เป็นไปได้ไหมครับ ที่คนเราจะตายในขณะที่เป็นภวังคจิต

 
insight
วันที่  15 ก.ย. 2554
หมายเลข  19735
อ่าน  1,915

คือสงสัยครับว่า ถ้าสมมติคนที่หลับแล้วตาย หรือตายขณะวางยาสลบ (หรือสลบ) คือ

จิตตรงนั้นก็จะมีภวังคจิตเกิดขึ้น อย่างนั้นใช่มั้ยครับ อย่างนั้นเขาจะตายในขณะที่เป็น

ภวังคจิตได้มั้ยครับ แล้วที่ไปของเขาจะเป็นอย่างไร ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขณะที่ตาย คือขณะที่จุติจิตเกิดขึ้นครับ เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นภวังคจิต ไม่ว่าจะเป็น

ตอนหลับ ขณะนั้นยังไม่ตาย แต่หลังจากนั้น จุติจิตเกิดต่อได้ คือ มรณาสันวิถี 5 ขณะ

เกิดขึ้นและก็มีตทาลัมพณจิตและภวังคจิตเกิดต่อ จุติจิตเกิดต่อจากภวังคจิตได้ครับ แต่

รวดเร็วมาก ก็เหมือนหลับอยู่นั่นเอง แต่ขณะที่เป็นชวนวิถีสุดท้าย 5 ขณะ ก็ตื่นในขณะ

นั้นครับ ดังนั้นตายขณะที่เป็นภวังคจิตไม่ได้ แต่จุติจิตเกิดต่อจากภวังคจิตได้ครับ ส่วน

ขณะที่สลบ ชวนวิถีเกิด 6 ขณะ ขณะนั้นยังไม่ตาย แต่เมื่อจะตาย ชวนวิถีสุดท้ายก็ต้อง

เกิด 5 ขณะและจุติจิตจะเกิดก็ได้ หรือจะเกิดหลังจากเกิดภวังคจิตก็ได้ครับ ซึ่งจิตเกิด

ดับรวดเร็วมาก จึงดูเหมือนว่า สลบแล้วก็ตายทันที แต่ในความเป็นจริง ต้องมีชวนจิต 5

ขณะสุดท้ายเกิดก่อน ตอนนั้นไม่สลบแล้วครับ จุติจึงจะเกิดได้ครับ สรุปคือ ถ้าหลับ

สนิทอยู่ ภวังคจิตเกิดติดต่อ จุติจิตจะเกิดต่อไม่ได้ ต้องมีชวนสุดท้ายเกิดก่อน 5 ขณะ

ขณะนั้นตื่นแล้ว จุติจิตเกิดต่อได้ หรือ เกิดต่อจากภวังคจิต อันเป็นภวังคจิตที่เกิดหลัง

จากชวนจิต 5 ขณะเกิดแล้วครับ

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้า 194

คำว่าในฐานะนี้ หมายถึงมรณาสันนวิถี (วิถีใกล้ความตาย)

ประเภทใดประเภทหนึ่งใน ๔ อย่าง เหล่านี้คือ

ประเภทที่ ๑ จิตเสพชวนะ ๕ ครั้ง มีตทารัมมณะ ๒ ครั้ง แล้วจุติ

ประเภทที่ ๒ จิตเสพชวนะ ๕ ครั้ง แล้วจุติ

ประเภทที่ ๓ จิตเสพชวนะ ๕ ครั้ง มีตทารัมมณะ ๒ ครั้ง แล้วมีภวังค์....แล้วจุติ

ประเภทที่ ๔ จิตเสพชวนะ ๕ ครั้ง มีภวังค์.....แล้วจุติ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ส่วนที่ไป คติของเขา หรือสัตว์โลก ก็เป็นไปตามกรรมที่ทำมา ว่ากรรมใดให้ผล

กรรมดีให้ผลก็เกิดในสุคติและเมื่อกรรมชั่วให้ผลก็ทำให้เกิดในทุคติ ซึ่งสำหรับปุถุชน

แล้ว มีคติที่ไม่แน่นอนครับ ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
insight
วันที่ 15 ก.ย. 2554

