เมื่อคนพาล ประพฤติธรรมของสมณะ....

 
dets25226
วันที่  25 ส.ค. 2554
หมายเลข  19578
อ่าน  1,590

คนพาล ประพฤติธรรมของสมณะ

สิ้นวันเท่าใด หากไม่ห้ามจิต เขาตกอยู่

ในอำนาจของความดำริทั้งหลาย พึงติด

ขัดอยู่ทุกๆ อารมณ์ ภิกษุยั้งวิตกในใจไว้

ได้ เหมือนเต่าหดอวัยวะทั้งหลายไว้ใน

กระดองของตน อันตัณหานิสัยและทิฏฐิ

นิสัยไม่พัวพันแล้ว ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น

ปรินิพพานแล้ว ไม่พึงติเตียนใคร ฯ ... (พระพุทธพจน์)

ตามพระพุทธพจน์นี้ ผมมีความคิดเห็นว่า

คนโง่คนหนึ่ง ก็อาจสำเร็จธรรมขั้นสูงได้ หากรู้จักห้ามจิต ยั้งวิตกในใจ เหมือนเต่าหดอวัยวะทั้งหลาย

ผมมีความเข้าใจถูกหรือไม่ครับ เพื่อนๆ มีความคิดเห็นเกี่ยวกับวิตกประการใดบ้างครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 92

๗. ทุกกรสูตร

ว่าด้วยธรรมที่ทำได้ยาก

[๓๖] เทวดากล่าวว่า

ธรรมของสมณะ คนไม่ฉลาด ทำ

ได้ยาก ทนได้ยาก เพราะธรรมของสมณะ

นั้นมีความลำบากมาก เป็นที่ติดขัดของ

คนพาล.

[๓๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

คนพาล ประพฤติธรรมของสมณะ

สิ้นวันเท่าใด หากไม่ห้ามจิต เขาตกอยู่

ในอำนาจของความดำริทั้งหลาย พึงติด

ขัดอยู่ทุกๆ อารมณ์ ภิกษุยั้งวิตกในใจไว้

ได้ เหมือนเต่าหดอวัยวะทั้งหลายไว้ใน

กระดองของตน อันตัณหานิสัยและทิฏฐิ-

นิสัยไม่พัวพันแล้ว ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น

ปรินิพพานแล้ว ไม่พึงติเตียนใคร.

กระผมขออธิบายตามพระไตรปิฎกและอรรถกถาได้อธิบายในเรื่องนี้ดังนี้ครับ

คาถาแรกที่เทวดากล่าวว่า

[๓๖] เทวดากล่าวว่า

ธรรมของสมณะ คนไม่ฉลาด ทำ

ได้ยาก ทนได้ยาก เพราะธรรมของสมณะ

นั้นมีความลำบากมาก เป็นที่ติดขัดของ

คนพาล.

สมณะ หมายถึงผู้สงบ ธรรมของสมณะ ธรรมของผู้สงบ หรือ ธรรมที่จะทำให้ถึงความ

สงบจากกิเลส ก็ต้องเป็นธรรมที่ดี มีการอบรมปัญญา เป็นต้น คนไม่ฉลาด คือ คนพาล

คนที่ไม่ได้อบรมปัญญามา ทำได้ยาก เพราะเมื่อไมได้อบรมปัญญา สะสมปัญญามา

จะมาให้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เจริญสติปัฏฐานย่อมเป็นไปไม่ได้ และทำได้ยาก

สำหรับผู้ที่ไม่สะสมความเห็นถูกมาครับ คำว่า ทนได้ยาก คือ คนพาล ผู้ที่ไม่ได้สะสม

ศรัทธา ปัญญามา เมื่อให้ฟังพระธรรม ย่อมทนที่จะฟังได้ไม่นาน และจะให้อบรมปัญญา

ก็ทนไมได้ ในสิ่งที่ไม่ใช่อัธยาศัย ดังนั้นคนพาล ผู้ที่ไม่ฉลาด ไม่สามารถประพฤติธรรม

