ดิรัจฉานกถา
การ forward email, facebook และ twitter ต่างๆ ที่ไม่ใช่เรื่องทางธรรมและไม่ใช่
เรื่องธุระหรือเรื่องงาน ถือว่าเป็นดิรัจฉานกถาหรือไม่คะ สมควรกระทำหรือไม่อย่างไร
ขอขอบพระคุณค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ธรรมเป็นเรื่องตรงครับ คำพูดหรือถ้อยคำเรื่องราวที่กั้นสวรรค์ และพระนิพพาน ที่เป็น
เรื่องราวที่ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์ เป็นดิรัจฉานกถาครับ สำหรับการส่งเรื่อราวให้บุคคล
ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทั่วไปทางโลก หรือ การงาน ธุรกิจก็ต้องเป็นธรรมดาครับที่
เป็นเรื่องราวที่ไม่เป็นประโยชน์เพราะไม่ทำให้เกิดกุศลและผู้ส่งก็ทำด้วยอกุศลจิต ก็เป็น
ดิรัจฉานกถา คือเรื่องราวที่ไม่เป็นประโยชน์เป็นธรรมดาครับ ดังนั้นถ้าเป็นอกุศลก็ไม่
สมควรทั้งนั้นครับ แต่มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เข้าใจถึงความเป็นปกติว่าอกุศล
เกิดขึ้นเป็นปกติ ไม่ได้ห้ามเพราะเกิดแล้วนั่นเองครับ แต่ที่สำคัญแม้การส่งข้อมูล หรือ
ถามสาระทุกข์ ความเป็นไปของบุคคลนั้นทางอีเมล เป็นต้น ด้วยกุศลจิต แม้จะไม่ใช่
เรื่องราวธรรม แต่ถามด้วยกุศล ขณะนั้นไม่ใช่เดรัจฉานกถา เพราะเป็นคำพูดที่เกิดจาก
กุศลของผู้ที่พูดและพูดด้วยความเป็นมิตร ติดต่อด้วยความเป็นมิตร อันจะนำมาซึ่ง
ความเป็นมิตร กับบุคคลที่ได้ฟังครับ ดังนั้นจะเป็นดิรัจฉานกถา ก็สำคัญที่จิตผู้พูด ผู้ที่
ติดต่อด้วยครับ และเรื่องราวที่พูดเกี่ยวกับเรื่องอะไรครับ ดังนั้นต้องพิจารณาละเอียด
ทั้ง 2 ประการที่กล่าวมาครับ
การอบรมปัญญาจึงเป้นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน อกุศลเกิดขึ้นเป็นปกติธรรม แม้การ
พูด การติดต่อ ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีคำพูดที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ปัญญาก็
สามารถรู้ความจริงในสิ่งที่เกิดแล้วว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราและเป็นอนัตตา การเข้าใจ
อย่างนี้จึงเป็นหนทางในการดับกิเลสครับ ขออนุโมทนา
ติรัจฉานกถาหรือเดรัจฉานกถาคือคำพูดอันเป็นเครื่องปิดกั้นทางไปสวรรค์และ
ทางแห่งความหลุดพ้น ปิดกั้นการบรรลุนิพพาน
[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 217
อรรถกถาปฐมวัตถุกถาสูตรที่ ๙
บทว่า ติรจฺฉานกถ ได้แก่ เรื่องที่ขัดขวางทางสวรรค์และนิพานเพราะเป็นเรื่องที่
ไม่นำสัตว์ออกทุกข์.
------------------------------------------------------------------------------
เพราะเหตุว่าขณะที่พูดเรื่องราวด้วยจิตเป็นอกุศล จิตที่เป็นอกุศลนั้นไม่ใช่ทางที่จะ
ให้ผลไปสวรรค์และให้ผลด้วยการบรรลุธรรมได้เลยครับเพราะจิตเป็นอกุศลครับ
------------------------------------------------
เดรัจฉานกถา เมื่อไหร่เป็นเดรัจฉานกถา?
