มหาสุญญตสูตร

 
pirmsombat
วันที่  31 ต.ค. 2554
หมายเลข  19944
อ่าน  2,466

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 14

ข้อความบางตอนจาก...

. มหาสุญญตสูตร

ดูก่อนอานนท์ ธรรมนั้นๆ เหล่านี้แล เนื่องมาแต่กุศลส่วนเดียวไกลจากข้าศึกเป็น

โลกุตตระ อันมารผู้มีบาปหยั่งลงไม่ได้ ดูก่อนอานนท์เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

สาวกมองเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงควรใกล้ชิดติดตามศาสดา.

ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์

มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเหตุ มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นแบบอย่าง

มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัย ขอได้โปรดเถิดพระพุทธเจ้าข้า

เนื้อความแห่งพระภาษิตนี้แจ่มแจ้งเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น

ภิกษุทั้งหลายพึงต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจักทรงจำไว้.

ว่าด้วยกถาวัตถุ ๑๐

[๓๕๑] พ. ดูก่อนอานนท์ สาวกไม่ควรจะติดตามศาสดาเพียงเพื่อ

ฟังสุตตุ เคยยะ และไวยากรณ์เลย นั้น เพราะเหตุไร เพราะธรรมทั้งหลาย

อันพวกเธอสดับแล้ว ทรงจำแล้ว คล่องปากแล้ว เพ่งตามด้วยใจแล้ว

แทงตลอดดีแล้วด้วยความเห็น เป็นเวลานาน

ดูก่อนอานนท์ แต่สาวกควรจะใกล้ชิดติดตามศาสดา

เพื่อฟังเรื่องราวเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยี่ง

เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายส่วนเดียว

เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง

เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ

เรื่องมักน้อย เรื่องยินดีของของตน เรื่องความสงัด

เรื่องไม่คลุกคลี เรื่องปรารภความเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ

เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ.

ดูก่อนอานนท์ เมื่อเป็นเช่นนั้น จะมีอุปัทวะของอาจารย์

อุปัทวะของศิษย์ อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์.

[๓๕๒] ดูก่อนอานนท์ ก็อุปัทวะของอาจารย์ย่อมมีได้อย่างไร

ดูก่อนอานนท์ ศาสดาบางท่านในโลกนี้ ย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า

โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้งและลอมฟาง

เมื่อศาสดานั้นหลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่ พวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคม

และชาวชนบทจะพากันเข้าไปหา เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคม

และชาวชนบท พากัน เข้าไปหาแล้ว ศาสดานั้นจะปรารถนาอย่างหมกมุ่น

จะถึงความวุ่นวาย จะเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก ดูก่อนอานนท์ ศาสดา

นี้เรียกว่า อาจารย์มีอุปัทวะด้วยอุปัทวะของอาจารย์ อกุศลธรรมอันลามก

เศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก

เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะต่อไปได้ฆ่าศาสดานั้นเสียแล้ว ดูก่อนอานนท์

อย่างนี้แล อุปัทวะของอาจารย์ย่อมมีได้.

[๓๕๓] ดูก่อนอานนท์ ก็อุปัทวะของศิษย์ย่อมมีได้อย่างไร ดูก่อน

อานนท์ สาวกของศาสดานั้นแล เมื่อเพิ่มพูนวิเวกตามศาสดานั้น ย่อมพอใจ

เสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ

ที่แจ้งและลอมฟาง เมื่อสาวกนั้นหลีกออกแล้วอย่างนั้น อยู่พวกพราหมณ์และ

คฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา เมื่อพวกพราหมณ์และ

คฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว สาวกนั้นจะปรารถนา

อย่างหมกมุ่นจะถึงความวุ่นวาย จะเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก

ดูก่อนอานนท์ สาวกนี้เรียกว่าศิษย์มีอุปัทวะด้วยอุปัทวะของศิษย์ อกุศลธรรม

อันลามก เศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์

เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรามรณะต่อไป ได้ฆ่าสาวกนั้นเสียแล้ว

ดูก่อนอานนท์ อย่างนี้แลอุปัทวะของศิษย์ย่อมมีได้.

อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์

[๓๕๘] ดูก่อนอานนท์ ก็อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมี

ได้อย่างไร ดูก่อนอานนท์ ตถาคตอุบัติในโลกนี้ ได้เป็นผู้ไกลจากกิเลส

รู้เองโดยชอบถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ. ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถี

ผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้ เป็นครูของเทวดา และมนุษย์

ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้แจกธรรม ตถาคตนั้นย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด

คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และ

ลอมฟาง เมื่อตถาคตนั้นหลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่ พวกพราหมณ์และคฤหบดี

ชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเขาไปหา เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดี

ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว ตถาคตนั้นย่อมไม่ปรารถนา

อย่างหมกมุ่น ไม่ถึงความวุ่นวาย ไม่เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก ดูก่อน

