ภวังคจิต

 
maew
วันที่  31 ต.ค. 2554
หมายเลข  19942
อ่าน  6,861

ใน มรณาสันนวิถี ที่เกิดขึ้นโดยมีภวังคจิตเกิดต่อจากชวนที่เป็น อกุศล อยากทราบว่า ภวังคจิตดวงที่เกิดต่อจากชวนนั้นเป็นจิตดวงไหนในภวังคจิต 19 (มีมหากุศลวิบาก ๘ สันตีรณอกุศล ๑ สันตีรณกุศล ๑ และวิบากฌาณจิต ๙)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ภวังคจิต คือจิตที่ทำกิจสืบต่อดำรงภพชาติ ทำให้สภาพที่บัญญัติว่า สัตว์มีชีวิตอยู่ได้ ภวังคจิตเป็นวิบากจิต เป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต จุติจิต ซึ่งถ้าปฏิสนธิจิตเป็นประเภทใด มีอารมณ์ใด ภวังคจิตก็เป็นประเภทเดียวกันกับปฏิสนธิจิตด้วย จุติจิตก็เป็นจิตชาติเดียวกันและมีอารมณ์เหมือนกับปฏิสนธิจิตด้วยครับ ดังนั้น ภวังคจิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิตที่ดับไป และภวังคจิตที่เกิดต่อในชาตินั้น ไม่ว่าในขณะใดภวังคจิตนั้นก็ต้องมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิตและมีอารมณ์ และเป็นประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตครับ ดังนั้น ปฏิสนธิจิตเป็นแบบใด ภวังคจิตก็เป็นแบบนั้นครับ

ปฏิสนธิจิตมี ๑๙ ประเภท ฉะนั้น ภวังคจิตก็มี ๑๙ ประเภท ถ้าเกิดในทุคติภูมิ ปฏิสนธิจิตเป็นอกุศลวิบาก (สันตีรณอกุศลวิบาก) ภวังคจิตทั้งหมดก็เป็นอกุศลวิบากด้วย ถ้าปฏิสนธิจิตเป็นอเหตุกกุศลวิบาก (สันตีรณกุศลวิบาก) บุคคลนั้นจะพิการตั้งแต่เกิด และภวังคจิตทุกดวงในชาตินั้นก็เป็นอเหตุกกุศลวิบาก (สันตีรณกุศลวิบาก) ถ้าปฏิสนธิจิตเป็นสเหตุกะ (ประกอบด้วยโสภณเหตุ) ภวังคจิตก็เป็นสเหตุกะเช่นเดียวกัน ภวังคจิตทุกขณะตลอดภพชาตินั้นเป็นประเภทเดียวกันกับปฏิสนธิจิตของชาตินั้น

ดังนั้นจากคำถาม จึงขึ้นอยู่กับว่า บุคคลนั้นเกิดเป็นอะไร ด้วยปฏิสนธจิตประเภทไหน เมื่อตอนเกิด หากเกิดในอบายภูมิ ภวังคจิตทั้งหมดก็เป็นอกุศลวิบากทั้งหมด เพราะตอนเกิด ปฏิสนธิจิตเป็นอกุศลวิบากจิตที่เป็นสันตีรณอกุศลวิบาก หากเกิดเป็นมนุษย์ไม่พิการ ก็ปฏิสนธิด้วย มหากุศลวิบากดวงใดดวงหนึ่ง ซึ่งภวังคจิตไม่ว่าขณะไหนแม้ก่อนสิ้นชีวิตก็ต้องเป็นมหากุศลวิบาก ดวงใดดวงหนึ่ง ตามปฏิสนธิจิตครับ หากเกิดเป็นพรหมบุคคล ปฏิสนธิจิต ด้วยรูปาวจรกุศลวิบาก ภวังคจิตก็ต้องเหมือนกับปฏิสนธิจิตด้วยครับ ดังนั้น ภวังคจิต ไม่ว่าขณะใด ทั้งหมดในชาตินั้น แม้ก่อนสิ้นชีวิต ก็ต้องเป็นไปตามปฏิสนธิจิตครับ แม้ขณะที่ก่อนสิ้นชีวิต ชวนจิตสุดท้ายจะเป็นกุศล หรืออกุศลก็ตาม แต่ภวังคจิตก็ต้องเป็นไปตาม ปฏิสนธิจิต คือ เหมือนกับปฏิสนธิจิตเสมอ

ครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 31 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ภวังคจิต คือ อะไร?

ภวังคจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ จนกว่าจะจุติ ในชีวิตประจำวัน มีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ สลับกับภวังคจิต (ที่เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยทวารทั้ง ๖ เลย) เพราะเหตุว่า ปฏิสนธิจิต เกิดแล้วดับแล้ว ตั้งแต่ขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ ส่วนจุติจิต ซึ่งเป็นจิตขณะสุดท้ายของภพนี้ชาตินี้ ยังไม่เกิดขึ้น แต่ต้องเกิดแน่ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถจะทราบได้ว่าจะเป็นที่ไหน เวลาใด ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งหมดได้อย่างหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วดับขันธปรินิพพาน ก็ยังมีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ยังมีจิต เจตสิก และ รูป เกิดขึ้นเป็นไป จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น เมื่อจุติจิต เกิดขึ้นแล้วดับไป จิตขณะต่อไป คือ ปฏิสนธิจิตในภพต่อไป ก็จะเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีจิตอื่นคั่น

แต่จะเกิดเป็นใคร ในภพไหนนั้น ขึ้นอยู่กับกรรม เป็นสำคัญ ว่า กรรมใด จะให้ผลนำเกิด กล่าวคือ ถ้าเป็นผลของกุศล ก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ เกิดเป็นมนุษย์ หรือ เกิดเป็นเทวดา ถ้าเป็นผลของอกุศล ก็ทำให้เกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ ถ้าเป็นผลของรูปฌาน ก็ทำให้เกิดเป็นรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ และถ้าเป็นผลของอรูปฌาน ก็ทำให้เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ เมื่อกล่าวโดยสรุป แล้ว จิตที่กระทำปฏิสนธิ มีทั้งหมด ๑๙ ดวง คือ มหาวิบาก๘ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก๑ อุเบกขาสันตรีณอกุศวิบาก๑ รูปาวจรวิบาก๕ และอรูปาวจรวิบาก ๔ ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นวิบากจิตประเภทใดที่ทำกิจปฏิสนธิ ในภพนั้น เมื่อวิบากจิตใดที่ทำกิจปฏิสนธิ วิบากจิตนั้นก็ทำกิจภวังค์ และทำกิจจุติ ในภพนั้นๆ ด้วย ความจริงเป็นอย่างนี้ จะไปเปลี่ยนแปลงความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ได้เลย สำคัญที่ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเป็นธรรมที่มีจริง ภวังคจิต ก็เป็นธรรมที่มีจริง เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ จนกว่าจะจุติ ไม่ใช่เราเลย ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
orawan.c
วันที่ 31 ต.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
maew
วันที่ 31 ต.ค. 2554

ดิฉันก็ยังไม่เข้าใจ อาจจะเป็นเพราะค่อนข้าง งงๆ จะขออธิบายในหัวข้อที่สงสัยใหม่นะคะ

ชาตินี้เกิดมาเป็นมนุษย์ จิตที่ทำหน้าที่เป็นภวังค์คือ มหากุศลวิบาก ๑ ดวงใน ๘ ดวง แน่นอน ชีวิตก็ดำเนินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวิถีจิตในมรณาสันวิถีเกิดขึ้น โลภะเกิดขึ้นทำหน้าที่ชวนะ แล้วดับลง ภวังคจิตที่เกิดต่อจากโลภะชวนะนั้น จะต้องเป็นมหากุศลวิบาก ๑ ดวงนั้น (ที่ทำหน้าที่เป็นภวังค์เกิดเป็นมนุษย์) หรือภวังคจิตที่เกิดต่อจากโลภะชวนะนั้นเป็น อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจากนั้นภวังคจิต (ที่ดิฉันสงสัยนี้) ดับลง จุติเกิดขึ้นและดับลงปฏิสนธิเกิดต่อทันที

ขอขอบคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 1 พ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

หากเกิดเป็นมนุษย์ ปฏิสนธิด้วย มหากุศลวิบากดวงใดดวงหนึ่ง ภวังคจิตทั้งหมด หลังจากปฏิสนธิในชาตินั้น ทั้งหมดทุกดวงต้องเป็น มหากุศลวิบาก เช่นเดียวกับปฏิสนธิจิตครับ แม้ภวังคจิตก่อนที่จะจุติจิตจะเกิด ภวังคจิตสุดท้ายก็ต้องเป็นมหากุศลวิบาก แม้ชวนจิตสุดท้าย จะเป็นอกุศล มีโลภะ แต่ภวังคจิตในชาตินั้น ก็ต้องเป็นมหากุศลวิบากดวงใดดวงหนึ่งเหมือนปฏิสนธิจิต ตอนเกิดเป็นมนุษย์ แต่ภวังคจิตในชาติหน้าคือ เมื่อจุติจิตเกิดแล้ว ปฏิสนธิเกิดต่อชาติหน้า ในเมื่อชวนจิตสุดท้าย ๕ ขณะเป็นอกุศล ย่อมทำให้เกิดในอบายภูมิได้ ปฏิสนธิจิตในชาติหน้าเป็น สันตีรณอกุศลวิบาก ภวังคจิตในชาติหน้าทั้งหมด ก็ต้องเป็น สันตีรณอกุศลวิบาก แม้ว่า ตอนใกล้จะตายของชาติหน้า ที่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ชวนสุดท้ายจะเป็นกุศลจิต แต่ภวังคจิตที่เกิดต่อในชาติหน้าก็ต้องเป็น สันตีรณอกุศลวิบาก ตามปฏิสนธิจิตของชาติหน้าที่เป็นสันตีรณอกุศลวิบากครับ

