อารมณ์ที่เกิดทางใจเป็นวิบากกรรมหรือไม่?

 
อินทวัชร
วันที่  11 ต.ค. 2554
หมายเลข  19883
อ่าน  2,922

ท่านอาจารย์ครับ ผมศึกษาเรืองวิบากกรรม มีรายละเอียดมาก มีเหตุของวิบาก มีชาติของจิต มีอนุขณะจิต ประเภทของจิตที่เป็นวิบาก ที่ผมกล่าวนำนี้เพราะผมเกรงว่าจะเป็นการรบกวนท่านทั้งที่ท่านกล่าวไว้มากแล้ว ผมเข้าใจว่ารูปที่เกิดทางปัญจทวารเป็นวิบาก แต่ผมสงสัยว่า "อารมณ์ คือ รูปที่เกิดทางใจเป็นวิบากกรรมหรือไม่ครับ"


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

อารมณ์หมายถึงสิ่งที่ถูกจิตและเจตสิกรู้ ซึ่งจิตและเจตสิก สามารถรู้ หรือมีอารมณ์ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมและรูปธรรม คือ รู้จิต เจตสิก รูป และนิพพานได้ รวมทั้งจิตก็สามารถรู้บัญญัติได้ด้วยครับ ก่อนอื่นเข้าใจพื้นฐานที่ว่า ผลของการกรทะกรรมที่เป็นกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรมนั้น ผลของกรรม ย่อมนำมาซึ่ง นามธรรมและรูปธรรม คือ นำมาซึ่ง จิต เจตสิกและรูป แต่เมื่อเรากล่าวถึงคำว่า วิบากแล้ว จะมุ่งหมายถึง สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเท่านั้น คือ จิตและเจตสิก ส่วนรูปธรรม ไม่ใช่ วิบาก แต่เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำมาได้ เช่น ทำให้มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น แต่ จักขุปสาท (ตา) ไม่ใช่ วิบากเพราะวิบาก มุ่งหมายถึง จิตและเจตสิกเท่านั้น แต่เรียกได้ว่าเป็นผลของกรรมครับ

อารมณ์ที่เกิดทางปัญจทวาร คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อจิตที่เกิดขึ้นทางปัญจทวาร ก็ต้องมีอารมณ์ อารมณ์ทางปัญจทวารก็คือ รูป เช่น ทางตา ก็มีอารมณ์คือ สี ทางหู ก็คือเสียง เป็นอารมณ์ทางโสตทวาร เป็นต้น ดังนั้น อารมณ์ทางปัญจทวาร เป็นรูปธรรม ที่เป็นสี เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่รูป ไม่ใช่วิบากนะครับ ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น รูปเป็นผลของกรรม แต่วิบาก มุ่งหมายถึง จิต เจตสิก ดังนั้น วิบากทางปัญจทวาร ก็เช่นจักขุวิญญาณจิต (จิตเห็น) สัมปฏิฉันนะ สันตีรณะ ทางหูก็ โสตวิญญาณจิต เหล่านี้ เป็นวิบากครับ รูปที่เป็นอารมณ์ทางปัญจทวาร ไม่ใช่วิบากครับ

โดยนัยเดียวกัน ทางใจ วิบากก็ต้องมุ่งหมายถึง จิตและเจตสิกเท่านั้น รูปที่รู้ต่อทางใจ รูปนั้นก็ไม่ใช่วิบาก แต่ตัววิบากที่เกิดทางใจ หมายถึง จิตและเจตสิก ก็เช่น ตทาลัมพนจิต คือ จิต ๑๑ ดวง ได้แก่ สันตีรณจิต ๓ มหาวิบาก ๘ ครับ ดังนั้นอารมณ์ที่เป็นรูป ไม่ว่าจะเป็นทางปัญจทวาร มโนทวาร รูปที่เป็นอารมณ์นั้น ไม่ใช่วิบาก เพราะวิบากมุ่งหมายถึงจิตและเจตสิกเท่านั้นครับ ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
อินทวัชร
วันที่ 11 ต.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
j.jim
วันที่ 11 ต.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
อินทวัชร
วันที่ 11 ต.ค. 2554

ขอถามเพิ่มเติมครับ รูปเป็นผลของกรรม จิต เจตสิกก็เป็นผลของกรรมเดียวกันไหมครับ?