อานนท์ ส่วนสาวกของตถาคตผู้ศาสดานั้นแล เมื่อเพิ่มพูนวิเวกตามคถาคตผู้

ศาสดา ย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ

บนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เมื่อสาวกนั้นหลีกออกแล้ว

อย่างนั้นอยู่ พวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท จะพากัน

เข้าไปหา เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้า

ไปหาแล้ว สาวกนั้นย่อมปรารถนาอย่างหมกมุ่น ถึงความวุ่นวาย เวียนมา

เพื่อความเป็นผู้มักมาก ดูก่อนอานนท์ สาวกนี้เรียกว่าผู้ประพฤติพรหมจรรย์

มีอุปัทวะด้วยอุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ อกุศลธรรมอันลามก

เศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก

เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรามรณะต่อไป ได้ฆ่าสาวกนั้นเสียแล้ว ดูก่อนอานนท์

อย่างนี้แล อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้.

..........................


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nong
วันที่ 31 ต.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 31 ต.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอครับ

ขออนุญาตสอบถามเพ่ิมเติมถึงความหมายของ "อุปัทวะ" โดยนัยของพระสูตรนี้ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 31 ต.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

สำหรับคำว่า อุปัทวะ ในพระสูตรนี้ อุปัทวะ มุ่งหมายถึง อันตราย สิ่งที่ไม่ดี อุปัทวะ

สิ่งที่เป็นอันตราย คือ อันตรายคือกิเลส ดังเช่น พระสูตรที่กล่าวไว้ว่า ดูก่อนอานนท์

เมื่อเป็นเช่นนั้น จะมีอุปัทวะของอาจารย์ อุปัทวะของศิษย์ อุปัทวะของผู้ประพฤติ

พรหมจรรย์.

อุปัทวะของอาจารย์ คือ ผู้ที่อ้างตนเป็นศาสดา เป็นอาจารย์ เมื่อมีผู้มาให้ลาภ

สักการะมาก ย่อมติดข้อง มัวเมา ด้วยอำนาจกิเลส กิเลสทีเ่กิดขึ้นเพราะความติดข้อง

ในลาภ สักการะ เป็นต้น ชื่อว่าเป็นอุปัทวะ คือ เป็นสิ่งที่เป็นอันตราย เพราะอันตราย

ด้วยอำนาจกิเลสทีเ่กิดขึ้นครับ อุปัทวะ จึงหมายถึง ความอันตราย สิ่งที่ไม่ดี เพราะ

อำนาจกิเลส

อุปัทวะของศิษย์และผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์ (ผู้ที่อบรมปัญญาในพุทธศาสนานี้) ถ้า

มัวเมา ติดข้อง ในลาภ สักการะ สรรเสริญ ในสิ่งที่บุคคลอื่นนำมาให้ ก็ชื่อว่าเกิด

อุปัทวะ เกิดอันตราย คือ กิเลสในขณะนั้นครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ขออนุโมทนาคุณหมอที่ยกพระสูตรดีๆ

และคุณผู้ร่วมเดินทางที่ถามเพื่อประโยชน์ในความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้นครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 31 ต.ค. 2554

ขออนุญาตอธิบายพระสูตรเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจขึ้นครับ

สำหรับข้อความที่ยกมาที่ว่า

ว่าด้วยกถาวัตถุ ๑๐ [๓๕๑] พ. ดูก่อนอานนท์ สาวกไม่ควรจะติดตามศาสดาเพียงเพื่อฟังสุตตุ เคยยะ

และไวยากรณ์เลย นั้น เพราะเหตุไร เพราะธรรมทั้งหลายอันพวกเธอสดับแล้ว ทรงจำ

แล้ว คล่องปากแล้ว เพ่งตามด้วยใจแล้วแทงตลอดดีแล้วด้วยความเห็น เป็นเวลานาน

ดูก่อนอานนท์ แต่สาวกควรจะใกล้ชิดติดตามศาสดาเพื่อฟังเรื่องราวเห็นปานฉะนี้ ซึ่ง

เป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยี่งเป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ เป็นไปเพื่อความ

เบื่อหน่ายส่วนเดียวเพื่อความคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้

ยิ่งเพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือเรื่องมักน้อย เรื่องยินดีของของตน เรื่องความ

สงัดเรื่องไม่คลุกคลี เรื่องปรารภความเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิเรื่องปัญญา เรื่อง

วิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ผู้ที่ฟังธรรม ศึกษาธรรม ไม่ใช่ศึกษาเพื่อจะฟังมากๆ รู้มากๆ คือ ฟัง สุตะ เคยยะ (พระไตรปิฎก) แต่ควรศึกษาเรื่องที่เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส คือ เป็นไปเพื่อความมัก

น้อย สันโดษ ไม่คลุกคลี เพราะประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม ไม่ใช่อยู่ที่การฟัง

มาก แต่อยู่ที่การน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม เพื่อเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส

นี่คือสาระของการศึกษาพระธรรม พระองค์จึงได้กล่าวเตือนว่า เธออย่าติดตามเรา

เพื่อที่จะฟัง สุตะ เคยยะ (พระธรรมคำสอนทั้งหมด) แต่ควรจะติดตามเราเพื่อที่จะฟัง

เรื่องที่เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสครับ ส่วนในประเด็นของอุปัทวะ หมายถึง ความอันตรายที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจกิเลส จึง