ดังนั้นในชาตินี้เกิดเป็นมนุษย์ ปฏิสนธิจิตด้วยมหากุศลวิบาก ภวังคจิตในชาตินี้ทั้งหมด แม้ก่อนจะจุติก็ต้องเป็นมหากุศลวิบากด้วย แม้ชวนจิตสุดท้ายจะเป็นอกุศลจิตก็ตาม เพราะภวังคจิตในชาตินั้น จะต้องเป็นไปตามปฏิสนธิจิตในชาตินั้นครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 3 พ.ย. 2554

สาธุ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
maew
วันที่ 8 พ.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
maew
วันที่ 8 พ.ย. 2554

ในตำราที่บอกว่า มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นในการเจริญสติปัฏฐานนั้นต้องประกอบด้วยเจตสิก ๓๓ ดวงคือ โสภณเจตสิก ๒๕ อัญญสมานา ๑๓ ครบ แต่พอเราเจริญเข้าจริงๆ แล้ว เป็นเพราะอะไรจึงมีเจตสิกไม่ครบทั้ง ๓๘ ดวง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
วิริยะ
วันที่ 8 พ.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
maew
วันที่ 8 พ.ย. 2554

พระโสดาปัตติมรรค ต่างกับพระโสดาปัตติผล ตรงไหน ทำไมต้องมีชื่อซะมากมาย ขอท่านผู้รู้อธิบายด้วย

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
khampan.a
วันที่ 8 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียนความคิดเห็นที่ ๘ และ ๑๑ ครับ

สติปัฏฐาน เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง ขณะที่สติปัฏฐานเกิด เป็น มหากุศล ที่ประกอบด้วยปัญญา นั่นเอง เจตสิกที่เกิดร่วมกับมหากุศล ในขณะที่สติปัฏฐานเกิดนั้น โดยทั่วไปคือมรรคมีองค์ ๕ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ โดยเว้นวีรติ ๓ ซึ่ง จะเกิดขึ้นทีละดวง เมื่อมีการวิรัติทุจริตในขณะนั้น [และจะเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง ๓ ดวงในโลกุตรมรรคจิต และรู้อารมณ์เดียวกัน คือ รู้พระนิพพาน] ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และประการที่สำคัญ สติปัฏฐาน ไม่ใช่เรื่องทำไม่ใช่เรื่องบังคับ แต่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ในสภาพธรรมที่มีจริง ครับ

โสดาปัตติมรรค กับ โสดาปัตติผล ต่างกัน แต่ก็เป็นโลกุตตรจิต ด้วยกันทั้งคู่ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ โสดาปัตติมรรค เป็นโลกุตตรกุศล ซึ่งก็คือ โสตาปัตติมรรคจิต เกิดขึ้นพร้อมด้วยเจตสิกที่เิกิดร่วมด้วย ประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ดับกิเลสได้ในระดับหนึ่ง คือ ดับความเห็นผิดทุกชนิด ดับความลังเลสงสัยในสภาพธรรม ดับความตระหนี่ ดับความริษยา เมื่อโสตาปัตติมรรคจิต ดับไป เป็นเหตุให้ โสตาปัตติผลจิต ซึ่งเป็นโลกุตตรวิบาก เกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีจิตอื่นคั่น เป็นจิตเกิดขึ้นรับผล คือ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์โดยเป็นจิตที่ดับกิเลสแล้ว ทำให้บุคคลผู้ได้บรรลุ เป็นพระโสดาบัน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
maew
วันที่ 10 พ.ย. 2554

ณ ปัจจุบันนี้ มีใครหรือพระรูปใดบ้ที่บรรลุเป็นพระโสดาบันบ้างค่ะเราสามารถรู้ได้อย่างไร

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
paderm
วันที่ 10 พ.ย. 2554

เรียนความเห็น ที่ 14 ครับ

ปัญญาของผู้นั้นเองที่จะรู้ได้ครับ ผู้ใดจะรู้ว่าใครเป็นพระโสดาบัน ผู้นั้นต้องมีปัญญาเสมอบุคคลนั้น หรือ สูงกว่า รวมถึงได้ฌานรู้วาระจิตของผู้นั้นด้วยครับ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นเรื่องของปัญญาที่จะรู้ว่าใครเป็นพระโสดาบัน สำคัญที่ตัวเราอบรมเหตุคือหนทางที่ถูกต้องเป็นสำคัญ เมื่อเราเข้าใจหนทางที่ถูกต้อง ก็จะเข้าใจว่าธรรมที่ผู้อื่น บุคคลอื่นแสดงนั้น ถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้องก็ไม่ต้องกล่าวถึงความเป็นพระอริยบุคคลเลย ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
yanong89
วันที่ 15 ม.ค. 2561

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
peem
วันที่ 22 ส.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