เช่น เวลานี้น้ำท่วมบ้าน ผู้ใหญ่ทุกข์ แต่เด็กๆ เล่นน้ำสนุกสนาน เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 11 ต.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

ถูกครับ รูปเป็นผลของกรรมก็มี แต่รูปบางรูปไม่ใช่ผลของกรรมก็มี จิตและเจตสิกที่เป็นผลของกรรมก็มี ครับ เรียกว่า วิบากจิตและเจตสิก และจิตและเจตสิกที่ไม่ใช่ผลของกรรมที่เป็นวิบากก็มีครับ ส่วนจากตัวอย่างที่ผู้ถามยกมานั้น เราจะต้องแยกครับว่า จิต มี 4 ประเภท คือ กุศล อกุศล วิบากและกิริยา ซึ่งกุศลจิตและอกุศลจิต ไม่ใช่ผลของกรรมที่เป็นวิบากครับ ดังนั้นขณะที่เป็นวิบากในชีวิตประจำวัน คือ ขณะที่เห็น จิตเห็น ขณะที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัสครับ ขณะนั้นเป็นจิตและเจตสิกที่ทำหน้าที่ เป็นวิบากที่เป็นผลของกรรม แต่ขณะที่ทุกข์ใจ เดือดร้อนใจ ขณะนั้นเป็นอกุศล ไม่ใช่ผลของกรรม ขณะที่สนุกสนาน ยินดี เพลิดเพลินก็เป็นอกุศลจิต ไม่ใช่ผลของกรรม เพราฉะนั้น ขณะที่ผู้ใหญ่ทุกข์ใจ การทุกข์ใจ เป็นอกุศลจิตที่เป็นโทสะ ไม่ใช่ผลของกรรมที่เป็นวิบากเพราะวิบาก ต้องขณะที่เห็นดีหรือไม่ดี ได้ยินสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ได้กลิ่นที่ดีหรือไม่ดี ลิ้มรสที่ดีหรือไม่ดี รู้กระทบสัมผัสที่ดีหรือไม่ดีครับ ขณะที่เด็กสนุกสนานก็เช่นกัน เป็นอกุศลจิต ไม่ใช่วิบาก จากตามที่ผมยกตัวอย่างเรื่องของวิบากมาครับ เช่น ได้กลิ่นไม่ดี (น้ำเน่า) เป็นวิบาก แต่ไม่ชอบกลิ่น ทุกข์ใจ เป็นอกุศล ไม่ใช่ผลของกรรมที่เป็นวิบาก เป็นต้นครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 11 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้งมาก ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาบ่อยๆ เนืองๆ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะสิ่งที่กำลังศึกษานั้น ก็คือ สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ แม้แต่ในเรื่องของจิต ก็เช่นเดียวกัน มีจริงอยู่ในขณะนี้ ทุกขณะของชีวิตก็คือจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เมื่อจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ แล้ว มี ๒ ประเภท คือ จิตที่เป็นวิถีจิต (จิตที่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวารเกิดขึ้นรู้อารมณ์ คือ อาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) และ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยไม่ได้อาศัยทวาร ๖ เลย ซึ่งมีเพียง ๓ ประเภทเท่านั้น คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และ จุติจิต สำหรับวิถีจิตทางมโนทวาร (จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยอาศัยมโนทวาร) ที่เป็นวิบากจิต นั้น ได้แก่ จิตที่เกิดขึ้นทำกิจตทาลัมพนะ (รับรู้อารมณ์ต่อจากชวนจิต) ตทาลัมพนจิตเท่านั้น ที่เป็นวิบากจิตอันเป็นวิถีจิตทางมโนทวาร ตามความเป็นจริงแล้ววิถีจิตทางมโนทวาร นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นอกุศลจิต กุศลจิต และกิริยาจิต วิบากจิตมีน้อยมาก สำหรับกามาวจรจิต วิบากจิตที่เป็นวิถีจิตทางมโนทวาร มีเพียงตทาลัมพนจิต เท่านั้น ไม่มีจิตอื่น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว วิบากต้องเป็นนามธรรม คือ จิต และ เจตสิกเท่านั้น ถ้าแต่เป็นผลของกรรมแล้ว กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนามธรรมที่เป็นผลของกรรมแล้ว ก็ยังมีรูป ที่เป็นผลของกรรมด้วย อย่างเช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม ครับ .

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
อินทวัชร
วันที่ 11 ต.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
อินทวัชร
วันที่ 11 ต.ค. 2554

ขอเรียนถามเพิ่มเติม เป็นประเด็นของคำถามแต่ต้นครับ คือ ผลของกรรมทางใจเป็นอย่างไรครับ โดยเฉพาะอารมณ์ทางมโนทวารที่เป็นผลของกรรมครับ

กรุณายกตัวอย่างด้วยครับ?