ของ สมณะ คือ ผู้สงบได้ มีการอบรมปัญญา เป็นต้น คนพาลทำไม่ได้ครับซึ่งก็เห็นได้

ในชีวิตประจำวัน

และคาถาที่ว่า เพราะธรรมของสมณะ เป็นความลำบากมาก

เพราะเป็นเรื่องของปัญญา ทวนกระแสกิเลส จึงลำบากมากในการที่จะชนะกิเลส

ด้วยการอบรมปัญญายาวนาน คนพาลจึงไม่สามารถทำได้ ลำบากมากสำหรับคนพาล

ด้วยครับ และคาถาที่ว่า เป็นที่ขัดข้องของคนพาล เพราะคนพาลย่อมขัดข้องในสิ่งที่

ไม่ใช่อัธยาศัย คือ ไม่ได้สะสมศรัทธาและปัญญามาที่จะสนใจ พระธรรม ย่อมขัดข้องที่

จะฟัง ที่จะประพฤติความดีและอบรมปัญญาครับ จากที่กล่าวมาเป็นคาถาของเทวดา ที่

อธิบายตามนัยของอรรถกถาได้อธิบายไว้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 26 ส.ค. 2554

ต่อไปเป็นพระคาถาที่พระพุทะเจ้าตรัสไว้ว่า

[๓๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

คนพาล ประพฤติธรรมของสมณะ

สิ้นวันเท่าใด หากไม่ห้ามจิต เขาตกอยู่

ในอำนาจของความดำริทั้งหลาย พึงติด

ขัดอยู่ทุกๆ อารมณ์ ภิกษุยั้งวิตกในใจไว้

ได้ เหมือนเต่าหดอวัยวะทั้งหลายไว้ใน

กระดองของตน อันตัณหานิสัยและทิฏฐิ-

นิสัยไม่พัวพันแล้ว ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น

ปรินิพพานแล้ว ไม่พึงติเตียนใคร.

คนพาล คือ ผู้ที่ไมได้อบรมปัญญา ประพฤติธรรมของสมณะ สิ้นวันเท่าใด คำว่าสิ้น

วันเท่าใด หมายถึง ผู้ทีเป็นพาล ไม่ได้สะสมปัญญามา เมื่อมีการประพฤติธรรมของ

สมณะ ของผู้สงบ คือ มีการฟังพระธรรม อบรมปัญญา ก็เป็นผู้ไหลไปกับกิเลส ไม่สนใจ

แม้ได้ฟัง ได้ศึกษา ก็ไหลไปกับกิเลสประการต่างๆ ในสิ่งที่เห็น สิ่งทีได้ยิน..สิ่งที่กระทบ

สัมผัส เพราะไม่พิจารณาโดยแยบคาย แม้ฟังพระธรรมอยู่ (ประพฤติธรรมของสมณะ) ก็

ประพฤติได้เพียงเล็กน้อย เพียงไม่กี่วันเท่านั้นครับ ดังนั้น คำว่าสิ้นวันเท่าใด ท่าน

อธิบายว่า คนพาลที่ไมได้สะสมปัญญา ความเห็นถูกเลย เป็นผู้มีความเห็นผิด เป็นต้น

แม้ฟังพระธรรม ศึกษาพระรรม (ประพฤติธรรมของสมณะ) สิ้นวันเท่าใด ก็คือ ประพฤติได้

เพียงเล็กน้อย ไม่นานเลยก็ไม่สนใจ เลิกที่จะทำ เลิกฟังพระธรรมครับ ดังนั้น ในพระ

สูตรนี้ แสดงถึงว่า คนพาลที่ไมได้อบรมปัญญามาเลย ไม่ได้สสะมศรัทธามา แม้ได้ฟัง

พระธรรมบ้าง ก็ไม่สนใจ หรือสนใจเพียงเล็กน้อย (สิ้นวันเท่าใด) แล้วก็ไม่สนใจอีก ซึ่ง

เราจะเห็นได้ในชีวิตประจำวัน สำหรับคนที่ไม่สนใจธรรม แม้จะได้ฟังก็ไม่สนใจ หรือ ขัด

ข้อง ไม่ชอบในสิ่งที่ได้ฟัง หรือ สนใจเพียงชั่วขณะและก็ไม่เอาอีกครับ เพียงสิ้นวันเล็ก

น้อยเท่านั้นครับ เพราะอะไรครับ พระคาถาก็กล่าวต่อไปว่า เพราะเขาตกอยู่ด้วยอำนาจ

ดำริ ความคิดทีเป็นอกุศล ในอารมณ์ที่ปรากฎ คือเป็นกิเลส จึงไม่สนใจในสิ่งทีได้ยิน

ได้ฟังคือพระธรรมเลยครับ

พระคาถามีต่อว่า

ภิกษุยั้งวิตกในใจไว้ได้ เหมือนเต่าหดอวัยวะทั้งหลายไว้ในกระดองของตน

เต่า เวลามีอันตราย ก็ใช้วิธีคือหด คอ และขา ทั้ง 4 ไม่ให้สัตว์อื่นกินได้ ป้องกันสัตว์

