อาบัติมีอะไร อย่างไรบ้างครับ
เคยได้ยินแต่ท่านอื่นๆ พูดว่า อาบัติทุกกฎ ปาจิตตีย์ ปาราชิก แต่ไม่ทราบความหมาย และขอบเขต แน่นอน อยากถามว่า จริงๆ แล้ว อาบัติมีอะไรบ้าง ต่างกันอย่างไร แต่ละอย่างรุนแรงอย่างไร ครับ
ด้วยความเคารพ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
อาบัติ คือ การตกไป ตกไปจากความดีนั่นเอง เป็นโทษ ที่เกิดเพราะความละเมิดในข้อ (พระวินัยบัญญัติ) ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสห้าม กล่าวโดยชื่อ อาบัติมี ๗ อย่าง คือ
๑. ปาราชิก
๒. สังฆาทิเสส
๓. ถุลลัจจัย
๔. ปาจิตตีย์
๕. ปาฏิเทสนียะ
๖. ทุกกฏ
๗. ทุพภาสิต
กล่าวโดย โทษมี ๒ สถาน คือ
๑. อาบัติอย่างหนัก ทำให้ภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้น ขาดจากความเป็นภิกษุ อันหมายถึง ปาราชิก ซึ่งเป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ เรียกว่า อเตกิจฉา และอาบัติอย่างหนักอีกอย่างหนึ่ง ทำให้ภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้นต้องอยู่กรรม (ปริวาส หรือมานัต) โดยประพฤติวัตรอย่างหนึ่งเพื่อทรมานตน อันหมายถึง สังฆาทิเสส สังฆาทิเสส เป็นอาบัติอย่างหนักที่ยังสามารถแก้ไขได้ เป็น อเตกิจฉา
๒. อาบัติอย่างเบา ทำให้ภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้นต้องประจานตนต่อหน้าภิกษุด้วยกัน แล้วจึงจะพ้นโทษนั้นได้ อันได้แก่ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาษิต โดยอาบัติอย่างกลางและอย่างเบานั้น เป็นอาบัติที่ยังแก้ไขได้ เรียกว่า สเตกิจฉา
ความหมายของอาบัติแต่ละอย่าง
(๑) อาบัติปาราชิก ผู้พ่ายแพ้ ขาดจากความเป็นภิกษุ
(๒) อาบัติสังฆาทิเสส ต้องอาศัยสงฆ์ในการออกจากอาบัติ
(๓) อาบัติถุลลัจจัย อาบัติที่เกิดจากการกระทำที่หยาบคาย
(๔) อาบัติปาจิตตีย์ อาบัติที่ทำให้ความดีงามตกไป
(๕) อาบัติปาฏิเทสนียะ อาบัติที่ต้องแสดงคืน
(๖) อาบัติทุกกฏ อาบัติที่เกิดจากการทำที่ไม่ดีไม่เหมาะสม
(๗) อาบัติทุพภาสิต อาบัติที่เกิดจากการพูดไม่ดีไม่เหมาะสม
ส่วนความหมายอาบัติในพระไตรปิฎกโดยละเอียด คลิกอ่านที่นี่ครับ
วิเคราะห์ปาราชิก .. ความหมายของอาบัติแต่ละขั้น
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำว่า อาบัติ หมายถึง กิริยาที่ล่วงละเมิดสิกขาบท ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วมีโทษอยู่เหนือตน เช่น ภิกษุ มีความจงใจฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องอาบัติปาราชิก ซึ่งเป็นอาบัติที่หนักมาก ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที เป็นต้น การต้องอาบัติแต่ละข้อ แต่ละกองนั้น มีโทษทั้งนั้น เริ่มตั้งแต่หนัก จนกระทั่งถึงเบา ซึ่งไม่ว่าจะหนักหรือเบา ก็เป็นโทษด้วยกันทั้งนั้น เพราะเหตุว่า สิกขาบท ทุกข้อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่พระภิกษุในการสำรวมระวัง งดเว้นในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม และน้อมประพฤติในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุญาต เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นสำคัญ เพราะเพศบรรพชิตเป็นเพศที่จะต้องขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง
ถ้าย่อหย่อน ไม่สำรวมตามสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มีการต้องอาบัติประการต่างๆ ย่อมทำให้ตกไปจากคุณความดี ตกไปจากการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และ ตกจากสุคติภูมิไปสู่อบายภูมิ ด้วย แต่ถ้าได้มีการศึกษาพระธรรมวินัยด้วยความละเอียดรอบคอบแล้ว ก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้รักษาพระวินัยได้ดียิ่งขึ้น ไม่มีโทษเลยกับการได้เข้าใจและน้อมประพฤติตามพระธรรมวินัย เพราะทำให้ได้รู้ว่าสิ่งใด ผิด สิ่งใด ถูก แล้วละเว้นในสิ่งที่ผิด กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ไม่ได้ศึกษา ไม่มีความเข้าใจอย่างสิ้นเชิง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...