กิจของอริยสัจจ์ ๔

 
แก่นไม้หอม
วันที่  3 ต.ค. 2554
หมายเลข  19838
อ่าน  9,887

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระอรหัตตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กิจของอริยสัจจ์ ๔

(จากพระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค ๘ มหามกุฏราชวิทยาลัย - หน้า 157)

ทุกข์ มีกิจ ๔ คือ เบียดเบียน ๑ ปัจจัยประชุมปรุงแต่ง ๑ เร่าร้อน ๑ แปรปรวน ๑

สมุทัย มีกิจ ๔ คือ ทำให้เกิดกองทุกข์ ๑ เป็นเหตุแห่งทุกข์ ๑ ประกอบไว้ในสังสารทุกข์ ๑ ขังอยู่ในเรือนจำคือสังสารทุกข์ ๑

นิโรธ มีกิจ ๔ คือ ออกจากอุปธิ ๑ สงัดจากหมู่คือกิเลส ๑ ปัจจัยประชุมปรุงแต่งไม่ได้ ๑ เป็นอมตรส (ไม่รู้จักตาย) ๑

มรรค มีกิจ ๔ คือ ออกจากสงสาร ๑ เป็นเหตุแห่งพระนิพพาน ๑ เห็นพระนิพพาน ๑ เป็นอธิบดีในอันเห็นพระนิพพาน ๑

ขอความกรุณาจากอาจารย์วิทยากร/ท่านผู้รู้ ช่วยอธิบายในความละเอียด/ความลึกซึ้งของกิจของอริยสัจจ์ ๔ ดังกล่าวข้างต้น เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นค่ะ

ขอขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ความหมายของอริยสัจจะ

๑. ความจริงที่ประเสริฐ ชื่อว่า อริยสัจจะ

๒. พระอริยะทั้งหลาย ย่อมแทงตลอดอริยสัจจะเหล่านี้ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า อริยสัจจะ

๓. ธรรมที่ทำให้ถึงความเป็น พระอริยะ ชื่อ อริยสัจ

๔. ที่ชื่อว่า อริยสัจ เพราะอรรถว่า เป็นสัจจะของพระอริยะ ดังนี้บ้าง

๕. ที่ชื่อว่า อริยสัจ เพราะความที่อริยสัจจะเหล่านั้น อันพระอริยะตรัสรู้แล้วบ้าง

กระผมขออธิบายตามนัยของพระไตรปิฎกและอรรถกถา ในเรื่องอริยสัจ ๔ ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 241

ทุกข์ มีการเบียดเบียน ปรุงแต่ง เผา แปรปรวน เป็นอรรถ สมุทัย มีการขวนขวายเป็นเหตุ พัวพัน ห่วงใยเป็นอรรถ นิโรธ เป็นเครื่องสลัดออก สงัดจากกิเลส ไม่ปรุงแต่งอมตะเป็นอรรถ มรรค นำออกไป เป็นเหตุ เป็นทัสสนะ เป็นอธิบดี เป็นอรรถดังนี้.

ซึ่งจากข้อความที่ท่านผู้ถามยกมานั้น ไม่ใช่เป็นกิจหน้าที่ครับ แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ว่ามีลักษณะ ความหมายอย่างไร เช่น ทุกขอริยสัจจะ มีลักษณะ เบียดเบียน ปัจจัยประชุมปรุงแต่ง เร่าร้อน และแปรปรวน

ทุกข์ คือ สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ที่เกิดขึ้นและดับไป ทนได้ยาก อันได้แก่ จิต เจตสิก และรูป

ทุกข์ มีลักษณะ เบียดเบียน คือ ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า เพราะมีการเกิดขึ้นและดับไป อาศัยชาติ คือ การเกิด จึงทำให้สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ถูกเบียดเบียนด้วยชาติการเกิด เพราะมีการเกิดขึ้นและดับไป ธรรมชาติของทุกข์ จึงเป็นสภาพธรรมที่เบียดเบียนอันเกิดจากการเกิดขึ้นและดับไป ทนอยู่ไม่ได้ครับ

ปัจจัยประชุมปรุงแต่ง สภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นทุกขอริยสัจจะ คือ จิต เจตสิก และรูป เป็นสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม คือ ต้องอาศัยสภาพธรรมอื่นๆ เกิดร่วมด้วย ประชุมปรุงแต่งจึงจะเกิดขึ้นได้ เช่น จิตจะเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกก็เช่นกัน จะเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยจิตเกิดร่วมด้วย แม้รูปใดรูปหนึ่งจะเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยรูปอื่นๆ เกิดร่วมด้วย ดังนั้น ทุกขอริยสัจจะ ที่เป็นจิต เจตสิก และรูปที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยคือสภาพธรรมอื่นๆ ประชุมปรุงแต่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 3 ต.ค. 2554

