บวชเนกขัมมะ กับ การปฏิบัติกรรมฐาน

 
nuengthai
วันที่  27 ก.ย. 2554
หมายเลข  19812
อ่าน  70,930

บวชเนกขัมมะ กับ การปฏิบัติกรรมฐาน คืออะไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

การบวชเนกขัมมะ ในปัจจุบันตามที่เข้าใจกันคือ การรักษาศีล 8 ที่วัด ในช่วงเวลา หนึ่งเรียกว่า การบวชเนกขัมมะ ซึ่งก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจคำว่า เนกขัมมะให้ถูกต้องในพระพุทธศาสนา ก็จะทำให้ เข้าใจถูกในเรื่องนี้ครับ

เนกขัมมะ หมายถึง ธรรมที่ทวนกระแส ของกิเลส มีโลภะ เป็นต้น ดังนั้นสภาพธรรม ใดที่ทวนกระแสกิเลส นั่นคือ สภาพธรรมที่เป็นกุศล ชื่อว่าเนกขัมมะ ดังนั้นสภาพธรรมที่เป็นกุศลทั้งหมด ชื่อว่า เนกขัมมะ เนกขัมมะจึงมีหลายระดับ ตามระดับของกุศลครับ เช่น ทาน ก็เป็นเนกขัมมะ ศีล การบรรพชา การเจริญสมถภาวนา วิปัสสนา และมรรค ผลนิพพาน พระนิพพานจัดเป็นเนกขัมมะอันสูงสุด เพราะเป็นสภาพธรรมี่สงบจากกิเลส ทั้งหมด เป็นธรรมที่ทวนกระแสกิเลสอย่างแท้จริง และออกจากามทั้งหมดครับ

คำว่า เนกขัมมะ ยังหมายถึง การออกจากกาม ๒ อย่าง ได้แก่ กิเลสกาม และ วัตถุกาม การออกจากกามมี ๒ อย่าง คือ ด้วยการบรรพชา ๑ ด้วยข้อปฏิบัติ ๑ การ ออกบวชของผู้ที่เห็นคุณของเนกขัมมะ การเว้นกิจของคฤหัสถ์ ถือเพศบรรพชิต เป็นผู้ไม่ครองเรือน ไม่แสวงหาทรัพย์ ไม่รับเงินและทอง เป็นต้น ชื่อว่า ออกจากวัตถุ กาม ด้วยการบรรพชา ข้อปฏิบัติคือ อุโบสถศีล สมถภาวนาวิปัสสนาภาวนา สติ ปัฏฐาน เป็นต้น ชื่อว่า ออกจากกิเลสกาม ด้วยข้อปฏิบัติบางนัย หมายรวมถึงกุศล ธรรมทุกประเภทเป็นการออกจากกาม (เนกขัมมะ)


ฉะนั้นเนกขัมมะ โดยนัยที่ ๒ ในชีวิตประจำวันของคฤหัสถ์ ขณะใด ที่เป็นไปกับ กุศลทั้งหลายคือ การให้ทาน การรักษาศีล การฟังธรรม การสนทนาธรรม การเจริญ สมถะ การเจริญสติปัฏฐาน เป็นต้น ชื่อว่าเนกขัมมะ อีกอย่างหนึ่ง การค่อยๆ ออก จากการสะสมวัตถุกาม ด้วยการรู้จักพอ ในสิ่งที่ตนมีอยู่ ไม่แสวงหา หรือสะสมมากจน เกินไป รู้จักยินดีในของที่ตนมีอยู่ ด้วยสันโดษ ขณะนั้น ก็เริ่มค่อยๆ ที่จะออก เริ่มสะสมเนกขัมมะ ให้ค่อยๆ มีกำลังขึ้น

ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า เนกขัมมะ หมายถึง สภาพธรรมี่ทวนกระแสกิเลส นั่น สภาพธรรมที่เป็นกุศลทุกประการ จัดเป็นเนกขัมมะครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

เนกขัมมะ ชื่อว่าทวนกระแสตัณหา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 27 ก.ย. 2554

ซึ่งในปัจจุบัน มีการบวชเนกขัมมะ แต่ด้วยการที่จะต้องการสงบ หลีกเร้น โดยที่ไม่เข้าใจว่า ความสงบคืออะไร การจะทำให้สงบด้วยวิธีอย่างไร ดังนั้น จึงเริ่มจากความต้องการที่จะสงบด้วยโลภะ อันไม่ใช่ธรรมที่ทวนกระแสกิเลสที่เป็นเนกขัมมะ การไปปฏิบัติ คือ บวชเนกขัมมะ จึงไม่ใช่เป็นเนกขัมมะจริงๆ เพราะไปตามกระแสกิเลสคือโลภะ ที่อยากจะสงบแล้วเข้าใจว่าการกระทำนั้นจะทำให้สงบ ความสงบไม่ได้เกิดจการหลีกเร้น แต่เกิดจากปัญญา เกิดจากกุศลจิตที่เกิดขึ้น ขณะนั้นจึงเป็นเนกขัมมะครับ ซึ่งแม้การใช้คำว่าบวช ก็ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นเพียงการไปรักษาศีล ๘ เพื่อต้องการความสงบเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการบวชในพระธรรมวินัยนี้ครับ ที่เป็นการสละ การครองเรือนเป็นเพศบรรพชิตครับ

