เทวดาปฏิบัติธรรม

 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่  26 ก.ย. 2554
หมายเลข  19803
อ่าน  3,705

กราบอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง มีเรื่องรบกวนสอบถามครับ เนื่องจากผมมีการสนทนา

ธรรมกับน้องบัว น้องบัวเน้นปฏิบัติธรรมอย่างมากครับ ผมพยายามให้น้องเค้า ศึกษา

ด้วยการฟังแนวทางฯ ก่อน เมื่อเข้าใจแล้ว ทุกอย่างก็ดำเนินไปเองตามเหตุและปัจจัย

ซึ่งไม่ใช่เราไปทำอะไร ฯลฯ++ วันนี้น้องบัวก็มีคำถามหลายคำถามเลยครับ

อาจารย์ช่วยอนุเคราะห์น้องบัว และ ผม ด้วยนะครับ

ด้านล่างนี้เป็นคำถามของน้องบัวครับ

๑ "เค้าเริ่มสงกะสัยแล้ว พี่จะชอบบอกว่า สติเกิดเอง เหมือนพี่อ่ะ ไม่ค่อยเน้นการนั่ง

ปฏิบัติ จิงแล้วสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องการปฏิบัติรึเปล่า ไม่งัน พระ

อริยะ ทั้งหลาย ท่านจะสอนปฏิบัติได้งัยอ่ะค่ะ ตกลงงัยกันแน่ ไหนพี่ลองบอก เค้า

หน่อยซิค่ะ" แท้จริงแล้วการปฏิบัติ เพื่อให้หลุดพ้น เช่นเดียวกันหรือไม่ งัยอ่ะ

๒ กรรมฐาน ที่จริงแล้วเราทำเพื่ออะไร เอาตามที่พี่ศึกษามาค่ะ

๓ จริงแล้ว เป็นเทวดาปฏิบัติธรรมได้เหมือนมนุษย์มั๊ยอ่ะค่ะ ทำไมคนชอบบอกว่าเป็น

มนุษย์ดีกว่าอ่ะค่ะ เหมือนบอกว่าเทวดาหมดบุญต้องมาเกิด งันก็ แสดงว่าต้องเป็น

มนุษย์ ถึงจะบรรลุได้ อย่างนี้เทวดาจะดี ตรงสวยสุข ไม่มีทุกข์เท่านั้น??? ไรอ่ะค่ะ

ขอบพระคุณมากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย๑ "เค้าเริ่มสงกะสัยแล้ว พี่จะชอบบอกว่า สติเกิดเอง เหมือนพี่อ่ะ ไม่ค่อยเน้นการนั่ง

ปฏิบัติ จิงแล้วสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องการปฏิบัติรึเปล่า ไม่งัน พระ

อริยะ ทั้งหลาย ท่านจะสอนปฏิบัติได้งัยอ่ะค่ะ ตกลงงัยกันแน่ ไหนพี่ลองบอก เค้า

หน่อยซิค่ะ" แท้จริงแล้วการปฏิบัติ เพื่อให้หลุดพ้น เช่นเดียวกันหรือไม่ งัยอ่ะ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่อง ปฏิบัติไว้ครับ คือ ปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ (การบรรลุธรรม)

ซึ่ง ปฏิบัติในพระพุทธศาสนา คือ ธรรมปฏิบัติหน้าที่ที่เป็น สติและปัญญาเกิดรู้ความ

จริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ขณะนั้นเป็นการปฏิบัติ โดยไม่ใช่เราปฏฺบัติ แต่ธรรม

ปฏิบัติครับ ซึ่งต้องเข้าใจครับว่า ธรรมทั้งหลายเป็นนอนัตตา บังคับบัญชาไม่ไ้ด้ คือ มี

เหตุปัจจัย ก็เกิดขึ้น สติและปัญญาที่รู้ความจริงของธรรมในขณะนี้ก็เป็นธรรมด้วยและ

เป็นอนัตตา คือ บังคับให้สติและปัญญาเกิดเองไม่ได้ แต่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงจะทำ

ให้สติและปัญญาเกิด ซึ่งเหตุปัจจัยให้สติและปัญญาเกิดคือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระ

ธรรม ดังคำที่ว่า ปริยัติ ย่อมนำไปสู่ปฏิบัติและปฏิบัติย่อมนำไปสู่ปฏิเวธ (การบรรลุธรรม)

การปฏิบัติจึงไม่ใช่การทำอะไรซักอย่างที่เป็นการนั่งสมาธิ เป็นต้น แต่ปฏิบัติ คือขณะที่

สติและปัญญาเกิดรู้ความจริง โดยอาศัยเหตุให้เกิดสติและปัญญา คือ การฟังพระธรรม

ศึกษาพระธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 26 ก.ย. 2554

โดย อาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย คำว่าปฏิบัติที่ใช้กันในภาษาไทย กับปฏิบัติในภาษาบาลี ความหมายไม่ตรงกันกล่าวคือ โดยมากจะเข้าใจกันว่า เป็นการไปทำ แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่การไปทำเพราะเหตุว่า ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำปฏิบัติ ไม่ใช่การไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมาแต่ธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม นั่นก็คือ สติ และ สัมปชัญญะ (ปัญญา) เกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจขึ้นไปตามลำดับ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติถูกต้อง ย่อมมีไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นความเข้าใจ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สำหรับคำว่า ปฏิบัติธรรมนั้น ในพระไตรปิฎกแสดงถึงคำเต็มไว้ คือ ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ หมายถึง การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมคือ สมควรแก่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม บรรลุมรรค ผล นิพพาน ซึ่งถ้าเป็นผู้มีความเข้าใจในหนทางที่ถูกต้องแล้ว มีการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม และเจริญกุศลทุกประการอันสมควรแก่การบรรลุมรรคผล นิพพาน ชื่อว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 26 ก.ย. 2554

๒.กรรมฐาน ที่จริงแล้วเราทำเพื่ออะไร เอาตามที่พี่ศึกษามาค่ะ ------------------------------------------------------------------------------------

กรรมฐาน หมายถึง ที่ตั้งการงานทางใจ มีสองอย่าง คือ สมถกรรมฐาน ๑

วิปัสสนากรรมฐาน ๑

สมถกรรมฐาน คือ การอบรมความสงบของจิตเพื่อข่มนิวรณ์ จนจิตสงบเป็น

ฌานขั้นต่างๆ เมื่อฌานไม่เสื่อมย่อมเกิดในพรหมโลก

วิปัสสนากรรมฐาน คือ การอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมตาม

ความเป็นจริง ดับกิเลสตามลำดับ เพื่อดับกิเลสทั้งหมดไม่ต้องเกิดอีกเลย การ

นั่งสมาธิ ไม่ใช่การเจริญสมถ หรือการเจริญวิปัสสนา

ดังนั้นการเจริญกรรมฐาน ก็เป็นไปเพื่อความเจริญชึ้นของกุศลและปัญญา ตามลำดับ

ซึ่งผู้ที่จะเจริญกรรมฐานประการต่างๆ ได้ ต้องอาศัยการฟังพระธรรมให้เข้าใจถูกต้อง

ก่อนเสมอครับ เพราะถ้าไม่มีความเข้าใจถูกต้องก็ทำให้เข้าใจผิด คิดจะปฏิบัติ ก็ไปนั่ง

สมาธิ อันสำคัญว่าเป็นการเจริญกรรมฐานครับ โดยเฉพาะการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

นั้น คือ การรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ โดยไม่ใช่การนังสมาธิ แต่เป็น

ปัญญาที่รู้ความจริงว่าขณะนี้เป็นธรรมไม่ใช่เรา โดยสติและปัญญาจะเกิดเอง อันอาศัย

การฟังพระธรรมให้เข้าใจครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 26 ก.ย. 2554

๓ .จริงแล้ว เป็นเทวดาปฏิบัติธรรมได้เหมือนมนุษย์มั๊ยอ่ะค่ะ ทำไมคนชอบบอกว่าเป็น

มนุษย์ดีกว่าอ่ะค่ะ เหมือนบอกว่าเทวดาหมดบุญต้องมาเกิด งันก็ แสดงว่าต้องเป็น

มนุษย์ ถึงจะบรรลุได้ อย่างนี้เทวดาจะดี ตรงสวยสุข ไม่มีทุกข์เท่านั้น??? ไรอ่ะค่ะ

----------------------------------------------------------------------------------

