สักกายทิฐิ กับ อัตตานุทิฐิ เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร

 
happyland
วันที่  11 ก.ย. 2554
หมายเลข  19704
อ่าน  8,480

สักกายทิฏฐิ กับ อัตตานุทิฏฐิ เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร ในขณะพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฎพิจารณารวมกันหรือแยกพิจารณา กล่าวคือพระอริยะบุคคลขั้นต้นละสักกายทิฏฐิ ส่วนอัตตานุทิฏฐิละขั้นไหน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

อัตตานุทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์ บุคคลนั่นเองครับซึ่งเป็นความเห็นผิดที่เป็นทิฏฐิเจตสิก ซึ่งมีวัตถุ ๒๐ ประการเช่นเห็นรูปว่าเป็นตนเห็นตนในรูปเป็นต้นซึ่งในความเป็นจริง

อัตตานุทิฏฐิ ก็คือ สักกายทิฏฐินั่นเองครับ ชื่อต่างกันแต่อรรถก็เหมือนกัน เพราะสักกายทิฏฐิ คือความยึดถือสำคัญว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนสำคัญในขันธ์ ๕ ว่าเป็นเราก็เป็นความเห็นผิดที่็เป็นทิฏฐิเจตสิกครับ

[เล่มที่ 69] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒- หน้าที่ 81

อัตตานุทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ ด้วยคำถามว่า ทิฏฐิอะไรแก้ว่าคือ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ ด้วยคำถามว่า ทิฏฐิเท่าไร แก้ว่าทิฏฐิ ๖๒ มีสักกายทิฏฐิเป็นประธาน อนึ่ง สักกายทิฏฐิ นั้นแลท่านกล่าวว่า อัตตานุทิฏฐิ โดยคำสามัญว่านั่นเป็นตัวตนของเรา

เมื่อกล่าวถึง อัตตานุทิฏฐิ นั้นก็เป็นอันกล่าวถึงแม้ ทิฏฐิที่ปฏิสังยุตด้วยอัตตวา ในขณะพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฎพิจารณารวมกันหรือแยกพิจารณาในขณะที่ สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมสติและปัญญารู้ทีละลักษณะครับ ไม่ได้พิจารณารวมกันแบบความคิดนึกครับ ทีละสภาพธรรมครับ

พระอริยะบุคคลขั้นต้นละสักกายทิฏฐิ ส่วนอัตตานุทิฏฐิละขั้นไหน

พระโสดาบันที่เป็นพระอริยบุคคลขั้นต้นสามารถดับความเห็นผิดทุกๆ ประการได้ทั้งหมด ทั้งสักกายทิฏฐิ รวมทั้ง อัตตานุทิฏฐิดด้วยครับ ละได้หมดเมื่อเป็นพระโสดาบัน

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขึ้นชื่อว่าความเห็นผิดแล้ว (มิจฉาทิฏฐิ) เป็นสภาพธรรมที่เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไม่ตรงตามความเป็นจริงแม้แต่ สักกายทิฏฐิ หรือ อัตตานุทิฏฐิ ก็เช่นเดียวกันเป็นความเห็นผิดประการหนึ่ง ที่เห็นผิดในสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลเพราะแท้ที่จริงแล้วธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เพราะยังไม่ได้ดับความเห็นผิดได้อย่างเด็ดขาดยังมีพืชเชื้อของความเห็นผิดอยู่ ความเห็นผิดประเภทนี้ ก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ เพราะตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังไม่สามารถดับความเห็นผิดใดๆ ได้เลย แต่ความเห็นผิดทุกประการจะุถูกดับได้อย่างหมดสิ้น

เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน การระลึกรู้สภาพธรรม เป็นกิจหน้าที่ของสภาพธรรมฝ่ายดีคือ สติ (สภาพธรรมที่ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม) และปัญญา (สภาพธรรมที่เข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม) ไม่ใช่ตัวตนที่ระลึกรู้ไม่ใ่ช่การบังคับบัญชาด้วย เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ซึ่งจะต้องอาศัยการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้น ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรมในชีวิตประจำวัน ครับ .

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
happyland
วันที่ 11 ก.ย. 2554

ขอบพระคุณ อาจารย์paderm มากครับ

แต่ยังสงสัยอยู่เนื่องจากข้อความตามพระไตรปิฎ เล่มที๑๘

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ข้อ ๒๕๕-๒๕๖

เรื่อง สักกายทิฏฐิสูตร และอัตตานุทิฏฐิสูตร

พระภิษุุได้เข้าไปถามพระผู้มีพระภาค สองครั้ง ซึ่งคำตอบแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน เช่น เรื่องสักกายทิฏฐิ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ บุคคลรู้เห็นจักษุแลโดยความเป็นทุกข์ จึงจะละสักกายทิฏฐิได้ รู้เห็นรูปโดยความเป็นทุกข์จึงจะละสักกายทิฏฐิได้ ฯ เป็นต้น

เรื่อง อัตตานุทิฏฐิ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ บุคคลรู้เห็นจักษุแล โดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฏฐิได้ รู้เห็นรูปโดยความเป็น อนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฏฐิได้ ฯ เป็นต้น

ดังนั้นสองเรื่องต่างกัน จึงน่าพิจารณาต่างกัน จึงขอความกรุณาชี้แจงให้แจ้งด้วยครับจักเป็นพระคุณอย่างสูงครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
happyland
วันที่ 11 ก.ย. 2554

ไม่ทราบว่าข้อความในพระไตรปิฎกที่ยกมาตาม ความคิดเห็นที่ 3 ถูกต้องหรือไม่ครับ คัดลอกมาจากเวปอื่นและข้อความดังกล่าวมีในพระไตรปิฎกที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้ามีกรุณาชี้แจงให้ทราบด้วยจักเป็นพระคุณอย่างสูงในความเป็นจริงนั้นมิได้มีความเห็นที่ต่างไปจากท่านอาจารย์ทั้งสองแต่ได้อ่านพบ จึงเกิดความสงสัย

ด้วยความเคารพในความเห็นทุกความเห็น ขอบพระคุณอย่างสูง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 11 ก.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 3 และ 5 ครับ

จากข้อความที่ท่านผู้ถามยกมานั้นอยู่ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ซึ่งทั้งหมดมี 3 สูตร เริ่มจาก มิจฉาทิฏฐิ สูตรก่อนครับซึ่งแสดงว่าการจะละ มิจฉาทิฏฐิ ได้ด้วยการเห็นความไม่เที่ยงของสภาพธรรมและสูตรต่อไปคือ สักกายทิฏฐิสูตร จะละ สักกยทิฏฐิ ได้ด้วยการเห็นทุกข์ในสภาพธรรม และจะละ อัตตานุมิฏฐิ ได้ด้วยการเห็นความเป็นอนัตตา ของสภาธรรม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทั้ง สักกายทิฏฐิ และ อัตตานุทิฏฐิ ก็คือความเห็นผิดนั่นเองครับดังนั้นเมื่อเห็นความไม่เที่ยงก็เห็นความเป็นทุกข์และความเป็นอนัตตา ของสภาพธรรมด้วครับ

เมื่อละ มิจฉาทิฏฐิ ได้ก็เป็นอันว่าละ สักกายทิฏฐิ ได้้ด้วยและละ อัตตานุทิฏฐิ ได้ด้วยครับ ดังนั้นเมื่อเห็นควาไม่เที่ยงที่เป็นไตรลักษณ์ก็เห็ถึงความเป็นทุกข์และเป็นอนัตตาด้วย แต่ใน 3 สูตรนี้ อรรถกถาแก้ว่า ตรัสด้วยอำนาจ อัธยาศัยของสัตว์โลกที่ฟังเรื่องใดจะเข้าใจใน3 สูตรนี้ ซึ่งในความเป็นจริง ทั้งสักกายทิฏฐิ และ อัตตานุทิฏฐิ ก็คือความเห็นผิดที่เป็น มิจฉาทิฏฐิ และ อัตตานุทิฏฐิ กับ สักกาทิฏฐิ ก็เนื่องกันคือความยึดถือด้วยความเป็นตัวตน เป็นต้นครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
happyland
วันที่ 11 ก.ย. 2554

ขอบพระคุณอาจารย์ paderm ที่เมตตาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
miran
วันที่ 12 ก.ย. 2554

ขอนุญาติแสดงความคิดเห็นหน่อยนะครับ ผมดูจากคำถามของผู้ตั้งกระทู้ ท่านคงสงสัยว่าพระโสดาบัน ละสักกายทิฏฐิได้แล้วแต่ยังมีสังโยชนเหลืออยู่อีกเช่น ราคะ ปฏิฆะ...ฯ เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้สงสัยว่า พระโสดาบัน ละสักกายทิฏฐิได้แล้วแต่มีอัตตานุทิฏฐิเหลืออยู่ใช่หรือไม่ขออาจารย์ช่วยพิจารณาอธิบายตรงนี้หน่อยนะครับ

ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 12 ก.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

สำหรับพระโสดาบัน ท่านละ ทิฏฐิ คือความเห็นผิดได้ทุกๆ ประการแล้วครับไม่ว่าจะเป็นทิฏฐิความเห็นผิดประเภทใดละได้ทั้งทิฏฐิ 62 ประการและละสักกายทิฏฐิ และ อัตตานุทิฏฐิทั้งสองหมดสิ้นครับ โลภมูลจิต8 ดวงที่ประกอบด้วยความเห็นผิด 4 และไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด 4 ดวงพระโสดาบันละ และไม่เกิด โลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด4 ดวงเลยครับเพราะฉะนั้นท่านจึงละความเห็นผิดทุกประการได้ทั้งหมดครับ ขออนุโมทนา

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 5

ก็ทิฏฐิทุกประการ เป็นอันพระโสดาบันนั้นละได้แล้วก็เพราะท่านละ สักกายทิฏฐิ นั้นได้แล้วนั่นเองก็สักกายทิฏฐินั้นเป็นมูลรากแห่งทิฏฐิทั้งปวงเหล่านั้น

[เล่มที่ 67] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม -หน้าที่ 42

จิต ๕ ดวง คือจิตที่สัมปยุตด้วยทิฏฐิ๔ ดวง จิตที่สหรคตด้วยวิจิกิจฉา ๑ ดวง ย่อมดับไปด้วยโสดาปัตติมรรค

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
akrapat
วันที่ 12 ก.ย. 2554

การเห็นไตรลักษณ์ เห็นใน๓ ลักษณะ เห็นเป็นความทุกข์หรือทุกขัง เห็นเป็นอนิจจัง คือความเห็นความไม่เที่ยงหรือความไม่แน่นอน เห็นความเป็น อนัตตา จะเห็นเป็นแบบไหนก็ได้ สามแง่ แต่ก็ละสักกายทิฏฐิได้ เห็นความเป็นอนัตตา ก็ละอัตตาได้

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
akrapat
วันที่ 12 ก.ย. 2554

สักกายทิฐฺ คือละความเห็นผิดรวมทั้งความคิดความเห็นที่แสดงในกระดานสนทนาด้วยนะครับ แม้ว่าความคิดความเห็นท่านจะถูกก็ต้องตามพระไตรปิฎกก็ตามแต่ท่านก็ไม่ทุกข์ร้อนถ้าจะมีใครไม่เห็นด้วย.....

พระอริยะส่วนใหญ่ถ้าเจอคนที่มีทิฏฐิมานะมากๆ ท่านก็ไม่คุยไม่ตอบโต้เสียเวลาเสียโอกาสคนอื่นและที่สำคัญกลัวว่าบาปกรรมจะตกอยู่กับคนที่ท่านตอบโต้ด้วย ยกเว้นเสียแต่ความเมตตากับคนๆ นั้นจริงๆ เพราะฉะนั้นที่ท่านยอมไม่ใช่ว่าท่านยอมแพ้หรือยอมรับหรอก แต่ยอมเพราะกลัวอกุศลจิตจะเพิ่มพูนขึ้นกับคนๆ นั้น คือยอมเพราะท่านเมตตาสงสารต่างหากล่ะ.... บางทีเรามักจะเห็นข่าวการโจมตี ครูบาอาจารย์บางท่านต่างๆ นานา แต่ท่านเหล่านั้นทำไมเอาแต่สงบนิ่งไม่ตอบโต้ทั้งๆ ที่รู้ว่าสิ่งท่านโดนโจมตีนั้นเป็นความเท็จ ไม่ใช่ว่าท่านกลัวหรือท่านยอมรับหรอก แต่เพราะท่านสงสารกลัวคนที่โจมตีท่านจะตกนรกต่างหาก เพราะท่านรู้ว่าถ้าตอบโต้ มันไม่จบท่านจึงต้องนิ่ง....เสีย

ปุถุชนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยยอมรับตัวเองหรอก และรับไม่ได้กับคำติเตียน เพราะมันกระทบอัตตา ตัวตนนี่แหละที่เรียกว่า สักกายทิฐฺิ แต่พระอริยะมองว่าคำตำหนิ มันเป็ธรรมดาของโลก นี่คือการมองโลกของท่านจะต่างจากปุถุชน ปุถุชนจะแบกโลกเอาไว้ ตลอดเวลา โลกที่ว่านี้ ทั้งโลกธรรม๘ และโลกทาง ปัญจทวาร เพราะฉะนั้นถ้าใครยังหวั่นไหวในคำติเตียนคำสรรเสริญ หรือคำนินทาอยู่แสดงว่ายังละ อัตตานุทิฏฐิไม่ได้จริงๆ ส่วนใหญ่ถ้าโดนตำหนิแล้วจะเก็บไปคิดและปรุงแต่งอกุศลขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ ทั้งที่คำตำหนิจบไปนานแล้ว (บางที เป็นเดือน เป็นปี) แต่เรายังไม่ยอมจบเพราะอะไรล่ะ เพราะมันยังเป็นเราน่ะสิ นี่แหละความทุกข์ของปุถุชน เกิดตลอดเวลาถ้าปราศจากการรู้เท่าทัน เกิดไม่ใช่เพราะใครทำหรอก เพราะความคิดตัวเองนั่นแหละ.....

พระอริยะขั้นต้น โสดา สกทา ท่านก็มีนะความโกรธ แต่พอท่านระลึกขึ้นได้ ความโกรธนั้นมันก็ดับทันที (โดยไม่ต้องไปคิดเอาหรอกว่า ความโกรธไม่ใช่เรา) เพราะสักกายทิฐฺิมันละได้ เด็ดขาดแล้วนี่ ละได้กี่ดวงก็ไปนับเอา (ผมขี้เกียจจำ) แต่มันก็จะมีอารมณ์ใหม่ๆ ผ่านเข้ามา ถ้าระลึกไม่ได้ก็จะหลงถ้าระลึกได้อารมณ์ต่างๆ เหล่านี้จะดับไป ตามความลำดับ ของพระอริยะ แต่จะไม่หลงนาน เป็นวันๆ เดือนปีเหมือนปุถุชน อารมณ์ แรงๆ เช่น โทสะ โลภะ โมหะ ที่จะเป็นเหตุให้ไปสู่อบายไม่ต้องพูดถึงไม่มีทางเกิด แรงที่ว่า ขนาดไหนล่ะใช้อะไรเป็นตัววัดศีล ๕ ไงล่ะ..... แรงขนาดที่จะทำให้ท่านไปผิด ศีลไงล่ะ นี่แหละที่เรียกว่า อริยะกันตศีล คือศีลที่พระอริยะเจ้าพอใจ

ถ้ายังไม่ชัดเจน จะยกตัวอย่าง ให้ฟังเช่นมีคนไปด่าพระโสดา ท่านก็โกรธแต่ขณะที่ท่านจะกล่าวผรุสวาทท่านก็จะระลึกได้หรือมีคนทำร้ายท่าน ขณะที่ท่านจะต่อยคืน กำลังฆ่าเขาท่านก็ระลึกได้หรือ มีหญิงทีมีสามีหรือไม่มีสามีแต่เป็นลูกสาวชาวบ้านมา เย้ายวนจนท่าน เกิดความกำหนัดขึ้นมา แต่ก่อนที่ท่านจะล่วงประเวณี ท่านก็ระลึกได้ (คงไม่ต้องอธิบายให้คิดลึกว่าขนาดไหน) แต่ถึงแม้บางท่านระลึกได้ก็จริง แต่ถ้าท่านจะตอบโต้ก็เป็นไป เพื่อกำราบหรือลด ทิฐฺมานะ ของคนๆ นั้นจริงๆ ไม่ใช่ตอบโต้เพราะท่านรักตัวเอง แต่ตอบโต้เพราะเมตตาคนๆ ๆ นั้นต่างหากล่ะและที่สำคัญที่การระลึกได้ นั้นเป็นธรรมชาติเป็นธรรมดาของท่านนี่แหละที่เรียกว่าศีลรักษาท่าน ศีลที่ว่าก็คือ สติที่เจริญมาดีแล้วนั่นเอง...

เพราะฉะนั้น ถ้าความเห็นผม โดนตำหนิว่า ผิดเพี้ยนจากความจริง ผมก็ขออโหสิกรรม แต่ถ้าใครคิดว่ายังนับว่าพอมีประโยชน์ก็ไม่ต้องชมเพราะผมกลัวว่าผมจะหลงไปกับคำชมหรือคำสรรเสริญของท่าน.... และเจตนารมณ์ที่ผมแสดงความเห็นไม่ใช่ต้องการอวดอ้างภูมิธรรม อะไรหรอกแต่ผมคิดว่ามีบางคนกำลังติดตามอ่าน ความเห็นของผมอยู่ (ถ้าผมไม่หลงตัวเองนะ) .....

ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
สิริพรรณ
วันที่ 27 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
panasda
วันที่ 23 มิ.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 13 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