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 11 ต.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 9 ครับ

วิบากจิต (ผลของกรรม) ทางใจมีในขณะที่จิตกระทำกิจ ตทาลัมพนกิจ คือ จิต ๑๑ ดวง ได้แก่ สันตีรณจิต ๓ มหาวิบาก ๘ อย่างเช่น ทาง ตา มี สีเป็นอารมณ์ คือ มีรูป คือ สีเป็นอารมณ์ หากรูปนั้น เป็นอารมณ์ คือ รูปที่เด่นชัด ทางมโนทวารรู้รูปนั้นต่อ เกิดชวนจิต 7 ขณะ เมื่อรูปนั้นเด่นชัด ตทาลัมพนจิตจึงเกิดต่อ 2 ขณะ เป็นวิบากทางใจ ที่เป็นผลของกรรมทางใจครับ ซึ่งอารมณ์ของตทาลัมพนจิตก็คือ สีที่เป็นรูปนั่นเอง ซึ่งรูปไม่ใช่วิบาก แต่ตทาลัมพนจิตเป็นวิบากครับ ซึ่งวิบากทางใจ คือ ตทาลัมพนจิตจะเกิดได้

ในชีวิตประจำวัน คือ รูปนั้นเป็นรูปที่เด่นชัดมีกำลัง จึงสามารถเกิดตทาลัมพนจิตได้ครับ ที่เป็นวิบากทางใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
อินทวัชร
วันที่ 11 ต.ค. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
อินทวัชร
วันที่ 11 ต.ค. 2554

ขอถามเพิ่มเติม ยังอยู่ในประเด็นของผลของกรรมทางใจครับ

ธัมมารมณ์ซึ่งรู้ได้ทางมโนทวารเพียงทวารเดียวนั้น ที่เป็นผลของกรรมมีหรือไม่

กรุณายกตัวอย่างด้วยครับ?

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
paderm
วันที่ 11 ต.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 12 ครับ

ธัมมารมณ์ เป็นอารมณ์ที่จิตรู้ได้เฉพาะทางใจทางเดียวเท่านั้น มี ๖ อย่างคือ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ จิต เจตสิก นิพพาน บัญญัติ ซึ่งขณะที่เป็นวิบากจิตเกิดขึ้นและมีธัมมารมณ์เป็นอารมณ์ ทางมโนทวาร เช่น ผลจิตของพระอริยบุคคล ที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะที่เป็นผลจิต ขณะนั้นเป็นชาติวิบาก เกิดทางมโนทวาร และมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ พระนิพพานเป็นธัมมารมณ์ครับ นี่คือ ตัวอย่างตามที่ผู้ถามได้ถามครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
อินทวัชร
วันที่ 11 ต.ค. 2554

ขอบพระคุณอย่างสูง และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
อินทวัชร
วันที่ 12 ต.ค. 2554

เรียนท่านผู้กรุณาตอบ ผมขออนุญาตสอบความเข้าใจเรื่อง "ผลของกรรมทางใจ และวิบากจิต " ครับ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของการเรียนถาม สนทนาธรรมครับ เมื่อสักครู่ผมก็ชมรายการบ้านธัมมะทาง สทท. ขออนุโมทนาครับ ท่านอาจารย์บอกว่าต้องฟังบ่อยๆ คำต่างๆ ข้ามไม่ได้เลยครับ ผมก็เกรงจะเข้าใจผิดครับ นำไปพูดผิดๆ ครับ

1. นิพพานเป็นผลของกรรม ผลจิตเป็นวิบากหรือ?

2. บัญญัติเป็นผลของกรรม จิตรู้บัญญัติเป็นวิบากหรือ?

3. จิต เจตสิกขณะเป็นอารมณ์ของจิตเป็นผลของกรรม จิตรู้สภาพของจิต เจตสิกเป็นวิบากหรือ?

4. สุขุมรูป 16 ปสาทรูป 5 เป็นผลของกรรม จิตรู้สุขุมรูป 16 ปสาทรูป 5 เป็นวิบากหรือ?

5. คนทั่วไปมีอารมณ์บัญญัติเกิดทางใจเพราะกรรม จิตรับรู้บัญญ้ติเป็นวิบาก เกิดความพอใจ ไม่พอใจ เป็นอกุศล เกิดเมตตา กรุณาเป็นกุศลหรือ?

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
paderm
วันที่ 12 ต.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 15 ครับ

1. นิพพานเป็นผลของกรรม ผลจิตเป็นวิบากหรือ?

