กิเลส กรรม วิบาก ในวิถีจิต

 
bwssk
วันที่  11 ต.ค. 2554
หมายเลข  19886
อ่าน  1,918

ผมมีความสงสัยว่าในวิถีจิต 17 ขณะ จะจำแนกออกเป็นกิเลส กรรม และวิบาก อย่างไร

ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

กิเลส กรรม วิบาก เพราะว่ามีกิเลส จึงทำให้เกิดมีการทำกรรม คือ กุศลกรรมและ อกุศลกรรม (กรรม) และเมื่อมีการกระทำกรรม ก็มีการให้ผลของกรรมที่เป็นวิบากครับ ซึ่ง ขอแสดง ทางปัญจทวารครับว่า วิถีจิตเป็นอย่างไรบ้าง และจิตประเภทใด เป็นกิเลส กรรม และวิบาก

๑. อตีตภวังค์ ๑ ขณะ.ไม่ใช่วิถีจิต.

๒. ภวังคจลนะ ๑ ขณะไม่ใช่วิถีจิต.

๓. ภวังคุปัจเฉทะ ๑ ขณะไม่ใช่วิถีจิต.

๔. ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ขณะ เป็นวิถีจิต เป็นจิตที่เป็นชาติหรือประเภท กิริยาจิต จึงไม่ ใช่กิเลส กรรมและวิบาก

๕. ทวิปัญจวิญญาณ ๑ ขณะ เป็นวิถีจิต. เป็นจิตที่เป็นผลของกรรมที่เป็นวิบากจิต ดังนั้น ขณะที่เห้น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส เป็นวิบาก

๖. สัมปฏิจฉันนจิต ๑ ขณะ เป็นวิถีจิต. เป็นวิบาก

๗. สันตีรณจิต ๑ ขณะ เป็นวิถีจิต. เป็นวิบาก

๘. โวฏฐัพพนจิต ๑ ขณะ เป็นวิถีจิต. เป็นกิริยาจิต จึงไม่ใช่กิเลส กรรม และ วิบาก

๙-๑๕. ชวนจิต ๗ ขณะ เป็น ชวนวิถีจิต. ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งกุศล อกุศล วิบากและกิริยา ในขณะที่เป็นชวนจิต 7 ขณะแล้วแต่ว่าจะเกดิกับใครครับ ดังนั้น จึงเป็น กิเลส กรรมและ วิบากด้วย

๑๖. ตทาลัมพนจิต ๑ ขณะ เป็น ตทาลัมพนวิถีจิต. เป็นจิตชาติวิบาก เป็นวิบาก

๑๗. ตทาลัมพนจิต ๑ ขณะ เป็น ตทาลัมพนวิถีจิต. เป็นจิตชาติวิบาก เป็นวิบาก

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 11 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระองค์ธรรม ควรอย่างยิ่งที่จะได้ศึกษาธรรมไปทีละคำ เพืือความเข้าใจให้ละเอียดลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

-วิถีจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร ในการรู้แจ้งอารมณ์ เมื่อกล่าวถึงจิตแล้ว ก็ต้องหมายรวมเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต ด้วย ดังนั้น วิถีจิต ต้องหมายถึงจิตแต่ละขณะๆ ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เพราะจิตเมื่อจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ แล้ว มี ๒ ประเภท คือ วิถีิจิต (ตามที่ได้กล่าวแล้ว) และ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้อาศัยทวารใดๆ เลย มีอยู่ด้วยกัน ๓ ชนิดเท่านั้น คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และ จุติจิต

