อินเดีย ... ที่พักใจ 1

 
kanchana.c
วันที่  8 ก.ย. 2554
หมายเลข  19671
อ่าน  2,415

อินเดีย ... ที่พักใจ

ไปอินเดียมา ๕ ครั้งแล้ว ก่อนไปก็ไม่อยากไป เมื่อนึกถึงความยากลำบากในการนั่งรถ เดินทางไปตามที่ต่างๆ ถนนหนทางก็แสนขรุขระ เต็มไปด้วยฝุ่นละออง การจราจรก็เอา แน่ไม่ได้ บางครั้งระยะทางแค่ ๑๐ กม. ต้องใช้เวลาถึง ๔ ชั่วโมง (เพราะขบวนรถบรรทุก ขับไปตามความชอบใจของตน ไม่ต้องดูว่าควรเป็นทางวิ่งของใคร ถ้ารู้อย่างนี้เดินไปก็ คงจะถึงก่อน) เรื่องห้องสุขาที่สะอาดไม่ต้องพูดถึง อาศัยห้องสุขาธรรมชาติกว้างใหญ่ ข้างทาง แม้ไม่มีกลิ่นเหม็นมาก เพราะธาตุลมทำหน้าที่พัดพาไปอย่างรวดเร็วแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องระวังไม่ให้ไปเหยียบของเก่าที่คนอื่นทำไว้ก่อน ครั้งหลังๆ ได้รับความสะดวกมากขึ้น มีพ่อค้าชาวอินเดียเปิดร้านอาหารระหว่างทางให้แวะรับประทานอาหาร และมีห้องสุขาเป็นชักโครก สะอาดพอใช้ได้ วัดไทยก็สร้างห้องน้ำสะอาดมากให้ญาติโยมได้ ใช้บริการด้วย (ดูเหมือนตัวเองจะให้ความสำคัญกับห้องสุขามากเกินไปหรือเปล่านี่) แต่ไม่ว่าจะยากลำบากอย่างไร เมื่อไปครั้งหนึ่งแล้วก็อยากไปครั้งที่ ๒ ที่ ๓ และอีก หลายๆ ครั้ง เพราะเกิดปีติที่ได้กราบไหว้สังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง ที่ลุมพินี ประเทศ เนปาล สถานที่ประสูติ พระแท่นวัชรอาสน์ (ที่นั่งของบุรุษผู้มีใจเพชร) ใต้ต้นพระศรีมหา โพธิ์ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ ธัมเมกสถูป ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองสารนาถ พาราณสี สถานที่แสดงปฐมเทศนา กุสินารา สถานที่ปรินิพพาน รวมทั้งสถานที่ที่พระองค์ทรง เคยประทับอยู่เป็นเวลานาน เช่น พระเวฬุวัน พระเชตวัน เป็นต้น ความรู้สึกเป็นสุขเช่นนี้ หาไม่ได้จากการไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก

แต่ในการไปครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ ๖ มีความรู้สึกต่างไปจากเดิม เพราะก่อนไปก็ตื่นเต้นรอ เวลาที่จะได้ไปเร็วๆ ได้ยินเสียงสวดมนต์ธัมมจักกัปวนตนสูตรโดยพระศรีลังกาที่มูลนิธิ ศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา นำมาเปิดช่วงปิดท้ายรายการ “แนวทางเจริญ วิปัสสนา” ในตอนเช้า ก็ยิ่งคิดถึงบรรยากาศหนาวเย็น แต่อุ่นใจด้วยกุศลจิต เมื่อครั้งท่าน อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์พาไปถวายผอบประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระ ธาตุพระอัครสาวกทั้ง ๒ ที่สมาคมมหาโพธิ์ พุทธคยา ในเดือนมกราคม ๒๕๕๑ (ราย ละเอียดหาอ่านได้ที่ www.dhammahome.com ในกระดานสนทนา หัวข้อ “สนทนาธรรม” เรื่อง “๔ วันในพุทธคยา”, “เสน่ห์อินเดีย”, และ “อินเดีย ... อีกแล้ว”)

