มหากุศล 8

 
SOAMUSA
วันที่  6 ก.ย. 2554
หมายเลข  19657
อ่าน  27,811

มหากุศล ๘ แปลว่า บุญมากอย่าง บุญหลายอย่าง

แต่เมื่อกล่าวโดยย่อแล้วมี ๘ อย่างเท่านั้น คือ

๑. เวลาทำบุญ มีความดีใจ ปรารถนานิพพาน ทำบุญเอง

๒. เวลาทำบุญ มีความดีใจ ปรารถนานิพพาน มีผู้ชักชวนจึงทำบุญ

๓. เวลาทำบุญ มีใจเฉยๆ ปรารถนานิพพาน ทำบุญเอง

๔. เวลาทำบุญ มีใจเฉยๆ ปรารถนานิพพาน มีผู้ชักชวนจึงทำบุญ

๕. เวลาทำบุญ มีความดีใจ ไม่ปราถนานิพพาน ทำบุญเอง

๖. เวลาทำบุญ มีความดีใจ ไม่ปราถนานิพพาน มีผู้ชักชวนจึงทำบุญ

๗. เวลาทำบุญ มีใจเฉยๆ ไม่ปราถนานิพพาน ทำบุญเอง

๘. เวลาทำบุญ มีใจเฉยๆ ไม่ปราถนานิพพาน มีผู้ชักชวนจึงทำบุญ

ดิฉันขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบายด้วยค่ะ

กราบขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ธรรมเป็นเรื่องละเอียดและต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบครับ ซึ่งมหากุศลจิต หรือ กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงนั้น กระผมขอยกข้อความที่บ้านธัมมะได้อธิบายไว้ดังนี้ครับ

มหากุศลจิต มหา (ใหญ่ มาก) + กุศล (ฉลาด) + จิตฺต (จิต) กุศลจิตที่เป็นไปในอาการมาก หมายถึง จิตที่เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบากและกัมมชรูปที่ดี ที่ชื่อว่า มหากุศลจิต เพราะเป็นจิตที่ดีงาม และเป็นไปในอาการมากมาย คือเป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ รู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ เป็นไปในอธิบดี ๔ เกิดได้ในทวารทั้ง ๓ และยังเป็นไปในระดับที่ต่ำ กลาง หรือประณีตก็ได้ มหากุศลจิตเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กามาวจรกุศลจิตก็ได้ มี ๘ ดวง คือ

๑. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)

๒. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)

๓. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยปัญญาเป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)

๔. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยปัญญาเป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)

๕. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยปัญญาเป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)

๖. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยปัญญาเป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)

๗. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)

๘. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 6 ก.ย. 2554

ซึ่งจากข้อความที่ท่านผู้ถามยกมา ใน มหากุศล ๘ ข้อ เช่น มหากุศลดวงที่ ๑ ที่ว่าเวลาทำบุญ มีความดีใจ ปรารถนานิพพาน ทำบุญเอง ซึ่งเมื่อเทียบกับพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในเรื่องมหากุศล ๘ ดวง โดยเฉพาะดวงที่ ๑ แล้ว คือ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นครับว่า การปรารถนานิพพานนั้นจะเป็นกุศล และจะเป็นกุศลประกอบด้วยปัญญาครับ เพราะคำว่าประกอบด้วยปัญญา มีนัยกว้างขวาง เพราะปัญญามีหลายอย่างนั่นเองครับ การปรารถนาพระนิพพาน เป็นอกุศลก็ได้ครับ ไม่ใช่มหากุศล เพราะอะไร เพราะเมื่อได้ยินชื่อว่านิพพาน คนที่ไม่เข้าใจหนทางที่ถูก เมื่อได้ศึกษาธรรมก็อยากได้นิพพาน โลภะก็ติดข้องแล้ว แม้ชื่อว่าพระนิพพานครับ จึงไม่เป็นกุศล ไม่ต้องกล่าวถึงว่ามีปัญญาหรือไม่ครับ ดังนั้น การปรารถนาพระนิพพาน จึงต้องมีความเห็นถูกเป็นสำคัญและไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะผู้ที่ปรารถนาพระนิพพาน จะต้องมีความเข้าใจถูกว่าพระนิพพานไม่ใช่สถานที่ และมีความเห็นถูกว่าปรารถนาที่จะไม่เกิดขึ้นอีกเพราะเห็นโทษของกิเลสตามความเป็นจริง เพราะมีปัญญาอย่างนี้ จึงเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา คือ ปรารถนาพระนิพพานด้วยความเห็นถูกครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 6 ก.ย. 2554

