจากนมสดแต่ยังไม่กลายเป็นทธิ (นมเปรี้ยว) ภิกษุฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้ว จะฉันนมนั้นทั้งที่ยังไม่ได้ทำวินัยกรรม หรือทำให้เดน ตามพระวินัย ก็ได้

๘. สุราที่ทำใหม่ๆ ยังมีสีแดง เหมือนสีเท้านกพิราบ ยังไม่เป็นสุราเต็มที่ ภิกษุจะฉัน ก็ได้

๙. ผ้าปูนั่งคือนิสีทนะอันไม่มีชาย ภิกษุจะบริโภคใช้สอย ก็ได้

๑๐. ภิกษุรับและยินดีในทองเงินที่เขาถวาย หาเป็นอาบัติไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 12 ส.ค. 2554

ต่อมาพระเถระอรหันต์ รูปหนึ่งชื่อพระยสกากัณฑกบุตร จากเมืองโกสัมพีได้ไปที่เมืองเวสาลี ได้พบเห็นพระภิกษุวัชชีบุตร ชาวเมืองเวสาลี นำถาดทองสำริดเต็มด้วยน้ำ นำมาวางไว้ที่โรงอุโบสถ แล้วประกาศเชิญชวนให้ชาวบ้านบริจาคเงินใส่ลงในถาดนั้น โดยบอกว่าพระมีความต้องการด้วยเงินทอง แม้พระยสเถระจะห้ามปรามไม่ให้มีการถวายเงินทองในทำนองนั้น พระภิกษุวัชชีบุตรก็ไม่เชื่อฟัง ชาวบ้านเองก็คงถวายตามที่เคยปฏิบัติมา พระเถระจึงตำหนิทั้งพระวัชชีบุตรและชาวบ้าน ที่ถวายเงินทองและรับเงินทองในลักษณะนั้น เมื่อพระภิกษุวัชชีบุตรได้รับเงินแล้ว นำมาแจกกันตามลำดับพรรษา นำส่วนของพระยสกากัณฑกบุตรมาถวายท่าน พระเถระไม่ยอมรับและตำหนิอีก

ภิกษุวัชชีบุตรไม่พอใจที่พระเถระไม่ยอมรับ ตำหนิ จึงประชุมกันฉวยโอกาสลงปฏิสาราณียกรรม คือการลงโทษให้ไปขอขมาคฤหัสถ์โดยกล่าวว่าพระเถระรุกรานชาวบ้าน ซึ่งพระเถระก็ยินยอมไปขอขมา โดยนำภิกษุอนุฑูตไปเป็นพยานด้วย เมื่อไปถึงสำนักของอุบาสก พระเถระได้ชี้แจงพระวินัยให้ฟัง และบอกให้ชาวบ้านเหล่านั้นทราบว่า การกระทำของพระภิกษุวัชชีบุตรเป็นความผิด โดยยกเอาพระพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าทรงไว้ความว่า "พระจันทร์และพระอาทิตย์ไม่ได้ร้อนแรงและรุ่งเรืองด้วยรัศมีเพราะโทษมลทิน ๔ ประการ คือ หมอก ควัน ธุลี และอสุรินทราหู กำบังฉันใด ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ จะไม่มีตบะรุ่งเรืองด้วยศีล เพราะโทษมลทิน ๔ ประการปิดบังไว้ คือ ดื่มสุราเมรัย เสพเมถุนธรรม ยินดีรับเงินและทองอันเป็นเหมือนภิกษุนั้นยินดีบริโภคซึ่งกามคุณ และภิกษุเลี้ยงชีพในทางมิชอบด้วย เวชชกรรม กุลทูสกะ (ประจบเอาใจคฤหัสถ์ด้วยอาการอันผิดวินัย) อเนสนา (การหาลี้ยงชีพในทางที่ไม่สมควรภิกษุ) และวิญญัติ (ขอสิ่งของต่อคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ ผู้ไม่ใช่คนปวารณา) พร้อมด้วยกล่าวอวดอุตตริมนุษย์ธรรม อันไม่มีจริง"

เมื่อพระยสกากัณฑกบุตรชี้แจง ให้อุบาสกอุบาสิกาเข้าใจแล้ว คนเหล่านั้นเกิดความเลื่อมใสพระเถระ อาราธนาให้ท่านอยู่จำพรรษา ณ วาลิการาม โดยพวกเขาจะอุปัฏฐากบำรุงและได้อาศัยท่านบำเพ็ญกุศลต่อไป ฝ่ายภิกษุที่เป็นอนุฑูตไปกับพระเถระ ได้กลับมาแจ้งเรื่องทั้งปวงให้ภิกษุวัชชีบุตรทราบ ภิกษุวัชชีบุตรจะใช้พวกมากบีบบังคับพระเถระด้วยการลงอุกเขปนียกรรม (ตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว) แก่ท่าน ได้พากันยกพวกไปล้อมกุฏิของพระเถระ แต่พระเถระทราบล่วงหน้าเสียก่อนจึงได้หลบออกไปจากที่นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 12 ส.ค. 2554