ขอบคุณมากๆ ครับ สาธุๆ

แต่พอจะอธิบายขยายข้อความที่ว่า "ชวนวิถีเกิด 6 ขณะ ขณะนั้นยังไม่ตาย แต่เมื่อจะตาย ชวนวิถีสุดท้ายก็ต้องเกิด 5 ขณะ" ให้หน่อยได้มั้ยครับ ว่าทำไมถึงลดลงเป็น 5 ขณะ ยังไม่ค่อยเข้าใจ - -"

รู้สึกยินดีมาก ได้เห็นคนนำพระไตรปิฎกมาตอบ ^ ^

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 15 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความตาย ย่อมไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิตขณะสุดท้ายในภพนี้ชาตินี้เกิดขึ้น ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ซึ่งจะต้องกล่าวถึงขณะจิตสุดท้ายเท่านั้น ที่เรียกว่า ตาย (จุติจิตเกิดขึ้น) สิ้นสุดจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ไม่สามารถย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้ได้อีก และตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่นคือ ปฏิสนธิจิต เกิดเป็นบุคคลในภพใหม่ทันที ตามความเป็นจริงแล้ว สัตว์จะไม่ตายในขณะที่เป็นชวนะ ไม่ได้ตายในขณะที่หลับสนิท (ซึ่งเป็นภวังคจิต) แต่ก่อนตายต้องมีวิถีจิตเกิดขึ้น มีชวนจิตเกิด ๕ ขณะอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นจิตที่มีกำลังอ่อนมากแล้ว ก่อนที่จุติจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และประการที่สำคัญ จุติจิต เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ไม่สามารถบังคับบัญชาหรือยับยั้งได้เลย ชีวิตของแต่ละบุคคล ก็เหลือน้อยเต็มทีแล้วด้วยกันทั้งนั้น ไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อใด เพราะสัตว์โลกทั้งปวง เป็นผู้ถูกความตายครอบงำไว้ ดังข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๕ (เตมิยชาดก) ที่ว่า

"เมื่อด้ายที่เขากำลังทอ ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอก็ยังเหลืออยู่น้อยเท่านั้น แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมไม่ไหลไปสู่ที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่กลับมาสู่ความเป็นเด็กอีก ฉันนั้น แม่น้ำซึ่งเต็มฝั่ง ย่อมพัดพาเอาต้นไม้ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไป ฉันใด สัตว์ทั้งปวงย่อมถูกชราและมรณะพัดพาไป ฉันนั้น" ความจริง เป็นอย่างนี้จริงๆ ไม่มีใครพ้นจากความตายไปได้เลย ถูกความตายครอบงำไว้จริงๆ หนีไปทางไหนก็ไม่สามารถพ้นไปได้ ไม่มีใครจะหนีความตายได้ เพราะเหตุว่าสัตว์โลกทั้งหลายเมื่อเกิดมาแล้วก็จะต้องตาย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ไม่ว่าจะหนีไปที่ใด ไม่ว่าจะอยู่ถึงสวรรค์ชั้นใดก็ตาม ความตายก็ครอบงำไว้ เพราะความจริงคือ สัตว์โลกทั้งหมดที่เกิดมาแล้วจะต้องตาย หนีความตายไม่พ้นเลย

ดังนั้น ไม่ว่าจะได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมจากส่วนใดก็ตาม ทั้งหมดทั้งปวงนั้นก็เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และเพื่อความไม่ประมาทในชีวิต เพราะเหตุว่า ในที่สุดแล้วทุกคนก็จะต้องตายแต่ก่อนที่จะตาย ซึ่งก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นวันใด เวลาใด นั้น ก็ควรที่จะได้ประโยชน์จากการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด แสวงหาสิ่งที่เป็นสาระให้กับชีวิตให้มากที่สุด ประโยชน์หรือสาระที่ว่านั้น ได้แก่ ความเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง อันเกิดจากการฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องสะสมเป็นที่พึ่งต่อไป จนกว่าจะถึงการดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด ไม่ต้องมีการเกิดไม่ต้องมีการตายอีกเลย ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 15 ก.ย. 2554
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 19735 ความคิดเห็นที่ 2 โดย insight

ขอบคุณมากๆ ครับ สาธุๆ

แต่พอจะอธิบายขยายข้อความที่ว่า "ชวนวิถีเกิด 6 ขณะ ขณะนั้นยังไม่ตาย แต่เมื่อจะตาย ชวนวิถีสุดท้ายก็ต้องเกิด 5 ขณะ" ให้หน่อยได้มั้ยครับ ว่าทำไมถึงลดลงเป็น 5 ขณะ ยังไม่ค่อยเข้าใจ - -"