อีกประการหนึ่งในมหากุศล ๘ ดวงนั้น มหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวงนั้น คำว่า ปัญญา จึงไม่ใช่จำกัดเฉพาะ การปรารถนาพระนิพพานครับ เพราะคำว่า ปัญญา กินความกว้างขวาง ปัญญาที่เป็นการเชื่อกรรมและผลของกรรม ปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจพระธรรม ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาภาวนาหรือปัญญาที่เกิดขณะสติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ดังนั้น ในขณะที่ทำกุศลและมีการเชื่อกรรมและผลของกรรม เป็นมหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจในขณะนั้น ขณะอ่านหรือฟัง ขณะนั้นเป็นมหากุศล ประกอบด้วยปัญญา ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นเป็นมหากุศลประกอบด้วยปัญญาเช่นกันครับ ดังนั้น คำว่า ปัญญา จึงกว้างขวาง ไม่ได้มุ่งหมายถึงปรารถนาพระนิพพานเท่านั้นครับ

มหากุศล ๘ ดวง จึงแบ่งใหญ่ๆ คือ มหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวง ไม่ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวง อีกนัยหนึ่ง ประกอบด้วยเวทนาที่โสมนัส ๔ ดวง และประกอบด้วยเวทนาที่รู้สึกเฉยๆ อุเบกขา ๔ ดวง และแบ่งอีกนัยหนึ่ง คือ กุศลที่มีกำลัง คือไม่ต้องอาศัยการชักจูง อสังขาริก ๔ ดวง และกุศลที่ไม่มีกำลัง ต้องอาศัยการชักจูง สสังขาริก ๔ ดวง ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
SOAMUSA
วันที่ 6 ก.ย. 2554

กราบอนุโมทนาค่ะ อาจารย์

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ เข้าใจได้เพิ่มขึ้นค่ะ

ดิฉันสงสัยว่า เวลาทำกุศลแล้วแช่มชื่นใจ กับ เวลาทำกุศลแล้วเฉยๆ ต่างกันในเรื่องผลของกุศลหรือไม่คะ อย่างมหากุศลดวงที่ ๑ กับ ๕ ค่ะ

๑. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

๕. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 6 ก.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

๑. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
๕. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)

จากคำถามที่ว่า

ดิฉันสงสัยว่า เวลาทำกุศลแล้วแช่มชื่นใจ กับ เวลาทำกุศลแล้วเฉยๆ ต่างกันในเรื่องผลของกุศลหรือไม่คะ อย่างมหากุศลดวงที่ ๑ กับ ๕ ค่ะ