เดรัจฉานกถาคือคำพูดที่เป็นไปในเรื่องราวต่างๆ มีเรื่องราวของชาวบ้าน เรื่องราว
ของสิ่งต่างๆ ด้วยเจตนาที่เป็นอกุศลเจตนา อันมีความประสงค์จะพูดเรื่องราวที่ไม่มี
ประโยชน์ ดังนั้นเมื่อไหร่ที่มีเจตนา ต้องย้ำว่ามีเจตนานะครับ มีเจตนาที่เป็นอกุศลด้วย
โลภะ เป็นต้น พูดเรื่องราวที่เป็นบุคคลต่างๆ สิ่งต่างด้วยจิตอกุศลไม่ใช่กุศล ขณะนั้น
เป็นเดรัจฉานกถา คำพุดที่กั้นสวรรค์ มรรคผลนิพพาน
จะเป็นเดรัจฉานกถาเพราะเรื่องราวที่พูดหรือไม่?
จะเป็นกุศลหรืออกุศลจิตนั้นสำคัญที่จิตและสำคัญที่เจตนาครับ ดังนั้นคำพูดใดเป็น
เดรัจฉานกถาก็สำคัญที่เจตนา สำคัญที่จิตของผู้พูดว่าเป็นกุศลหรือไม่ แม้จะพูดเรื่อง
ราวของบุคคลอื่น เช่น เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องโจร แต่พูดด้วยจิตที่เห็นถึงความ
ไม่เที่ยงว่า แม้โจรคนนี้จะเก่งเพียงใดก็ต้องตาย มีความไม่เที่ยงเป็นที่สุด แม้ข้าว น้ำ
ที่มีมากเพียงใด ข้าวและน้ำนั้นก็ต้องถึงความสิ้น เสื่อมไปเป็นธรรมดา คำพูดนี้ไม่ใช่
เดรัจฉานกถา แม้จะกล่าวเรื่องของโจร เรื่องของข้าว เรื่องของน้ำ เพราะเจตนากล่าว
ด้วยจิตที่เป็นกุศล ด้วยจิตที่เห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงโดยปรารภ
เรื่องราวในชีวิตประจำวัน แต่จิตขณะนั้นเป็นความเห็นถูก หากจิตเป็นกุศลแล้ว เรื่อง
ราวที่พูดจะเป็นเดรัจฉานกถาไมได้เลยครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...คำพูดที่ไม่เป็นเดรัจฉานกถา [ปฐมวัตถุกถาสูตร]
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
เมื่อสัปดาห์ก่อนผมเปิดฟังซีดีธรรมะ จำไมไ่ด้แล้วว่าแผ่นไหน ตอนไหน
แต่จำคำสอนของท่านอาจารย์สุจินต์ได้คร่าวๆ ว่า
"พระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นธรรมที่ฝืนอัธยาสัยของสัตว์โลก คือ ฝืนโลภะ"
* * * ----------------- * * *
กราบขอบพระคุณ และ อนุโมทนาจิตที่เป็นกุศลด้วยครับ
* * * ---------------------------- * * *
...พูดด้วยจิตที่เห็นถูก เข้าใจถูก ด้วยจิตเป็นกุศล...
"พระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นธรรมที่ฝืนอัธยาศัยของสัตว์โลก คือ ฝืนโลภะ"
ชัดเจนค่ะ ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น "ดิรัจฉานกถา โดยศัพท์ หมายถึง ถ้อยคำที่เป็นไปทางขวาง กล่าวคือ เป็นถ้อยคำที่ขวางทางสวรรค์ และ ทางนิพพาน เพราะไม่ใช่ธรรมที่เป็นเหตุให้ออกไปจากทุกข์"ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด ลักษณะใด ก็ตาม
ในชีวิตประจำวัน มีเรื่องทีจะต้องพูดมากมาย แต่เมื่อได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาธรรมเป็นปกติ มีความเข้าใจค่อยๆ เพิ่มขึ้น เจริญขึ้น ก็จะได้ทราบว่าสิ่งใดควรพูด สิ่งใดไม่ควรพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจะพูดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นเรืองที่ไร้สาระแล้ว ก็ไม่ควรที่จะพูดดีกว่า เพราะเหตุว่าจะได้เป็นอกุศลทั้งคนที่พูด และคนที่ฟังด้วย
"คำพูดที่เมื่อพูดไปแล้วอกุศลธรรมเจริญ แต่กุศลธรรมเสื่อมไป คำนั้นไม่ควรพูด ส่วนคำพูดที่เมื่อพูดไปแล้วกุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อมไป คำนั้น ควรพูด" ดังนั้นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จึงเป็นเครื่องเตือนอย่างดียิ่งในชีวิตประจำวันครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...