เมื่อฟังท่านอาจารย์ ฯ บรรยายธรรม พูดถึงพระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เมืองสาวัตถี ก็เห็นภาพพระคันธกุฎี ที่ไปกราบไหว้บูชาด้วยธูปเทียนและดอก กรรณิการ์ (ที่แขกเก็บมาขาย) พร้อมทั้งนั่งสนทนาธรรมหลายครั้ง มีความรู้สึกเหมือน สมัยเมื่อเป็นเด็กอายุ ๗ ขวบ อยู่บ้านนอกกับแม่ ไม่มีโรงเรียนดีๆ แม่ฝากให้มาอยู่กับยาย เพื่อเรียนหนังสือในเมือง (ที่จริงก็ยังเป็นบ้านนอก แต่ดีกว่ากันนิดหนึ่ง) เมื่อถึงเวลาปิด เทอม ก็ตื่นเต้นที่จะได้กลับไปอยู่กับแม่ ความรู้สึกนั้นซึ่งเกิดมาหลายสิบปีแล้ว ดับไป นานแล้ว ความรู้สึกคล้ายกันก็เกิดขึ้นมาอีก แม้ไม่ใช่ความรู้สึกเก่า แต่สัญญา ความจำ ก็ พอจะเทียบเคียงได้ว่าใกล้เคียงกัน ทำให้นึกย้อนกลับไป และคิดเปรียบเทียบว่า อินเดีย โดยเฉพาะสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่งนั้นเปรียบเหมือน “ที่พักใจ” ให้สงบเย็นจากความ ร้อน คือ โลภะ โทสะ โมหะ แม้จะเป็นการชั่วคราวก็ตาม และเหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือน (๑๕ ต.ค. ๕๔ – ๒๔ ต.ค. ๕๔) ก็จะได้กลับไปสู่สถานที่ที่ เปรียบเหมือน “บ้านแม่” ที่มีแม่ผู้เรารู้ว่า รักและเมตตาด้วยความจริงใจรออยู่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อาจารย์ kanchana.c ครับ ก็เป็นสิ่งที่ดีที่จะได้เดิน ทางไปสังเวชนียสถาน ซึ่งเป็นที่สมควรแก่การสักการะ เคารพ ที่สำคัญการไปสังเวช นียสถาน ชื่อบอกอยู่แล้วครับว่า เป็นสถานที่ที่ควรแก่การสังเวช สังเวค คือ สลดด้วย ปัญญา แต่ไม่ใช่สลดด้วยการร้องไห้ เศร้าโศกนะครับ สลด สังเวชด้วยปัญญาและ น้อมมาที่จะพิจารณาในตน ที่จะอบรมปัญญามากขึ้น เจริญกุศลมากขึ้นและละกิเลส เท่าที่ทำได้ตามกำลังของปัญญา นี่คือ ประโยชน์จากการได้ไปสังเวชนียสถานที่ อินเดียครับ ไม่ใช่เพียงไหว้แต่น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมครับ เมื่อกลับมาก็จะ เป็นผู้ที่ขัดเกลามากขึ้นครับ ที่พักใจที่ดี คือ ขณะที่กุศลธรรมเกิดไม่ว่าที่ไหนก็ตาม และเมื่อได้ไปสถานที่ที่ควรเห็น เมื่อใดที่กุศลจิตเกิด เมื่อเห็นสถานที่นั้นก็เป็น สถานที่ พักใจที่ดีในขณะนั้นครับ ขออนุโมทนา

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 8 ก.ย. 2554

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของพี่แดงด้วยครับ ยอมรับว่า เป็นผู้ที่รอคอยบทความธรรมะของพี่แดง ไม่ว่าจะได้อ่านครั้งใด เรื่องใดก็ตาม ทำให้รู้สึกถึงความอบอุ่น จริงใจ ในการบอกเล่า ประสบการณ์ต่างๆ ที่พี่เล่า เป็นประโยชน์ และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ศึกษาธรรมอย่างยิ่งครับ

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 8 ก.ย. 2554

ทำไมถึงชอบไปอินเดีย? เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยมากค่ะ และเชื่อว่าหลายๆ ท่านก็มักจะ ถูกถามเช่นนี้ สำหรับคนที่เคยไปแล้ว โดยมากจะไม่ไปครั้งเดียว (ถ้ามีเหตุปัจจัยพอ) สำหรับข้าพเจ้าก็ไปมาแล้ว ๕ ครั้งเช่นกันค่ะ และตั้งใจว่าจะไปทุกปีจนกว่าชีวิตนี้จะหาไม่ ทุกครั้งที่ไปก็จะเจอคนหน้าเดิมๆ ที่ไปกันอยู่ประจำ จนกลายเป็นญาติธรรมกันไปแล้ว แม้ แต่คนขายดอกไม้ ร้านอาหาร ขอทาน คนกวาดลานพระเจดีย์ก็กลายเป็นคนที่คุ้นหน้า คุ้นตากัน ไปที่ไรรู้สึกอบอุ่นไม่โดดเดี่ยว (ไม่รู้สึกเลยว่ามาคนเดียว)

ปกติข้าพเจ้าเป็นคนตื่นสาย แต่อยู่ที่อินเดีย (พุทธคยา) ข้าพเจ้าตื่นตี ๕ ทุกวัน ด้วย ความสดชื่น กระตือรือร้นที่จะออกไปเจริญกุศลที่ลานพระมหาเจดีย์ ตั้งแต่ให้ทาน ตัก บาตร จัดดอกไม้ถวายพระบรมศาสดา นั่งอ่านพระไตรปิฎกใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ สลับ กับกระทำประทักษิณพร้อมกับกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ บางครั้งก็มีการสนทนาธรรม กับสหายใหม่ อยู่ที่นั่นตั้งแต่เช้าจดเย็นจนเจ้าหน้าที่เป่านกหวีดไล่นั่นแหละค่ะ ถึงได้ กลับที่พัก เป็นวันเวลาที่ผ่านไปด้วยปิติโสมนัสจริงๆ ค่ะ แล้ววันๆ นึงเนี่ยจะไม่ค่อยรู้สึก หิวเลย ทั้งๆ ที่แทบจะไม่ได้ทานอะไรเลยค่ะ (กุศลจิตคงนำมาซึ่งปิติ ทำให้อิ่มอกอิ่ม ใจ)

