ทดแทน/ตอบแทน?
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แม้แต่พยัญชนะ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา ขึ้นอยู่ที่ความเข้าใจจริงๆ เพราะในสังคมไทย ก็จะพบคำ ๒ คำนี้อยู่เสมอ ทั้งตอบแทน และ ทดแทน ซึ่งเมื่อว่าโดยความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แล้ว มีดังนี้ -ตอบแทน หมายถึง การกระทำทดแทนแก่ผู้ทำก่อน ให้ทดแทนแก่ผู้ให้ก่อน เช่น การตอบแทนบุญคุณ -ทดแทน หมายถึง การตอบแทน หรือ การชดใช้หรือชดเชยในสิ่งที่เสียไป ถ้าจะพิจารณา เมื่อมาต่อกับคำว่า บุญคุณ แล้ว ในสังคมไทย ก็ใช้ทั้งสองคำ คือ ทั้งตอบแทนบุญคุณ และ ทดแทนบุญคุณ ประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจที่ตรงกันว่าหมายถึงอะไร? เพราะเท่าที่เข้าใจ คือ ทั้งตอบแทนบุญคุณ และ ทดแทนบุญคุณ ล้วนหมายถึง การกระทำความดีตอบแทนแก่บุคคลผู้ที่มีพระคุณ มี มารดาบิดา ครูอาจารย์ เป็นต้น สำหรับในพระไตรปิฎกแล้ว ก็จะพบคำทั้งสองคำเหมือนกัน ทั้งตอบแทน และ ทดแทน แต่ท่านจะมุ่งหมายต่างกันบ้าง ก็คือ ทดแทน นั้นใ้ช้ในกรณีชดใช้หรือชดเชยในสิ่งที่เสียไป (มาจากภาษาบาลีว่า อนุกฺเขป แปลว่า ชดเชยให้,ตามเพิ่มให้, ชดใช้ให้) ส่วนตอบแทน นั้น ตรงกัน คือ การตอบแทนแก่ผู้ที่กระทำอุปการะมาก่อน ตามภาษาบาลีแล้ว มาจากภาษาบาลีว่า ปฏิการ แปลว่า การกระทำตอบแทน หรือ บางสำนวนท่านก็แปลว่า "สนองคุณ" ดังข้อความจากพระไตรปิฎกทั้งสองที่ ดังนี้ คือ ขอเชิญคลิกอ่านข้อความได้ที่นี่ครับ บุคคล ๒ พวกที่กระทำตอบแทนไม่ได้ง่าย [สูตรที่ ๒] ผู้มีอุปการะมาก ๓ จำพวก [พหุการสูตร] และในปลาสชาดก ก็มีใช้คำว่า ทดแทน ในกรณีที่รู้คุณของผู้ที่กระทำอุปการะให้กับตน ขอเชิญคลิกอ่านข้อความได้ที่นี่ ครับ ทดแทนคุณแก่ผู้กระทำอุปการะแก่ตน [ปลาสชาดก] ดังนั้น ประโยชน์จึงอยู่ที่ความเข้าใจที่ตรงกันว่า มุ่งหมายถึงอะไรเป็นสำคัญ ครับขอเรียนเชิญทุกท่าน แสดงความคิดเห็นได้ ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...