ตามที่กล่าวแล้วครับว่า การปฏิบัติธรรม หมายถึง ธรรมปฏิบัติหน้าที่ คือ สติและ

ปัญญาปฏิบัติหน้าที่เกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ครับ ดังนั้นสติและ

ปัญญาไมได้จำกำด้เฉพาะ มนุษย์เท่านั้น แม้เทวดา ผู้ที่อบรมปัญญามาก็สามารถเกิด

สติและปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ครับ เทวดาจึงปฏิบัติธรรมได้

โดยที่เทวดาไม่ต้องไปนั่งสมาธิ เดินจงกรมที่เป็นความเข้าใจผิด ว่าเป็นการปฏิบัติเลย

ครับ ซึ่งเทวดาก็บรรลุธรรมากมาย เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าแสดง มหาสมัยสูตร เทวดา

บรรลุนับไม่ถ้วน เป็นต้นครับ

ส่วนภพภูมิมนุษย์เป็นภพภูมิที่เลิศในการเจริญอบรมปัญญามากกว่าเทวดา ในแง่ที่ว่า

มนุษย์พบทั้งสุขและทุกข์ ส่วนเทวดา โดยมากมีแต่ความสุขเป็นส่วนใหญ่ จึงเพลิด

เพลินหลงไปในรูป เสียง..ที่น่าปรารถนา มากกว่ามนุษย์ครับ มนุษย์พบสิ่งต่างๆ ทำให้

เกิดทุกข์ จึงเห็นโทษของทุกข์ภัย จึงสนใจและเข้าหาพระธรรมได้ง่าย และที่สำคัญพระ

พุทธเจ้าก็ตรัสรู้ในภพูมิมนุษย์ด้วยครับ ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 26 ก.ย. 2554

* * * -------------------------------- * * *

กราบขอบพระคุณอาจารย์อย่างสูงครับ และ ขออนุโมทนากุศลจิตที่เกิดด้วยครับ

* * * -------------------------------- * * *

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 26 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น การที่ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกจะเจริญขึ้นได้ นั้น ต้องมีความเพียร มีความอดทน มีความมั่นคงและจริงใจ ในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อันเป็นคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เท่านั้น ไม่มีทางอื่นที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นได้ ต้องฟัง ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ เพราะถ้ามีพื้นฐานความเข้าใจที่มั่นคงแล้ว ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม สิ่งที่มีจริง เป็นธรรม เมื่อเป็นธรรม ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล แม้แต่ การปฏิบัติธรรม ก็ไม่มีตัวตนที่ไปปฏิบัติ แต่เป็นกิจหน้าที่ของธรรมฝ่ายดี คือ สติและปัญญา เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง สำหรับ กรรมฐาน นั้น ถ้าจะกล่าวโดยสรุปแล้ว เป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่เป็นไปเพื่อความสงบของจิต และ เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ซึ่งจะขาดปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกไม่ได้เลย ประเด็นเรื่องมนุษย์ กับ เทวดา มีส่วนที่น่าพิจารณา ดังนี้ -การเกิดเป็นมนุษย์ และ การเกิดเป็นเทวดา เป็นผลของกุศลกรรม ถึงแม้ว่าจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ หรือ ได้เกิดเป็นเทวดา ก็ตาม ไม่ได้เป็นเครื่องวัดว่า จะต้องเป็นมนุษย์ ที่ดี จะต้องเป็นเทวดา ที่ดี เสมอไป เพราะแต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง เป็นไปตามการสะสมของแต่ะละบุคคลจริงๆ ขณะที่จิตเป็นกุศล ดี แต่ถ้าเป็นอกุศล ไม่ว่าจะเป็นความติดข้องยินดีพอใจ หรือ ความโกรธความขุ่นเคืองใจ เป็นต้น แล้ว ไม่ดีแน่นอน เพราะเป็นอกุศลธรรม เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่ความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมเท่านั้น มนุษย์ ที่สนใจศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ก็มี แต่มีเป็นส่วนน้อย ส่วนผู้ที่ไม่สนใจที่จะศึกษา มีมากทีเดียว เช่นเดียวกันกับเทวดา ที่สะสมเหตุที่ดีมาแล้ว เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจพระธรรม ท่านก็มีการฟัง มีการศึกษามีการสนทนาธรรม เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง เป็นผู้ปฏิบัติธรรม ในหลายๆ พระสูตร มีข้อความทีีแสดงไว้ว่า มีเทวาดาลงมาเข้าเฝ้าทูลถามปัญหา และ ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และในหลายๆ พระสูตร เช่น มงคลสูตร เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม จบลง เทวดาแสนโกฏิบรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วน จำนวนของผู้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี นั้น นับไม่ได้ เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า เทวดาที่สนใจฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปฏิบัติธรรม ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ตามกำลังปัญญาของตนเอง ก็มี ส่วนเทวดาที่ไม่สนใจฟังธรรม มัวแต่เพลินเพลินในการเล่น ในการติดข้องในสมบัติของตนที่เกิดขึ้นด้วยผลของกุศลกรรม ก็มี เช่นกัน จึงขึ้นอยู่กับการสะสมมาของแต่ละุบุคคลอย่างแท้จริง

