วงล้อแห่งสังสารจักร
พระอรหันต์ คือผู้ที่ทำลาย ซี่กำแห่งสังสารจักร คำว่า ซี่กำแห่งสังสารจักร หมายถึงอะไรครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยสังสารจักร ก็คือ สังสารวัฏฏ์
การทำลายซี่กำแห่งสังสารจักร เป็นคุณธรรมประการหนึ่งของพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่ง
คำว่า ซี่กำแห่งสังสารจักร ในที่นี้ก็ต้องเข้าใจก่อนคำว่า สังสารวัฏฏ์ คือ การเกิดขึ้นของ
สภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก เกิดดับสืบต่อกันไปไม่มีที่สิ้นสุด หรือที่เป็นกิเลส กรรม
วิบาก เปรียบเหมือนวงล้อที่หมุนไปไม่มีที่สิ้นสุด หมุนวนไปอย่างนั้น วงล้อ (รถเกวียน)
จึงเปรียบเหมือนการท่องเที่ยวไปของหมู่สัตว์เกิดตาย ไม่มีที่สิ้นสุดครับ เป็นวงล้อหมุน
เรื่อยไปนั่นเอง สังสารวัฏฏ์จึงเปรียบเหมือนวงล้อ ของล้อเกวียน ดุมล้อเกวียนที่อยู่ตรง
กลางคือ อวิชชา และตัณหา อันเป็นต้นเหตุที่ล้อสามารถหมุนได้ เพราะมีดุมตรงกลาง
ส่วนซี่กำ ที่เป็นซี่ๆ ยึดระหว่าง ดุม กับ กงของเกวียนด้านนอก และ ซี่กำนั้น คือ เจตนา
เจตสิก ที่เป็นไปในการทำกุศลกรรม-อกุศลกรรม เพราะมีเจตนาในการทำกรรม คือ มีการ
ทำกุศลกรรม อกุศลกรรม (ซี่กำ) จึงมีการเกิด เพราะอาศัยการทำกรรมที่เป็นกุศลกรรม
และอกุศลกรรม วงล้อคือสังสารวัฏฏ์จึงหมุนไปได้ แต่เมื่อไม่มีการกระทำกรรมที่เป็นกุศล
กรรมและอกุศลกรรมแล้ว ก็จะไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย สิ้นสุดสังสารวัฏฏ์ครับ ดังนั้น ซี่
กำของล้อเกวียน เมื่อถูกทำลาย ล้อก็หมุนไม่ได้นั่นเองครับ พระอรหันต์ทำลายซี่กำคือ
สังสารจักร คือ ไม่มีการทำกุศลกรรมและอกุศลกรรมอีก จึงไม่มีการเกิดอีกต่อไปครับ ล้อ
ก็หมุนไม่ไ่ด้ คือ ล้อสังสารวัฏฏ์ครับ ที่สำคัญพระอรหันต์ ท่านดับต้นเหตุ คือ ทำลายดุม
ของล้อด้วย คือ อวิชชาและตัณหา ก็เมื่อทำลายดุม ก็ทำลายซี่กำด้วย เพราะเมื่อดับ
อวิชชาหมดก็ดับกิเลสหมด จิตของท่านจึงเป็นกิริยาจิต กับ วิบากจิตเท่านั้น ไม่เป็นกุศล
กรรมและอกุศลกรรมอีกแล้วครับ เมื่อไม่มีกุศลกรรม อกุศลกรรมที่เปรียบเหมือนซี่กำของ
ล้อรถ ก็เป็นอันทำลายซี่กำของล้อรถนั่นเองครับ ดังนั้น เพราะอาศัยขวาน (ปัญญา) ถือ
ด้วยมือ (ศรัทธา) ทำลายซี่กำและล้อรถนั้นนั่นเองครับ
ซึ่งการจะทำลายซี่กำของสังสารจักร-ถึงความเป็นพระอรหันต์ คือดับกิเลสหมด ก็ด้วย
การอบรมปัญญา โดยเริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจเป็นสำคัญครับ อาศัยการศึกษา
พระธรรมไปเรื่อยๆ ปัญญาค่อยๆ เจริญ ก็สามารถถึงการดับกิเลสได้ครับ ขออนุโมทนา
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 250 [นัยที่ ๓ ผู้ทำลายซึ่งกำสังสารจักร] อนึ่ง สังสารจักร (ล้อคือสังสาร) อันมีดุมทำด้วยอวิชชา และภวตัณหา อภิสังขารมี
บุญญาภิสังขารเป็นต้นเป็นซี่กำ ชรามรณะเป็นกง สอดด้วยเพลาทำด้วยอาสวสมุทัย
ประกอบเข้าไว้ในตัวรถคือไตรภพหมุนไปตลอดกาลอันหาเบื้องต้นมิได้ นั้นใด ซี่กำทั้ง
หลายของสังสารจักรนั้นพระองค์ทรงประดิษฐานอยู่ ณ พื้นปฐพี คือ ศีล ด้วยพระยุคคลบาท คือ วิริยะ แล้วทรงถือขวาน คือ พระญาณอันทำความสิ้นกรรม ด้วยพระหัตถ์ คือศรัทธา ทรงทำลายเสียสิ้นแล้ว เพราะความที่ทรงทำลายอระ (ซี่กำ คือ สังขาร) เสีย
ได้ดังนี้ จึงทรงพระนามว่า อรหํ อีกประการ ๑
