เรื่องนายพรานกุกกุฏมิตร [คาถาธรรมบท]
[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ ๓๖
เรื่องนายพรานกุกุกฏมิตร [๑๐๒]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภนายพรานชื่อกุกกุฏมิตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " ปาณิมหิ เจ วโณ นาสฺส "เป็นต้น.
ธิดาเศรษฐีรักพรานกุกกุฏมิตร ได้ยินว่า ธิดาเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ เจริญวัยแล้ว เพื่อประโยชน์แก่การรักษา มารดาบิดาจึงมอบหญิงคนใช้ให้คนหนึ่ง ให้อยู่ในห้องบนปราสาท ๗ ชั้น ในเวลาเย็นวันหนึ่ง แลไปในระหว่างถนนทางหน้าต่าง เห็นนายพรานคนหนึ่งชื่อกุกกุฏมิตร ผู้ถือบ่วง ๕๐๐ และหลาว ๕๐๐ ฆ่าเนื้อทั้งหลายเลี้ยงชีพ ฆ่าเนื้อ ๕๐๐ ตัว แล้วบรรทุกเกวียนใหญ่ให้เต็มไปด้วยเนื้อสัตว์เหล่านั้น นั่งบนแอกเกวียนเข้าไปสู่พระนครเพื่อต้องการขายเนื้อ เป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์ในนายพรานนั้น ให้บรรณาการในมือหญิงคนใช้ ส่งไปว่า " เจ้าจงไป จงให้บรรณาการแก่บุรุษนั้นรู้เวลาไป (ของเขา) แล้วจงมา. "หญิงคนใช้ไปแล้ว ให้บรรณาการแก่นายพรานนั้นแล้ว ถามว่า "ท่านจักไปเมื่อไร" นายพรานตอบว่า "วันนี้เราขายเนื้อแล้ว จักออกไปโดยประตูชื่อโน้นแต่เช้าเทียว." หญิงคนใช้ฟังคำที่นายพรานนั้นบอกแล้ว กลับมาบอกแก่นาง.
ธิดาเศรษฐีลอบหนีไปกับนายพราน ธิดาเศรษฐี รวบรวมผ้าและอาภรณ์อันควรแก่ความเป็นของที่ตนควรถือเอา นุ่งผ้าเก่า ถือหม้อออกไปแต่เช้าตรู่เหมือนไปสู่ท่าน้ำกับพวก นางทาสี ถึงที่นั้นแล้วได้ยืนคอยการมาของนายพรานอยู่. แม้นายพรานก็ขับเกวียนออกไปแต่เช้าตรู่. ฝ่ายนางก็เดินตามหลังนายพรานนั้นไป. เขาเห็นนางจึงพูดว่า "ข้าพเจ้าไม่รู้จักเจ้าว่า ' เป็นธิดาของผู้ชื่อโน้น .' แน่ะแม่ เจ้าอย่าตามฉันไปเลย. " นางตอบว่า "ท่านไม่ได้เรียกฉันมา ฉันมาตามธรรมดาของตน. ท่านจงนิ่ง ขับเกวียนของตนไปเถิด." เขาห้ามนางแล้วๆ เล่าๆ ทีเดียว. ครั้นนางพูดกับเขาว่า "อันการห้ามสิริอันมาสู่สำนักของตนย่อมไม่ควร " นายพรานทราบการมาของนางเพื่อตนโดย ไม่สงสัยแล้ว ได้อุ้มนางขึ้นเกวียนไป. มารดาบิดาของนางให้คนหาข้างโน้นข้างนี้ก็ไม่พบ สำคัญว่า "นางจักตายเสียแล้ว" จึงทำภัตเพื่อผู้ตาย. แม้นางอาศัยการอยู่ร่วมกับนายพรานนั้น คลอดบุตร ๗ คนโดยลำดับ ผูกบุตรเหล่านั้นผู้เจริญวัยเติบโตแล้ว ด้วยเครื่องผูกคือเรือน.
