ขอความอนุเคราะห์ช่วยตอบคำถามด้วยค่ะ

 
fam
วันที่  18 ก.ย. 2554
หมายเลข  19752
อ่าน  1,336

อ่านหนังสือปรมัตถธรรมถึงบทที่ ๘ แต่บางข้อไม่แน่ใจในคำตอบว่าถูกหรือไม่อ่ะค่ะ (บางข้อเช่นข้อ ๑๐ ก็ตอบไม่ได้ค่ะ)

ขอความกรุณาท่านผู้รู้ช่วยตอบคำถามต่อไปนี้ให้ด้วยนะคะ

กราบขอบพระคุณมากค่ะ

๖. จิต ประเภท ใด ไม่มี ชาติ

๗. จิต เป็น สัมปยุตตธรรม กับ อะไร ขณะ ไหน

๑๐. นิพพาน เป็น สัมปยุตตธรรม กับ อะไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 18 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้งมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโดยนัยต่างๆ ก็เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง สิ่งที่มีจริงทุกอย่างเป็นธรรม เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ไม่พ้นไปจากปรมัตถธรรม (สิ่งที่มีจริงไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ) ๔ อย่าง คือ

จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์)

เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต)

รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่สภาพรู้) และ

พระนิพพาน (สภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับเป็นธรรมที่มีจริง ตรงกันข้ามกับสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดอย่างสิ้นเชิง)

สิ่งที่มีจริง ๔ อย่างเหล่านี้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เลย เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ เท่านั้นจริงๆ

การอ่านหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป จิตตสังเขป และภาคผนวก ซึ่งเรียบเรียงโดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ นั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อตอบคำถามได้ แต่เพื่อความเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรม หนังสือเล่มนี้ เป็นคู่มือที่สำคัญในการศึกษาพระธรรมอย่างแท้จริง เพราะเมื่อประมวลแล้ว สิ่งที่จะต้องศึกษา ไม่พ้นไปจาก จิต เจตสิก รูป และพระนิพพาน

จากคำถามแต่ละข้อ ขอแสดงความคิดเห็นไปตามลำดับ ดังนี้

๖. จิต ประเภท ใด ไม่มีชาติ

อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่า จิต คือ อะไร? และ ชาติ คือ อะไร?

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เมื่อจิตเกิดขึ้น ไม่ได้เกิดเพียงจิตเท่านั้น ยังมีธรรมอีกประเภทหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิต ด้วย นั่นก็คือ เจตสิก ที่จิตมีความหลากหลาย เป็นประเภทต่างๆ นั้น ก็เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และยังหลายหลาย ด้วยอารมณ์ อีกด้วยทุกขณะของชีวิต เป็นการเกิดขึ้นของจิตแต่ละขณะ เมื่อจิตเกิดขึ้น ต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใด ใน ๔ ชาติ (ชาติ คือ การเกิดขึ้นของจิต) คือ ถ้าจิตเป็นกุศล ก็เป็นกุศลชาติ (คือ เกิดขึ้นเป็นกุศล) ถ้าจิตเป็นอกุศล ก็เป็นอกุศลชาติ (คือ เกิดขึ้นเป็นอกุศล) ถ้าจิตเป็นกิริยา ก็เป็นกิริยาชาติ (คือ เกิดขึ้นเป็นกิริยา) และถ้าจิตเป็นวิบากก็เป็นวิบากชาติ (คือ เกิดขึ้นเป็นวิบาก รับผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว) จิตเกิดขึ้น ย่อมเป็นชาติหนึ่งชาติใด ใน ๔ ชาติ ตามความเป็นจริงของจิตประเภทนั้นๆ เช่น ขณะที่เกิดความติดข้องยินดีพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นจิตที่ประกอบด้วยโลภะ เป็นอกุศลจิต ก็เป็นอกุศลชาติ, ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ก็เป็นกุศลชาติ, ขณะที่ก่อนจะมีการเห็นเกิดขึ้น ก็มีจิตเกิดขึ้นก่อนจิตเห็น คือ จักขุทวาราวัชชนจิต จักขุทวาราวัชชนจิต เป็นกิริยาจิต จึงเป็นกิริยาชาติ ต่อจากนั้น จักขุวิญญาณ เกิดขึ้น จักขุวิญญาณ เป็นวิบากจิตที่เป็นผลของกรรม จักขุวิญญาณ จึงเป็นวิบากชาติ นี้คือ ตัวอย่างชาติของจิต ทั้ง ๔ ชาติ

