พระพุทธพจน์ ..ทิฏฐิโยคะเป็นอย่างนี้
ทิฏฐิโยคะเป็นอย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่รู้ถึงความเกิด ความดับ ความออกไปแห่งทิฏฐิทั้งหลายตามจริง เมื่อไม่รู้ถึงความเกิด ความออกไปแห่งทิฏฐิทั้งหลายตามจริง ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความเยื่อใย ความสยบ ความกระหายในทิฏฐิ ความกลัดกลุ้ม ความหมกหมุ่น ความดิ้นรนในทิฏฐิย่อมติดแนบใจ ทิฏฐิโยคะ เป็นอย่างนี้
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 28-31 โยคะสูตรที่ ๑๐
คือการดับทิฏฐานุสัย ได้เป็นสมุจเฉท ด้วยโสตาปัตติมรรค
ทิฏฐิเจตสิก ความเห็นผิดจากความเป็นจริง จำแนกได้เป็น ๒ ประการคือ
ทิฏฐิสามัญ คือ ความเห็นผิดที่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เรา เขา ที่เรียกว่า
สักกายทิฏฐิ จัดเป็นทิฏฐิสามัญ เพราะมีอยู่ประจำทั่วทุกตัวคนและสัตว์ เป็นปกติวิสัย เว้นได้แต่พระอริยบุคคลเท่านั้น จึงจะละความเห็นชนิดนี้ได้
ทิฏฐิพิเศษ คือ ความเห็นผิดที่เป็น นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ ได้แก่
อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นที่ไม่เชื่อในเหตุ ๑
นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นที่ไม่เชื่อในผล ๑
อกิริยทิฏฐิ ความเห็นที่ไม่เชื่อในเหตุและผลของกรรม ๑
และสัสสตทิฏฐิ มีความเห็นว่าเที่ยง อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ
ตลอดทั้งความเห็นผิดในทิฏฐิ ๖๒ ประการ ในสามัญผลสูตร แสดงความไม่เชื่อในผล คือ นัตถิกทิฏฐิ ๑๐ ประการ ได้แก่
๐๑. เห็นว่า การทำบุญให้ทาน ไม่มีผล
๐๒. เห็นว่า การบูชาต่างๆ ไม่มีผล
๐๓. เห็นว่า การต้อนรับเชื้อเชิญ ไม่มีผล
๐๔. เห็นว่า การทำดี ทำชั่ว ไม่มีผล
๐๕. เห็นว่า ภพนี้ไม่มี
๐๖. เห็นว่า ภพอื่นไม่มี
๐๗. เห็นว่า คุณของมารดา ไม่มี
๐๘. เห็นว่า คุณของบิดา ไม่มี
๐๙. เห็นว่า สัตว์ผุดเกิดเติบโตขึ้นทันที ไม่มี (เช่น สัตว์นรก เปรต อสุรกาย)
๑๐. เห็นว่า สมณพราหมณ์ที่รู้แจ้งโลกนี้ และ โลกหน้า ด้วยตนเอง และสามารถชี้แจงสมณพราหมณ์ให้ถึงพร้อม ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ไม่มี