กุกกุฏมิตรอาฆาตในพระพุทธเจ้า ภายหลังวันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่งทรงเห็นนายพรานกุกกุฏมิตรกับบุตรและสะใภ้ เข้าไปภายในข่ายคือพระญาณของพระองค์ ทรงใคร่ครวญว่า "นั่นเหตุอะไรหนอแล" ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคของชนเหล่านั้นแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร ได้เสด็จไปที่ดักบ่วงของนายพรานนั้นแต่เช้าตรู่. วันนั้นแม้เนื้อสักตัวหนึ่งก็มิได้ติดบ่วง. พระศาสดาทรงแสดงรอยพระบาท ที่ใกล้บ่วงของเขาแล้วประทับนั่งที่ใต้ร่มพุ่มไม้พุ่มหนึ่งข้างหน้า. นายพรานกุกกุฏมิตรถือธนูไปสู่บ่วงแต่เช้าตรู่ ตรวจดูบ่วงจำเดิมแต่ต้น ไม่พบแม้ตัวเดียวซึ่งติดบ่วง ได้เห็นรอยพระบาทของพระศาสดาแล้ว. ทีนั้นเขาได้ดำริฉะนี้ว่า "ใครเที่ยวปล่อยเนื้อตัวติด (บ่วง) ของเรา" เขาผูกอาฆาตในพระศาสดา เมื่อเดินไปก็พบพระศาสดาประทับนั่งที่โคนพุ่มไม้คิดว่า " สมณะองค์นี้ปล่อยเนื้อของเรา เราจักฆ่าสมณะนั้นเสีย" ดังนี้แล้ว ได้โก่งธนู. พระศาสดาให้โก่งธนูได้ (แต่) ไม่ให้ยิง (ธนู) ไปได้. เขาไม่อาจทั้งเพื่อปล่อยลูกศรไป ทั้งไม่อาจที่ลดลง มีสีข้างทั้ง ๒ ปานดังจะแตก มีน้ำลายไหลออกจากปาก เป็นผู้อ่อนเพลีย ได้ยืนอยู่แล้ว. ครั้งนั้น พวกบุตรของเขาไปเรือนพูดกันว่า " บิดาของเราล่าช้าอยู่ จักมีเหตุอะไรหนอ?" อันมารดาส่งไปว่า " พ่อทั้งหลาย พวกเจ้าจงไปสู่สำนักของบิดา." ต่างก็ถือธนูไปเห็นบิดายืนอยู่เช่นนั้น คิดว่า " ผู้นี้ จักเป็นศัตรูของบิดาพวกเรา" ทั้ง ๗ คนโก่งธนูแล้ว ได้ยืนอยู่เหมือนกับบิดาของพวกเขายืนแล้ว เพราะอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า.
กุกกุฏมิตรเลิกอาฆาตในพระพุทธเจ้า ลำดับนั้น มารดาของพวกเขาคิดว่า "ทำไมหนอแล บิดา (และ) บุตรจึงล่าช้าอยู่" ไปกับลูกสะใภ้ ๗ คน เห็นชนเหล่านั้นยืนอยู่อย่างนั้นคิดว่า "ชนเหล่านั้นยืนโก่งธนูต่อใครหนอแล" แลไปก็เห็นพระศาสดา จึงประคองแขนทั้ง ๒ ร้องลั่นขึ้นว่า "พวกท่านอย่ายังบิดาของเราให้พินาศ พวกท่านอย่ายังบิดาของเราให้พินาศ" นายพรานกุกกุฏมิตรได้ยินเสียงนั้นแล้ว คิดว่า " เราฉิบหายแล้วหนอ, นัยว่า ผู้นั้นเป็นพ่อตาของเรา ตายจริง เราทำกรรมหนัก." แม้พวกบุตรของเขาก็คิดว่า " นัยว่า ผู้นั้นเป็นตาของเรา, ตายจริง เราทำกรรมหนัก" นายพรานกุกกุฏมิตร เข้าไปตั้งเมตตาจิตไว้ว่า "คนนี้เป็นพ่อตาของเรา" แม้พวกบุตรของเขาก็เข้าไปตั้งเมตตาจิตว่า "คนนี้เป็นตาของพวกเรา" ขณะนั้น ธิดาเศรษฐีผู้มารดาของพวกเขา พูดว่า " พวกเจ้าจงทิ้งธนูเสียโดยเร็วแล้วให้บิดาของฉันอดโทษ." เขาทั้งหมดสำเร็จโสดาปัตติผล พระศาสดา ทรงทราบจิตของเขาเหล่านั้นอ่อนแล้ว จึงให้ลดธนูลงได้. ชนเหล่านั้นทั้งหมด ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ให้พระองค์อดโทษว่า " ข้าแต่พระองค์เจริญ ขอพระองค์ทรงอดโทษแก่ข้าพระองค์ ดังนี้แล้ว นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง. ลำดับนั้นพระศาสดา ตรัสอนุปุพพีกถาแก่พวกเขา ในเวลาจบเทศนา นายพรานกุกกุฎมิตรพร้อมทั้งบุตรและสะใภ้มีตนเป็นที่ ๑๕ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว
พระศาสดาเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาต ได้เสด็จไปสู่วิหารภายหลังภัต. ลำดับนั้น พระอานนท์เถระทูลถามพระองค์ว่า " วันนี้พระองค์เสด็จไปไหน? พระเจ้าข้า. " พระศาสดา. ไปสำนักของกุกกุฏมิตร อานนท์. พระอานนท์. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นายพรานกุกกุฏมิตรพระองค์ทำให้เป็นผู้ไม่ทำกรรมคือปาณาติบาตแล้วหรือ? พระเจ้าข้า. พระศาสดา. เออ อานนท์ นายพรานกุกกุฏมิตรนั้นมีตนเป็นที่ ๑๕ ตั้งอยู่ในศรัทธาอันไม่คลอนแคลน เป็นผู้หมดสงสัยในรัตนะ ๓ เป็นผู้ไม่ทำกรรมคือปาณาติบาตแล้ว. พวกภิกษุกราบทูลว่า " แม้ภริยาของเขามีมิใช่หรือ? พระเจ้าข้า "พระศาสดา ตรัสว่า " อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย, นางเป็นกุมาริกาในเรือนของผู้มีตระกูลเทียว บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว. "
พระโสดาบันไม่ทำบาป พวกภิกษุสนทนากันว่า " ได้ยินว่า ภริยาของนายพรานกุกกุฏมิตรบรรลุโสดาปัตติผลในกาลที่ยังเป็นเด็กหญิงนั่นแล แล้วไปสู่เรือนของนายพรานนั้น ได้บุตร ๗ คน. นางอันสามีสั่งตลอดกาลเท่านี้ว่า ' หล่อนจงนำธนูมา นำลูกศรมา นำหอกมา นำหลาวมา นำข่ายมา.' ได้ให้สิ่งเหล่านั้นแล้ว, นายพรานนั้นถือเครื่องประหารที่นางให้ไปทำปาณาติบาต; แม้พระโสดาบันทั้งหลายยังทำปาณาติบาตอยู่หรือหนอ" พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า " ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? " เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า" ด้วยเรื่องชื่อนี้." ตรัสว่า "
ภิกษุทั้งหลาย พระโสดาบันย่อมไม่ทำปาณาติบาต. แต่นางได้ทำอย่างนั้น ด้วยคิดว่า 'เราจักทำตามคำสามี.' จิตของนางไม่มีเลยว่า สามีนั้นจงถือเอาเครื่องประหารนี้ไปทำปาณาติบาต; จริงอยู่ เมื่อแผลในฝ่ามือไม่มี ยาพิษนั้นก็ไม่อาจจะให้โทษแก่ผู้ถือยาพิษได้ฉันใด ชื่อว่าบาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป แม้นำเครื่องประหารทั้งหลายมีธนูเป็นต้นออกให้ เพราะไม่มีอกุศลเจตนา ฉันนั้นเหมือนกัน, ดังนี้แล้วเมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า ๘. ปาณิมฺหิ เจ วโณ นาสฺส หเรยฺย ปาณินา วิส นาพฺพณ วิสมเนฺวติ นตฺถิ ปาป อกุพฺพโต. " ถ้าแผลไม่พึงมีในฝ่ามือไซร้, บุคคลพึงนำยา พิษไปด้วยฝ่ามือได้, เพราะยาพิษย่อมไม่ซึมเข้าสู่ฝ่ามือที่ไม่มีแผล ฉันใด, บาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำอยู่ ฉันนั้น."
