อัตตานุทิฎฐิ

 
อินทวัชร
วันที่  27 ต.ค. 2554
หมายเลข  19935
อ่าน  4,325

ฟังรายการบ้านธัมมะทาง สทท.เมื่อวันพุธ 26 ต.ค.54

ท่านวิทยากรอรรณพ กล่าวถึงอัตตานุทิฎฐิว่า เมื่อจิตเกิดรู้อารมณ์ใด แล้วพอใจ

จะเกิดความเห็นผิด ยึดว่าสภาพธรรมที่ดับแล้วว่ามีอยู่จริง ตรงกับความสงสัยว่าถ้าไม่พอใจในอารมณ์จะยึดว่านั่นเป็นของเราหรือไม่?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

อัตตานุทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคลนั่นเองครับ ซึ่งเป็นความเห็น ผิด ที่เป็น ทิฏฐิเจตสิก ซึ่งมีวัตถุ 20 ประการ เช่น เห็นรูปว่าเป็นตน เห็นตนในรูป ซึ่ง สำหรับความยึดถือ ว่ามีตัวตน มีเรา ที่เป็นอัตตานุทิฏฐิ โดยสภาพธรรมแล้ว คือ อกุศล เจตสิก ที่เป็น ทิฏฐิ เจตสิก คือ ความเห็นผิด ความเห็นผิดที่เป็นทิฏฐิเจตสิกนั้น จะเกิด ร่วมกับจิตที่เป็นโลภมูลจิต จะไม่เกิดกับจิตที่เป็นโทสะ ไม่พอใจในอารมณ์ครับ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่มีความเห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล มีเรา ที่ เป็นอัตตา ขณะนั้นต้องมี ความพอใจ คือ โลภะเกิดร่วมด้วย คือมีความพอใจในความเห็นนั้น พอใจในความเห็นที่ ว่า มีเราจริงๆ

การที่เรามีความเห็นอย่างใด อย่างหนึ่งเกิดขึ้น เพราะพอใจ ในความเห็น นั้น จึงคิดในความเห็นผิดแบบนั้น และเมื่อมีกำลังก็ไม่เพียงแต่คิด แต่ก็แสดงออก ทาง วาจาและกายในความเห็นผิดแบบนั้นครับ ดังนั้นเพราะมีความพอใจในความเห็นผิด ความ เห็นผิดจึงเกิดได้ อัตตานุทิฏฐิ ที่เป็นความเห็นผิดที่ยึดว่ามีเรา จึงเกิดกับโลภะ มูลจิต คือ ขณะ นั้นพอใจในความเห็นผิดนั้น แต่ขณะที่ไม่พอใจในอารมณ์ เช่น ขณะ ที่ไม่ชอบ รูปที่ปรากฎ ขณะที่ไม่ชอบเสียงที่ได้ยิน ขณะนั้นไม่ได้มีความเห็นผิดว่ามีเรา ในขณะนั้น แม้ไม่ชอบคนนั้น คนนี้ ขณะนั้นก็ไม่ได้มีความเห็นว่ามีเรา เพียงแต่เป็นโทสะ ความไม่ชอบในขณะนั้น ทิฏฐิ เจตสิกจะเกิดกับโลภมูลจิตเท่านั้น ไม่เกิดกับจิตที่เป็น โทสะ ไม่พอใจในอารมณ์ครับ

สรุปคือ ขณะที่ไม่พอใจในอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นจิตที่เป็นโทสะ ขณะนั้นไม่มีความเห็นผิด เกิดร่วมด้วย รวมทั้งอัตตานุทิฏฐิ ที่เป็นความเห็นผิดประการหนึ่งที่ยึดถือว่ามีเรา ก็ไม่ เกิดร่วม ด้วยกับจิตที่เป็นโทสะ แต่เกิดได้กับ จิตที่เป็นโลภะ แต่เมื่อความไม่พอใจ ที่ เป็นโทสะ ไม่ชอบในอารมณ์นั้นดับไป จิตที่เป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด ที่เป็น อัตตานุทิฏฐิ ยึดถือว่ามีเรา เกิดต่อได้ ว่า มีเราที่โกรธมีเราที่ไม่ชอบ ซึ่งคนละขณะจิตกัน ครับ

ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 27 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีใครที่จะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดก็ตาม แม้แต่ในเรื่องของความเห็นผิด ซึ่งเป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม กับ ความไม่พอใจ ล้วนเป็นธรรมที่มีจริงด้วยกันทั้งคู่ และก็เป็นอกุศลธรรม เป็นอกุศลเจตสิก ด้วยกันทั้งคู่ เช่นกัน แต่เกิดร่วมกับจิต ต่างกัน กล่าวคือ ความเห็นผิด เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดร่วมกับโลภมูลจิต เท่านั้น ไม่เกิดร่วมกับจิตประเภทอื่น และ โลภมูลจิต ที่ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ก็มี อย่างเช่น ความติดข้องยินดีพอใจในรสอาหาร เป็นต้น ก็เป็นโลภมูลจิต ที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เพราะไม่ได้มีความเห็นผิด ว่า เป็นสิ่งที่เที่ยงที่ยั่งยืน เพียงแต่ติดข้องยินดีพอใจเท่านั้น

ส่วนความไม่พอใจในอารมณ์ เป็นลักษณะของโทสะ โทสะจะเกิดร่วมกับอกุศลจิตเพียงประเภทเดียวเท่านั้น คือ โทสมูลจิต เวลาเกิดความไม่พอใจในขณะใด ขณะนั้นมีความไม่สบายใจ เพราะเวทนาที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิต เป็นโทมนัสสเวทนา ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ตราบใดที่ยังมีพื้ชเชื้อของความเห็นผิด และ พืชเชื้อของความไม่พอใจ อยู่ ก็ย่อมเป็นเหตุให้ความเห็นผิด และ ความโกรธ เกิดขึ้นได้ แต่ก็จะไม่เกิดพร้อมกัน เพราะเกิดร่วมกับจิตคนละประเภทกัน ซึ่งจะดับได้เมื่อได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล กล่าวคือความเห็นผิด พระโสดาบัน ดับได้อย่างเด็ดขาด ส่วนความไม่พอใจในอารมณ์ ซึ่งเป็นโทสะ นั้น พระอนาคามีบุคคล ดับได้อย่างเด็ดขาด ไม่เกิดขึ้นอีกเลย ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 28 ต.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 28 ต.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปันและอาจารย์ผเดิมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
อินทวัชร
วันที่ 29 ต.ค. 2554

ขณะที่มีความเห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล มีเราเป็นอัตตา ขณะนั้นมีโลภะ จึงคิดใน ความเห็นผิดเมื่อมีกำลังจะแสดงออกทางวาจาและกาย ขอถามว่าขณะทิฎฐิมีกำลัง มีสภาพธรรมใดเกิดร่วมด้วย เรียกความเห็นผิดที่มีกำลังว่าอะไรครับ? (จำได้ว่าท่าน อรรณพนำมากล่าวด้วย อยากให้ท่านอธิบายครับ เพราะวันนั้นท่านกล่าวคร่าวๆ ครับ)

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 29 ต.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

ทิฏฐิเจตสิก เกิดกับจิตที่เป็นโลภมูลจิตเท่านั้น ซึ่งทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด ก็มีกำลัง แตกต่างกันไป ตั้งแต่ ความเห็นผิดทั่วไป พื้นฐาน ที่ไม่ได้มีกำลังมาก เช่น ความเห็น ผิดที่ยึดถือว่ามีสัตว์ บุคคล คือ สักกายทิฏฐิ และความเห็นผิดที่ยึดถือว่ามีเรา คือ อัตตานุทิฏฐิ ซึ่งขณะนั้นก็ต้องมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วกับจิตที่เป็นโลภมูลจิตและเกิด ร่วมกับโลภเจตสิกและโมหเจตสิก

