การศึกษาธรรมะไม่ดี อาจเป็นสีลัพพตปรามาสได้หรือไม่ครับ
[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 341
[๖๗๓] สีลัพพตปรามาส เป็นไฉน?
ความเห็นว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยศีลพรตของสมณพราหมณ์ในภายนี้แต่ศาสนานี้ ดังนี้ ทิฏฐิ ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สัญโญชน์คือทิฏฐิ ความยึดถือ ความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาส อันมีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด นี้เรียกว่า สีลัพพตปรามาส.
ข้อความในอรรถกถาขยายความดังนี้
ความยึดมั่นที่ยึดถือว่า สัตว์อาจเพื่อบริสุทธิ์ด้วยศีล อาจเพื่อบริสุทธิ์ด้วยวัตร อาจเพื่อบริสุทธิ์ด้วยศีลพรตดังนี้ ชื่อ สีลัพพตปรามาส
จากเนื้อหาที่พระพุทธองค์แสดงข้างต้น
จะเห็นได้ว่า ทรงกล่าวถึง ทิฐฏิ คือ ความยึดมั่น
ดังนั้น หากเราศึกษาธรรมะโดยไม่รอบคอบ เกิดความยึดถือขึ้นมาเมื่อไหร่ ไม่ว่าจะยึดในตัวเรา หรือยึดในบุคคล สิ่งอื่นๆ เช่นนี้ จะถือได้ว่าเป็นสีลัพพตปรามาสด้วยหรือไม่ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดถือ ด้วยข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ที่สำคัญว่า ข้อปฏิบัติ-วัตรนั้นจะทำให้ถึงความบริสุทธิ์ครับ
สีลัพพตปรามาส โดยองค์ธรรม ก็คือ ความเห็นผิดนั่นเอง
สีลัพพตปรามาส เป็นเป็นความเห็นผิด-ที่ยึดถือ-ลูบคลำในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ว่าเป็นหนทางที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ได้
- แต่ในความเห็นผิดนั้น มีรายละเอียดปลีกย่อย แสดงถึงความเห็นผิดที่แตกต่างกันไปครับ อย่างในกรณีของ สีลัพพตปรามาส จะมุ่งหมายถึง วัตร-ปฏิบัติใดก็ตามที่บุคคลนั้นประพฤติด้วยสำคัญ ว่า นี้เป็นทางให้ถึงความบริสุทธิ์ และดับกิเลสได้ เป็นต้น ความยึดถือด้วยวัตร-ปฏิบัติที่ผิดนั้น ก็เป็นสีลัพพตปรามาส
ยกตัวอย่างของสีลัพพตปรามาส เช่น การทรมานตน เพราะสำคัญว่าเป็นทางให้ถึงความบริสุทธิ์และดับกิเลสได้ อันนี้ เราเห็นได้อย่างหยาบ ที่นอกศาสนาประพฤติวัตร ว่า เป็นหนทางดับกิเลส อันเป็นความเห็นผิด
แม้แต่ในพระพุทธศาสนา ผู้ที่คิดว่า วัตร-ปฏิบัตินั้นเป็นหนทางที่ถูกดับกิเลสได้ เช่น การสำคัญว่า การนั่งสมาธิ เป็นหนทางดับกิเลส อันนี้ ก็เป็นสีลัพพตปรามาส ครับ และเมื่อว่าโดยละเอียด แม้แต่การเข้าใจหนทางที่ผิด เช่น สำคัญว่า ต้องจดจ้องในสภาพธรรมใดๆ จึงจะรู้ทั่วถึงสภาพธรรมใดๆ นั้น นี่ก็เป็นสีลัพพตปรามาส แล้วครับ เพราะเป็นการยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด อันสำคัญว่าเป็นทางหลุดพ้น และแม้การตามดูจิต นี่ก็ไม่ใช่หนทางดับกิเลส เพราะเป็นตัวตนที่จะตามดู ไม่ใช่สติและปัญญาครับ ดังนั้น ก็เป็นสีลัพพตปรามาส โดยละเอียดอีกเช่นกันครับ ดังนั้น แม้ความเป็นตัวตน ที่จะทำ เป็นตัวตนที่จะดูจิต เป็นตัวตนที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นสีลัพพตปรามาส อย่างละเอียดครับ ... และจากคำถามที่ว่า
ดังนั้น หากเราศึกษาธรรมะโดยไม่รอบคอบ เกิดความยึดถือขึ้นมาเมื่อไหร่ ไม่ว่าจะยึดในตัวเรา หรือยึดในบุคคล สิ่งอื่นๆ เช่นนี้ จะถือได้ว่าเป็นสีลัพพตปรามาสด้วยหรือไม่ครับ