อื่นได้ ฉันใด ภิกษุก็ควรหด คือ ยั้งวิตก คือ ความคิดที่เป็นอกุศลทีเกิดขึ้น ด้วยสติและ

ปัญญาทีเกิดขึ้น ด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย ซึ่งขณะที่สติและปัญญาเกิด รู้ความ

จริงของสภาพธรรม อกุศลย่อมไม่สามารถทำอันตรายได้ เพราะไม่เกิด เหมือนกับ สุนัข

จิ้งจอก (อกุศล) ไม่สามารถทำอะไรกับ เต่า ที่หด คอและขาได้ (สติและปัญญาเกิด)

แต่ที่สำคัญ ควรพิจาณาว่า ไม่มีตัวตนที่จะพยามให้สติและปัญญาเกิด แต่ต้องค่อยๆ

อบรมปัญญาขั้นการฟังไปเรื่อยๆ เมื่อนั้น สติและปัญญาจะเกิดเอง ขณะทีเกิด ขณะนั้น

วิตกทีเป็นอกุศลไม่เกิดครับ

และคาถาตอนจบที่ว่า

อันตัณหานิสัยและทิฏฐินิสัยไม่พัวพันแล้ว ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่นปรินิพพานแล้ว ไม่พึง

ติเตียนใคร.

หมายความว่า เมื่อมีการเจริญปัญญา คือ สติและปัญญาเปรียบเหมือนการหดของ

เต่า อบรมปัญญาไปเรื่อยๆ ก็จะถึงการดับกิเลส อันตัณหาคือโลภะ และทิฏฐิ คือความ

เห็นผิดไม่อาศัยแล้ว คือ ไม่เกิดขึ้นอีกเพราะอบรมปัญญาจนสามารถดับกิเลสได้ ก็ย่อม

ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่นเลย สำหรับพระอรหันต์และย่อมปรินิพพานครับ

ซึ่งจากคำอธิบายที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนั้น ซึ่งเจ้าของกระทู้กล่าวไว้ว่า

คนโง่คนหนึ่ง ก็อาจสำเร็จธรรมขั้นสูงได้ หากรู้จักห้ามจิต ยั้งวิตกในใจ เหมือนเต่าหด

อวัยวะทั้งหลาย

----------------------------------------------------------------------

แต่ในความเป็นจริง ในพระสูตรนี้ คนพาล ที่ไม่ได้สะสมศรัทธา ปัญญามาเลย ไม่

สามารถอบรมปัญญา คือ ประพฤติธรรมของสมณะได้เลย หรือ ประพฤติได้เพียงเล็ก

น้อยไม่นาน ไม่กี่วัน (คนพาล ประพฤติธรรมของสมณะ สิ้นวันเท่าใด) คือ ได้ไม่กี่วัน

ก็ไม่สามารถทำต่ออีก ไม่สนใจอีกครับ ซึ่งการจะห้ามจิต ยั้งวิตกได้ ต้องเป็นเรื่องของ

ปัญญาขั้นสูงมาก เพราะมีปัญญาจึงรู้ความจริง จึงรู้ความจริงของสภาพธรรม ไม่เป็น

อกุศล แต่เป็นกุศล เมื่อสติและปัญญาเกิด ยั้งความคิดที่เป็นอกุศลโดยอัตโนมัติเพราะ

สะสมปัญญามานั่นเองครับ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำการยั้งคิดได้ ห้ามอกุศลได ตราบ

ใดมีปัญญาน้อย ดังนั้นจึงไม่ต้องกล่าวถึงคนพาลที่ไม่ได้อบรมปัญญ า ศรัทธามาเลย

เพราะไม่มีทางที่จะห้ามอกุศล ยั้งอกุศลได้ เพราะไม่มีปัญญาขั้นสูง เพราะปัญญาขั้นต่ำ

ก็ไม่มี เพราอะไร เพราะไม่สนใจและฟังเพียงนิดเดียวก็ไม่ฟังแล้วนั่นเองครับ ส่วนผู้ที่

