เจตนาเจตสิกทำให้เกิดสักกายทิฐิ

 
bwssk
วันที่  12 ส.ค. 2554
หมายเลข  18927
อ่าน  1,285

มีความรู้สึกว่าเจตนาเจตสิกเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสักกายทิฏฐิ ควรทำอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยสักกายะ คือ สภาพธรรมที่ประชุมรวมกันเป็นกาย ดังนั้น สักกายะ จึงหมายถึง อุปาทาน

ขันธ์ 5 นั่นเองครับ

แต่เมื่อมีคำว่าสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิ หมายถึงความเห็นที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ความ

เห็นผิด เพราะฉะนั้น สักกายทิฏฐิ คือความเห็นว่าเป็นกายของตน , ความเห็นผิดว่าเป็น

ตัวตน หมายถึง ความเห็นผิดในขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา ของเรา หรือเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ซึ่งผิดไปจากความเป็นจริงตามสภาพธรรมครับ

ส่วนเจตนาเจตสิก คือ สภาพธรรมที่ตั้งใจ ขวนขวย ซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท เจตนา

จึงเป็นตัวกรรมนั่นเองครับ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในเรื่องของเหตุให้เกิดสักกายทิฏฐิไว้ครับว่าคืออะไร

พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เพราะมีขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ เมื่อ

มีขันธ์ 5 แล้วจึงมีความยึดถือ ดังนั้นจึงเพราะมีกิเลส คือ อุปาทาน ความยึดถือที่เป็น

ทิฏฐุปาทาน ยึดถือด้วยความเห็นผิด ว่ามีเรา มีสัตว์บุคคลในขันธ์ 5 ในสภาพธรรมครับ

เพราะฉะนั้นเหตุจริงๆ ของการเกิดสักกายทิฏฐิ คือ ตัวอุปาทาน ความยึดถือที่เป็นกิเลส

มีความเห็นผิด เป็นต้น ที่มีอยู่นั่นเองที่สะสมเป็นอนุสัย จึงทำให้เกิดความยึดมั่นในขันธ์

5 ว่าเป็นเรา เป็นสัตว์บุคคล (สักกายทิฏฐิ) ครับ

อีกนัยหนึ่ง เพราะมีกิเลส คือ ความไม่รู้ จึงทำให้มีความเห็นผิด ยึดถือว่ามีเรา มีสัตว์

บุคคลทีเป็นสักกายทิฏฐิ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เพราะกิเลสที่สะสมมา คือ อวิชชา

ความไม่รู้ และ ความยึดถือที่เป็นกิเลสที่เป็นอุปาทาน มีความเห็นผิด เป็นต้นจึงทำให้

เกิด สักกายทิฏฐิ คือ ความยึดถือด้วยความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์บุคคลครับเพราะฉะนั้น

เหตุหลักคือกิเลส ไม่ใช่เจตนาครับ เพราะแม้พระโสดาบันก็มีเจตนาเจตสิก เพราะ

เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท แต่เจตนาของพระโสดาบัน ก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิด

ความเห็นผิด หรือ ให้มีการเกิดสักกายทิฏฐิ เพราะท่านดับสักกายทิฏฐิได้ตั้งแต่เป็นพระ

โสดาบันแล้วครับ ดังนั้นจึงเพราะกิเลสเป็นสำคัญตามที่กล่าวมาทำให้เกิด สักกายทิฏฐิ

การละสักกายทิฏฐิได้ คือ ถึงความเป็นพระโสดาบัน ก็ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรมให้

เข้าใจ ในเรื่องของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ เข้าใจขั้นการฟังว่าเป็นธรรมใช่เรา ก็จะ

ค่อยๆ ละคลายความไม่รู้ และจนถึงปัญญาที่ประจักษ์แจ้งและละคลายความยึดถือว่ามี

เรา มีสัตว์บุคคลจริงๆ นั่นคือละสักกายทิฏฐิครับ เมื่อเป็นพระโสดาบันครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 12 ส.ค. 2554

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 416

๖. สักกายทิฏฐิสูตร

ว่าด้วยเหตุแห่งสักกายทิฏฐิ

[๓๕๖] กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อน

ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมีอยู่ เพราะอาศัยอะไร เพราะยึดมั่นอะไร

จึงเกิดมีสักกายทิฏฐิ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นรากฐาน ฯลฯ

ภ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูปมีอยู่ เพราะอาศัยรูป เพราะ

ยึดมั่รูป จึงเกิดมีสักกายทิฏฐิ เมื่อเวทนามีอยู่... เมื่อสัญญามีอยู่...

เมื่อสังขารมีอยู่... เมื่อวิญญาณมีอยู่ เพราะอาศัยวิญญาณ เพราะยึดมั่น

วิญญาณ จึงเกิดมีสักกายทิฏฐิ.

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
bwssk
วันที่ 13 ส.ค. 2554
กราบอนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 13 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตราบใดที่ยังมีพืชเชื้อของกิเลสประการหนึ่ง คือ ทิฏฐานุสัยอยู่ นั่นหมายความว่า ยังไม่สามารถดับความเห็นผิดใดๆ ได้เลย รวมถึงความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนสัตว์ บุคคล ด้วย บุคคลผู้ที่จะดับความเห็นผิดได้อย่างเด็ดขาด ไม่เกิดขึ้นอีกเลย นั้น คือ พระอริยบุคคล ขั้นพระโสดาบัน ซึ่งจะกล่าวได้ว่า พระอริยบุคคลทุกระดับ ไม่มีความเห็นผิด

เพราะตามความเป็นจริงแล้ว สภาพธรรมที่เป็นขันธ์ ก็เป็นขันธ์ เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไปเท่านั้น แต่เมื่อยังไม่เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ก็มีการยึดถือรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งเป็นขันธ์ ๕ นี้ ว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เพราะแท้ที่จริงแล้ว ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ตามเหตุตามปัจจัย และสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ก็เป็นแต่ละอย่าง ไม่มีการปะปนกันเลย เป็นแต่ละหนึ่งๆ ซึ่งเมื่อแยกย่อยออกมาแล้ว ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เลย หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคลไม่ได้เลยจริงๆ แม้แต่ขณะที่เห็น ก็ไม่ใช่เราที่เห็น แต่เป็นกิจหน้าที่ของธรรม คือ จิตเห็น เกิดขึ้นทำกิจเห็น พร้อมกับเจตสิกที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น ๗ ประเภท คือ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ และมนสิการะ ซึ่ง ๑ ในนั้น ก็มีเจตนา ด้วย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตทุกประเภท

การอบรมเจริญปัญญา จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน เท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อละคลายความไม่รู้ เป็นไปเพื่อละคลายความเห็นผิด รวมถึง กิเลสประการอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย เรื่องการดับกิเลส เป็นเรื่องที่ไกลมาก แต่ถ้าไม่เริ่มตั้งแต่ในขณะนี้ ก็จะไม่มีโอกาสถึงวันนั้นได้เลย ครับ. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 13 ส.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 13 ส.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