-ภพภูมิของมนุษย์ เป็นภพภูมิที่เอื้ออำนวยให้ได้เจริญกุศลได้ทุกๆ ประการ ไม่มีเว้นเลย ทั้งทาน ศีล และการอบรมเจริญปัญญา มนุษย์มีโอกาสที่จะได้เจริญกุศลมากกว่าภพภูมิของเทวดาทั้งหลาย แต่ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมมาของมนุษย์แต่ละคนด้วยว่า จะเห็นประโยชน์ของกุศลประการต่างๆ มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน -สำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ หนึ่งในสุคติภูมิ เมือสิ้นชีวตไปแล้ว สามารถเป็นได้ทุกอย่าง ดังนี้ เวลาที่สิ้นชีวิตลง ละจากโลกนี้ไปแล้ว ไปสู่อบายภูมิได้ทั้ง ๔ คือ จะเกิดเป็นสัตว์นรกก็ได้ เกิดเป็นเปรตก็ได้ เกิดเป็นอสุรกายก็ได้ เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ได้ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม, และก็สามารถไปสู่สุคติภูมิได้ทั้ง ๗ ภูมิ (คือ มนุษย์ภูมิ และ สวรรค์ ๖ ชั้น) แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกุศลกรรมประเภทใด และถ้าเป็นผู้ได้อบรมความสงบของจิตจนถึงขั้นรูปฌาน เมื่อฌานไม่เสื่อม ก็สามารถไปเกิดเป็นรูปพรหมบุคคลได้ ถ้าเป็นผู้อบรมเจริญความสงบของจิตจนถึงขั้นอรูปฌาน เมื่อฌานไม่เสื่อมก็สามารถไปเกิดในภูมิที่ไม่มีรูปเลย มีแต่นามธรรมเท่านั้นได้ (คือ เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคล) และประการที่สำคัญที่สุด คือ ถ้ามีการอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะสามารถดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด ถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ไม่มีการเกิดอีกเลยไม่ว่าจะเป็นในที่ไหนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่ควรที่จะประมาทในชีวิต ควรอย่างยิ่งที่จะสะสมแต่สิ่งที่ดีงามในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ด้วย ถ้าละเลยในสิ่งเหล่านี้ เป็นผู้ประมาทมัวเมาประกอบแต่อกุศลกรรม เมื่ออกุศลกรรมให้ผล ทำให้ไปเกิดในอบายภูมิแล้ว เมื่อนั้น ก็ไม่สามารถจะโทษใครได้เลย เพราะตนเองเป็นผู้กระทำกรรมไม่ดีเอง ผลที่ไม่ดีก็ย่อมเกิดกับตนเองเท่านั้น ใครๆ ก็ช่วยไม่ได้ ครับ. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 27 ก.ย. 2554

* * * ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น * * *

* * * ------------------------- * * *

กราบขอบพระคุณอาจารย์อย่างสูงครับ และ ขออนุโมทนากุศลจิตที่เกิดด้วยครับ

* * * -------------------------------- * * *


 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