สะสมปัญญา ศรัทธามา ก็สามารถถึงการยั้งคิด ยั้งอกุศลได้ แต่ต้องมีปัญญาระดับสูง

มาก แต่ตอนนี้ยังน้อยก็อาศัยการฟังพระธรรมต่อไป ไม่ต้องคิดจะทำยั้งคิด ยั้งอกุศล

เพราะเมื่อปัญญาเจริญขึ้น ธรรมคือปัญญาจะทำหน้าที่เองครับ สำคัญคือฟังพระธรรม

ต่อไปครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 26 ส.ค. 2554

ชัดเจนมาก ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
dets25226
วันที่ 26 ส.ค. 2554

ขอโทษท่านอาจารย์ด้วยครับ ผมก็คิดตามเนื้อหาในพระคาถา

ได้อาจารย์อธิบายก็เข้าใจละเอียดขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
dets25226
วันที่ 26 ส.ค. 2554

จากที่ผมสังเกตให้ชัดเจนแล้ว มันมีความต่างของคำอยู่ 2 คำ คือ คนพาล ผู้ติดขัดอยู่

ทุกๆ อารมณ์ กับภิกษุ ผู้ยั้งวิตกในใจไว้ได้ จะเห็นได้ว่า การยั้งวิตกในใจนั้น ไม่ใช่เรื่อง

ของคนพาลเลย คนพาลไม่สามารถยั้งวิตกได้เลย พระองค์ตรัสถึงภิกษุ ผู้มีสติ มีวิตก มี

ปัญญา จึงจะสามารถทำเช่นนั้นได้ พระพุทธวจนะทั้งหลาย มีความละเอียด เข้าใจได้

ไม่ง่ายนัก ขอบคุณที่อุตส่าห์ตอบนะครับ ผมอยากให้ท่านอาจารย์ตอบสั้นๆ อ่ะครับ มัน

ยาว ผมงง -.- อาจารย์ครับ วิตกธรรมนี้ ผมเห็นว่า มีความสำคัญมากอยู่ ท่านอาจารย์

ช่วยอธิบายวิตกธรรมหน่อยครับ ผมได้ยินว่า สติ วิตก ปัญญา เป็นธรรมที่อาศัยกันอยู่

ผมรู้ว่า การศึกษาธรรมนั้น มันยาก แต่อาจารย์ก็ให้กำลังใจเสมอในทุกๆ คำถาม ผมรู้ว่า

ยังอีกไกล แต่ผมจะเริ่มไปด้วยความก้าวนี้ อย่างช้าๆ ครับ อิอิ อารมณ์ไหนเนี่ย

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 26 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 5 ครับวิตก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิก เป็นวิตกเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตเกือบทุกประเภท

ดังนั้นสามารถเกิดกับกุศล หรือ อกุสลก็ได้ครับ

วิตก คือ สภาพธรรมที่ตรึก นึกคิด หรือ จรดในอารมณ์นั้น ดังนั้นขณะที่คิดนึกในเรื่อง

ต่างๆ ก็เป็นหน้าที่ของ วิตกเจตสิกที่ ตรึกเป็นไปในเรื่องต่างๆ จึงมีวิตกที่เป็นกุศล นึกคิด

เป็นไปในกุศล และวิตกที่เกิดกับอกุศล ที่นึกคิดเป็นไปในอกุศล เช่น กามวิตก (คิดเรื่อง

ความพอใจในรูป..เสียง เป็นต้น) พยาปาทะวิตก (ตรึกนึกคิดเป็นไปความพยาบาท)

วิหิงสาวิตก (ตรึกนึกคิดเป็นไปในการเบียดเบียน) และวิตกเจตสิก ยังแบ่งออกเป็นหลาย

นัย เช่น วิตก 9 เป็นต้น วิตกเจตสิก จึงเปรียบเหมือนเท้าของโลก ที่ท่องเที่ยวไปใน

โลกต่างๆ ด้วยการตรึกนึกคิด ท่องเที่ยวไปในโลกทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เป็น

ต้น ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ... อันใดชื่อว่าวิตก [ธรรมสังคณี]

วิตก เป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น

วิตก ๙

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
dets25226
วันที่ 26 ส.ค. 2554
ขอบคุณ อาจารย์มากๆ นะครับ ขอให้อาจารย์อายุยืนๆ ๆ อยู่ให้ผมถามต่อไปนานๆ นะครับ สาธุๆ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 26 ส.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมครับ

ผมขออนุญาตเรียนสอบถามเพิ่มเติมอีกสักนิดนะครับว่า

ในพระสูตรท่านเน้นที่ "วิตกเจตสิก" แต่ "วิจารเจตสิก" นั้น ไม่ได้กล่าวถึง แต่จะเกิดร่วมด้วยกันหรือไม่ครับ

และทำหน้าที่สำคัญที่ต่างกันไปอย่างไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 26 ส.ค. 2554

เรียน ความคิดเห็นที่ 8 ค่ะ สภาพธรรมะคือ จิต และ เจตสิก เกิดพร้อมกัน

ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน มีที่อาศัยเกิดที่เดียวกัน เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิก

คือสภาพธรรมะที่ตรึก หรือ จรดในอารมณ์ ก็ต้องเกิดร่วมกับจิต และ ต้องเกิด

ร่วมกับวิจารเจตสิกที่ตามประคองอารมณ์ที่วิตกเจตสิกรู้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 26 ส.ค. 2554

เรียนสนทนาเพิ่มเติมครับ ในเรื่อง วิจารเจตสิก ในความเห็นที่ 8

วิจารเจตสิก เป็นเจตสิกที่ประคองตามวิตก ไม่ว่าวิตกจะตรึกอย่างไรวิจารเจตสิกก็ประคองตามอย่างนั้น

วิจารเจตสิกเกิดกับจิต ๖๖ ดวง คือ กามาวจรจิต ๔๔ ดวง ปฐมฌานจิต ๑๑ดวง และทุติยฌานจิต ๑๑ ดวง เว้นทวิปัญจวิญญาน ๑๐ ดวง ตติยฌานจตุตถฌาน ปัญจมฌาน

จิตใดมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นต้องมีวิจารเจตสิกเกิดร่วมด้วย เว้นจิต ๑๑ ดวง ที่มีวิจารเจตสิก โดยไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือ ทุติยฌานจิต๑๑ ดวง

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
khampan.a
วันที่ 26 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้งมาก ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบในการฟัง ในการศึกษาอย่างแท้จริง ก่อนอื่นต้องทราบว่าการที่จะเป็นพระอริยบุคคลผู้ถึงการดับกิเลสตามลำดับขั้นตั้งแต่พระโสดาบัน จนถึง พระอรหันต์นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา และก่อนที่ท่านเหล่านั้นจะเป็นพระอริยบุคคล ท่านก็เป็นปุถุชน ยังเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลส กิเลสก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยไหลไปด้วยอำนาจของอกุศล ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง เพราะตราบใดก็ตามที่โลกุตตรปัญญา ยังไม่เกิดขึ้น ก็ยังไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้เลย แต่เพราะได้สะสมศรัทธา เห็นประโยชน์ของการเข้าใจความจริง ไม่ละเลยในการฟังพระธรรม เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับก็สามารถดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้นแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ยากมากกว่าที่จะข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชน ไปสู่ความ

เป็นพระอริยบุคคลไม่ใช่ว่าอยู่ๆ แล้ว จะเป็นพระอริยบุคคลทันที ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา พร้อมทั้งเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ อย่างแท้จริงเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เพราะในชีวิตประจำวัน อกุศลเกิดขึ้นมาก ความตรึกไปในทางที่เป็นอกุศล มีมาก เครื้องป้องกัน อกุศล ก็คือ กุศลธรรม นั่นเอง จากการเป็นปุถุชนผู้มืดบอด ก็เริ่มเป็นกัลยาณปุถุชน ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาต่อไป จนกว่าปัญญาจะถึงความเจริญสมบูรณ์พร้อม ก็จะเป็นเหตุให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม มีธรรมของผู้สงบอย่างแท้จริง คือ มรรคจิต ผลจิตเกิดขึ้น มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ดับกิเลสได้ตามลำดับมรรค สูงสุด คือ เป็นผู้สงบจากกิเลสโดยประการทั้งปวง เมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลยเมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีก สิ้นทุกข์ทั้งปวง ครับ. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 26 ส.ค. 2554

ขอบพระคุณอาจารย์วรรณีและอาจารย์ผเดิมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
dets25226
วันที่ 26 ส.ค. 2554
ขออนุโมทนาและน้อมปฏิบัติตามเท่าที่จะทำได้ครับ ...
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