- ต่างกันครับ เพราความประณีตของกุศลต่างกัน อย่างมหากุศลดวงที่ ๑ ประณีตสูงสุดเพราะประกอบด้วยปัญญา มีกำลังและประกอบด้วยโสมนัสเวทนา แต่ดวงที่ ๕ ประกอบด้วยปัญญาเหมือนกัน มีกำลัง คืออสังขาริก ต่างกันที่เวทนา ความรู้สึก เพราะดวงที่ ๕ เป็นความรู้สึกเฉยๆ ส่วนดวงที่ ๑ เวทนาเป็นโสมนัส กุศลที่ประกอบด้วยความรู้สึกโสมนัส เช่น เกิดปิติ โสมนัสในการทำบุญนั้น บุญนั้นประณีต สูงกว่ากุศลที่ไม่ประกอบด้วยโสมนัสที่เป็นเพียงความรู้สึกเฉยๆ ครับ เมื่อความประณีตของกุศลต่างกัน ผลของบุญในกุศล ๒ ดวงนั้นก็ต่างกันด้วยครับ กุศลที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา มีปิติ เป็นต้น มีผลมากกว่ากุศลที่มีเพียงความรู้สึกเฉยๆ ครับ ซึ่งเมื่อได้อ่านพระไตรปิฎก เมื่อคนในสมัยนั้นทำบุญใหญ่ ถวายกับพระพุทธเจ้า ก็เกิดปิติโสมนัสอย่างมาก หรือเมื่อได้ฟังธรรมเกิดความเข้าใจ หรือได้บรรลุธรรมก็เกิดปิติโสมนัสในขณะนั้นครับ

กุศลที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา จึงประณีตกว่ากุศลที่ประกอบด้วยความรู้สึกเฉยๆ ครับ ผลของบุญก็ต้องต่างกันด้วยครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
SOAMUSA
วันที่ 6 ก.ย. 2554

กราบอนุโมทนาในความเมตตาของอาจารย์ค่ะ

ความแช่มชื่นนี้ทำขึ้นมาได้มั้ยคะ ถ้ามันเฉยๆ อยู่ ขณะกำลังทำบุญ ถ้าเป็นคำถามที่ไม่สมควรถาม ก็ต้องกราบขออภัยด้วยนะคะ

ดิฉันเป็นคนสงสัยเยอะไปหน่อยค่ะ^_^

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 6 ก.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาครับ ปิติ โสมนัสก็เป็นอนัตตาด้วยครับ พอเรารู้ว่ากุศลที่โสมนัสมีผลมาก ก็อยากจะเกิด แต่แม้แต่กุศลเองก็บังคับให้เกิดไม่ได้ครับ แม้โสมนัสปิติ ความแช่มชื่นก็เป็นอนัตตาด้วยครับ แม้โลภะที่ประกอบด้วยโสมนัสก็มี อันนี้เราคงไม่อยากให้เกิด แต่ก็เกิดได้ครับ เช่น หัวเราะ ดีใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็เกิดแล้ว เป็นอนัตตาจริงๆ ครับ ในทุกๆ สภาพธรรม สงสัยเป็นธรรมดา เมื่อมีเหตุ ก็เกิดขึ้นถามได้ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 6 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อกล่าวถึงมหากุศลจิต ๘ แล้ว เป็นธรรมที่มีจริง เป็นจิตที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิกประการต่างๆ มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน มีกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา มีกำลังมาก ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา เป็นต้น และที่กล่าวว่า มหากุศลจิตนั้น หมายถึง เป็นกุศลที่เกิดขึ้นได้หลายทาง ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ และที่สำคัญ ก็เป็นจิตเป็นไปในกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน นั่นเอง ทั้งการให้ทาน การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น การวิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ การมีเมตตาความเป็นมิตรเป็นเพื่อนต่อผู้อื่น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เป็นต้น สำหรับผู้ที่ดำเนินตามหนทางที่ถูกต้อง ย่อมเป็นผู้ตั้งจิตไว้ชอบในการเจริญกุศลประการต่างๆ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเป็นสำคัญ แม้ในขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นก็ขัดเกลาความไม่รู้ ขัดเกลาความเห็นผิด และอกุศลธรรมประการอื่นๆ ด้วย ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nong
วันที่ 6 ก.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 6 ก.ย. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
peem
วันที่ 6 ก.ย. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
SOAMUSA
วันที่ 6 ก.ย. 2554

