ความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น... [ภวาสวะ...ตอน ๒]
ภวาสวะ หมายถึงความยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ ในความมีความเป็น ในภพภูมินั้นๆ
วันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีการสนทนาถึงทิฏฐาสวะ ทิฏโฐฆะ ... กามาสวะ กาโมฆะ ... และภาวาสวะ ภโวฆะ ... ท่านอาอาจารย์เคยกล่าวไว้เสมอๆ ว่า
การฟังพระธรรมนั้น ไม่ใช่ พูดได้ จำได้ แต่เรื่องราวของธรรม ซึ่งไม่มีประโยชน์เลย แต่ต้องเข้าใจธรรม อย่างเช่น
กามาสวะ คือ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
ทิฏฐาสวะ คือ ความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
ท่านอาจารย์ได้กรุณาบรรยายความลึกซึ้งของธรรมว่า ขณะที่มีความติดข้องพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ขณะนั้นก็ถูกความติดข้องพอใจซึ่งเปรียบดังน้ำไหลท่วมสัตว์นั้นให้จม และขณะที่มีความเห็นผิดก็เช่นกัน ถูกความเห็นผิด คือ ทิฏฐิไหลไปท่วมทับสัตว์นั้นๆ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ใช่แค่รู้แต่เรื่องราวที่อยู่ในหนังสือ วันทั้งวันก็มีแต่ความยินดี พอใจในรูปสวยๆ บ้าง เสียงชมบ้าง กลิ่นบ้าง ... หรือบางขณะ ก็มีความเห็นผิดว่ามีสัตว์ มีบุคคลจริงๆ ... โดยไม่เข้าใจ
สำหรับภวาสวะ นั้นข้าพเจ้าก็เป็นผู้หนึ่งที่พูดได้ จำได้ ว่า หมายถึงมีความยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ ในความมี ความเป็น ในภพภูมิต่างๆ ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้กราบเรียนถามท่านอาจารย์ถึงความละเอียดลึกซึ้งของธรรม ... ทำให้ความเข้าใจค่อยๆ เพิ่มขึ้นโดยไม่ใช่จำได้ พูดได้เท่านั้น
ท่านอาจารย์ถามข้าพเจ้าว่า ที่ตัวข้าพเจ้ามีรูปไหม? ข้าพเจ้าตอบว่า มี เพราะฉะนั้น ถ้าที่ตัวไม่มีรูปจะมีความยินดีพอใจหรือเปล่า ดังนั้น สำหรับภพภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ยังมีความยินดีพอใจในความมี ความเป็นอย่างนี้ และสำหรับในอรูปพรหมภูมิ พรหมบุคคลไม่มีรูป มีแต่นามปฏิสนธิ ท่านก็มีความยินดีพอใจในความมีความเป็นเช่นนั้น
ขอกราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ค่ะ
ชออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยค่ะ
ขอบพระคุณอย่างสูงครับ และอนุโมทนากุศลจิตที่เอื้อเฟื้อครับ
ขออนุโมทนาครับ เป็นประโยชน์มากเลยครับ ยังมีความพอใจในรูปและนาม ที่อยู่ภายในเราก็เป็นภวาสวะ