รู้สึกยินดีมาก ได้เห็นคนนำพระไตรปิฎกมาตอบ ^ ^

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เวลาสลบสภาพจิตมีกำลังอ่อน ขณะนั้นไม่รู้สึกตัว ชวนวิถีจิตที่เกิด จึงมีเพียง ๖ ขณะ และขณะที่สลบมีวิถีจิตเกิดสลับกับภวังคจิต, และในขณะใกล้ตาย คือ ก่อนจุติจิตจะเกิดนั้น ชวนจิต เกิด ๕ ขณะ เนื่องจากเป็นจิตที่มีกำลังอ่อนมากแล้ว ความจริงเป็นอย่างนี้ และในหลักฐานทางพระพุทธศาสนาก็มีแสดงไว้ว่า ชวนะ ๖ ขณะ เป็นไปในเวลาที่สลบ และ ชวนะ ๕ ขณะ เป็นไปในเวลาใกล้จะตาย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
insight
วันที่ 15 ก.ย. 2554

ขอคุณมากๆ ครับ เข้าใจแล้วครับ สาธุๆ

ว่าแต่พอจะมีข้อความจากพระไตรปิฎกที่ยกขึ้นอ้างได้มั้ยครับ เกี่ยวกับ ชวนะ ๕ และ ชวนะ ๖

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 15 ก.ย. 2554

เรียน ความคิดเห็น ๕ ครับ ในพระอภิธรรมมัตถสังคหะท่านอธิบายไว้ดังนี้ อภิธัมมัตถสังคหบาลี และอภิธัมมัตถวิภาวีนีฎีกา - หน้าที่ ๑๕๙ บรรดากามาวจรชวนะ ๒๙ ชวนะใดชวนะหนึ่งได้ปัจจัยแล้ว แล่นไปโดยมาก ๗ ครั้ง ฯ [อธิบายวิถีจิต] บทว่า สมฺปฏิจฺฉนฺตํ ได้แก่ เป็นเหมือนรับรูปนั้นนั่นแลไว้ ฯ บทว่า สนฺตีรยมานํ คือ เป็นเหมือนกำหนดรูปนั้นนั่นแลด้วยดี ฯ ชวนะที่ชื่อว่าได้ปัจจัย เพราะอรรถว่า ตนได้ปัจจัย ด้วยอำนาจ โยนิโสมนสิการ ฯ สัมพันธ์ความว่า ชวนะอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้ ปัจจัยแล้ว ฯ ชวนะแม้ ๖ และ ๕ ย่อมเป็นไปในเวลาสลบ และใน เวลาใกล้จะตาย เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์จึงกล่าวว่า โดยมาก ฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
insight
วันที่ 15 ก.ย. 2554

สาธุๆ ขอบคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 15 ก.ย. 2554

การตายพรากทุกสิ่งจากชาตินี้ไปหมดสิ้น ไม่มีอะไรเหลือเป็นของบุคคลนี้อีกต่อไป แม้แต่ความทรงจำ ชาตินี้เกิดมาแล้ว จำได้ไหมว่า ชาติก่อนเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไร หมดความเป็นบุคคลในชาติก่อนโดยสิ้นเชิง ฉันใด แม้ในชาตินี้จะได้สร้างบุญ ทำกรรมใดมาแล้ว มีมานะในชาติ ตระกูล ยศศักดิ์ใดๆ ก็ตาม หมดสิ้นไม่มีเยื่อใยในชาตินี้ภพนี้ เหลืออยู่อีกเลย ฉันนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
miran
วันที่ 15 ก.ย. 2554

จากความคิดเห็นที่ 3

ความตาย ย่อมไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิตขณะสุดท้ายในภพนี้ชาตินี้

เกิดขึ้น ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ซึ่งจะต้องกล่าวถึงขณะจิตสุดท้ายเท่านั้น ที่เรียกว่า ตาย (จุติจิตเกิดขึ้น) สิ้นสุดจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ไม่สามารถย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้ได้อีก

..............................................................................................................