นิพพาน ไม่ใช่ผลของกรรมครับ ผลของกรรม หมายถึง จิต เจตสิกและรูป

และนิพพานก็ไม่ใช่วิบาก วิบาก หมายถึง จิตและเจตสิกเท่านั้นครับ แต่นิพพานเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ที่เรียกว่า อารมณ์ของจิตได้ แต่อารมณ์ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผลของกรรม และ วิบากครับ

ผลจิต เป็นวิบากครับ เมื่อโลกุตตรมรรคจิตเกิดขึ้น วิบากเกิดต่อทันที ที่เป็นผลจิตครับ

2. บัญญัติเป็นผลของกรรม จิตรู้บัญญัติเป็นวิบากหรือ?

ตามที่กล่าวแล้วครับ สิ่งที่ถูกจิตรู้ ที่เป็นอารมณ์ อารมณ์ไม่จำเป็นจะต้องเป็นวิบากและเป็นผลของกรรม เพราะจิตรู้ได้ทุกอย่าง บัญญัติ ก็สามารถรู้ได้ด้วยจิต แต่บัญญัติไม่ใช่ผลของกรรมและวิบาก ถ้าเป็นวิบาก คือ จิตและเจตสิก บัญญัติไม่ใช่ จิตและเจตสิกครับ จึงไม่ใช่วิบาก

3. จิต เจตสิกขณะเป็นอารมณ์ของจิตเป็นผลของกรรม จิตรู้สภาพของจิต เจตสิกเป็นวิบากหรือ?

จิตเมื่อเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอครับ ขณะที่จิตรู้ จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย จิตและเจตสิกที่ถูกรู้ หรือ เป็นอารมณ์ ไม่จำเป็นจะต้องวิบาก แต่ก็เป็นวิบากได้ เช่นจิตที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา รู้จิตเห็น (วิบาก) จิตเห็น เป็นชาติวิบาก เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นวิบากด้วยครับ แต่ถ้าจิตที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา รู้จิตที่เป็นกุศลจิต กุศลจิตเป็นชาติกุศล ไม่ใช่วิบาก เจตสิกที่เกิดร่วมกับกุศลจิต ก็ต้องเป็นชาติกุศลด้วย ไม่ใช่วิบากเพราะกฎคือ จิตเป็นชาติใด ประเภทใด เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นชาตินั้นประเภทนั้นครับ

4. สุขุมรูป 16 ปสาทรูป 5 เป็นผลของกรรม จิตรู้สุขุมรูป 16 ปสาทรูป 5 เป็นวิบากหรือ?

สิ่งที่เป็นอารมณ์ หรือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ สิ่งนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นวิบากครับ ปสาทรูป 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นรูปที่เกิดจากรรม ที่เรียกว่ากัมมชรูป เป็นผลของกรรมครับ ส่วนสุขุมรูปบางรูปเป็นรูปที่เกิดจากกรรม เช่น หทยรูป แต่บางรูปก็ไมใช่รูปที่เกิดจากกรรมครับ

5. คนทั่วไปมีอารมณ์บัญญัติเกิดทางใจเพราะกรรม จิตรับรู้บัญญ้ติเป็นวิบาก เกิดความพอใจ ไม่พอใจ เป็นอกุศล เกิดเมตตา กรุณาเป็นกุศลหรือ?

จิตรู้บัญญัติได้ แต่สิ่งที่เป็นอารมณ์ไม่จำเป็นต้องเป็นวิบาก เพราะวิบาก หมายถึง จิตและเจตสิก ซึ่งวิบากที่มีในชีวิตประจำวัน เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส ขณะที่เป็นกุศล คือ ขณะที่จิตที่ดีเกิดขึ้น พร้อมๆ กับ เจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย เช่น เมตตา กรุณา เป็นต้น ในขณะนั้นเป็นกุศลจิตครับ ส่วน โลภะ โทสะ โมหะ กิเลสที่เกิดขึ้นกับจิต ทำให้จิตเป็นอกุศล มี ความพอใจและไม่พอใจ เป็นต้นครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
อินทวัชร
วันที่ 12 ต.ค. 2554

ขอบพระคุณมาก ขอจบคำถาม และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
wannee.s
วันที่ 13 ต.ค. 2554

ในโลกนี้ย่อแล้วมี 2 อย่าง คือ นามธรรม และ รูปธรรม นามหมายถึงสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ส่วนรูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่มีอารมณ์ ไม่มีความรู้สึก ไม่ใช่วิบาก วิบากต้องเป็นนามธรรมเท่านั้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
pat_jesty
วันที่ 13 ต.ค. 2554

การศึกษาพระธรรมต้องอาศัยการสะสมความรู้ความเข้าใจเพื่อให้รู้ยิ่งขึ้น ละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีได้จากการฟังพระธรรมอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ค่ะ ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นๆ จะทำให้ชัดเจนขึ้นค่ะ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 23 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
worrasak
วันที่ 25 เม.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