บุญกับกุศลเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
บุญกับกุศลเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ในความเป็นจริงแล้ว บุญ กับ กุศลมีความกว้างและแคบเท่ากันครับ เพราะว่า บุญก็คือสภาพธรรมที่ชำระล้างสันดาน แสดงว่าเป็นจิตที่ไม่มีอกุศล สภาพธรรมที่ไม่ดีในขณะนั้นครับ ส่วนกุศล ก็เป็นสภาพธรรมที่ปราศจากกิเลส คือ ไม่มีอกุศลธรรมเกิดขึ้นร่วมในจิตที่เป็นกุศลในขณะนั้นคัรบ จากที่บางท่านอธิบายว่า บุญนั้นแคบกว่า กุศล ก็อาจเป็นเพราะด้วยเหตุที่ว่า เมื่อแบ่ง บุญ แบ่งเป็นนัยพระสูตรที่ว่า บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ ซึ่งก็ดูเหมือนว่าเป็นเพียงฝ่ายโลกียะเท่านั้น ที่ไม่เป็นโลกุตตระ ส่วนกุศลมีกุศลที่เป็นระดับโลกียะ และระดับกุศลที่เป็นระดับ โลกุตตระ ที่เป็น มรรคจิต ที่เป็นโลกุตรกุศล เมื่อเข้าใจทั้ง 2 แบบนี้ จึงอาจทำให้เข้าใจว่า บุญแคบกว่า กุศลตามที่กล่าวมาครับ แต่ในความเป็นจริง บุญที่เป็น ทิฏฐุชุกรรมที่เป็นความเห็นถูกนั้น ก็กินความกว้างขวาง รวมทั้งกุศลที่เป็นโลกุตตระด้วยที่เป็นมรรคจิต เพราะกุศลที่เป็นมรรคจิต มีปัญญา มีความเห็นถูกด้วยและละกิเลส ส่วน บุญที่เป็นทิฏฐุชุกรรม (ข้อ 10 ในบุญ) ก็เป็นเรื่องของความเห็นตรงที่มีปัญญาด้วยเช่นกันครับ ดังนั้นโดยทั่วไปแล้ว บุญและกุศลจึงไม่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเข้าใจครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ควรอย่างยิ่งที่จะได้เข้าใจธรรมทีละคำ โดยในที่นี้มีคำที่ควรจะได้เข้าใจ ๒ คำคือ บุญ กับ กุศล ซึ่งเมื่อโดยอรรถแล้ว เหมือนกัน ไม่แตกต่างกันเลย และในรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวน-เขตต์ ได้กล่าวไว้ว่า กุศลขั้นสูงสุด คือ โลกุตตรกุศล แล้วถ้าจะใช้คำว่า โลกุตตร-บุญ ได้ไหม? ถ้าเข้าใจแล้ว ย่อมไม่เป็นปัญหาเลย ก็ย่อมได้ สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจอย่างถูกต้อง
บุญ เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด (เพราะโดยปกติแล้วจิตสกปรกด้วยอำนาจของอกุศลธรรม) จากที่เป็นอกุศล ก็ค่อยๆ เป็นกุศลขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากขณะที่จิตเป็นกุศล เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิต และเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา โดยที่ไม่มีตัวตนที่จะไปทำบุญ เพราะบุญอยู่ที่สภาพจิต จิตเป็นกุศลเป็นบุญ (ซึ่งก็สามารถกล่าวโดยโวหารของชาวโลกได้ว่า ผู้นั้น ผู้นี้กระทำบุญ) ในทางตรงกันข้าม ถ้าจิตเป็นอกุศล ก็ไม่ใช่บุญ
กุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพธรรมที่ตัดซึ่งอกุศลธรรม กุศล เป็นนามธรรม หมายถึง สภาพจิตใจที่ดีงาม ซึ่งจิตใจที่ดีงามนี้ ทำให้เกิดผลที่เป็นสุข, จิตใจที่ดีงาม ย่อมเป็นเหตุทำให้ได้รับผลที่ดีงามด้วย ฉะนั้น ถ้าใครมีจิตใจที่ดีงาม โดยที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่โอ้อวด ไม่ทะนงตน ไม่ยกตนข่มผู้อื่น ไม่มีกิเลสอะไรๆ เกิดขึ้นในขณะนั้นก็เป็นกุศล ถึงแม้ว่าจะไม่มีวัตถุสิ่งของให้แก่บุคคลอื่น ก็เป็นกุศลอย่างอื่นได้ เพราะเหตุว่ากุศล ไม่ได้มีเฉพาะการให้ทานเท่านั้น การอ่อนน้อมถ่อมตน การคอยช่วยเหลือบุคคลอื่น การมีเมตตาไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น การให้ข้อคิดธรรมเตือนใจดีๆ แก่ผู้อื่น การฟังธรรม การอุทิศส่วนกุศล การอนุโมทนาในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำ เป็นต้น ก็เป็นกุศลเช่นเดียวกัน
ความหมายของกุศลตามที่ปรากฏในพระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ มีดังนี้
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า ๒๒๖
กุศลศัพท์ ใช้ในอรรถว่า ความไม่มีโรค ความไม่มีโทษ ความฉลาด และมีสุขเป็นวิบาก.
สภาวะที่ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ยังปาปธรรมอันบัณฑิตเกลียดให้ไหว ให้เคลื่อนไป ให้หวั่นไหว คือ ให้พินาศ.
ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ธรรมแม้เหล่านี้ ย่อมตัดส่วนสังกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) ที่ถึงส่วนทั้งสอง คือ ที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิด เหมือนหญ้าคาย่อมบาดส่วนแห่งมือที่ลูบคมหญ้าทั้งสอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ย่อมตัดคือ ย่อมทำลายอกุศล เหมือนหญ้าคา ฉะนั้น.
เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า กุศลธรรมทุกประเภท ความดีทุกประการ เป็นบุญ เป็นกุศล ซึ่งก็คือ กุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย นั่นเอง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะไม่เป็นภัยใดๆ เลย ไม่เป็นภัยทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น มีแต่จะนำมาซึ่งประโยชน์สุขเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
จะใช้คำว่า บุญ กุศล หรือ การทำความดี ก็เหมือนกัน แต่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ กุศล หรือ บุญ หรือ การบำเพ็ญประโยชน์ คือ ความดี จุดมุ่งหมายเพื่อสละกิเลส เพื่อออกจากวัฏฏะว่าประเสริฐกว่า ไม่ทรงสรรเสริญกุศลที่วนเวียนอยู่ในวัฏฏะค่ะ