ทำอย่างไรให้สงบ ขณะยังทุกข์

 
supattra
วันที่  25 ต.ค. 2554
หมายเลข  19929
อ่าน  1,907

เมื่อต้องพลัดพรากจากคนที่รัก ทำอย่างไรให้กายสงบ สภาวะเจ็บร้าวในอกดีขึ้น ขณะที่ใจยังทุกข์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ความจริงก็คือความจริงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เกิดแล้วได้ เพราะทุกอย่าง เป็นธรรมและบังคับบัญชาไม่ได้ ความทุกข์มีจริงเกิดขึ้นแล้ว ที่เป็นสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก คือ จิตที่เป็นโทสะ ความขุ่นเคือง ความโศกเศร้า ความไม่สบายใจ อันมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย คือ โทมนัสเวทนา อันเป็นความรู้สึกทุกข์ทางใจ ซึ่งความทุกข์ใจและกิเลสที่เป็นโทสะที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่มีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น เพราะสภาพธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยเหตุต่างๆ ประชุมพร้อมกัน เหตุก็เพราะว่า ยังมีกิเลสที่สะสมมามาก มีความไม่รู้ ที่เป็นอวิชชา โลภะ โทสะ ที่ยังมี ไม่ได้ดับ เมื่อมีกิเลส ปุถุชนผู้ที่ไม่ได้สดับ คือ ผู้ที่หนาด้วยกิเลส มีปัญญาน้อย ย่อมยึดถือสิ่งต่างๆ ด้วยความเป็นเรา ยึดถือว่าเป็นเขา ยึดถือว่าเป็นของๆ เรา เป็นแฟน เป็นคนที่รัก เป็นสัตว์ บุคคล ยึดถือด้วยความติดข้อง ยึดถือด้วยความเข้าใจผิดว่ามีสัตว์ บุคคล มีคนที่รัก มีสิ่งต่างๆ จริงๆ นี่คือความเข้าใจผิดของปุถุชนทั้งหลาย เมื่อยึดถือเช่นนี้แล้ว เมื่อสิ่งนั้นแปรปรวนไป พลัดพรากไป ก็ย่อมทุกข์ใจ โทมนัส เพราะความติดข้อง และ ยึดถือว่ามีสัตว์ บุคคล

จะเห็นถึงความเป็นธรรมดาและเป็นอนัตตาที่เมื่อมีเหตุก็ต้องทุกข์ใจ จะให้ไม่ทุกข์ใจ ก็ไม่ได้ เพราะเกิดแล้ว ตามความเป็นจริง การจะแก้ไม่ให้อกุศลเกิดขึ้น ไม่ให้ทุกข์ใจ จึงเป็นเรื่องที่เหลือวิสัยของปุถุชน ผู้ที่มีความไม่รู้และกิเลสที่สะสมามาก หนทางที่ถูกต้อง จึงไม่ใช่จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ความทุกข์ใจ เจ็บปวดร้าวใจเกิดขึ้น แต่เข้าใจความจริงในสิ่งที่เกิดแล้ว ค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้นว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา และเข้าใจความจริงว่า เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 26 ต.ค. 2554

หากจะหาวิธีที่จะไม่ให้อกุศลเกิด ไม่ให้ทุกข์ใจ ก็เปรียบเหมือนบุคคลที่จะเหยียดมือ ไปจับภวัคคพรหมที่อยู่งสูงสุด หรือ จะเอาเท้าเหยียดไปให้ถึงอเวจีมหานรกที่ลึกที่สุด หรือจะเอาฝ่ามือ ทำลาย ภูเขาสิเนรุที่สูงใหญ่เพียงครั้งเดียว ทุกอย่างเป็นเรื่องที่เหลือวิสัย เหลือวิสัย เพราะยังไม่มีปัญญาและไม่เข้าใจธรรม

ผู้ที่จะไม่ทุกข์ใจเลย คือ พระอริยบุคคลที่เป็นพระอนาคามี แม้นางวิสาขาผู้เป็นพระโสดาบัน ก็ยังเศร้าโศกมากมายที่หลานท่านสิ้นชีวิต ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาเหลือเกิน สำหรับกิเลสที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งความทุกข์ใจ หนทางที่ถูก คือ ไม่ต้องทำอะไร แต่ ค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น อยู่กับความทุกข์ใจด้วยความเข้าใจ เข้าใจว่าเป็นธรรม เข้าใจว่าบังคับบัญชาไม่ได้ ก็ทุกข์ใจ ทุกข์กันมามากแล้วในอดีตชาติ ในสังสารวัฏฏ์ ชาตินี้พบพระธรรม พบพระพุทธศาสนา ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐแล้ว ที่จะเข้าใจถูกว่า พระองค์สอนให้อยู่ด้วยความเข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ละกิเลสและความทุกข์ใจทันทีไม่ได้ แต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้ ก็สามารถละได้ในอนาคตจนหมดสิ้น คือ ละกิเลสประการทั้งปวง ด้วยการศึกษาพระธรรม