กราบอนุโมทนาค่ะ อาจารย์ทั้งสองท่าน

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ ดิฉัน ... โลภะเกิด วางแผนในเวลาทำบุญครั้งต่อไปแล้วค่ะ ว่าจะจับเจ้าอารมณ์แช่มชื่น ^_^ ถ้ามันเกิดเฉยขึ้นมาในขณะทำบุญ ตอนนี้เขัาใจแล้วค่ะ

แต่ก็แปลกนะคะ ทำไมอุเบกขาอยู่ถึงที่ฌาน ๕ ดูแล้ว อุเบกขาน่าจะดีกว่าโสมนัส แต่กลายเป็นโสมนัสในการทำบุญ ดีกว่าอุเบกขาในการทำบุญ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
paderm
วันที่ 6 ก.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 12 ครับ

ระวังนะครับ จะวางแผนให้แช่มชื่น กลายเป็นโลภะที่ต้องการและแช่มชื่นด้วยโลภะแทนครับ ส่วนอุเบกขาที่ดีกว่า สุข ทุกข์ในการเจริญสมถภาวนานั้น เป็นกุศลคนละขั้นกับมหากุศล ๘ ดวงครับ (กามาวจรกุศล) เป็นรูปาวจรกุศลครับ ดังนั้น การละสุข ทุกข์ ด้วยอุเบกขาในกุศลขั้น รูปาวจรจิต จึงประณีตกว่าครับ ดังนั้น เป็นกุศลคนละขั้น ต้องแยกกันครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Graabphra
วันที่ 6 ก.ย. 2554

ขอให้ท่านผู้เป็นกัลยาณมิตร มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ปรารถนาให้ท่านพักผ่อนร่างกายตามสมควร เพื่อความสะดวกในการศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาแก่ผู้สนใจใฝ่ธรรมทั้งหลาย เพื่อประโยชน์อย่างสูงสุดแก่ชาวโลก ขอให้คุณของพระธรรม คุณของกุศลทั้งหลาย จงปกปักษ์รักษาท่าน ผลบุญทุกประการจงส่งถึงท่านโดยเร็วครับ ผมและชาวโลกเป็นหนี้บุญคุณท่านมากเหลือเกิน

ผมก็ขอฟังพระธรรม และเจริญกุศลต่อไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
SOAMUSA
วันที่ 6 ก.ย. 2554

กราบอนุโมทนา ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

เข้าใจชัดเจนค่ะ กุศลคนละขั้นกัน ละเอียดจริงๆ นะคะ

ธรรมะพระพุทธเจ้า ต้องฟัง อ่านและศึกษากันให้เข้าใจจริงๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
wannee.s
วันที่ 6 ก.ย. 2554

กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็มี ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี กุศลที่มีกำลังเกิดเองไม่ต้องมีใครมาชวนก็มี กุศลที่มีกำลังอ่อนต้องมีคนชวนจึงจะทำก็มี กุศลที่ประกอบด้วยความดีใจก็มี กุศลที่ประกอบด้วยความเฉยๆ ก็มี ที่สำคัญ คือ ความเข้าใจธรรมะ เพราะเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ที่สามารถทำให้เราออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
kinder
วันที่ 6 ก.ย. 2554
ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
หลานตาจอน
วันที่ 7 ก.ย. 2554
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
aurasa
วันที่ 8 ก.ย. 2554
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
SOAMUSA
วันที่ 8 ก.ย. 2554

กราบอนุโมทนาทุกๆ ท่าน

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
kunnigarjeed
วันที่ 12 เม.ย. 2560

อนุโมทนา สาธุ

ขอบพระคุณที่ทำให้เข้าใจมากขึ้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
peem
วันที่ 30 ต.ค. 2560

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาอีกหลายๆ ครั้งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
peem
วันที่ 1 พ.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
่jurairat91
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
muda muda
วันที่ 28 พ.ค. 2565

เป็นประโยชน์อย่างยิ่งค่ะ อนุโมทนา สาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
chatchai.k
วันที่ 28 พ.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