อินเดีย ... ที่พักใจ 2 เตรียมตัวเตรียมใจ

 
kanchana.c
วันที่  12 ก.ย. 2554
หมายเลข  19709
อ่าน  3,288

เตรียมตัวเตรียมใจ

มีผู้ที่เพิ่งจะเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดียเป็นครั้งแรก เธอได้ยิน เรื่องความไม่สะดวกสบายของการเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ มามาก จึงเกิดความ กังวลใจ มาสอบถามเรื่องการเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อจะได้เกิดกุศลจิตมากกว่าอกุศลจิต จึงคิดว่าน่าจะตั้งเป็นกระทู้ให้ผู้มีประสบการณ์ช่วยกันแนะนำ

การเตรียมตัวเรื่องเสื้อผ้านั้น เตรียมไปพอดีๆ อาจจะเกินไปสัก ๑ ชุด เผื่อเจอฝน เรื่อง ซักผ้านั้น ลืมไปได้เลย เพราะส่วนใหญ่จะนอนโรงแรมละ ๑ คืน ชุดชั้นในถ้าใช้เป็นแบบ กระดาษ ใช้แล้วทิ้งเลยก็สะดวกดี และควรเตรียมถุงพลาสติกใบใหญ่เพื่อแยกเสื้อผ้าที่ ใช้แล้วกับยังไม่ได้ใช้ออกจากกัน รองเท้าก็ควรจะใส่สบายที่สุด ที่ดีคือต้องถอดง่ายๆ เพราะต้องถอดบ่อยๆ และถ้ามีไฟฉายเล็กๆ ก็นำติดตัวไปด้วย เพราะถ้าเดินไปนมัสการ พระศรีมหาโพธิ์ในตอนกลางคืน ต้องใช้ไฟฉายส่องที่พื้น เพื่อจะได้ไม่เหยียบกับระเบิดที่ แขกพากันวางทั่วไปตามถนน (นิสัยนี้ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือยังก็ไม่ทราบ)

สำหรับท่านสุภาพสตรี แนะนำให้นุ่งผ้านุ่งหรือกระโปรงบานๆ เพื่อสะดวกในการเข้าห้อง น้ำธรรมชาติข้างทาง หรือบางท่านไม่ชอบนุ่งกระโปรง ก็อาจจะหาผ้าผืนใหญ่ ไปขึงเป็น ม่านไม่ให้อุจาดตา (แต่ต้องรวมเป็นกลุ่ม) หรืออาจจะใช้กางร่ม กั้นสายตาคนก็ได้ และ สำหรับคนที่ชอบสะอาดมากๆ ก็อาจจะเตรียมกระดาษชำระแบบเปียกไปด้วยก็ดีค่ะ คราว ก่อนเห็นท่านผู้หนึ่งใช้ถุงพลาสติกใส่ในกระป๋องแทนชักโครก แล้วทำธุระ (เฉพาะแบบ เบาๆ นะคะ) ในรถเมื่อคนลงไปหมดแล้ว แล้วนำถุงพลาสติกไปทิ้ง ไอเดียนี้ก็ดีนะคะ สะอาดถูกสุขอนามัยของตนเองดี ข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อนไป อินเดียเพิ่งกลับมาบอกว่า ไม่เห็นเป็นอย่างที่เล่าเลย ได้เข้าห้องน้ำสะอาดทุกแห่ง ช่าง โชคดีเหลือเกิน น่าอิจฉาในโชควาสนาจริงๆ

ในการนั่งรถเดินทางไกลนั้น หลายคนมีที่รองคอเพื่อจะได้หลับสบาย มีคนเตรียมไป คน ไม่ได้เตรียมก็นึกเสียดาย เพราะที่บ้านก็มี ซึ่งช่วยได้มากจริงๆ เรื่องอาหาร ถ้าเป็นคนรับประทานง่ายๆ ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่ชอบของแปลก หรือติด ของเดิม ก็ต้องนำติดตัวไปด้วย เช่น พริกป่น น้ำปลา (ขวดเล็ก) ซีอิ้วเป็นซองเล็กๆ เรา คิดว่าตัวเองรับประทานง่าย พอเดินทางหลายๆ วัน ก็ต้องไปขอปันจากผู้ที่เตรียมไปบ้าง แต่คราวก่อนเอาน้ำพริกกะปิที่อร่อยมากใส่กล่องอย่างดีไป ปรากฏว่ากล่องแตก กระเป๋า เดินทางเหม็นจนต้องทิ้งไป ๑ ใบ (ทิ้งที่อินเดียเลย เพราะทำให้รถเหม็นไปด้วย แต่ยังดี ที่เป็นกระเป๋าใบเล็ก) เพราะฉะนั้นถึงแม้จะติดน้ำพริกกะปิขนาดไหนก็ตาม อย่าได้เอาไป เลย ได้ทราบมาว่า คราวนี้หัวหน้าทัวร์เตรียมไปแล้ว คราวก่อนก็ได้นำกระเพราไปผัดให้ พวกเรารับประทานด้วย