พระยสกากัณฑกบุตรพิจารณาเห็นว่า เรื่องนี้หากปล่อยไว้เนิ่นนานไป พระธรรมวินัย จะเสื่อมถอยลง พวกอธรรมวาที อวินัยวาทีได้พวกแล้วจักเจริญขึ้น จึงได้ไปเมืองปาฐา เมืองอวันตี และทักขิณาบถแจ้งให้พระที่อยู่ในเมืองนั้นๆ ทราบ เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ไข และได้ไปเรียนให้พระสัมภูตสาณวาสี ซึ่งพำนักอยู่ ณ อโหคังคบบรรพตทราบ และขอการวินิจฉัยจากพระเถระ พระสัมภูตสาณวาสีมีความเห็นเช่นเดียวกับพระยสกากัณฑกบุตรทุกประการ ในที่สุดพระเถระอรหันต์จากเมืองปาฐา ประมาณ ๖๐ รูป จากแคว้นอวันตีและทักษิณาบถประมาณ ๘๐ รูป ได้ประชุมร่วมกับพระสัมภูตสาณวาสีและพระยสกากัณฑกบุตร ณ อโหคังคบรรพต

มติของที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าเรื่องนี้จะต้องมีการชำระกันให้เรียบร้อย โดยตกลงให้ ไปอาราธนาพระเรวตะ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ที่เป็นพหูสูต ชำนาญในพระวินัย ทรงธรรมวินัยมาติกาฉลาดเฉียบแหลม มีความละอายบาปรังเกียจบาปใคร่ต่อสิกขาและเป็นนักปราชญ์ ให้เป็นประธานในการวินิจฉัยตัดสินเรื่องวัตถุ ทั้ง ๑๐ ประการนี้ พระสัมภูตสาณวาสีได้นำเรื่องวัตถุ ๑๐ ประการ เรียนถวายให้พระเรวตะทราบ และขอให้ท่านวินิจฉัยทีละข้อ ปรากฏว่าทุกข้อที่ภิกษุวัชชีบุตรกระทำนั้น เป็นความผิดทางวินัยทั้งหมด จึงตกลงร่วมกันที่จะชำระเรื่องนี้ และจัดการสังคายนาพระธรรมวินัยทั้งหมด จึงตกลงร่วมกันที่จะชำระเรื่องนี้ และจัดการสังคายนาพระธรรมวินัยตามที่พระสังคีติกาจารย์ได้กระทำมาแล้วในคราวสังคายนา

ในที่สุดที่ประชุมของพระอรหันต์ทั้งหลายได้ตกลงกันว่า อธิกรณ์ (เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการ) เกิดขึ้นในที่ใด ควรไปจัดการระงับในที่นั้นโดยพระเรวตะได้ประกาศ ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ขอให้สงฆ์ระงับอธิกรณ์ด้วยอพุพาหิกา คือ การยกอธิกรณ์ไปชำระในที่เกิดอธิกรณ์ สงฆ์ได้คัดเลือกพระเถระ ๘ รูป คือ

- ท่านพระสัพพกามี ท่านพระสาฬหะ ท่านพระอุชชโสภิตะ ท่านพระวาสภคามิกะ ทำหน้าที่แทนฝ่ายปราจีนคือพวกวัชชีบุตร ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยอธิกรณ์

- ท่านพระเรวตะ ท่านพระสัมภูตสาณวาสี ท่านพระยสกากัณฑกบุตร และท่านพระสุมน เป็นตัวแทนฝ่ายเมืองปาฐา ทำหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายเมืองปาฐา ทำหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายสงฆ์ธรรมวาที มีหน้าที่ในการเสนออธิกรณ์ต่อสงฆ์ สงฆ์ได้มอบหมายการสวดปาติโมกข์ การจัดแจงเสนาสนะให้เป็นหน้าที่ของพระอชิตะ ซึ่งพรรษาได้ ๑๐ พรรษา และตกลงเลือกเอาวาลิการามหรือวาลุการาม เมืองเวสาลี อันเป็นที่เกิดเรื่องวัตถุ ๑๐ ประการ เป็นศิษย์ของพระอนุรุทธเถระ อีก ๖ รูป เป็นศิษย์ของพระอานนท์เถระซึ่งเป็นสังคีติกาจารย์สำคัญในคราวปฐมสังคายนา เมื่อพระเจ้ากาลาโศกราชรับสั่งให้พระสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่ายประชุมร่วมกัน และขอให้แต่ละฝ่ายแถลงเหตุผลให้ทราบ ทรงโปรดในเหตุผลของฝ่ายพระอรหันต์ทั้งหลาย จึงปวารณาพระองค์ที่จะให้การอุปถัมภ์ฝ่ายอาณาจักรทุกประการ และโปรดให้ชำระมลทินพระศาสนา พร้อมด้วยการทำทุติยสังคายนา (การร้อยกรองพระธรรมวินัยครั้งที่ ๒) ที่ วาลุการาม เมืองเวสาลี พระอรหันต์เข้าร่วม ๗๐๐ รูป