ทุกขอริยสัจจะ คือความเร่าร้อน ทุกข์ คือสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นจิต เจตสิก และรูป ที่เกิดขึ้นและดับไป ซึ่งในพระไตรปิฎกอธิบายถึงความเร่าร้อนที่เป็นทุกข์ไว้ ว่า ความป่วยทางกายที่เจ็บไข้ ก็เป็นความเร่าร้อนที่เป็นทุกข์ซึ่งเป็นทุกขอริยสัจจะ และรวมทั้งกิเลสที่เกิดขึ้นที่เป็นโลภะ โทสะ และโมหะ ก็เป็นเครื่องเร่าร้อนทางจิตที่เป็นทุกขอริยสัจจะด้วยครับ (ปฏิจฉันนทุกข์) และแม้รูปที่เป็นทุกขอริยสัจจะ ก็เป็นสภาพธรรมที่เร่าร้อน เพราะมีการเกิดขึ้นและดับไปนั่นเองครับ ทุกขอริยสัจจะ หมายถึงสภาพธรรมที่แปรปรวน เพราะอาศัยการเกิดขึ้นและดับไป จึงเป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา แม้สุขเวทนาก็ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ทุกข์ที่มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา (เรียกว่า วิปริณามทุกข์)

สมุทัยอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก ๑ เป็นความจริงอย่างประเสริฐ คือเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหาหรือโลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะติดข้อง ทำให้เพลิดเพลินในภพใหม่ เป็นเหตุของการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป เป็นโลกิยธรรม

จากข้อความที่ท่านผู้ถามยกมานั้น ทำให้เกิดกองทุกข์ ๑ เป็นเหตุแห่งทุกข์ ๑ ประกอบไว้ในสังสารทุกข์ ๑ และขังอยู่ในเรือนจำ คือสังสารทุกข์ ๑

ตัณหา คือสภาพธรรมที่ติดข้องต้องการที่เป็นโลภะ เพราะมีตัณหา จึงมีความทุกข์ประการต่างๆ

๑. ทำให้เกิดทุกข์ คือ เพราะอาศัยตัณหา จึงทำให้เกิดทุกข์ใจ ปรารถนาแล้วไม่ได้ เป็นต้น

๒. เป็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะมีตัณหา จึงทำให้เกิดทุกข์ทางกายและใจ เพราะเมื่อมีตัณหา ก็ต้องมีการเกิด เมื่อมีการเกิดก็มีร่างกาย มีขันธ์ ๕ ก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์กายและใจนานับประการครับ

๓. ประกอบสัตว์ไว้ในสังสารทุกข์ เพราะมีตัณหา มีกิเลส ก็ไม่สามารถพ้นจากการเกิดได้เลย ก็ต้องเกิดวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ไม่มีที่สิ้นสุด จึงเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ไม่ให้พ้นจากการเกิดจากสังสารวัฏฏ์ครับ

๔. ขังอยู่ในเรือนจำ คือสังสารทุกข์ เพราะมีกิเลส คือตัณหา จึงต้องเกิด ตาย ไม่สามารถออกจากสังสารวัฏฏ์ ที่เรียกว่า คุก เพราะขังสัตว์ไว้ไม่ให้ออกจากการเกิดและตายได้ คุกอันละมุนละไมที่ดูน่าเพลิดเพลิน แต่ถูกขังไว้โดยไม่รู้ตัว อันมีเหตุมาจากตัณหาและกิเลสประการต่างๆ ครับ

นิโรธอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ พระนิพพาน ความจริงอย่างประเสริฐ คือความดับทุกข์ หมายถึงพระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์ทั้งปวง เมื่อถึงการดับขันธปรินิพพานแล้ว จะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก พระนิพพานเป็นโลกุตตรธรรม

จากข้อความที่ผู้ถามยกมานั้น ที่ว่า นิโรธสัจจะ คือ ออกจากอุปธิ ๑ สงัดจากหมู่ คือกิเลส ๑ ปัจจัยประชุมปรุงแต่งไม่ได้ ๑ เป็นอมตรส (ไม่รู้จักตาย) ๑

ออกจากอุปธิ อุปธิ หมายถึง สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ ซึ่งอุปธิ มีหลายประการ มี ๔ อย่างคือ

- กามูปธิ คือ สภาพธรรมที่เป็นที่ยินดี พอใจ ติดข้อง ที่เป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งทุกข์

- ขันธูปธิ คือ สภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นจิต เจตสิก และรูป เป็นสภาพธรรมนำมาและทรงไว้ซึ่งทุกข์