สำหรับข้าพเจ้าแล้ว โพธิมัณฑสถานเป็นสถานที่มหัศจรรย์ที่สุด ไม่มีที่ไหนในโลก (จาก ๖๐ กว่าประเทศที่เคยไปมา) ที่จะตรึงใจข้าพเจ้าได้เหมือนสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง แห่งนี้ ทั้งๆ ที่การเดินทางแสนลำบาก อาหารการกินก็อัตคัด ที่นั่งที่นอนก็ไม่สบาย เดินไปทางไหนก็มีแต่ฝุ่น ความสกปรกและขอทานโดยรอบ เรื่องห้องน้ำไม่ต้องพูดถึง (เพราะเป็นที่รู้กัน) และอื่นๆ อีกมากมายที่ท่านเองก็หาไม่ได้ในที่ไหนในโลกอีกเช่นกัน ไม่ไป ... ไม่รู้ ถึงความอัศจรรย์ที่ว่านี้นะคะ

ขอขอบคุณอาจารย์กาญจนาสำหรับกระทู้ที่ทำให้เกิด ตถาคตโพธิศรัทธา มากยิ่งขึ้นค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 8 ก.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาทุกท่านที่ได้เดินทางไปยังสังเวชนียสถานครับ

สถานที่ที่เอื้ออำนายให้กุศลเจริญนั้น คงมีไม่มากในโลกนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Graabphra
วันที่ 8 ก.ย. 2554
ขอบพระคุณมาก และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 8 ก.ย. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิิิริยะของอาจารย์กาญจนา ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
aditap
วันที่ 9 ก.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 9 ก.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ..และคงได้อ่านข้อเขียนที่เกี่ยวกับอินเดียเช่นเคย

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pamali
วันที่ 9 ก.ย. 2554
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
homenumber5
วันที่ 11 ก.ย. 2554
ขออนุโมทนาท่านเจ้าของกระทู้และท่านวิทยากร และทุกความเห็น ดิฉันเคยไปสัมผัสแดนพุทธภูมิ ครั้งหนึ่ง ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้ พุทธคยา ความปิติที่เกิด จน กระทั่ง น้ำตาไหลเอ่อ คล้ายว่า ได้เคยสัมผัสที่นี่มานานแสนนานใน อดีตกาล และจากไปแดนไกลยาวนา เมื่อได้กลับมาอีก ความสุข ปรากฏจนกลั้นน้ำตามิได้ จริงๆ จากเมื่อปีก่อน ราวกรกฏาคม จนบัดนี้ ภาพที่ตนเองนั่งเจริญพระพุทธวัจจนะของพระ พุทธเจ้า ต่อหน้ารัตนบัลลังค์ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธินั้น ยังคงปรากฏใน ความทรงจำมิลางเลือน ส่วนความทุรกันดาลนั้น ดิฉันกลับไม่รู้สึกเท่าใดนักด้วย เชื่อว่า เมื่อเรามีศรัทธกล้าหาญย่อม ชนะอกุสลนานับประการได้ จึงไม่แปลกใจที่ อาจารย์กาญจนา จะ กลับไปแดนพุทธภูมิทุกๆ ปี พระพุทธศาสนาใน ยุคพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ยังมีหลักฐานประวัติศาสตร์ให้เรามาชื่นชมบารมี และระลึกถึงพระมหาธิคุณอันไพศาลของพระพุทธเจ้าที่มีแก่ชาวโลก ทั้ง 31 ภพภูมิ ทรง ปรารถนารื้อสัตว์ ถอนสัตว์ออกจากความทุกข์ แต่ คน บนโลกนี้กลับดิ้นรนไปหาความทุกข์และพากันลืมความยากลำบากและพระคุณของพระพุทธเจ้า ช่างน่าเสียดาย เสียชาติที่เกิดมาแล้วได้พบพระพุทธศานาแต่ไม่สนใจใฝ่สิกขาทางพ้นทุกข์ที่ทรงชี้แนะไว้มาถึง มากกว่า 2600 ปีทีเดียว
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ผิน
วันที่ 11 ก.ย. 2554
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
jangthi
วันที่ 19 ก.ย. 2554

กราบอนุโมทนาค่ะอาจารย์

อ่านบทความของอาจารย์แล้วอิ่มใจทุกครั้ง แต่ก็ไม่ค่อยได้หาโอกาสที่จะอ่านเลยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paew_int
วันที่ 22 ก.ย. 2554

ไปอินเดียเพื่อกราบสักการะและระลึกถึงพระปัญญาคุณ พระมหากรุณาคุณและพระบริสุทธิคุณของพระพุทธองค์ และถ้าได้ศืกษาธรรมะของพระพุทธองค์และมีการเจริญสติอยู่เนืองๆ ก็นับว่าเป็นโอกาสดีมีค่าอย่างยิ่งที่ได้ไปกราบนมัสการ ขออนุโมทนาสาธุกับทุกท่านที่ได้รับโอกาสอันนั้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ING
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