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระอรหันต์ เป็นผู้ที่ห่างไกลจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เป็นผู้ทำลายข้าศึกคือกิเลสได้หมดสิ้น เป็นผู้ไม่มีภพใหม่อีกต่อไป เพราะดับกิเลสที่เป็นประดุจมารดาผู้ทำให้เกิดในภพต่างๆ คือ ตัณหา ได้แล้ว กิเลสในฐานะเดียวกันก็ถูกดับได้หมดสิ้นด้วยเช่นเดียวกัน ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย หลังจากที่ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีทั้งบาป ไม่มีทั้งบุญ จิตของท่านมีเพียง ๒ ชาติเท่านั้น คือ ชาติวิบาก (ขณะที่ได้รับผลของกรรม) และ ชาติกิริยา (เพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เท่านั้น ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดผลข้างหน้า) กล่าวคือ การกระทำและคำพูดในชีวิตประจำวันของท่านก็เป็นเพียงกิริยาจิต ไม่ใช่บุญที่จะส่งผลอีกต่อไป เช่น พระอรหันต์แสดงธรรมเกื้อกูลผู้อื่น ขณะนั้นเป็นกิริยาจิต เป็นต้น และ หลังจากที่ดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่ต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป จึงเป็นผู้ดับวัฏฏะได้อย่างเด็ดขาด ครับ. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
อภิสังขารมีบุญญาภิสังขารเป็น เป็นซี่กำ แสดงว่าซี่กำ คือ อภิสังขาร ๓ อันได้แก่
[๑๒๘] อภิสังขาร ๓
(สภาพที่ปรุงแต่ง, ธรรมมีเจตนาเป็นประธานอันปรุงแต่งผลแห่งการกระทำ, เจตนาที่เป็นตัวการในการทำกรรม — volitional formation; formation; activity)
๑. ปุญญาภิสังขาร (อภิสังขารที่เป็นบุญ, สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นกามาวจรและรูปาวจร — formation of merit; meritorious formation)
๒. อปุญญาภิสังขาร (อภิสังขารที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบุญคือเป็นบาป, สภาพที่ปรุงแต่กรรมฝ่ายชั่ว ได้แก่ อกุศลเจตนาทั้งหลาย — formation of demerit; demeritorious formation)
๓. อาเนญชาภิสังขาร (อภิสังขารที่เป็นอเนญชา, สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔ หมายเอาภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน — formation of the imperturbable; imperturbability-producing volition)
อภิสังขาร ๓ นี้ เป็นความหมายของสังขารในหลักปฏิจจสมุปบาท ท่านแสดงไว้อีกนัยหนึ่งเพิ่มจากนัยว่าสังขาร ๓ ดู (๑๑๙) สังขาร ๓Ps.II.206; Vbh.135. ขุ.ปฏิ.๓๑/๒๘๐/๑๘๑; อภิ.วิ.๓๕/๒๕๗/๑๘๑.
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับจากความเห็นที่ 3 มีคนฝากถามมาเกี่ยวกับเรื่องนี้พอดีเลย ขอถามค่ะว่า
ถ้าพระอรหันต์ผู้ซึ่งมีเพียงชาติวิบากและชาติกิริยา ได้ทำบุญกับพระที่ออกจากนิโรธ
สมาบัติทันทีนั้น จะได้รับวิบากเพราะบุญนี้หรือไม่ เพราะทำด้วยกิริยาจิต หาอ่านเพิ่ม
เติมได้จากเล่มไหน เพราะเขาสงสัยที่ว่าทำบุญกับผู้ที่ออกนิโรธสมาบัติจะได้รับ
อานิสงส์ทันตาเห็น ถ้าหากเป็นพระอรหันต์ทำบุญหล่ะจะได้รับหรือเปล่า แต่ถ้าได้ทำไม
ถึงได้เพราะทำด้วยกิริยา จะมียกเว้นหรือไม่… ผู้ถามๆ มาหลายข้อบางข้อก็เจอจากกระทู้
เก่าก็เก็บไปให้ ส่วนข้ออื่นถ้าหาไม่เจอคงจะตั้งหัวข้อใหม่ค่ะ จริงๆ แล้วเพราะความไม่
แม่นและรู้ไม่มากผู้เขียนก็เลยสงสัยตามจึงถามมา ขอบพระคุณค่ะ
เรียนความเห็นที่ 5 ครับ
พระอรหันต์ ท่านไม่เกิดกุศลจิตและอกุศลจิตแล้ว ดังนั้นท่านจึงมีจิต 2 ชาติ คือ กิริยา
และวิบาก ซึ่งกิริยาจิตของพระอรหันต์ ก็เป็นจิตที่ดีงามได้ เช่น ท่านมีเมตตา เป็นกิริยา
จิตที่เป็นจิตที่ดีงาม แต่ไม่เป็นบุญและไม่ให้ผล เกิดวิบากครับ เพราะสภาพธรรมที่ทำให้
เกิดผล เกิดวิบาก คือ กุศลและอกุศลจิตครับ ดังนั้นพระอรหันต์เกิดจิตดีงาม ให้สิ่งหนึ่ง
สิ่งใดกับพระภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้เข้านิโรธสมาบัติ จิตดีงามเกิดแล้ว แต่เป็นกิริยา
จิต จึงไม่ส่งผลให้เกิดผลของวิบากแต่อย่างใด แต่จิตที่ดีงามเกิดได้ครับ สรุปคือ ถ้า
เป็นกิริยาจิต ไม่มีผลทำให้เกิดวิบากครับ ดังนั้นพระอรหันต์ให้สิ่งใด กับพระอรหันต์ ไม่
ใช่บุญ ไม่ใช่จิตกุศล แต่เป็นจิตชาติกิริยาที่ดีงาม จึงไม่เกิดวิบากครับ