ผมเคยได้ยินว่า เปตรบางพวกเป็นเปตรในเวลากลางวัน เวลากลางคืนจะกลายอัต

ตภาพเป็นเทวดา แล้วเวลากลางวันก็กลับมาเป็นเปตรอีกเหมือนเดิม ถือว่าเป็นชาติ

เดียวกันหรือเปล่าครับ แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 15 ก.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 9 ครับ

จากที่ผู้ถามที่ได้ยกตัวอย่างที่ว่า สัตว์บางพวกก็ได้เสวยสุขในเวลากลางวัน เสวย

ทุกข์ในเวลากลางคืน คือ พวกเวมานิกเปรตครับ ซึ่งในความจริง สัตว์นั้นไมไ่ด้จุติและ

ปฏิสนธิมาเป็นเทวดาตอนกลางวัน และจุติจากเทวดาตอนกลางคืนและปฏิสนธิ

ตอนกลางคืนเป็นเปรตอีก ไม่ใช่อย่างนั้นครับ ก็เป็นสัตว์นั้นนั่นแหละที่ยังไม่จุติ เพียง

แต่ว่า บาปกรรมที่ตนได้ทำไว้มีอยู่ที่ได้ทำไว้ในอดีต ทำให้กรรมนั้นให้ผลในปวัตติกาล

คือ หลังจากเกิดแล้ว ให้ผลเมื่อตอนกลางคืน ทำให้ได้รับทุกข์เพราะกรรมไม่ดีในอดีต

ให้ผล แต่ยังไม่จุติครับ ส่วนผลบุญที่ได้ทำในอดีตก็มีอยู่ ก็ได้เสวยสุขในตอนกลางคืน

เพราะกรรมดีอุปถัมภ์ให้ผลในตอนกลางวันครับ แต่ก็ยังไมไ่ด้จุติ ดังนั้นเป็นบุคคลเดียว

กันที่ยังไม่จุติ เพียงแต่กรรมดีหรือกรรมชั่วให้ผลสลับกันไปครับ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓- หน้าที่ 78

บทว่า เอกจฺเจ จ วินิปาติกา ได้แก่ เวมานิกเปรต. ก็เปรตเหล่านั้น ย่อมเสวย

สมบัติตามกาลเวลา เสวยกรรมตามกาลเวลา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีสุข

มีทุกข์คลุกเคล้ากันไปทีเดียว.

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
miran
วันที่ 15 ก.ย. 2554

จะเหมือนเรื่องภิกษุกลับเพศกลางวันเป็นภิกษุ (ชาย) กลางคืนเป็นภิกษุณี (ผู้หญิง) อย่างนี้

หรือเปล่าครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
paderm
วันที่ 15 ก.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 11 ครับ

ใช่ครับก็เพราะผลของกรรมเช่นกัน แต่ไม่ใช่จุติและปฏิสนธิครับ พระภิกษุรูปนั้นก็ยังไม่

ไ้ด้จุติและปฏิสนธิเ็ป็นภิกษุณีแต่เพราะผลของกรรมครับ อกุศลมีกำลังให้ผลก็ทำให้เพศ

ชายหายไปเปลี่ยนเป็นเพศหญิงนั่นเองครับ ดังนั้นยังไม่ได้เกิดจุติหรือปฏิสนธิครับ ยัง

เป็นคนเดิม แต่กรรมให้ผล ทำให้เปลี่ยนเพศได้ครับ

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 847

เริ่มแรกในสองเพศนี้ เพศชาย เป็นอุดมเพศ (เพศที่ดี) เพศหญิง เป็นหีนเพศ

(เพศต่ำ) เพราะเหตุนั้น เพศชาย จึงชื่อว่า อันตรธานไป เพราะอกุศลมีกำลังรุนแรง.

เพศหญิงปรากฏขึ้นแทน เพราะกุศลมีกำลังเพลาลง. ส่วนเพศหญิง จะอันตรธานไป

ชื่อว่าอันตรธานไป เพราะอกุศลมีกำลังเพลาลง, เพศชายปรากฏขึ้นแทนเพราะกุศลมี

กำลังรุนแรง. เพศทั้งสองอันตรธานไปเพราะอกุศล, กลับได้คืนเพราะกุศล ด้วย

ประการฉะนี้.

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
miran
วันที่ 15 ก.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
akrapat
วันที่ 16 ก.ย. 2554

ได้ความรู้ดีมากครับ เรื่องนี้ผมก็ไม่เคยอ่านมาก่อน

ขอบคุณและอนุโมทนากับทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
pattarat
วันที่ 16 ก.ย. 2554
เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