แก้อรรถ บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาสฺส แปลว่า ไม่พึงมี.
บทว่า หเรยฺย แปลว่า พึงอาจนำไปได้. ถามว่า "เพราะเหตุไร" แก้ว่า "เพราะยาพิษไม่ซึมไปสู่ฝ่ามือที่ไม่มีแผล" จริงอยู่ ยาพิษย่อมไม่อาจซึมซาบเข้าสู่ฝ่ามือที่ไม่มีแผล ฉันใด; ชื่อว่าบาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป แม้นำเครื่องประหารทั้งหลายมีธนูเป็นต้นออกให้ เพราะไม่มีอกุศลเจตนา ฉันนั้นเหมือนกัน, แท้จริง บาปย่อมไม่ติดตามจิตของบุคคลนั้น เหมือนยาพิษไม่ซึมเข้าไปสู่ฝ่ามือที่ไม่มีแผลฉะนั้น ดังนี้แล.
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้นแล้ว.
บุรพกรรมของกุกกุฏมิตรพร้อมด้วยบุตรและสะใภ้
โดยสมัยอื่น พวกภิกษุสนทนากันว่า " อะไรหนอแล เป็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรค ของนายพรานกุกกุฏมิตร ทั้งบุตร และสะใภ้? นายพรานกุกกุฏมิตรนี้ เกิดในตระกูลของพรานเนื้อเพราะเหตุอะไร? " พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า " ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอ นั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ? " เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า " ด้วยเรื่องชื่อนี้. " ตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล หมู่ชนจัดสร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุของพระกัสสปทสพล กล่าวกันอย่างนี้ว่า " อะไรหนอจักเป็นดินเหนียว? อะไรหนอ จักเป็นน้ำเชื้อ แห่งเจดีย์นี้? "
การสร้างเจดีย์ในสมัยก่อน
ทีนั้น พวกเขาได้มีปริวิตกนี้ว่า " หรดาลและมโนสิลาจักเป็นดินเหนียว น้ำมันงาจักเป็นน้ำเชื้อ. " พวกเขาตำหรดาลและมโนสิลาแล้วผสมกับน้ำมันงา ก่อด้วยอิฐ ปิดด้วยทองคำ แล้วเขียนลวดลายข้างใน. แต่ที่มุขภายนอกมีอิฐเป็นทองทั้งแท่งเทียว อิฐแผ่นหนึ่งๆ ได้มีค่าแสนหนึ่ง. พวกเขาเมื่อเจดีย์สำเร็จแล้ว จนถึงกาลจะบรรจุพระธาตุ คิดกันว่า " ในกาลบรรจุพระธาตุ ต้องการทรัพย์มาก พวกเราจักทำใครหนอแล ให้เป็นหัวหน้า? "
แย่งกันเป็นหัวหน้าในการบรรจุพระธาตุ
ขณะนั้น เศรษฐีบ้านนอกคนหนึ่ง กล่าวว่า " ข้าพเจ้า จักเป็นหัวหน้า " ได้ใส่เงิน ๑ โกฏิ ในที่บรรจุพระธาตุ. ชาวแว่นแคว้นเห็นกิริยานั้น ติเตียนว่า " เศรษฐีในกรุงนี้ ย่อมรวบรวมทรัพย์ไว้ถ่ายเดียว, ไม่อาจเป็นหัวหน้าในเจดีย์เห็นปานนี้ได้. ส่วนเศรษฐีบ้านนอก ใส่ทรัพย์ ๑ โกฏิ เป็นหัวหน้าทีเดียว." เศรษฐีในกรุงนั้น ได้ยินถ้อยคำของชนเหล่านั้นแล้ว กล่าวว่า" เราจักให้ทรัพย์ ๒ โกฏิแล้วเป็นหัวหน้า " ได้ให้ทรัพย์ ๒ โกฏิแล้ว. เศรษฐีบ้านนอกคิดว่า " เราเองจักเป็นหัวหน้า " ได้ให้ทรัพย์ ๓โกฎิ. ครั้นเศรษฐีทั้ง ๒ เพิ่มทรัพย์กันด้วยอาการอย่างนั้น. เศรษฐีในกรุงได้ให้ทรัพย์ ๘ โกฏิแล้ว. ส่วนเศรษฐีบ้านนอก มีทรัพย์ ๙ โกฏิเท่านั้นในเรือน. เศรษฐีในกรุงมีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ. เพราะฉะนั้น เศรษฐีบ้านนอก จึงคิดว่า " ถ้าเราให้ทรัพย์ ๙ โกฏิไซร้. เศรษฐีนี้จักกล่าวว่า " เราจักให้ ๑๐ โกฏิ. " เมื่อเป็นเช่นนั้น ความหมดทรัพย์ของเราจักปรากฏ " เธอจึงกล่าวอย่างนั้นว่า " เราจักให้ทรัพย์ประมาณเท่านี้, และเราทั้งลูกและเมียจักเป็นทาสของเจดีย์ ดังนี้แล้ว พาบุตรทั้ง ๗ คน สะใภ้ทั้ง ๗ คนและภริยา มอบแก่เจดีย์พร้อมกับตน.
