นิมิตและอนุพยัญชนะ

 
อินทวัชร
วันที่  24 ก.ย. 2554
หมายเลข  19791
อ่าน  2,660

เรียนท่านอาจารย์ครับ

๑. เมื่อวานผมนั่งรถยนต์ รู้ตัวว่าเห็นน้ำท่วมสองข้างทาง ท่วมสวน ไร่ นา และบ้านเรือนริมถนน มีพวกชาวบ้านหนีน้ำท่วมมาพักอาศัย ก็รู้ว่าเกิดเวทนา ก็เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปของการยึดถือโดยนิมิตและอนุพยัญชนะ

๒. ในบางขณะ ผมรู้สึกว่า การเห็นไม่ได้ถูกน้ำท่วม การเห็นไม่ได้ไหลไปกับกระแสน้ำ และการเห็นไม่ได้เปียกเปื้อนไปกับโคลนตม หรือมูตรคูถปฏิกูลใดๆ การเห็นจะไปที่ใดก็ได้ รู้สึกเบากว่าการเห็นที่ผ่านๆ มา และยังรู้สึกว่า แม้รูปที่ปรากฏทางตา ก็ปรากฏทางตาโดยเสมอภาคไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

ขอเรียนถามว่า "สภาพอย่างที่กล่าวมาในข้อ ๒. คือ การไม่ยึดถือเอาโดยนิมิตและอนุพยัญชนะ ใช่หรือไม่ โปรดอธิบายด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ก่อนอื่นต้องเข้าใจคำว่า นิมิต กับ อนุพยัญชนะก่อนครับ

คำว่า นิมิตนิมิตฺต (การกำหนด เครื่องหมาย) เครื่องหมายให้เกิดกิเลส หมายถึง ส่วนหยาบที่เป็นรูปร่าง สัณฐาน ความหมายที่จิตคิดถึงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่น เห็นเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เป็นโต๊ะ เก้าอี้ ได้ยินเสียงผู้หญิงหรือผู้ชาย ได้กลิ่นดอกไม้ ลิ้มรสเป็ด ไก่ ถูกต้องสัมผัสสำลี คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเป็นไปด้วยอกุศลจิต เป็นการยึดนิมิต แต่ขณะที่รู้รูปร่างสัณฐาน ความหมายต่างๆ ด้วยกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการยึดนิมิต แต่เป็นบัญญัติอารมณ์ของกุศลจิตเท่านั้นครับ

ส่วนคำว่า อนุพยัญชนะ มาจากคำว่า อนุ (น้อย ภายหลัง ตาม) + พฺยญฺชน (แจ้ง ปรากฏ) แปลได้ว่า ส่วนละเอียดที่ทำให้กิเลสปรากฏ หมายถึง ส่วนละเอียดของรูปร่างสัณฐาน หรือความหมาย ที่จิตคิดถึงจากสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น ปาก คอ คิ้ว คาง ริ้วรอยของใบหน้า ที่เป็นส่วนละเอียดของร่างกาย หรือส่วนปลีกย่อยของวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำให้กิเลสเกิดขึ้น ในขณะนั้นเป็นการยึดอนุพยัญชนะ แต่ในขณะที่พิจารณาส่วนละเอียดด้วยกุศลจิต ไม่เป็นการยึดอนุพยัญชนะ ยกตัวอย่างเช่น พิจารณาความเหี่ยวย่นของผิวพรรณ และรู้ถึงความไม่เที่ยงของร่างกายซึ่งเป็นรูปธรรม เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 24 ก.ย. 2554

ดังนั้น ขณะใดที่เห็นเป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ รวมทั้งเห็นส่วนละเอียด เช่น มือและเท้าเป็นต้น แล้วเกิดกุศล ขณะนั้นชื่อว่า ยึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะครับ แต่ขณะใดที่เห็นเป็นสิ่งต่างๆ เป็นสัตว์ บุคคล หรือเห็นส่วนละเอียด แต่ไม่ติดข้อง ไม่เป็นอกุศลแต่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นชื่อว่า ไม่ยึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะครับ

เรื่องราวที่ท่านผู้ถามได้ยกมานั้น ดังเช่น ข้อที่ ๑. ที่เห็นคนถูกน้ำท่วมแล้วเกิดอกุศลจิต ไม่สบายใจ ขณะนั้นชื่อว่ายึดถือนิมิต อนุพยัญชนะด้วยอกุศลจิตแล้วครับ แต่ขณะใดที่กุศลจิตเกิด แม้จะเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ไม่ชื่อว่ายึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะครับ การพิจารณาในข้อ ๒. ด้วยการพิจาณาถูกต้องตามความเป็นจริงในขณะนั้น ไม่เป็นอกุศล ขณะนั้นชื่อว่า ไม่ยึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 24 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น เป็นธรรมที่มีจริง ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ คือ จิต เจตสิก และรูป อันเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้นได้ เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ทั้งสิ้น

ในภพนี้ชาตินี้ ตราบใดที่จุติจิตยังไม่เกิดขึ้น ก็ต้องเป็นไป คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง คิดนึก เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ซึ่งสลับกับภวังคจิต

ในประเด็นเรื่องการเห็น ควรที่จะได้พิจารณา เห็น เป็นนามธรรม เป็นจิต คือ จักขุวิญญาณ ซึ่งเป็นผลของกรรม ถ้าได้เห็นสิ่งที่ดี น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ เป็นผลของกุศลกรรม แต่ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เป็นผลของอกุศลกรรม ส่วนสิ่งที่เป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณ คือ สี หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา

สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นธรรมที่มีจริง เป็นรูปธรรมประเภทหนึ่ง เป็นธรรมที่สามารถเห็นได้ทางตาเท่านั้น ไม่ปรากฏทางหู ทางจมูก เป็นต้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเห็นอะไร สิ่งที่ถูกเห็นก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่เมื่อเห็นแล้วก็มีการคิดนึกต่อ เป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ เป็นเหตุให้อกุศลจิตเกิด เป็นเหตุให้ติดข้องยินดีพอใจ หรือ ไม่พอใจ ซึ่งเป็นการยึดถือในนิมิตและอนุพยัญชนะ ซึ่งจะตรงกันข้ามกับขณะที่จิตเป็นกุศล แม้จะเห็นเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ก็ตาม ไม่เป็นการยึดถือในนิมิตและอนุพยัญชนะ เพราะการยึดถือนิมิตและอนุพยัญชนะ ต้องเฉพาะในขณะที่จิตเป็นอกุศล เท่านั้น ถ้าจะพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว นิมิตและอนุพยัญชนะจะมาจากไหน ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
อินทวัชร
วันที่ 25 ก.ย. 2554

ผมอ่านคำตอบของท่านวิทยากรทั้งสองแล้ว ท่านช่างกล่าวไปในทางเดียวกันจริงๆ ขออนุโมทนาครับ ทำให้ผมรู้สึกว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียด ทรงบัญญัติชื่อไว้ให้ผู้ศึกษาสื่อความหมาย เรียกสภาพธรรมต่างๆ ทรงเป็นศาสดาเอกของโลก ทรงบัญญัติมรรคไว้ โดยที่ไม่ว่าผู้ใดก็จะต้องดำเนินไปทางนี้ กล่าวอย่างนี้ จริงครับ แม้ไม่ยึดถือในนิมิตและอนุพยัญชนะก็ยังเห็นเป็นรูปร่างสัณฐานอยู่ แต่ขณะที่ไม่ยึดติด ก็รู้สึกเบากับสิ่งนั้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 25 ก.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
bsomsuda
วันที่ 27 ก.ย. 2554

"ขณะที่จิตเป็นกุศล แม้จะเห็นเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ก็ตามไม่เป็นการยึดถือในนิมิตและอนุพยัญชนะ เพราะการยึดถือนิมิตและอนุพยัญชนะ ต้องเฉพาะในขณะที่จิตเป็นอกุศล เท่านั้น"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สิริพรรณ
วันที่ 27 พ.ค. 2565

การศึกษาพระธรรมส่วนละเอียดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเท่านั้น จึงจะเป็นปัจจัยให้ละคลายการยึดติดในนิมิตอนุพยัญชนะ แม้ยังเห็นเป็นนิมิตอนุพยัญชนะอยู่ก็ตาม

กราบขอบพระคุณอาจารย์ทั้ง ๒ ท่าน และผู้ร่วมสนทนาทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 27 พ.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