จากนั้นพระเถระทั้งหลายจึงเริ่มสังคายนาพระธรรมวินัยตามแบบที่พระมหากัสสปเถระ เป็นต้น ได้กระทำในคราวปฐมสังคายนากระทำสังคายนาคราวนี้ใช้เวลา ๘ เดือน จึงสำเร็จ นี่คือประวัติการทำสังคายนาครั้งที่สองของเถรวาทครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

เหตุของการสังคายนา ครั้งที่ 2 [จุลวรรค]

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 12 ส.ค. 2554

ส่วนฝ่ายมหายานนั้น มหายานก็เกิดขึ้น กำเนิดขึ้นจากการสังคายนาครั้งที่ ๒ ของ เถรวาทนั่นเอง เพราะมีกลุ่มภิกษุกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยในการทำสังคายนาครั้งนี้ ในเรื่อง ที่ลงมติว่าวัตถุ ๑๐ ประการผิด จึงเป็นผลให้ภิกษุชาววัชชีประมาณ ๗๐๐ รูป แยกตัวออกไป ไม่ยอมปฏิบัติตามหลักพระวินัยเดิมที่พระเถระผู้ใหญ่กำหนดในการทำสังคายนาครั้งนี้ และมีภิกษุอื่นๆ ที่เห็นด้วยกับพวกภิกษุวัชชีบุตรอีก รวมแล้วประมาณ ๑๐,๐๐๐ รูป จากนั้นก็พากันจัดทำสังคายนาขึ้นใหม่ เรียกว่า "มหาสังคีติ" ประกาศชื่อของพวกตน ว่า "มหาสังฆิกะ" ซึ่งแปลว่า พวกมากหรือหมู่ใหญ่ นั่นก็คือการกำเนิดขึ้นของมหายาน นั่นเองครับ จากในคราวที่มีการทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ครับ

ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 12 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยบัญญัติทุกสิกขาบท เป็นการบัญญัติโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหมด ไม่มีใครที่จะไปแก้ไข เพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงพระวินัยได้ แต่ควรอย่างยิ่งที่จะได้ศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ และน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ด้วยการละเว้นในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม และกระทำในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุญาต นี้แหละ คือสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น

แต่เนื่องจากภิกษุบางพวก เป็นผู้หย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ไม่มีความจริงใจในการที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ จึงมีการกระทำในสิ่งที่ผิด ไม่เป็นไปตามพระธรรมคำสอน มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วในเรื่องของพระวินัย ถ้าศึกษาผิด ไม่เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็เป็นเหตุให้ต้องอาบัติได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง แม้แต่ในเรื่องวัตถุทั้ง ๑๐ ประการของพวกภิกษุชาววัชชี อันเป็นเหตุให้มีการกระทำสังคายนาครั้งที่ ๒ นี้ก็เช่นเดียวกัน ทั้ง ๑๐ ประการ ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เป็นเหตุให้พระอรหันต์ทั้งหลาย (ทั้งหมด ๗๐๐ รูป มีพระยสกากัณฑบุตร เป็นต้น) ซึ่งเป็นผู้ที่รักษาพระธรรมวินัย มุ่งที่จะรักษาพระธรรมวินัยให้ดำรงอยู่ต่อไป ได้กระทำการสังคายนาครั้งที่ ๒ ขึ้น ที่ วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี (หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ๑๐๐ ปี) เพื่อชำระแก้ไขการยึดถือผิดในวัตถุ ๑๐ ประการ ให้แก่พุทธบริษัทได้เข้าใจอย่างถูกต้อง และพระธรรมวินัยทั้งหมด ก็สืบทอดมาจนทระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wittawat
วันที่ 13 ส.ค. 2554

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 13 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
หลานตาจอน
วันที่ 14 ส.ค. 2554
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
sumek
วันที่ 10 ก.ค. 2560

กราบอนุโมทนาในความรู้ที่ตรงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Tommy9
วันที่ 12 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
anuraks168
วันที่ 10 ม.ค. 2562

สาธุๆ ขอกราบอนุโมทนาขอรับ

กระผมเพิ่งรับทราบวันนี้นั่นเองว่า มหายานคือทายาทภิกษุชาววัชชี

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Witt
วันที่ 14 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
kullawat
วันที่ 3 ก.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