ขออนุโมทนาครับ เป็นกำลังใจให้ด้วยความเข้าใจพระธรรม

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธรณ์__ภควลีธร
วันที่ 26 ต.ค. 2554

การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์ การประจวบกับสิ่งที่ไม่รักก็เป็นทุกข์ ไม่จากกันตอนเป็น ก็ต้องจากกันตอนตาย หวังมากเท่าไหร่ก็ทุกข์มากเท่านั้น ดูก่อน ... เธอทั้งหลาย จงเป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ จงเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่เถิด ดูก่อน ... เมื่อเธอทั้งหลายจะมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่ จะต้องพิจารณาโดยแยบคายว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส มีกำเนิดมาอย่างไร เกิดมาจากอะไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส มีกำเนิดมาอย่างไร เกิดมาจากอะไร //www.dhammahome.com/webboard/topic/19645

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
majweerasak
วันที่ 26 ต.ค. 2554

ไม่มีใครที่ไม่พลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักครับ ขณะนี้ทุกท่านก็กำลังพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก (และไม่รัก) ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รักมากก็ทุกข์มาก เมื่อเข้าใจมากขึ้นก็พอจะช่วยบรรเทาความทุกข์ใจลงไปได้บ้าง อย่างน้อยขณะที่เข้าใจก็ไม่ทุกข์ใจ

ขอให้มีกำลังใจในการศึกษาพระธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tanakase
วันที่ 26 ต.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 26 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็ดับไป เกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีอะไรที่ยั่งยืน ดังนั้น จึงไม่มีใครเป็นเจ้าของสิ่งหนึ่งสิ่งใดในโลกเลย

เพราะเกิดแล้วดับ ตามความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้ว่าสิ่งที่เป็นที่รัก ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจเหล่านั้นไม่ได้พลัดพรากไป แต่ในที่สุดเราก็จะต้องจากสิ่งที่น่าปรารถนาเหล่านั้นไปเมื่อถึงวาระที่จะต้องละจากโลกนี้ เพราะทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย และไม่สามารถนำเอาอะไรติดตามตัวไปได้เลย ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติ หรือบุคคลผู้เป็นที่รัก ก็ตาม สิ่งที่ควรแสวงหา ไม่ใช่รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ แต่สิ่งที่ควรจะแสวงหาเป็นอย่างยิ่ง คือ ปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก ซึ่งเป็นการแสวงหาที่ประเสริฐ ที่จะทำให้รู้ความจริงของสภาพธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะละคลายความติดข้องต้องการได้ เพราะความติดข้องต้องการนี้เองเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อน เมื่อมีปัญญาที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ก็จะสามารถละคลายความติดข้องต้องการและสามารถดับทุกข์ได้ในที่สุด ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์

โดยต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในแนวทางที่ถูกต้องตรงตามที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เท่านั้น ยาที่ดีที่สุด ที่รักษาโรคกิเลสได้ทุกชนิด ก็คือ ความเข้าใจพระธรรม นั่นเอง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
มกร
วันที่ 27 ต.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 27 ต.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pat_jesty
วันที่ 27 ต.ค. 2554

ธรรมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เมื่อยังมีเหตุก็ยังคงเกิดขึ้นเป็นไป เราไม่สามารถ บังคับจิตใจของใครได้ แม้แต่ความรู้สึกของเราเอง เพราะทุกอย่างเป็นธรรม ไม่มีใคร ไม่มีของใคร เกิดขึ้นเมื่อเหตุปัจจัยพร้อมจะเกิดก็เกิด สิ่งเดียวที่ควรพิจารณา คือ เข้าใจถูก เห็นถูกกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นธรรม "เกิด" และต้อง "ดับ" ไป อยู่ตลอดเวลา แต่เพราะว่า ไม่ประจักษ์การเกิดดับ จึงยังคงรู้สึกว่าความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นยาวนาน ฉะนั้น อกุศลสามารถเกิดสลับกับกุศลได้ เมื่อนึกถึงบุคคลที่รัก เมตตาเขาได้ไหม ยังคงเป็นเพื่อน ปรารถนาดีต่อเขาได้ไหม เห็นโทษของโทสะ (ความไม่พอใจ ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น) ได้ไหม ... ศึกษาพระธรรมให้เกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นมากกว่านี้ เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะละคลายทุกสิ่งได้ ค่ะ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
miran
วันที่ 27 ต.ค. 2554

๕. เรื่องอนิตถิคันธกุมาร [๑๖๙]
ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภอนิตถิคันธกุมาร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "กามโต ชายตี" เป็นต้น.

