อัสสชิสูตร.. ความเป็นอนิจจังแห่งเวทนา

 
pirmsombat
วันที่  3 ต.ค. 2554
หมายเลข  19839
อ่าน  1,294

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 285

๖. อัสสชิสูตร (ข้อความบางตอนจาก) ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งเวทนา

ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า อัสสชิ ภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า และสั่งมากราบทูลว่า พระเจ้าข้าขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาอัสสชิภิกษุถึงที่อยู่เถิด.

[๒๒๓] ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่พัก แล้วเสด็จเข้าไปหาท่านพระอัสสชิถึงที่อยู่ ท่านพระอัสสชิ ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้วก็ลุกขึ้นจากเตียง. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท่านพระอัสสชิว่า อย่าเลย อัสสชิ เธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจักนั่งที่อาสนะนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระอัสสชิว่า ดูก่อนอัสสชิ เธอพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ฯลฯ ทุกขเวทนานั้น ปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ ท่านพระอัสสชิกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถจะยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ฯลฯ ทุกขเวทนานั้นปรากฏว่า กำเริบขึ้นไม่ทุเลาลงเลย

ภ. ดูก่อนอัสสชิ เธอไม่มีความรำคาญ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรบ้างหรือ?

อ. พระเจ้าข้า แท้ที่จริง ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อยมีความเดือดร้อนอยู่ไม่น้อยเลย.

ภ. ดูก่อนอัสสชิ ก็ตัวเธอเองไม่ติเตียนตนเองได้โดยศีลบ้างหรือ?

อ. พระเจ้าข้า ตัวข้าพระองค์เองจะติเตียนข้าพระองค์เองได้โดยศีลก็หาไม่.

ภ. ดูก่อนอัสสชิ ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะมีความรำคาญและความเดือดร้อนอะไร?

ภ. พระเจ้าข้า ในการป่วยครั้งก่อน ข้าพระองค์ระงับกายสังขาร (ลมหายใจเข้าออก) (ครั้งนี้ระงับไม่ได้) จึงไม่ได้สมาธิ เมื่อข้าพระองค์ไม่ได้สมาธิ จึงเกิดความสงสัยอย่างนี้ว่า เราไม่เสื่อมหรือหนอ.

ภ. ดูก่อนอัสสชิ สมณพราหมณ์ที่มีสมาธิเป็นสาระ มีสมาธิเป็นสามัญญะ เมื่อได้สมาธินั้น ย่อมเกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายไม่เสื่อมหรือหนอ ดูก่อนอัสสชิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

อ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

ภ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

อ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

ภ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ถ้าอริยสาวกนั้นได้เสวยสุขเวทนา ก็ทราบชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน หากว่าเสวยทุกขเวทนา ก็ทราบชัดว่า ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน ถ้าหากว่าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ทราบชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน

หากว่าเสวยสุขเวทนา ก็ปราศจากความยินดียินร้าย เสวยสุขเวทนานั้น ถ้าหากว่าเสวยทุกขเวทนา ก็ปราศจากความยินดียินร้าย เสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าหากว่าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ปราศจากความยินดียินร้าย เสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น ย่อมทราบชัดว่า เวทนานั้น ไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน หากว่าเสวยเวทนา๑ มีกายเป็นที่สุด ก็ทราบชัดว่า เสวยเวทนามีกาย ๑. เวทนาทางทวารทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นที่สุด ถ้าเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็ทราบชัดว่า เสวยเวทนา ๑ มีชีวิตเป็นที่สุด ทราบชัดว่า ก่อนแต่จะสิ้นชีวิตเพราะกายแตก ความเสวยอารมณ์ทั้งมวลในโลกนี้ไม่น่ายินดี จักเป็นของเย็น.

[๒๒๔] ดูก่อนอัสสชิ อุปมาเหมือนประทีปน้ำมันจะพึงติดอยู่ได้ เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ เชื้อไม่มีก็พึงดับ เพราะหมดน้ำมันและไส้นั้น ฉันใด ดูก่อนอัสสชิ ภิกษุเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็ทราบชัดว่า เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็ทราบชัดว่า เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ทราบชัดว่า ก่อนแต่จะสิ้นชีวิต เพราะกายแตก ความเสวยอารมณ์ทั้งมวลในโลกนี้ไม่น่ายินดี จักเป็นของเย็น.

จบ อัสสชิสูตรที่ ๖

ข้อความบางส่วนจากอรรถกถาอัสสชิสูตรที่

๑. ถามว่า สุขเวทนา มีความเพลิดเพลินยินดี จงยกไว้ก่อนเถิด (ส่วน)
๒.ทุกขเวทนา มีความเพลิดเพลินยินดี เป็นอย่างไร?

ตอบว่า บุคคลประสบทุกข์แล้วย่อมปรารถนาสุข ซึ่งก็คือปรารถนาทุกข์นั่นเอง เพราะทุกข์มาถึงเพราะสุขแปรปรวนไป นักศึกษาพึงทราบความเพลิดเพลินยินดีในทุกข์อย่างนี้. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วในตอนต้น นั่นแล.

จบ อรรถกถาอัสสชิสูตรที่ ๖


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
pamali
วันที่ 3 ต.ค. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 3 ต.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณหมอ ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pirmsombat
วันที่ 3 ต.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณเผดิม คุณเมตตา และทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 3 ต.ค. 2554

บุคคลประสบทุกข์แล้วย่อมปรารถนาสุข ซึ่งก็คือปรารถนาทุกข์นั่นเอง เพราะทุกข์มาถึงเพราะสุขแปรปรวนไป นักศึกษาพึงทราบความเพลิดเพลินยินดีในทุกข์อย่างนี้.

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณหมอ ด้วยค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kinder
วันที่ 3 ต.ค. 2554
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 4 ต.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
fam
วันที่ 5 ต.ค. 2554
ขออนุโมทนาบุญค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
papon
วันที่ 1 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