พระพุทธพจน์ ..กามโยคะเป็นดังนี้

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ส.ค. 2549
หมายเลข  1907
อ่าน  3,427
กามโยคะเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่รู้ถึงความเกิด ความดับ ความชุ่มชื่น ความขมขื่น และความออกไปแห่งกามทั้งหลายตามจริง เมื่อไม่รู้ถึงความเกิด ความดับ ความออกไปแห่งกามทั้งหลายตามจริง ความยินดี ความเพลิดเพลินในกาม ความเยื่อใยในกาม ความสยบในกาม ความกระหายในกาม ความกลัดกลุ้มในกาม ความหมกหมุ่นในกาม ความดิ้นรนในกาม ย่อมติดแนบใจ กามโยคะเป็นดังนี้

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 28-31 โยคะสูตรที่ ๑๐

  ความคิดเห็นที่ 1  
 
kchat
วันที่ 24 ส.ค. 2549

โยคะหมายความว่าอย่างไรครับ และทำอย่างไรจึงจะลดความติดข้องในกามลงได้บ้างครับกรุณาชี้แนะด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
saowanee.n
วันที่ 24 ส.ค. 2549

โยคะในที่นี้หมายถึงกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะ มีด้วยกัน ๔ ประเภทคือ

๑. กามโยคะ (กาม)

๒. ภวโยคะ (ภพ)

๓. ทิฏฐิโยคะ (ทิฎฐิ)

๔. อวิชชาโยคะ (อวิชชา)

การที่จะลดความติดข้องในกามลงได้นั้น ก็ต้องเห็นโทษของกามค่ะ เพราะแม้ความสุขในกามคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็ไม่เที่ยง (เมื่อไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์) เป็นเหตุให้ไม่ หยุดการแสวงหา ทั้งในทางที่ชอบและมิชอบ การศึกษาพระธรรม (เพื่อความเข้าใจชีวิตอย่างแท้จริง) เป็นหนทางเดียวเท่านั้น ที่จะละคลายความติดข้องยินดีได้ เพราะเมื่อไม่รู้ว่าทุกข์คืออะไร ... จึงต้องการที่จะได้เหตุที่นำมาซึ่งทุกข์อยู่เรื่อยๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
shumporn.t
วันที่ 24 ส.ค. 2549

ธรรมที่ตรงกันข้ามกับกามวิตก คือเนกขัมมวิตก การออกจากกามไม่ใช่โดยการบรรพชาอุปสมบท ซึ่งเป็นสิ่งที่สูงมากประการเดียว แต่ในชีวิตประจำวัน เคยคิดที่จะออกจากกามบ้างไหม ไม่ได้หมายความว่า จะต้องออกบวช แต่หมายความว่า คิดจะรู้สึกว่าพอแล้ว ในการที่จะตรึกนึกถึงติดข้องใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังไม่ต้องสละออกไป เพียงแต่ว่าพอบ้างไหม พอบ้างแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่พอ นั่นคือกามวิตก แต่ถ้าพอแล้ว มากมายแล้ว พอแล้ว พอเสียที นั่นก็จะเป็นเนกขัมมะในชีวิตประจำวัน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือ บารมีในชีวิตประจำวัน โดย อ. สุจินต์ บริหารวนเขตต์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 28 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