-กิเลส หมายถึง เครื่องเศร้าหมองของจิต เกิดขึ้นเมื่อใดก็ทำให้จิตเศร้าหมองเมื่อนั้น กิเลสจะเกิดขึ้นก็เฉพาะกับอกุศลจิตเท่านั้น จะไม่เกิดร่วมกับจิตชาติอื่นเลย เช่นในขณะที่เกิดความติดข้องต้องการในสิ่งหนึ่งสิ่งใด จิตในขณะนั้น เป็นโลภมูลจิต ซึ่งก็จะต้องมีกิเลสเกิดร่วมด้วยอย่างแน่นอน มีโลภะ อหิริกะ (ความไม่ละอายต่ออกุศล) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล) และทุกครั้งที่จิตเป็นอกุศล จะมีโมหะ ซึ่งก็เป็นกิเลสประะเภทหนึ่งเหมือนกัน เกิดร่วมด้วย เป็นต้น

-กรรม หมายถึงการกระทำ ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ เจตนาเจตสิก มีอยู่ด้วยกัน ๒ ประเภท คือ เจตนาที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง และ เจตนาที่เป็นตัวกระทำกรรมที่จะเป็นเหตุให้เกิดผลข้างหน้า ซึ่งเมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นจะมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ

-วิบาก หมายถึง จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นอันเป็นผลของกรรม ไม่พ้นไปจากวิบากจิต และ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เช่น เห็น ในขณะนี้ เป็นผลของกรรม เป็นวิบากจิต ได้ยิน ก็เป็นวิบากจิต เช่นเดียวกัน เพราะต้องเกิดขึ้นอันเนืื่องมาจากเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว นั่นเอง ดังนั้นจากประเด็นคำถาม เมื่อได้อ่านข้อความอธิบายคำแต่ละคำ ก็พอจะเข้าใจบ้างว่า ขณะไหนบ้างที่เป็นกรรม กิเลส และ วิบาก ทั้งหมดเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ เพราะกรรม คือ เจตนา ก็ไม่พ้นไปจากขณะนี้ กิเลส ก็มีอยู่ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ในขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น เพราะยังดับกิเลสใดๆ ไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้มีกิเลสเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ส่วนวิบาก ก็มีจริงในขณะนี้เช่นเดียวกัน ขณะที่ได้รับของกรรม นั่นแหละคือ วิบาก

ยกตัวอย่าง วิถีจิตทางตา ก่อนจะมีวิถีจิตเกิดขึ้น ต้องเป็นภวังคจิต (ภวังคจิต ไม่ใช่วิถีจิต) ภวังคจิต ก็เป็นวิบากจิตวิถีจิตขณะแรกทางตา คือ จักขุทวาราวัชชนจิต เป็นกิริยาจิต, จักขุวิญญาณ เป็นวิบากจิต สัมปฏิจฉันนจิต เป็นวิบากจิต สันตีรณจิต เป็นวิบากจิต โวฏฐัพพนจิต เป็นกิริยาจิตชวนะ ๗ ขณะ เป็นกุศล ก็ได้ อกุศล ก็ได้ กิริยาก็ได้ ตามสมควร ตทาลัมพณจิต เป็นวิบากจิต ถ้าจะกล่าวโดยประมวลแล้ว วิถีจิตทางตา ขณะใดบ้างที่เป็นกิเลสกรรม และวิบาก ก็จะตอบได้ดังนี้ จักขุวิญญาณ เป็นวิบาก สัมปฏิจฉันนจิต เป็นวิบาก สันตีรณจิต เป็นวิบาก ชวนะที่เป็นอกุศล เป็น กิเลส ด้วย เป็นกรรมด้วย ชวนะที่เป็นกุศล เป็นกรรม ตทาลัมพณจิต เป็นวิบาก และทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น ก็จะมีเจตนาเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง แต่ที่จะเป็นกรรมที่จะให้เกิดผลต่อไป ต้องเป็นในขณะที่เป็นกุศลชวนะ หรือ อกุศลชวนะเท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
bwssk
วันที่ 11 ต.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 13 ต.ค. 2554

ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกรรมทำให้สังสารวัฏฏ์วนเวียนไม่มีวันจบ มีหนทางเดียวคือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่เป็นหนทางออกจากทุกข์คือสังสารวัฏฏ์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 26 ต.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 5 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