ส่วนทิฏฐิ ความเห็นผิดที่มีกำลังก็มีเช่นกัน ที่ เป็นความเห็นผิดที่ดิ่ง เช่น ไม่เชื่อเรื่องการกระทำ คือ ไม่เชื่อเรื่องกรรมและผลของ กรรม ไม่เชื่อเรื่องของกรรมดีและกรรมชั่ว ไม่เชื่อเรื่องผลของกรรมดีและกรรมชั่วว่ามีจริง เป็นต้น เป็นความเห็นผิดที่มีกำลัง ซึ่งเรียกว่า ทิฏฐุปาทาน คือ ยึดถือด้วยความเห็นผิดที่มีกำลังนั่นเองครับ ซึ่งขณะที่เป็นทิฏฐุปาทาน ความเห็นผิดที่มีกำลัง เจตสิก อื่นๆ ทีเกิดร่วมด้วย ก็เกิดเท่ากับ ความเห็นผิดที่ไม่มีกำลังนั่นเองครับ คือ เกิดกับโลภะ มูลจิต และเกิดร่วมกับโลภเจตสิกและมีทิฏฐิเจตสิกทีเป็นความเห็นผิด เพียงแต่ว่า ทิฏฐิ ความเห็นผิดนั้นมีกำลังมาก เรียกว่า ทิฏฐุปาทานครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
อินทวัชร
วันที่ 29 ต.ค. 2554

สักกายทิฏฐิ คือความเห็นผิดที่ยึดถือว่ามีสัตว์ บุคคล อัตตานุทิฏฐิ คือความเห็นผิดที่ยึดถือว่ามีเรา ทิฏฐุปาทาน คือความเห็นผิดที่มีกำลัง ทิฎฐิทั้ง 3 ขั้นน่าจะมีผลต่างกัน ขอเรียนถามเพิ่มเติมครับ

1. ความเห็นผิดทั้ง 3 ขั้น น่าจะมีผลต่างกันอย่างไรครับ?

2. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอุบายละทิฎฐิว่านั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่ อัตตาของเรา ทรงหมายถึงละทิฎฐิขั้นอัตตานุทิฎฐิใช่หรือไม่ครับ?

3. การยึดว่าสัตว์ บุคคลเป็นของเราเป็นทิฎฐิขั้นอัตตานุทิฎฐิใช่หรือไม่ครับ?

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 29 ต.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

1. ความเห็นผิดทั้ง 3 ขั้น น่าจะมีผลต่างกันอย่างไรครับ?

เมื่อว่าโดยความเห็นผิดแล้ว ย่อมมีโทษ แต่ถ้าเป็นทิฏฐุปาทาน ทิฏฐิที่มีกำลังมาก ดิ่ง ย่อมทำให้ ไม่สามารถไปสวรรค์ได้และไม่สามารถออกจากวัฏฏะได้เลยแต่สักกายทิฏฐิ และ อัตตานุทิฏฐิ ยังสามารถอบรมปัญญาและถึงการดับกิเลสได้

2. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอุบายละทิฎฐิว่านั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ทรงหมายถึงละทิฎฐิขั้นอัตตานุทิฎฐิใช่หรือไม่ครับ?

การเห็นถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ย่อมละ อัตตานุทิฏฐิได้ แต่เมื่อเห็นถึง ความเป็นอนัตตา ก็ย่อมเห็นถึงความไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ ก็ย่อมละ มิจฉาทิฏฐิ ประการต่างๆ และสักกายทิฏฐิด้วยครับ

3. การยึดว่าสัตว์ บุคคลเป็นของเราเป็นทิฎฐิขั้นอัตตานุทิฎฐิใช่หรือไม่ครับ?

เมื่อยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์บุคคล ก็เป็นอัตตานุทิฏฐิได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
nong
วันที่ 31 ต.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 25 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ใหญ่ราชบุรี-ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
พล.ต.อินทวัชร ลี้จินดา
วันที่ 21 มิ.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