อนิตถิคันธกุมารให้ช่างหล่อรูปสตรี

ได้ยินว่า อนิตถิคันธกุมารนั้นเป็นสัตว์ที่จุติจากพรหมโลก เกิดในตระกูลมีโภคะมาก ในกรุงสาวัตถี ตั้งแต่วันเกิดมาแล้วไม่ปรารถนาจะเข้าไปใกล้หญิง ถูกผู้หญิงจับก็ร้องไห้, มารดา (ต้อง) อุ้มกุมารนั้นด้วยเทริดผ้าแล้ว จึงให้ดื่มนม.
กุมารนั้นเจริญวัยแล้ว เมื่อมารดาบิดากล่าวว่า "พ่อ เราจักทำอาวาหมงคลแก่เจ้า." ก็ห้ามว่า "ฉันไม่มีความต้องการด้วยหญิง" เมื่อถูกอ้อนวอนบ่อยเข้า จึงให้เรียกช่างทองมา ๕๐๐ คน แล้วให้ๆ ทองคำมีสีสุกพันนิกขะ ให้ทำรูปหญิง บุอย่างหนา น่าเลื่อมใสยิ่งนัก.
เมื่อมารดาบิดากล่าวอีกว่า "พ่อ เมื่อเจ้าไม่ทำอาวาหมงคล ตระกูลวงศ์จักตั้งอยู่ไม่ได้, เราจักนำกุมาริกามาให้เจ้า" ก็กล่าวว่า "ถ้ากระนั้น ถ้าท่านทั้งสองจะนำกุมาริกาเช่นนั้นมาให้ฉัน ฉันจักทำตามคำของท่านทั้งสอง" ดังนี้แล้ว จึงแสดงรูปทองคำนั้น.

ส่งพราหมณ์ไปหาคู่ครองบุตร

ลำดับนั้น มารดาบิดาของเขาให้พาพวกพราหมณ์มีชื่อเสียงมา แล้วบอกว่า "บุตรของเรามีบุญมาก คงจักมีกุมาริกาผู้ทำบุญร่วมกับบุตรนี้เป็นแน่ พวกท่านจงไป จงพาเอารูปทองคำนี้ไปแล้วนำนางกุมาริกาผู้มีรูปเช่นนี้มา" ดังนี้แล้วส่ง (พราหมณ์เหล่านั้น) ไป.
พราหมณ์เหล่านั้นรับว่า "ดีละ" เที่ยวจาริกไป ไปถึงสาคลนคร ในแคว้นชื่อมัททะ.

พราหมณ์พบหญิงมีรูปดุจรูปหล่อแล้วกลับมา

ก็ในนครนั้นได้มีกุมาริกาคนหนึ่งมีรูปสวย มีอายุรุ่นราว ๑๖ ปี. มารดาบิดาให้นางอยู่ที่พื้นชั้นบนแห่งปราสาท ๗ ชั้น พราหมณ์แม้เหล่านั้นแล คิดกันว่า "ถ้าในนครนี้จักมีกุมาริกาเห็นปานนี้ ชนทั้งหลายเห็นรูปทองคำนี้แล้ว ก็จักกล่าวว่า รูปจำลองนี้สวยเหมือนธิดาของตระกูลโน้น" ดังนี้แล้ว จึงตั้งรูปทองคำนั้นไว้ริมทางไปสู่ท่าน้ำ นั่ง (คอยเฝ้า) ณ ที่ควรข้างหนึ่ง.
ลำดับนั้น หญิงแม่นมของกุมาริกานั้นให้กุมาริกานั้นอาบน้ำแล้ว ใคร่จะอาบเองบ้าง จึงไปสู่ท่าน้ำ เห็นรูปนั้นสำคัญว่า "ธิดาของเรา" จึงกล่าวว่า "โอ แม่หัวดื้อ เราให้เจ้าอาบน้ำแล้วออกมาเมื่อกี้นี้เอง เจ้าล่วงหน้ามาที่นี่ก่อนเรา" ดังนี้แล้ว จึงตีด้วยมือ รู้ความที่รูปนั้นแข็งและไม่มีวิการ จึงกล่าวว่า "เราได้ทำความเข้าใจว่า ‘นางนี้เป็นธิดาของเรา’ นั่นอะไรกันเล่า?"
ลำดับนั้น พราหมณ์เหล่านั้นถามหญิงแม่นมนั่นว่า "แม่ ธิดาของท่าน เห็นปานนี้หรือ?"
หญิงแม่นม. นี้จะมีค่าอะไรในสำนักธิดาของเรา.
พราหมณ์. ถ้ากระนั้น ท่านจงแสดงธิดาของท่านแก่พวกเรา.
หญิงแม่นมนั้นไปสู่เรือนพร้อมด้วยพราหมณ์ทั้งหลายนั้นแล้ว ก็บอกแก่นาย (เจ้าบ้าน) . นายทำความชื่นชมกับพวกพราหมณ์แล้ว ให้ธิดาลงมายืนอยู่ในที่ใกล้รูปทองคำ ณ ปราสาทชั้นล่าง. รูปทองคำได้เป็นรูปหมดรัศมีแล้ว.
พวกพราหมณ์ให้รูปทองคำนั้นแก่นายนั้นแล้วมอบหมายกุมาริกาไว้ แล้วไปบอกแก่มารดาบิดาของอนิตถิคันธกุมาร.