ดังนั้น จากคำถามที่ว่า จิต ประเภท ใด ไม่มีชาติ? คำตอบคือ ไม่มีจิตประเภทใดที่ไม่มีชาติ เพราะเหตุว่า เมื่อจิตเกิดขึ้น ต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใด ใน ๔ ชาติ นั่นเอง

๗. จิต เป็น สัมปยุตตธรรม กับ อะไร ขณะ ไหน

คำที่ควรจะได้เข้าใจ คือคำว่า สัมปยุตตธรรม, สัมปยุตตธรรม คือ ธรรมที่ประกอบพร้อมกันด้วยดี เข้ากันสนิท ต้องเป็นนามธรรมที่รู้อารมณ์เท่านั้น ได้แก่ จิตและ เจตสิก, จิตและเจตสิก เป็นสัมปยุตตธรรม นามธรรมที่เป็นสัมปยุตต์กับนามธรรมนั้น จะต้องเป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกันในขณะนั้นเท่านั้น จิตคนละดวงไม่เป็นสัมปยุตต์ต่อกัน และเจตสิกที่เกิดกับจิตคนละดวงก็ไม่เป็นสัมปยุตต์ต่อกัน เช่นเดียวกัน เมื่อเข้าใจแล้วว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ซึ่งจะต้องเกิดร่วมกับเจตสิก ทุกครั้ง ตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

ดังนั้น จากคำถามที่ว่า จิต เป็น สัมปยุตตธรรม กับ อะไร? คำตอบคือ จิต เป็นสัมปยุตตธรรม กับ เจตสิก และในขณะไหน คำตอบคือ ในขณะที่จิตเกิดขึ้นทุกครั้ง แต่ละขณะๆ ไม่มีเว้น เพราะเหตุว่า เมื่อจิตเกิดขึ้น ต้องประกอบพร้อมกันกับเจตสิก ทุกครั้ง ตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

๑๐. นิพพาน เป็น สัมปยุตตธรรม กับอะไร

จากข้อความเบื้องต้น ก็จะเข้าใจแล้วว่า สัมปยุตตธรรม เป็นธรรมที่ประกอบพร้อมกันด้วยดี เข้ากันสนิท หมายถึง จิต และเจตสิก เท่านั้น พระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่เกิดไม่ดับ

ดังนั้น จากคำถามที่ว่า นิพพาน เป็น สัมปยุตตธรรม กับอะไร? คำตอบคือ เมื่อพระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่มีการเกิดขึ้น ไม่ได้เป็นสัมปยุตตธรรม (เพราะสัมปยุตตธรรม ได้แก่ จิต และ เจตสิก เท่านั้น) จึงไม่มีการประกอบพร้อมกันด้วยดีกับธรรมอะไรๆ เลย

ประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม คือ เข้าใจความจริง ศึกษาเพื่อละ กล่าวคือ ละตั้งแต่ต้น ละคลายความไม่รู้ และ ละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ครับ

ปล. ถ้าหากว่าสหายธรรม (ผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน) ท่านใด ยังไม่ได้รับหนังสือปรมัตถธรรมฯ ก็สามารถดาวน์โหลด จากเว็บไซต์นี้ ในหมวดของหนังสือ ชื่อหนังสือ คือ ปรมัตถธรรมสังเขป ไว้สำหรับศึกษา ได้ครับ [เนื่องจากตอนนี้อยู่ในช่วงการพิมพ์ใหม่ครั้งที่ ๕ ยังไม่เรียบร้อยสมบูรณ์ เมื่อพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถเขียนจดหมายมาขอรับ จากมูลนิธิฯ ได้ครับ]

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 18 ก.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pat_jesty
วันที่ 18 ก.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
fam
วันที่ 19 ก.ย. 2554
กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์คำปั่นเป็นอย่างสูงค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 19 ก.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้รู้น้อย
วันที่ 20 ก.ย. 2554
ขอนอบน้อมและอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pamali
วันที่ 20 ก.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Junya
วันที่ 15 ก.พ. 2566

กราบยินดีในกุศล และกราบขอบพระคุณมากค่ะอาจารย์คำปั่น เข้าใจเพิ่มขึ้นมากเลยค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