เป็นอันตราย เป็นอุปัทวะ กับผู้ที่สอนธรรม ผู้ที่เป็นสาวกและผู้ที่อบรมปัญญา ถ้า

ไปติดข้องในสิ่งที่ไม่ใช่สาระ คือ ลาภ สักการะ ชื่อเสียง จึงเป็นอันตราย เป็นอุปัทวะ

กับบุคคลนั้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 31 ต.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pirmsombat
วันที่ 31 ต.ค. 2554

ขอบพระคุณคุณผเดิม และอนุโมทนามากครับที่กรุณาอธิบายชี้แจง

ให้ทุกคนได้รับความรู้ ความเข้าใจธรรมเพี่มมากขึ้น เป็นประโยชน์มาก

ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณ ผู้ร่วมเดินทาง (ที่กรุณาถาม) และทุกท่านครับ

ผมว่า "กถาวัตถุ" สำคัญและจำเป็นที่สุดในการเจริญประพฤติปฏิบัติธรรม

เพื่อถึงความเป็นพระอริยบุคคล

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pirmsombat
วันที่ 31 ต.ค. 2554

ตอบความคิดเห็นที่ ๒

ตามที่ผมสัญญาว่าจะบอกชื่อหนังสือให้คุณครับ

พจนานุกรม บาลี-ไทย สำหรับนักศึกษา ฉบับปรับปรุงใหม่

รวบรวมและเรียบเรียง โดย พระอุดรคณาธิการ (ขรินทร์ สระคำ)

ศ.พิเศษ ดร.จำลอง สารพัดนึก

จัดพิมพ์จำหน่ายโดย เรืองปัญญา ท่าพระจันทร์

เลขทีื 13 ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตตพระนคร กทม. 10200

โทร.02-221-8211, 02-623-6230 โทรสาร.02-623-6231

ขอแสดงความชื่นชมและความคิดถึงคุณและคุณชฎาพรด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 31 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยครับ

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น มีความละเอียดลึกชึ้งเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ศึกษาและมีความเข้าใจไปตามลำดับอย่างแท้จริงเพราะทุกส่วนของคำสอนที่พระองค์ทรงแสดงนั้น เป็นเครื่องเตือนเพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต เพื่อความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

แม้แต่ในเรื่องของการศึกษาพระธรรม ก็ทรงเตือนไว้ ถ้าตั้งจิตไว้ผิดในการศึกษา คือ ศึกษาเพื่อลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ เพิ่มมานะ ความสำคัญตน เป็นต้น ย่อมเป็นโทษ เป็นภัยแก่ตนเองโดยส่วนเดียว เพราะในขณะนั้น จิตเป็นอกุศล อกุศลธรรมเท่านั้นที่เป็นธรรมที่ตั้งจิตไว้ผิด ไม่นำคุณประโยชน์มาให้ใครๆ ทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าตั้งจิตไว้ชอบในการศึกษา ซึ่งกุศลธรรม เป็นธรรมที่ตั้งจิตไว้ชอบ คือ ศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเอง ย่อมจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ทำให้ผู้ศึกษาได้รับประโยชน์จากพระธรรมตามลำดับขั้น จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ทั้งหมด ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ต้องอาศัยพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากกถาวัตถุ ๑๐ เลย ผู้ศึกษาด้วยความตั้งใจ จริงใจ อดทน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ย่อมได้ประโยชน์จากพระธรรม ซึ่งจะเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองให้เบาบางลง จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด ครับ.

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ และ ทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 31 ต.ค. 2554

เรียนคุณหมอความเห็นที่ ๗

ผมขอบพระคุณ คุณหมอมากครับ เมื่อนำ้ลดแล้ว ผมคงจะได้ไปเดินหาซื้อหนังสือพจนานุกรม และตั้งใจจะซื้อพระไตรปิฎก ตามที่คุณหมอแนะนำอีกด้วยครับ (ซื้อตอนนี้กลัวน้ำจะท่วมเสียก่อน)

ตอนนี้ศึกษาจากกระทู้ที่คุณหมอกรุณานำขึ้นเว็ปไปพลางก่อนครับ

ขอบพระคุณคุณหมอมากครับที่ได้กรุณาให้ความรู้พระธรรมที่สำคัญ ระหว่างที่เดินทางไปอินเดีย และถือว่าเป็นโชคดีจริงๆ ที่ได้พบคุณหมอครับ หวังว่าในโอกาสต่อไปคงจะได้มีโอกาสฟังธรรมะจากคุณหมออีกครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปั่นที่กรุณาอธิบายความให้ได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เซจาน้อย
วันที่ 1 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ผิน
วันที่ 2 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ธ.ค. 2563

ขอเชิญอ่านความเห็นเพิ่มเติม...

กถาวัตถุ ๑๐ [มหาสุญญตสูตร]

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