- อันนี้ ก็ต้องพิจารณาให้ละเอียดครับ หากศึกษาธรรมไม่ถูกต้อง และเกิดการยึดถือในข้อปฏิบัติที่ผิด เช่น นั่งสมาธิ อันนี้ เป็นสีลัพพตปรามาส และแม้จากศึกษาโดยไม่ละเอียด และสำคัญผิดด้วยความเป็นตัวตนที่จะทำสติ ที่จะตามดูด้วยความเป็นตัวตน อันนี้ ก็เป็นสีลัพพตปรามาสครับ แต่ถ้าศึกษาธรรมไม่ละเอียด และมีความยึดถือว่ามีเรา ยึดถือในบุคคลอื่น อันนี้ ไม่ใช่สีลัพพตปรามาสครับ เพราะเหตุไร.? ... เพราะว่า ไม่ได้สำคัญว่าเป็นทางดับกิเลส พ้นทุกข์ เพราะสีลัพพตปรามาส จะต้องสำคัญผิดในข้อวัตร-ปฏิบัตินั้น ว่าเป็นหนทางพ้นทุกข์ และบริสุทธิ์ครับ
แต่ขณะที่ยึดถือว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล มีบุคคลอื่น ขณะนั้นไม่ได้สำคัญว่านี้เป็นหนทางบริสุทธิ์ ขณะนั้น เป็นความเห็นผิดเช่นกัน คือ สักกายทิฏฐิ คือมีความเห็นผิดว่ามีสัตว์ มีบุคคลอื่นครับ จึงไม่ใช่สีลัพพตปรามาส ตามที่กล่าวมา ดังกระผมได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ความเห็นผิดที่เป็นทิฏฐิ มีความแตกต่าง ลักษณะแตกต่างกันไปในรายละเอียดครับ
ขออนุโมทนา
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญจะต้องมีความเพียร มีความอดทน ที่จะฟัง ที่จะศึกษา เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
จะเห็นได้ว่า ผู้ศึกษาธรรม ถ้ามีจุดประสงค์ที่ถูกต้อง ศึกษาด้วยความละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ ความเข้าใจอย่างถูกต้องก็ค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ แต่ถ้าไม่ละเอียดแล้ว ศึกษาเพียงผิวเผิน ทำให้เป็นผู้หลงเข้าใจผิดในสิ่งที่ตนเองยังไม่เข้าใจ ก็ย่อมจะไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าจะได้ศึกษา แต่ไม่ได้ประโยชน์จากการศึกษาเลย
เมื่อกล่าวถึง ความเห็นแล้ว มี ๒ อย่าง คือ ความเห็นผิด กับ ความเห็นถูก ถ้าเป็นความเห็นผิดแล้ว เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทั้งหมด เป็นมิจฉาทิฏฐิ
แต่ถ้าเป็นความเห็นอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิ แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ (ปัญญาเจตสิก) สำหรับการยึดถือหรือลูบคลำในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิดนั้น เป็นความเห็นผิดประการหนึ่งที่เห็นว่าเป็นหนทางที่เป็นไปเพื่อความหมดจดบริสุทธิ์จากกิเลส ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ไม่ใ่ช่หนทางเพื่อความหมดจดเลย มีแต่เพิ่มพูนกิเลสให้มีมากขึ้น ถ้ามีการไปกระทำอะไรด้วยความเห็นผิด ยึดถือในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิดแล้ว ไม่มีทางที่จะเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสได้เลย เพราะหนทางที่เป็นไปเพื่อบริสุทธิ์หมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย คือ การอบรมเจริญมรรค มีองค์ ๘ เท่านั้น ทางอื่นไม่มี เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ศึกษาหรือศึกษาพระธรรมไม่ละเอียด ความเห็นผิดในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิดก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นผู้ประมาทไม่ได้เลยทีเดียว เพราะผู้ที่จะดับความเห็นผิดได้โดยประการทั้งปวง ต้องเป็นพระอริยบุคคลเท่านั้นครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...