ส่วนการปฏิบัติกรรมฐาน กรรมฐานมี ๒ อย่าง คือ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เป็นเรื่องของปัญญาที่สามารถทำให้จิตสงบจากกิเลสชั่วคราวที่เป็นสมถกรรมฐานและการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่สามารถทำให้ถึงการดับกิเลสได้ เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน ดังนั้น จึงไม่ใช่การนั่งสมาธิ หรือ จงกรม หรือทำอะไรซักอย่างจะเป็นกรรมฐาน ทั้ง ๒ อย่างนี้ครับ แต่เป็นการเจริญอบรมปัญญา ขั้นการฟัง การศึกษาจนเข้าใจ และสติ และปัญญาเกิดรู้ความจริงในขณะนี้ ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติกรรมฐานที่เป็นวิปัสสนากรรมฐานครับ

ดังนั้น ความแตกต่างระหว่าง การบวชเนกขัมมะ กับ การปฏิบัติกรรมฐานในยุคปัจจุบัน ก็ไม่ต่างกัน ตรงที่ทำด้วยความไม่รู้และไม่เข้าใจ ว่า ปฏิบัติคืออะไร และ เนกขัมมะคืออะไร เพราะขณะที่เข้าใจธรรม ขณะที่อ่านแล้วเข้าใจ กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นเนกขัมมะ ออกจากกิเลส ทวนกระแสตัณหาและความไม่รู้ในขณะนั้นแล้ว เพราะปัญญาเกิดนั่นเอง

เพราฉะนั้น การเจริญเนกขัมมะ ก็สามารถเจริญได้ในชีวิตประจำวัน นั่นคือกุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นเนกขัมมะ และเนกขัมมะอันยอดเยี่ยมที่จะทำให้ออกจากิเลสโดยสิ้นเชิง คือ การเจริญสติปัฏฐาน รู้ความจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา ขณะนั้น เป็นเนกขัมมะ ออกจากความไม่รู้ ออกจากกิเลสและทวนกระแสกิเลสไปสู่ฝ่ายดับกิเลสแล้วครับ ที่สำคัญ ขณะนั้นเป็นเนกขัมมะและก็เป็นการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องด้วย เพราะการปฏิบัติกรรมฐานที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา ก็คือการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้เป็นการเจริญสติปัฏฐาน อริยมรรคนั่นเอง เป็นทั้งเนกขัมมะด้วยและปฏิบัติด้วยครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 27 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อได้ยินคำอะไร ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า คำนั้น หมายถึง อะไร? เพราะเหตุว่า การที่จะทำให้เราได้มีความเข้าใจในคำที่ได้ยินได้ฟัง นั้น ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เท่านั้น จะหาความละเอียดจากพระธรรม ด้วยวิธีอื่นไม่ได้ คิดเอาเองก็ไม่ได้ ต้องฟัง ต้องศึกษา ด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ

- เริ่มจาก คำว่า บวช แปลว่า เว้นโดยทั่ว ซึ่งเป็นเว้นจากอกุศลทุกประการ เว้นจากความติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของตนเอง

- เนกขัมมะ เป็นการก้าวออกจากอกุศล ซึ่งถ้ากล่าวโดยรวมแล้ว กุศลทุกประเภท เป็นเนกขัมมะ เพราะในขณะที่จิตเป็นกุศลนั้น อกุศลเกิดไม่ได้ สูงสุด คือ สามารถดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย

- ปฏิบัติกรรมฐาน ไม่ใช่ตัวตนที่ไปปฏิบัติ ถ้ายังไม่รู้ว่า ปฏิบัติคืออะไร กรรมฐานคืออะไรแล้ว ย่อมไม่พ้นจากการปฏิบัติผิดอันเป็นการเพิ่มพูนกิเลสอกุศล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ โลภะอันประกอบด้วยความเห็นผิด ให้มีมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

ถ้าได้ศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจว่า สิ่งที่มีจริงทุกอย่างเป็นธรรม ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อเป็นธรรม ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล

ดังนั้น การปฏิบัติกรรมฐาน จึงไม่มีตัวตนที่ไปปฏิบัติเพราะต้องเป็นความเข้าใจที่เจริญขึ้นไปตามลำดับ เนื่องจากกรรมฐาน มี ๒ อย่าง คือสมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งจะขาดปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกไม่ได้เลย กล่าวคือ ถ้าไม่มีความเข้าใจถึงความต่างระหว่างกุศลกับอกุศล ไม่มีความเข้าใจถึงอารมณ์อันเป็นที่ตั้งให้จิตสงบ ก็ไม่สามารถเจริญสมถกรรมฐานได้ และถ้าไม่มีการอบรมเจริญปัญญาจากการฟัง การศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริง บ่อยๆ เนืองๆ ปัญญาที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่เป็นวิปัสสนากรรมฐาน แม้จะใส่ชื่อว่า วิปัสสนากรรมฐาน ก็ไม่ใช่วิปัสสนากรรมฐานเลย เพราะไม่ได้เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก

ดังนั้น ต้องเริ่มที่ความเข้าใจอย่างถูกต้องจริงๆ ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าเป็นความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามพระธรรม ทั้งบวช ทั้งเนกขัมมะและปฏิบัติกรรมฐาน ล้วนเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจแล้ว ไปทำอะไรด้วยความเป็นตัวตนด้วยความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง แทนที่จะเป็นการทวนกระแสของกิเลส ก็กลับเพิ่มกิเลสให้มีมากขึ้น เพราะฉะนั้นแล้ว จะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ไม่ได้เลยทีเดียว ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 28 ก.ย. 2554

"แม้ยังไม่บรรพชาอุปสมบท แต่ในชีวิตประจำวันของทุกท่านก็ควรจะได้พิจารณาว่า แต่ละครั้งที่ปรารถนาในรูป ก็เป็นกิเลสครั้งหนึ่งๆ

ในเสียง ก็เป็นกิเลสครั้งหนึ่งๆ

ในกลิ่น ก็เป็นกิเลสครั้งหนึ่งๆ

ในรส ก็เป็นกิเลสครั้งหนึ่งๆ

ในโผฎฐัพพะ ก็เป็นกิเลสครั้งหนึ่งๆ

เป็นกิเลสทั้งนั้น ถ้ายังไม่รู้จักพอ ก็จะไปถึงเนกขัมมวิตกไม่ได้ ฉะนั้น ยังไม่ต้องถึงบรรพชาอุปสมบท เพียงแต่ในวันหนึ่งๆ ถ้ารู้สึกว่า พอแล้ว เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมากแล้ว ก็ไม่ต้องไปซื้อหามาอีก ให้คิดถึงคำว่า "มากมายแล้ว พอแล้ว พอเสียที" นั้นก็เป็นเนกขัมมวิตก (สละความติดข้องอันเป็นกามวิตก) ในชีวิตประจำวัน"

จากหนังสือเรื่อง บารมีในชีวิตประจำวัน โดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

เนกขัมมะเริ่มได้ตรงนี้และตอนนี้เลยนะครับ

กราบเท้าอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิม, อาจารย์คำปั่นและทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 28 ก.ย. 2554

"พอเพียง"

"สันโดษ ... ตามมีตามได้"

มีความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก

เป็นอัธยาศัยของผู้ที่ขัดเกลาจริงๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jaturong
วันที่ 29 ก.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nopwong
วันที่ 28 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 26 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
mui.ubo
วันที่ 16 พ.ค. 2559

สาธุ สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Chutikan
วันที่ 4 ธ.ค. 2559

สาธุๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
sumek
วันที่ 9 ก.ค. 2560

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
poongplin
วันที่ 20 พ.ค. 2563

สาธุ​ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
sowpan23
วันที่ 20 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนา สาธุ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ต.ค. 2564

คนที่ไม่เข้าใจธรรม ไม่เห็นกิเลสของตัวเองและไม่ได้สะสมอุปนิสัยในการสละเพศคฤหัสถ์ แล้วบวช นั้น ไม่ใช่ผู้ที่จริงใจและไม่ใช่ผู้ตรง เพราะถามว่าบวชทำไม ถ้าตอบว่าเพราะเหตุนั้นๆ แต่ไม่ใช่เพราะได้เข้าใจพระธรรมและรู้อัธยาศัยของตนเองว่าเพื่อศึกษาพระธรรมและขัดเกลากิเลสในเพศภิกษุตามพระธรรมวินัยแล้ว สมควรบวชไหม การบวชเป็นภิกษุไม่ใช่เป็นอยู่อย่างสบายให้ผู้คนกราบไหว้ แต่เพราะเป็นผู้ที่เห็นกิเลสและเห็นโทษของกิเลส และรู้ว่าหนทางเดียวที่จะขัดเกลากิเลสก็ด้วยความเข้าใจพระธรรมจึงบวชเพื่อศึกษาธรรมและขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าคฤหัสถ์ ฉะนั้น การดำรงชีวิตของคฤหัสถ์และบรรพชิตจึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง

อ่านเพิ่มเติม

ทำไมบวช

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ต.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม ...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

การที่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ทำให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรสั่งสมไปทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือ กุศล (รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ในชีวิตประจำวันด้วย)

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Bunma
วันที่ 21 ส.ค. 2567

อนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