เศรษฐีบ้านนอกได้เป็นหัวหน้า
ชาวแว่นแคว้นทำเศรษฐีบ้านนอกนั้นให้เป็นหัวหน้า ด้วยอ้างว่า "ชื่อว่าทรัพย์ใครๆ ก็อาจให้เกิดขึ้นได้, แต่เศรษฐีบ้านนอกนี้พร้อมทั้งบุตรและภริยา มอบตัว (เฉพาะเจดีย์) . เศรษฐีนี้แหละจงเป็นหัวหน้า." ชนทั้ง ๑๖ คนนั้น ได้เป็นทาสของเจดีย์ด้วยประการฉะนี้. แต่ชาวแว่นแคว้นได้ทำพวกเขาให้เป็นไท. แต่เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาก็ปฏิบัติเจดีย์นั้นแล ดำรงอยู่ตลอดอายุ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในเทวโลก. เมื่อชนเหล่านั้น อยู่ในเทวโลกตลอด ๑ พุทธันดร ในพุทธุปบาทนี้ ภริยาจุติจากเทวโลกนั้น บังเกิดเป็นธิดาเศรษฐีในกรุงราชคฤห์.
คติของผู้ไม่เห็นสัจจะไม่แน่นอน
นางยังเป็นเด็กหญิงเทียว บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว. ก็ชื่อว่าปฏิสนธิของสัตว์ผู้ยังไม่เห็นสัจจะ เป็นภาระหนัก เพราะฉะนั้น สามีของนางจึงเวียนกลับไปเกิดในสกุลพรานเนื้อ. ความสิเนหาในก่อนได้ครอบงำธิดาของเศรษฐี พร้อมกับการเห็นนายพรานกุกกุฏมิตรนั้นแล. จริงอยู่แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ตรัสคำนี้ไว้ว่า " ความรักนั้น ย่อมเกิด เพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการ อย่างนี้ คือ เพราะการอยู่ร่วมกันในกาล ก่อน ๑ เพราะการเกื้อกูลกันในปัจจุบัน ๑ ดุจดอกบัว เกิดในน้ำ (เพราะอาศัยเปือกตมและน้ำ) ฉะนั้น." ธิดาของเศรษฐีนั้น ได้ไปสู่ตระกูลของพรานเนื้อเพราะความสิเนหาในปางก่อน, แม้พวกบุตรของนางก็จุติจากเทวโลก ถือปฏิสนธิในท้องของนางนั้นแล. แม้เหล่าสะใภ้ของนาง บังเกิดในที่นั้นๆ เจริญวัยแล้ว ได้ไปสู่เรือนของชนเหล่านั้นนั่นแหละ. ชนเหล่านั้นทั้งหมด ปฏิบัติเจดีย์ในกาลนั้น ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงได้บรรลุโสดาปัตติผล ด้วยอานุภาพแห่งกรรมนั้น ดังนี้แล.
เรื่องนายพรานกุกกุฏมิตร จบ.