คู่ครองของอนิตถิคันธกุมารตายในระหว่างทาง

มารดาบิดานั้นมีใจยินดีแล้ว กล่าวว่า "ท่านทั้งหลายจงไป นำกุมาริกานั้นมาโดยเร็ว" ดังนี้แล้ว ส่งไปด้วยสักการะเป็นอันมาก.
ฝ่ายกุมาร ได้ยินข่าวนั้น ก็ยังความรักให้เกิดขึ้น ด้วยสามารถการได้ยินว่า "มีเด็กหญิงรูปร่างสวยยิ่งกว่ารูปทองคำอีก" จึงกล่าวว่า "ท่านทั้งหลายจงนำมาโดยเร็วเถิด."
กุมาริกาแม้นั้นแล อันเขายกขึ้นสู่ยาน นำมาอยู่ มีโรคลมอันความกระทบกระทั่งแห่งยานให้เกิดขึ้นแล้ว ได้ทำกาละในระหว่างทางนั่นเอง เพราะความที่นางเป็นผู้ละเอียดอ่อนยิ่งนัก.

ความรักก่อให้ระทมทุกข์

แม้กุมารก็ถามอยู่เสมอว่า "มาแล้วหรือ?" ชนทั้งหลายไม่บอกแก่กุมารนั้น ซึ่งถามอยู่ด้วยความสิเนหาอันยิ่ง โดยพลันทีเดียว ทำการอำพรางเสีย ๒-๓ วัน แล้วจึงบอกเรื่องนั้น.
กุมารนั้นเกิดโทมนัสขึ้นว่า "เราไม่ได้สมาคมกับหญิงชื่อเห็นปานนั้นเสียแล้ว" ได้เป็นผู้ถูกทุกข์คือโศก ประหนึ่งภูเขาท่วมทับแล้ว.

พระศาสดาทรงแสดงอุบายระงับความโศก

พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยของกุมารนั้น เมื่อเสด็จไปบิณฑบาต จึงได้เสด็จไปยังประตูเรือนนั้น. ลำดับนั้น มารดาบิดาของกุมารนั้นอัญเชิญพระศาสดาเสด็จเข้าไปภายในเรือน แล้วอังคาสโดยเคารพ.
ในเวลาเสร็จภัตกิจ พระศาสดาตรัสถามว่า "อนิตถิคันธกุมารไปไหน?"
มารดาบิดา. พระเจ้าข้า อนิตถิคันธกุมารนั่น อดอาหารนอนอยู่ในห้อง.
พระศาสดา. จงเรียกเธอมา.
อนิตถิคันธกุมารนั้นมาถวายบังคมพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
เมื่อพระศาสดาตรัสถามว่า "กุมาร ความโศกมีกำลังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอหรือ?" จึงกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าข้า. ความโศกมีกำลังเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะได้ยินว่า หญิงชื่อเห็นปานนี้ทำกาละในระหว่างทางเสียแล้ว แม้ภัต ข้าพระองค์ก็ไม่หิว."
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเขาว่า "กุมาร ก็เธอรู้ไหมว่าความโศกเกิดแก่เธอ เพราะอาศัยอะไร?"
อนิตถิคันธกุมาร. ไม่ทราบ พระเจ้าข้า.
พระศาสดาตรัสว่า "กุมาร ความโศกมีกำลังเกิดขึ้นแก่เธอ เพราะอาศัยกาม เพราะความโศกก็ดี ภัยก็ดี ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยกาม"
ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๕. กามโต ชายตี โสโก กามโต ชายตี ภยํ กามโต วิปฺปมุตฺตสฺส นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ. ความโศกย่อมเกิดแต่กาม, ภัยย่อมเกิดแต่กาม; ความโศกย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้วจากกาม, ภัยจักมีแต่ไหน.

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กามโต ความว่า จากวัตถุกามและกิเลสกาม อธิบายว่า ความโศกก็ดี ภัยก็ดี ย่อมอาศัยกามแม้ทั้งสองอย่างนั่นเกิด.
ในกาลจบเทศนา อนิตถิคันธกุมารตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล ดังนี้แล.

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Jans
วันที่ 28 ต.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Zeta
วันที่ 1 พ.ย. 2554

เวลาและธัมมะค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เซจาน้อย
วันที่ 4 พ.ย. 2554

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