- กิเลสูปธิ คือ สภาพธรรมที่เป็นกิเลส ก็เป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งทุกข์

- อภิสังขารูปธิ คือ สภาพธรรมที่เป็นเจตนา ที่ปรุงแต่งให้มีการเกิด ก็นำมาซึ่งทุกข์

พระนิพพาน ที่เป็นนิโรธสัจจะ เป็นสภาพธรรมที่ออกจากอุปธิ คือสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ประการต่างๆ เพราะพระนิพพานไม่เกิด ไม่ดับ จึงไม่ทุกข์ ครับ

นิโรธสัจจะ หมายถึงสงัดจากหมู่กิเลส เพราะพระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่ปราศจากเครื่องเศร้าหมองที่เป็นกิเลสประการต่างๆ และกิเลสก็ยินดีติดข้องไม่ได้ด้วย จึงเป็นสภาพธรรมที่ปราศจากกิเลส ครับ

ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ พระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่มีสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก และรูปเกิดเลย จึงไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด เพราะพระนิพพานไม่เกิดและดับ ครับ เป็นอมตรส พระนิพพานที่เป็นนิโรธสัจจะ ไม่เกิดและไม่ดับ จึงเที่ยง จึงเป็นอมตรส ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 3 ต.ค. 2554

มัคคอริยสัจ องค์ธรรม ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ในมรรคจิตตุปบาททั้ง ๔ เป็นความจริงอย่างประเสริฐ คือหนทางดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ที่เกิดขึ้นเป็นมรรคสมังคี ทำกิจประหาณกิเลสเป็นสมุจเฉท ทำให้บุคคลที่อบรมมรรคมีองค์ ๘ นั้นเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้น

จากข้อความที่ผู้ถามได้ยกมาที่ว่า

มรรคสัจจะ คือ ออกจากสงสาร ๑ เป็นเหตุแห่งพระนิพพาน ๑ เห็นพระนิพพาน ๑ เป็นอธิบดีในอันเห็นพระนิพพาน ๑

๑. ออกจากสังสาร อริยมรรค เป็นหนทางที่สามารถดับกิเลส ทำให้ไม่มีการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก และรูปอีกครับ เพราะคำว่าสังสาร หมายถึงการเกิดขึ้นสืบต่อของสภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิกต่อไปไม่ขาดสาย ไม่มีที่สิ้นสุดครับ ดังนั้น อริยมรรคเมื่อเจริญแล้วก็ทำหน้าที่ละกิเลส ทำให้ไม่มีการเกิดขึ้นของจิต เจตสิกอีก จึงออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ครับ

๒. เป็นเหตุแห่งพระนิพพานและเห็นพระนิพพาน ผู้ที่เจริญอริยมรรค มรรคสัจจะ มรรคจิต เมื่อเกิดขึ้น ย่อมมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ จึงชื่อว่าย่อมเห็นพระนิพพาน และเป็นเหตุแห่งพระนิพพานครับ

๓. เป็นอธิบดีในการเห็นพระนิพพาน มรรคสัจจะหรืออริยมรรค ขณะที่เป็นมรรคจิต ก็ย่อมเห็นพระนิพพานเป็นใหญ่ในการเห็นพระนิพพานครับ

ซึ่งกระผมขออธิบายเรื่องกิจของอริยสัจจะ ๔ ประการในพระไตรปิฎกว่า กิจของอริยสัจจะ แต่ละข้อเป็นอย่างไร

กิจของอริยสัจจะในพระไตรปิฎก

- ทุกขอริยสัจจะ กิจ คือ ควรกำหนดรู้ ที่เรียกว่า ปริญญากิจ กำหนดรู้ด้วยปัญญาอันรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาครับ ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ครับ

- สมุทัยอริยสัจจะ กิจ คือ ควรละ ที่เรียกว่า ปหาณกิจ ตัณหา และกิเลสประการต่างๆ อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ กิจที่ควรทำ คือ การละกิเลสเหล่านี้ครับ

- นิโรธสัจจะ กิจ คือ ควรทำให้แจ้ง ที่เรียกว่า สัจฉิกิริยากิจ

- มัคคสัจจะ กิจ คือ ควรเจริญ ควรอบรม ที่เรียกว่า ภาวนากิจ การอบรมเจริญอริยมรรค ที่เป็นการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ คือ เป็นกิจหน้าที่ที่ควรเจริญอบรมให้มีขึ้นและเจริญขึ้นครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 3 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อริยสัจจ์ ๔ เป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง อริยสัจจ์ ๔ เป็นธรรมที่มีจริงที่ทำให้ผู้รู้แจ้งถึงความเป็นพระอริยะ ห่างไกลจากข้าศึก คือกิเลสตามลำดับขั้น เป็นสัจจะของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นสัจจะ ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายตรัสรู้แล้ว ว่าโดยประเภทแล้ว มี ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค

ทุกข์ หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดดับ เกิดแล้วย่อมดับไป เป็นไปกับด้วยสังสารวัฏฏ์ เป็นไปในฝ่ายเกิด ซึ่งก็คือ สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก และรูปเลย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อเกิดแล้วก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องมีความดับไปเป็นธรรมดา

สมุทัย เป็นเหตุแห่งทุกข์ ที่มีสภาพธรรมที่เป็นทุกข์นี้ ก็เพราะตัณหา ตราบใดที่ยังมีตัณหา ก็ยังไม่พ้นจากทุกข์ ในสังสารวัฏฏ์มีการเกิดการตายอย่างไม่จบสิ้น จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงจะสามารถดับตัณหาได้อย่างหมดสิ้น

นิโรธ เป็นความดับทุกข์ ดับกิเลส ได้แก่ พระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับกิเลส ตรงกันข้ามกับสังสารวัฏฏ์อย่างสิ้นเชิง ผู้ที่จะประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เท่านั้น

มรรค เป็นหนทางอันประเสริฐที่จะดำเนินไปถึงซึ่งความดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เป็นต้น อันเป็นทางอันประเสริฐที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกดำเนินไปแล้วทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด ที่ทำให้ผู้ที่รู้แจ้งถึงความเป็นพระอริยบุคคล

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทั้งหมด เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกเพื่อละคลายกิเลสทุกๆ ประการ มีความเห็นผิด ความไม่รู้ เป็นต้น ความเข้าใจของผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา จะต้องเจริญขึ้นไปตามลำดับ ตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล โดยไม่ขาดการฟังการศึกษา เห็นประโยชน์ในการรู้ความจริง ซึ่งก็คือสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นธรรม สิ่งที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจ ไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ไม่พ้นไปจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pamali
วันที่ 3 ต.ค. 2554
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เมตตา
วันที่ 3 ต.ค. 2554

มรรค มีกิจ ๔ คือ ออกจากสงสาร ๑ เป็นเหตุแห่งพระนิพพาน ๑ เห็นพระนิพพาน ๑ เป็นอธิบดีในอันเห็นพระนิพพาน ๑

ขอเรียนถาม อ.วิทยากร ช่วยกรุณาให้ความเข้าใจ กิจของมรรคที่เป็นอธิบดีในอันเห็นพระนิพพาน ว่าหมายถึงอย่างไรคะ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนา อ.คำปั่น และ อ.ผเดิม ด้วยค่ะ ที่ได้ยกตัวอย่างอธิบายไว้อย่างชัดเจน มีประโยชน์อย่างมากค่ะ

... ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาคุณแก่นไม้หอมค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
j.jim
วันที่ 3 ต.ค. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 3 ต.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

มรรค เป็นอธิบดีในการเห็นพระนิพพาน ในความหมายนี้ แสดงถึงว่า อธิบดี หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นใหญ่กว่าสภาพธรรมอื่น ดังนั้น มรรคจิตเมื่อเกิดขึ้น ย่อมประจักษ์พระนิพพานและทำกิจดับกิเลสด้วย ดังนั้น มรรคจิต จึงเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่กว่าสภาพธรรมอื่นๆ ในการประจักษ์พระนิพพาน เห็นพระนิพพาน เพราะเมื่อมรรคจิตเกิดขึ้น ในมรรคจิต ๔ ก็ประจักษ์พระนิพพานโดยเป็นอารมณ์ในขณะนั้น และละกิเลสด้วยครับ

อีกนัยหนึ่ง มรรคจิต เป็นอธิบดี ด้วยความหมายที่ว่า อธิบดี เป็นสภาพธรรมที่ครอบงำ เป็นใหญ่ ดังนั้น มรรคจิต ในแต่ละประเภท ใน ๔ ดวง ก็เป็นใหญ่และครอบงำกิเลสที่สามารถละได้ครับ อรหัตตมรรคจิตเมื่อเกิดขึ้น เป็นใหญ่และครอบงำกิเลสทุกๆ ประการ เพราะละได้หมดครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
kinder
วันที่ 4 ต.ค. 2554

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เมตตา
วันที่ 4 ต.ค. 2554

อธิบดี หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นใหญ่กว่าสภาพธรรมอื่น ดังนั้น มรรคจิตเมื่อเกิดขึ้น ย่อมประจักษ์พระนิพพานและทำกิจดับกิเลสด้วย

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.ผเดิม อย่างมากด้วยค่ะ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
nong
วันที่ 6 ต.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
captpok
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
สิริพรรณ
วันที่ 16 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