นิวรณ์ ๕ ตอนที่ ๑

 
pirmsombat
วันที่  30 ส.ค. 2554
หมายเลข  19611
อ่าน  1,709

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 320

...........................................

(๑๒๕) ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรีย์สังวร สติสัมป-

ชัญญะ และสันโดษอันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด

คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง

ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง

ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความ

เพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้าย

คือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง

อยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาทได้ ละถิ่นมิทธะ

แล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติ

สัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจกุกกุจจะ

แล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ ณ ภายใน ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์

จากอุทธัจจกุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความ

คลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

ได้.

ข้อความจากอรรถกถา

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ 457

.................................

ในคำว่า อิเม ปญฺจ นิวรเณ อปฺปหีเน นี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงกามฉันท์ที่ยังละไม่ได้เหมือนหนี้

แสดงนิวรณ์ที่เหลือ ทำให้เป็นเหมือนโรคเป็นต้น ในข้อนั้นมีอุปมาดังนี้

ก็ผู้ใดกู้หนี้คนอื่นแล้ว ย่อมพินาศ ผู้นั้นแม้ถูกเจ้าหนี้ทวงว่าจงใช้หนี้

แม้พูดคำหยาบ แม้ถูกจองจำ แม้ถูกฆ่า ก็ไม่อาจจะโต้ตอบอะไรได้

ย่อมอดกลั้นทุกอย่าง ด้วยว่า หนี้ของเขานั้นเป็นเหตุให้อดกลั้น

ผู้ที่ติดวัตถุด้วยกามฉันทะก็ฉันนั้น

ย่อมยืดวัตถุนั้นด้วยเครื่องยึดคือตัณหา เขาแม้ถูก

กล่าวคำหยาบ แม้ถูกจองจำ แม้ถูกฆ่า ย่อมอดกลั้นทุกอย่าง. ด้วยว่า

กามฉันทะของเขานั้นเป็นเหตุให้อดกลั้น เหมือนกามฉันทะของหญิง

ทั้งหลายที่ถูกเจ้าของเรือนฆ่า

พึงเห็นกามฉันทะเหมือนหนี้ ด้วยประการฉะนี้แล.


เหมือนอย่างว่า คนกระสับกระส่ายเพราะโรคดี แม้เมื่อเขาให้น้ำ

ผึ้งและน้ำตาลกรวดเป็นต้น ก็ไม่ได้รสของของหวานเหล่านั้น ย่อมบ่นว่า

ขม ขม เท่านั้น เพราะตนกระสับกระส่ายด้วยโรคดีฉันใด ผู้มีจิตพยาบาท

ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้อาจารย์และอุปัชฌาย์ผู้หวังดีว่ากล่าวเพียงเล็กน้อย

ก็ไม่รับโอวาท กล่าวว่าท่านทั้งหลายวุ่นวายเหลือเกินเป็นต้น ลาสิกขาบท

ไป เขาไม่ได้รสของพระศาสนาประเภทสุขในฌานเป็นต้น เพราะเป็นผู้

กระสับกระส่ายด้วยความโกรธ เหมือนบุรุษนั้นไม่ได้รสของของหวานมี

น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดเป็นต้น เพราะเป็นผู้กระสับกระส่ายเพราะโรคดี

พึงเห็นความพยาบาทเหมือนโรค ด้วยประการฉะนี้แล.

เหมือนอย่างคนที่ถูกจองจำในเรือนจำในวันนักขัตฤกษ์ ย่อมไม่

เห็นเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของนักขัตฤกษ์เลย ครั้นรุ่งขึ้น เขาพ้น

เรือนจำ แม้ได้ฟังคำเป็นต้นว่า โอ เมื่อวานนักขัตฤกษ์น่าพอใจ ฟ้อนรำ

ขับร้องน่าพอใจ ดังนี้ ก็ให้คำตอบไม่ได้. เพราะเหตุอะไร? เพราะไม่

ได้ดูนักษัตรฉันใด ภิกษุถูกถีนมิทธะครอบงำก็ฉันนั้น เมื่อการฟังธรรม

แม้มีนัยวิจิตรกำลังดำเนินไป ย่อมไม่รู้เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของธรรม

นั้น เธอแม้นั้นเมื่อปรากฏการฟังธรรมขึ้นแล้ว ผู้คนพากันสรรเสริญการ

ฟังธรรมว่า โอ การฟังธรรม โอ เหตุผล โอ อุปมา ถึงฟังก็ให้คำตอบ

ไม่ได้. เพราะเหตุไร. เพราะอำนาจถีนมิทธะทำให้ฟังธรรมไม่รู้เรื่อง.

พึงเห็นถีนมิทธะเหมือนเรือนจำ ด้วยประการฉะนี้.

เหมือนอย่างทาสแม้เล่นนักษัตรอยู่ นายกล่าวว่า มีงานที่ต้องทำ

รีบด่วนชื่อนี้ เจ้าจงรีบไปที่นั้น ถ้าไม่ไป เราจะตัดมือและเท้า หรือหู

และจมูกของเจ้า เขารีบไปทันที ย่อมไม่ได้ชมเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด

ของงานนักษัตร. เพราะเหตุไร. เพราะมีคนอื่นเป็นที่พึ่งฉันใด ภิกษุผู้

ไม่รู้ทั่วถึงพระวินัยก็ฉันนั้น แม้เข้าป่าเพื่อต้องการวิเวก เมื่อเกิดความ

สำคัญในกัปปิยมังสะอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่สุดว่าเป็นอกัปปิยมังสะ ต้อง

ละวิเวกไปสำนักพระวินัยธรเพื่อชำระศีล ย่อมไม่ได้เสวยสุขอันเกิดแต่

วิเวก. เพราะเหตุไร. เพราะถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ

พึงเห็นอุทธัจจ กุกกุจจะเหมือนความเป็นทาส ด้วยประการฉะนี้แล.


เหมือนอย่างบุรุษเดินทางไกลที่กันดาร ได้เห็นโอกาสที่มนุษย์

ทั้งหลายถูกพวกโจรปล้น และถูกฆ่า พอได้ยินเสียงท่อนไม้ก็ดี เสียงนก

ก็ดี ย่อมระแวงสงสัยว่า พวกโจรมาแล้ว เดินไปบ้าง ยืนอยู่บ้าง กลับ

เสียบ้าง ที่ที่มาจากที่ไปแล้วมีมากกว่า เขาย่อมถึงที่ปลอดภัยโดยยากโดย

ฝืดเคือง หรือไม่ถึงเลยฉันใด คนที่เกิดวิจิกิจฉาในฐานะ ๘ ก็ฉันนั้น

สงสัยโดยนัยเป็นต้นว่า พระพุทธเจ้ามีหรือไม่มีหนอ ลังเลแล้วไม่อาจจะ

ยึดถือด้วยศรัทธา เมื่อไม่อาจ ย่อมไม่บรรลุมรรคหรือผลได้. ดังนั้น

เหมือนในทางไกลที่กันดาร ย่อมมีความหวาดระแวงบ่อยๆ ว่า พวกโจรมี

ไม่มี ทำให้จิตไม่เชื่อ มีความหวาดกลัวเกิดขึ้น ย่อมทำอันตรายแก่การถึง

มีที่ปลอดภัยฉันใด แม้วิจิกิจฉาก็ฉันนั้น ทำให้เกิดความหวาดระแวง

บ่อยๆ โดยนัยว่า พระพุทธเจ้ามีหรือไม่มีหนอ ดังนี้เป็นต้น ไม่มั่นใจ

สะดุ้งกลัว ย่อมทำอันตรายแก่การเข้าถึงอริยภูมิ

พึงเห็นวิจิกิจฉาเหมือนทางไกลที่กันดาร ด้วยประการฉะนี้

(ยังมีต่อ)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nong
วันที่ 31 ส.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