จะเห็นว่า อยู่เมืองไทยคิดว่าตัวเองไม่ติดรสอาหาร เพราะทานอะไรก็ได้ (ก็มีแต่ของ ชอบทั้งนั้น) แต่พอไปอินเดียหลายๆ วัน ก็จะเห็นความติดในรสมากมาย อากาศตอนเดือนตุลา ที่เคยไปมานั้นกำลังสบาย แต่ก็ต้องเตรียมเครื่องกันหนาวไปด้วย อาจจะเป็นผ้าพันคอ หมวก เพราะรถบัสที่พาเราเดินทางไปนั้น บางครั้งก็ไม่สามารถปรับ แอร์ได้ แม้จะหนาวจนสั่นก็ตาม พวกเราต้องช่วยตัวเองด้วยการหาถุงไปปิดช่องแอร์ แล้ว ก็ใช้ผ้าพันคอคลุมศีรษะหรือใส่หมวก หรือบางครั้งแอร์ก็เสีย ต้องเปิดกระจก ทำให้ฝุ่นที่ มีมากมายนั้นฟุ้งเต็มรถ ต้องใส่แว่นตากันแดดและหาหน้ากากอนามัยปิดปากปิดจมูก คราวที่แล้วไม่ได้เตรียมไป แต่ก็ได้จากความเมตตาของน้องๆ ที่ไปด้วยกัน เธอเตรียมเผื่อ ไปให้คนที่ไม่เอาไปด้วย มีหลายอย่างที่เราไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอในอินเดีย

ส่วนเรื่องเตรียมใจนั้นสำคัญมาก แต่ไม่สามารถจะเตรียมได้ทันทีทันใดเหมือนเสื้อผ้า สิ่งของ ต้องใช้เวลาในการสะสมความรู้ ความเข้าใจในพระปัญญาคุณ พระมหากรุณาคุณ และพระบริสุทธิคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้เกิดศรัทธาในการเดินทาง ไปนมัสการสังเวชนียสถานครั้งนี้

แต่ความรู้ ความเข้าใจนั้นก็เริ่มสะสมได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เริ่มตั้งแต่ธรรมที่จะทำให้เข้ากับคน อื่นๆ ที่เพิ่งรู้จักครั้งแรกได้ คือ ความเมตตา ความเป็นเพื่อน เป็นมิตร ซึ่งคิดว่าคงไม่ยาก เพราะทุกคนที่เดินทางไปด้วยกันก็เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน คือ ได้กราบนมัสการสถานที่ ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นพระบรมศาสดาของพวกเราทุกคนประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา ปรินิพพาน

เมื่อวานฟังท่านอาจารย์บรรยายธรรมในรายการ “แนวทางเจริญวิปัสสนา” ถึงธรรมที่ปิด ช่องว่างระหว่างกัน (ไม่ว่าจะเป็นระหว่างวัย ระหว่างเพศ ระหว่างเชื้อชาติ ระหว่าง สถานภาพทางสังคม ฯลฯ ) ทำให้เข้ากันได้ คบกันได้ คือ ปฏิสันถาร มีอามิสปฏิสันถาร การต้อนรับด้วยสิ่งของ เช่น นอกจากจัดเตรียมยาประจำตัวสำหรับตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ยาความดัน เบาหวาน ยาระบาย แล้ว อาจจะเตรียมยาหม่อง ยาหอม ยาดม ยาเขียวไป เผื่อคนอื่นด้วย หรือพูดจาอ่อนหวานด้วยความเมตตา ไม่ต้องคิดว่า เขาจะคิดอย่างไร เช่นอย่างเรามีบุคลิกน่าเกรงขาม (พูดแบบยกย่องตัวเอง จริงๆ คือ หน้าดุ ดูเคร่งเครียด เพราะสะสมโทสะมามาก เมื่อมีคนเห็นครั้งแรกก็จะกลัว ทั้งๆ ที่ตอนนั้นกำลังคิดมุขตลก ให้คนหัวเราะอยู่แท้ๆ ) ตอนหลังเมื่อฟังธรรมพอเข้าใจแล้ว ก็พยายามยิ้มแย้มให้มากขึ้น (แต่ก็ยังมีคนคิดว่าขู่อีก) และพยายามทักทายคนอื่นก่อน เพราะไม่มีใครรู้จิตของคนอื่น ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล แต่การรู้จิตของคนอื่นก็ไม่สำคัญเท่ากับรู้จิตของตนเองว่าเป็นกุศล หรืออกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ควรเจริญ เป็นอกุศลก็ควรละ ท่านบอกว่า เมื่อเห็นกันอยู่ก็ควร เมตตาเอ็นดูกัน เมื่อต้องจากกันแล้วก็ไม่ควรเศร้าโศกถึงกัน ควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ กัน คือ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้

นอกจากนั้นก็มีน้ำใจช่วยเหลือกันและกัน จะช่วยแจกของในรถ ช่วยหิ้วของก็ได้ หรือ นวดเฟ้นให้หายเมื่อยล้าก็ได้ (อันนี้บอกเฉพาะเพื่อนร่วมห้อง) อย่างเราและเพื่อนร่วม ห้องก็เตรียมฝึกวิทยายุทธ์ที่ไปนวดให้คนหายเมารถ เมาเครื่องบิน เป็นต้น ซึ่งเป็นเวยา วัจจมัย ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็เป็นหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐

และที่สำคัญ คือ ธัมมปฏิสันถาร การต้อนรับด้วยธรรม คือ สนทนาปราศรัยแลกเปลี่ยน ความรู้ความเข้าใจธรรมแก่กันและกันก็ได้ เหลือเวลาอีกเกือบเดือน ฟัง “แนวทางเจริญ วิปัสสนา” ทางสถานีวิทยุต่างๆ ไปเรื่อยๆ นะคะ ความรู้ ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ศรัทธาที่จะได้ไปกราบไหว้ก็จะมีขึ้น กุศลจิตก็จะมากขึ้นเองค่ะ แต่ทั้งหมดนี้อย่าลืมว่า บังคับบัญชาให้เกิดตามต้องการไม่ได้ เพราะทุกอย่างเป็นอนัตตาค่ะ เมื่อไปแล้วจะได้ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสอย่างไร ก็เป็นผลของกุศลกรรมและ อกุศลกรรมที่ทำไว้แล้ว ส่วนกุศลจิต อกุศลจิตจะเกิดอย่างไรนั้นก็เป็นไปตามการสะสม ของแต่ละท่าน

มีท่านผู้ใดจะแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใหม่ ก็ขอเชิญค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 13 ก.ย. 2554

การเข้าห้องน้ำที่อินเดียเป็นเรื่องสนุกเมื่อไปอินเดียครั้งแรก..มองไปจะเห็นหลากหลายรูปแบบในการหาที่กำบัง..เช่นบางคนไปเป็นกลุ่มแล้วกั้นด้วยผ้า..บ้างก็เตรียมผ้าถุงใส่ยางยืดข้างบนเวลาใช้งานเหลือแต่คอ (อันนี้ใช้กันเยอะ) มองไปเหมือนสุ่มไก่หลากสีมีหน้าคนเป็นหัวสุ่ม..แต่มีข้อควรระวังบางครั้งสุุ่มไก่ที่ว่าแคบเกินไป..ควรทดลองก่อนใช้งานจริงคะอีกประการหนึ่งต้องระวังภัยจากระเบิดเหลวมีกลิ่นที่วางอยู่โดนเมื่อไหร่ต้องรีบล้างออกไม่เช่นนั้นจะเดือดร้อนทั้งคันรถ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 13 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

นอกจากนั้น ถ้าจะพิจารณา ขันติ ความอดทนเป็นมารยาทสากลซึ่งทุกคนต้องชื่นชอบ คนที่มีความอดทน ในการเดินทางร่วมกัน ก็ต้องมีอุปสรรคตั้งแต่เรื่องที่นั่ง ที่พัก เรื่อง ของยานพาหนะ เรื่องเวลานัดหมายต่างๆ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่บ่น และไม่กล่าวคำตำหนิใดๆ เลย แต่มีความเห็นใจ มีความเข้าใจ ช่วยเหลือคนอื่น ขณะนั้นก็ต้องเป็นที่ นิยม เป็นที่สรรเสริญของบุคคลอื่นเพราะว่าทุกท่านก็คงจะทราบนะคะว่า อกุศลธรรม ทั้งหมดนั้นไม่อดทน

คำบรรยายจากท่านอ.สุจินต์ เรื่อง บารมีในชีวิตประจำวัน ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
สมศรี
วันที่ 13 ก.ย. 2554

กราบขอบพระคุณที่แนะนำการเตรียมตัวเตรียมใจเดินทางไปประเทศอินเดีย เคยไปแล้ว 2 ครั้ง เว้นช่วงห่างกันเป็นสิบกว่าปี อินเดียก็ยังคงอนุรักษ์ ห้องน้ำกลางแจ้งริมทางอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นวัฒนธรรมของเขา เดินทางไปไกลๆ เห็นพุ่มไม้ก็ดีใจ อยู่หลายวันเข้า ก็ชินไปเอง แรกๆ ก็ใช้ที่บัง ต่อๆ มา อาจไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะไม่ทันการ เป็นบรรยากาศที่เรียบง่าย ไม่สิ้นเปลือง อุปสรรคต่างๆ ก็เป็นธรรมดาในการเดินทางไกลๆ แต่ขอให้เตรียมเครื่องใช้เนิ่นๆ ให้พร้อม จุดประสงค์ที่สำคัญในการเดินทางคือได้ฟังพระธรรม จากท่านอาจารย์สุจินต์ ณ.สถานที่ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมในสถานที่ต่างๆ ในกาลครั้งหนึ่งที่ผ่านมาแล้ว จะได้ความเข้าใจ ประทับใจ ซาบซึ้งยิ่ง กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาท่านอาจารย์ที่เป็นผู้นำในการเดินทางครั้งนี้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
bsomsuda
วันที่ 13 ก.ย. 2554

"..แต่การรู้จิตของคนอื่นก็ไม่สำคัญเท่ากับรู้จิตของตนเองว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ควรเจริญ เป็นอกุศลก็ควรละ ท่านบอกว่า เมื่อเห็นกันอยู่ก็ควรเมตตาเอ็นดูกัน เมื่อต้องจากกันแล้วก็ไม่ควรเศร้าโศกถึงกัน ควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน คือ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้.."

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะพี่แดง

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pamali
วันที่ 13 ก.ย. 2554
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 13 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แท้ที่จริงแล้ว ล้วนเป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมทั้งนั้น ไม่มีตัวตนที่จะไปเตรียมตัวเตรียมใจ แต่เพราะมีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป คือ จิต เจตสิก และรูป จึงมีการเรียกว่า คนนั้น คนนี้ เตรียมตัวเตรียมใจ สิ่งสำคัญ คือ กาย พร้อม [ร่างกายแข็งแรง] ใจ พร้อม [เข้มแข็งด้วยกำลังของกุศล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญญา ที่จะเป็นกำลังของใจ ที่ดีที่สุด] นอกจากนั้น ก็จะต้องเตรียมทั้งวัตถุสิ่งของที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง [ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล] อันจะเครื่องประคับประคองให้ชีวิตดำเนินไปได้ เพื่อการเจริญกุศล ณ แดนพุทธภูมิ พร้อมกันนั้น สิ่งใดที่พอจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นบ้าง ก็เตรียมไปด้วยเท่าที่พอจะเป็นไปได้ การเกื้อกูลกัน ไม่ว่าจะด้วยวิธิการใดๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ทั้งนั้น ทุกๆ ท่าน เป็นผู้เดินทางร่วมกันในสังสารวัฏฏ์ แต่เป็นการเดินทางร่วมกันอย่างประเสริฐ เพราะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือความเจริญขึ้นของปัญญา จากการได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม มีความเข้าใจไปในแนวเดียวกัน ตามที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้พร่ำสอนให้ได้เข้าใจอยู่เสมอ อันเป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จนกว่าจะมีปัญญาเจริญขึ้นถึงขั้นที่เป็นโลกุตตระดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด จึงจะไม่มีการเดินทางในสังสารวัฏฏ์อีกเลย ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานทีเดียวในการอบรมเจริญปัญญา ครับ.

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์กาญจนา และ ทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 14 ก.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pipongsak
วันที่ 15 ก.ย. 2554

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jangthi
วันที่ 19 ก.ย. 2554

เมื่อเห็นกันอยู่ก็ควรเมตตาเอ็นดูกัน เมื่อต้องจากกันแล้วก็ไม่ควรเศร้าโศกถึงกัน ควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน

ขออนุโมทนาค่ะอาจารย์ จะพยายามทำให้ได้ค่ะ เพื่อใจอันเป็นกุศล

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ING
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