จนกว่าจะเห็นว่า ทุกอย่างเป็นธรรม.
เมื่อเกิดความหวั่นไหว...ระลึกถึงคำของท่านผู้รู้ ที่ท่านเคยกล่าวไว้สั้นๆ ว่า "จนกว่าจะเห็น ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม"
กรุณาอธิบาย-ขยายความ ข้อความข้างต้นด้วยนะคะ.ขอบพระคุณมากค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความหวั่นไหว คือ เกิดจากอกุศลจิต อกุศลธรรมที่เกิดขึ้น เพราะไม่เห็นตามความเป็น จริง ไม่เห็นตามความเป็นจริงอย่างไร เพราะสัตว์โลกยึดถือด้วยความเห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์บุคคล คิดว่ามีเราที่ทำสิ่งต่างๆ และมีผู้อื่นทำสิ่งต่างๆ กับเราด้วยแต่ในความเป็น จริงมีแต่ธรรม และเมื่อมีสิ่งใดที่เกิดขึ้น เช่นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น กุศล อกุศลก็เดือดร้อน ในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะสำคัญว่า เป็นเราที่เห็น เป็นเราที่ได้ยิน เป็นเราที่เป็นกุศล เป็น อกุศล เมื่อสำคัญผิดว่าเป็นเรา เมื่อสิ่งนั้นแปรปรวนไป ก็เป็นทุกข์ หวั่นไหวด้วยอกุศล เพราะความยึดถือว่าเป็นเรา ไม่เข้าใจว่าเป็นธรรมครับ แม้การสำคัญว่ามีผู้อื่น ก็ยึดถือ ผู้อื่นด้วยความสำคัญที่เป็นโลภะ สำคัญว่ามีตนที่ทำไม่ดีกับเรา สำคัญว่ามีคนที่ทำดี กับเรา เมื่อสิ่งนั้นแปรปรวนไป หรือนำทุกข์มาให้ ก็สำคัญผิดว่ามีคนอื่นทำให้ก็ย่อมหวั่น ไหวไปด้วยความเดือดร้อนที่เป็นอกุศลจิต ครับ
ดังนั้น เมื่อเกิดความหวั่นไหว กับคำว่า จนกว่าจะเห็นว่าทุกอย่างเป็นธรรม หมายถึง คือ ในความเป็นจริงมีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป มีแต่ธรรมที่เป็น จิตและ เจตสิกที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็นก็เป็นธรรม ไม่มีใครทำให้เห็น ไม่มีคนอื่นด้วย เพราะสิ่งที่เห็น เป็นแต่เพียงสี สิ่งที่ปรากฎทางตาเท่านั้นครับ เมื่อเข้าใจว่ามีแต่ธรรม ขณะนั้นเข้าใจถูก ปัญญาเกิด ก็ไม่เดือดร้อนกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะรู้ว่าเป็นธรรม และ แม้อกุศลที่เกิดขึ้นที่ทำให้หวั่นไหว ก็จะยิ่งทุกข์หวั่นไหวกับอกุศลที่เกิดขึ้น แต่เมื่อมี ปัญญาเข้าใจว่า แม้อกุศลที่เกิดขึ้น ก็ไม่ใช่เราที่หวั่นไหว เป็นอกุศล แต่เป็นเพียง สภาพธรรมที่เป็นอกุศลที่เกิดขึ้นเท่านั้น จนกว่าจะเห็นว่าทุกอย่างและแม้อกุศลก็เป็น ธรรม จึงไม่หวั่นไหวไปในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเข้าใจความจริง ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง เท่านั้นครับ
การจะถึงการเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม ก็ด้วยการอบรมปัญญาขั้นการฟังพระธรรม ไปเรื่อยๆ จนสติและปัญญาเริ่มเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา แต่ละอย่าง แต่ก็ยังไม่ทั่วในทุกสภาพธรรม ยังไม่มั่นคงว่า ทุก อย่างเป็นธรรมครับ ซึ่งก็ต้องอบรมปัญญาต่อไปจนสติรู้ทั่วในสภาพธรรมที่ปรากฎทั้ง ๖ ทาง คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ จึงจะชื่อว่ารู้ทั่วและ รู้เห็นด้วยปัญญา ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ขออนุโมทนา ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปนั้น ย่อมมีทั้งได้รับผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจบ้าง และได้รับผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ บ้าง และนอกจากนั้น ก็มีการกระทำทั้งกุศลกรรม และ อกุศลกรรม ตามการสะสม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น แต่เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า ถ้าเข้าใจในเรื่องของวิบากอันเป็นผลของกรรมของตนเองมากขึ้นแล้ว ก็จะทำให้มีความอดทนต่ออกุศลวิบาก (ผลของอกุศล) ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น จะไม่กล่าวโทษผู้อื่นว่าทำให้ได้รับอกุศลวิบาก เพราะใครๆ ก็ทำให้เกิดไม่ได้ เพราะเหตุที่แท้จริงที่ทำให้อกุศลวิบากเกิดขึ้นนั้น ก็คือ อกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้ว นั่นเอง และขณะที่ได้รับสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ ก็เป็นผลของกรรมอีกเหมือนกัน แต่เป็นผลของกุศลกรรม ขณะที่ได้รับผลของกุศลกรรม ก็จะต้องมีความอดทนด้วย ที่จะไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศล กล่าวคือ ความหลงระเริง ความเพลิดเพลิน ความมัวเมา เป็นไปกับด้วยความติดข้องต้องการ
เป็นความจริงที่ว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม การที่จะได้ประสบกับสิ่งที่น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนานั้น ย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย สภาพธรรมทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรหรือที่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศล (โลภะหรือโทสะ) ในสิ่งที่เพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป? ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา (เข้าใจถูกเห็นถูก) พร้อมทั้งได้สะสมกุศลประการต่างๆ มา ไม่ว่าจะประสบกับสิ่งเลวร้ายสักเพียงใดก็ตาม ย่อมเป็นผู้มีความมั่นคง ไม่หวั่นไหว ความกังวลใจ ความเดือดร้อนใจ ก็จะลดน้อยลงตามระดับขั้นของปัญญา
เพราะฉะนั้น ควรอย่างยิ่งที่จะเห็นประโยชน์ของการอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง ดีกว่าจะ ไปเดือดร้อนใจในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเหตุว่าความหวั่นไหว ความโกรธ ความเสียใจ ความเดือดร้อนใจ ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น (เพราะเป็นอกุศลธรรม) สิ่งที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตจริงๆ คือ ปัญญา บัณฑิตผู้มีปัญญา ท่านจะไม่แสวงหาอย่างอื่นเลย นอกจากความเข้าใจถูก ความเห็นถูก เท่านั้น ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้น ที่จะเกื้อกูลให้เป็นผู้มีความหวั่นไหวน้อยลง เพราะปัญญาเจริญขึ้น ซึ่งเป็นพระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นมาในโลกเพื่อเกื้อกูลแก่สัตว์โลก ด้วยการทรงแสดงธรรมเพื่อให้ได้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ทำให้สัตว์โลกได้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เข้าใจความเป็นไปของชีวิตซึ่งก็คือ นามธรรมกับรูปเท่าเท่านั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เพราะได้กระทำเหตุมาแล้วในอดีต ทั้งดีและไม่ดี ผล จึงเกิดขึ้นตามสมควรแก่เหตุ ซึ่งไม่มีใครทำให้เลย ผู้ที่เข้าใจตามความเป็นจริงเท่านั้น ที่จะไม่หวั่นไหวตามกำลังของปัญญา ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไป ครับ.
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุญาตเรียนถามว่า ก่อนที่จะเห็นทุกอย่างเป็นธรรมนั้น การเข้าใจว่า ธรรม คือ อะไร โดยละเอียดหรือไม่ ครับ จะเป็นจุดเริ่มที่ถูกต้องหรือไม่ ครับ ในความเห็นส่วนตัวของผมนั้น ยากที่จะเข้าใจจริงๆ ครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
เรียนความเห็นที่ 4 ครับ
การจะเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรมจริงๆ เป็นปัญญาขั้นสูง คือ รู้ทั่วในสภาพธรรมทั้ง ๖ ทวารเป็นปกติ ไม่ใช่เพียงปัญญาขั้นพิจารณาธรรมขั้นการฟังหรือคิดโดยละเอียดเท่านั้น ครับ
ขออนุโมทนา
"ปัญญาขั้นสูง" ดังกล่าว คือ ปัญญาขั้นของพระโสดาบัน (ขึ้นไป) ใช่ไหมคะ.?